คำสั่งเสียของชาวสะลัฟแด่เยาวชน โดย ชัยคฺอับดุลร็อซซาก อัลบัดรฺ EP.01

คำนำผู้แปล

ด้วยพระนามของอัลลอฮผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณีเสมอ ขอความศานติและการประสาทพร จงประสบแด่ท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุลัยฮิวะซั้ลลัม และบรรดาวงศ์วานของท่านตลอดจนบรรดาสาวกของท่านทั้งมวล

เยาวชน คือ ช่วงวัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สำหรับคนๆ หนึ่ง ที่จะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมที่นับวันจะยิ่งเสื่อมถอยลง หรือการคบเพื่อนที่จะคอยชักจูงกันทำในสิ่งที่ผิดต่อหลักการศาสนา และปัจจัยอื่นๆ ฯลฯ ดังนั้นบรรดาเยาวชนจึงต้องมีแบบอย่าง  คำสั่งเสียและคำตักเตือนที่ดีงามคอยชี้นำพวกเขาไปสู่ความดีงาม และหนังสือเล่มนี้ ซึ่งประพันธ์โดย ท่าน
ชัยคฺอับดุลร็อซซาก บินอับดุลมุฮฺซิน อัลบัดรฺ ฮะฟิเศาะฮุ้ลลอฮ์ ได้รวมไว้ซึ่งคำสั่งเสียบางส่วนของบรรดาชาวสะละฟุศศอและฮฺ[1] ที่มีต่อเยาวชน  และกระผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนช่วยให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ฉุกคิดและตระหนักถึงความสำคัญของช่วงวัยนี้และเอาใจใส่ต่อบรรดาเยาวชนให้มากกว่าเดิม  ตลอดจนเป็นส่วนช่วยเพิ่มพูนอีหม่านของท่านผู้อ่านให้มากขึ้น ไม่มากก็น้อย วั้ลลอฮุอะอฺลัม

อักรอม  ชาจิตตะ 16 ชะอฺบาน 1440 จาการ์ตา อินโดนนิเซีย


หนังสือ คำสั่งเสียของชาวสลัฟแด่เยาวชน

โดย ชัยคฺอับดุลร็อซซาก บินอับดุลมุฮฺซิน อัลบัดรฺ


بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَٰنِ الرَّحِيمِ
أما بعد :الحمد لله رب العالمين، وأشهد أن لا إله إلا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، صلى الله وسلم عليه وعلى آله وأصحابه أجمعين.


เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงวัยหนุ่มสาว คือ ช่วงวัยที่มีความสำคัญอย่างมากในชีวิตคนเรา เพราะว่ามันคือ ช่วงวัยที่มีความเข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น  กระฉับกระเฉง และร่างกายแข็งแรง  ตลอดจนประสาทสัมผัสครบถ้วนสมบูรณ์  ในขณะที่มนุษย์เมื่อแก่ตัวลง  ประสาทสัมผัสและความแข็งแรงของเขาก็อ่อนแอลงตามไปด้วย

อิสลามได้ให้ความสำคัญกับช่วงวัยนี้เป็นการเฉพาะและดูแลเอาใจใส่อย่างที่สุด  โดยที่ตัวบทหลักฐานต่างๆ ได้มายืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของเรื่องราวในช่วงวัยนี้ (ช่วงวัยหนุ่มสาว- ผู้แปล) และความสำคัญของมัน  ดังนั้นแล้วท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงได้ส่งเสริมให้รีบเร่งเพื่อฉวยโอกาสในวัยนี้และเตือนให้ระวังจากการละเลยมัน

ได้มีรายงานจากท่านอิบนุอับบาส (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา) กล่าวว่า : ท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  ได้กล่าวกับชายคนหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังสอนเขาว่า :

“จงฉวยโอกาสทำห้าประการ ก่อนที่อีก 5 ประการจะมาถึง นั่นคือ ช่วงวัยหนุ่มของเธอก่อนที่ความแก่ชราของเธอจะมาเยือน ช่วงที่เธอมีสุขภาพดีก่อนที่การเจ็บป่วยจะมาหา ช่วงที่เธอมั่งมีก่อนที่เธอจะยากจน ช่วงเวลาว่างของเธอก่อนความยุ่งยากจะมาหา  และช่วงที่เธอมีชีวิตอยู่ก่อนที่ความตายจะมาถึง”[2]

ในช่วงวัยรุ่นก็อยู่ในคำกล่าวโดยกว้างๆ ของท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ว่า : “และช่วงที่เธอมีชีวิตอยู่ก่อนที่ความตายจะมาถึง” แต่ทว่าท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวถึงช่วงวัยรุ่นเป็นพิเศษ เนื่องจากความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของวัยนี้ ดังนั้นแล้วสมควรที่เราจะต้องตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าวและไม่ประมาทเลินเล่อกับชีวิตวัยนี้

และได้มีรายงานจากท่านอิบนิมัสอู๊ด (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) ว่าท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า :

“เท้าของลูกหลานอาดัมจะไม่ขยับไปไหนจาก ณ ที่อัลลอฮฺในวันกิยามะห์จนกว่าจะถูกถามถึง5 ประการด้วยกัน จะถูกถามถึงชีวิตของเขาว่าเขาใช้หมดไปกับอะไร  และวัยหนุ่มของเขาว่าใช้กับอะไร  และทรัพย์สินของเขาว่าได้มาจากที่ไหนและใช้จ่ายไปอย่างไร  และจะถูกถามถึงสิ่งใดบ้างที่เขาได้ปฏิบัติไปในสิ่งที่รู้มา”[3]

ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้บอกถึงคนๆ หนึ่งซึ่งจะถูกถามในวันกิยามะห์เกี่ยวกับชีวิตของเขา ด้วยกับ 2 คำถามด้วยกัน คือ :

หนึ่ง : เกี่ยวกับชีวิตของเขาโดยภาพรวมตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งเสียชีวิต

สอง : เกี่ยวกับชีวิตช่วงวัยหนุ่มเป็นการเฉพาะ ทั้งๆ ที่เมื่อเขาถูกถามถึงชีวิตของเขา (โดยภาพรวมไปแล้ว) แน่นอนช่วงวัยหนุ่มก็เข้าอยู่ในช่วงนี้ด้วย  แต่ทว่าเขาจะถูกถามถึงวัยหนุ่มเป็นคำถามเฉพาะในวันกิยามะห์

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็สมควรที่วัยรุ่นจะต้องให้ความสนใจกับความสำคัญของช่วงวัยนี้ และควรที่จะระลึกถึงอยู่เสมอว่า พระผู้อภิบาลของเขา ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง จะสอบถามเขาในวันกิยามะห์ว่า เขาได้ปฏิบัติอะไรไปบ้างในช่วงชีวิตวัยหนุ่มของเขา  โดยเป็นคำถามที่เพิ่มเติมจากคำถามที่เกี่ยวกับการงานในชีวิตของเขาทั้งหมดซึ่งประกอบไปด้วยชีวิตวัยหนุ่มอยู่แล้ว  นั่นก็เพราะว่าชีวิตวัยหนุ่ม เป็นช่วงวัยที่มีความเข้มแข็ง มีความกระตือรือร้น กระฉับกระแฉง และร่างกายแข็งแรง ตลอดจนประสาทสัมผัสครบถ้วนสมบูรณ์

ดังนั้นเองท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงได้ส่งเสริมวัยรุ่นให้รีบฉวยโอกาสในช่วงวัยนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ดังที่ปรากฏอยู่ในฮะดีษข้างต้น

และเช่นเดียวกันท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ยังได้สั่งเสียแก่บรรดาผู้มีความรู้และบรรดาผู้ที่ใส่ใจกับการอบรมดูแล การเรียกร้องเชิญชวน และการสั่งสอนในเรื่องของเยาวชน   เพราะเยาวชนมีความต้องการ การดูแลเอาใจใส่ ต้องการการปลอบโยน ต้องการได้รับความรัก และทำให้เขารักในความดีงามและบรรดาผู้ที่ทำความดี เพื่อว่าบรรดาผู้ที่อยู่บนความเท็จและคนชั่วช้าจะได้ไม่มาชักจูงเขาไป

เมื่อเป็นแบบนี้บรรดาศอฮาบะฮ์ (เหล่าสาวกของท่านนบี) จึงพยายามที่จะทำให้ความหมายอันยิ่งใหญ่เหล่านี้เป็นความจริง ดังที่มีรายงานจาก อบูสะอี๊ด อัลคุดรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เมื่อท่านได้เห็นเหล่าเยาวชน ท่านได้กล่าวว่า : “ยินดีต้อนรับด้วยกับคำสั่งเสียของท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สั่งเสียพวกเราให้ขยายพื้นที่ให้กับพวกเขา และให้พวกเราสร้างความเข้าใจให้กับพวกเขาในเรื่องฮะดีษ เพราะพวกเขา คือ ตัวแทนของพวกเรา[4] และจะกลายเป็นอะฮ์ลุลฮะดีษหลังจากพวกเรา”

และท่านยังได้เคยเข้าไปหาเยาวชนคนหนึ่งแล้วกล่าวกับเขาว่า : “โอ้หลานเอ๋ย เมื่อหลานสงสัยในเรื่องใด ก็จงถามลุงมาเถิด จนกว่าหลานจะมั่นใจ  เพราะหากว่าหลานกลับออกไปอย่างมั่นใจมันเป็นที่รักยิ่งสำหรับลุงมากกว่าการที่หลานกลับออกไปอย่างมีความสงสัยเสียอีก”[5]

เมื่อท่านอับดุลลอฮ บินมัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เห็นเหล่าเยาวชนกำลังแสวงหาความรู้ ท่านก็กล่าวว่า : “ยินดีต้อนรับ บ่อเกิดแห่งวิทยปัญญา ดวงไฟแห่งยามราตรีอันมืดมิด กับเสื้อผ้าที่ซอมซ่อ หัวใจที่สดใหม่ ซึ่งคอยพำนักอยู่ที่บ้าน เป็นดั่งกลิ่นหอมของทุกชนเผ่า”[6]

คำสั่งเสียต่างๆ ของชาวสลัฟ ร่อฮิมะฮุมุลลอฮฺ ที่มีต่อเยาวชนและการดูแลเอาใจใส่ของพวกเขาต่อช่วงวัยนี้ มีมากมายเหลือเกิน และในสารนี้ “คำสั่งเสียของชาวสลัฟแด่บรรดาเยาวชน” กระผมได้คัดเลือกมาจำนวนหนึ่งจากคำสั่งเสียเหล่านั้นพร้อมทั้งอธิบายความเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยในทุกๆ คำสั่งเสีย [7]


[1] คือ เหล่าคนดีที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสามร้อยปีแรกโดยประมาน ซึ่งท่านนบี
ศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้รับรองพวกเขาเอาไว้

[2] รายงานโดยท่านฮากิม ในหนังสือ “อัลมุสตัดร็อก” ฮะดีษหมายเลข 7846, และท่านได้ให้สถานะฮะดีษว่าถูกต้อง และท่านอัซซะฮาบีย์ได้เห็นสอดคล้องด้วย, และท่านชัยคฺอัลบานีย์ได้ให้สถานะฮะดีษว่าถูกต้อง

[3] รายงานโดยติรมีซีย์ ฮะดีษ หมายเลข 2416, และชัยคฺ อัลบานีย์ ได้ให้สถานะ
ฮะดีษว่าถูกต้อง ในหนังสือ “อัศศอฮีฮะฮฺ” หมายเลข 946

[4] หมายถึง มาแทนพวกเราในภายภาคหน้า ในการอบรบสั่งสอนผู้คนและเรียกร้องพวกเขาไปสู่อัลลอฮฺผู้ทรงเกียรติ์ผู้ทรงสูงส่ง

[5] รายงานโดย ท่านบัยฮากีย์ ในหนังสือของท่าน “ชุอฺบุ้ล อีหม่าน” ฮะดีษหมายเลข 1610

[6] รายงานโดยท่าน อิบนุ อับดิลบัรรฺ ในหนังสือ “ญามิอุ บะยานิ้ลอิ้ลมิ วะฟัฎลิฮี” ฮะดีษหมายเลข 256

[7] เดิมทีสารนี้ เป็นบรรยายที่ถูกบรรยายขึ้นใน สหราชอาณาจักร บะห์เรน ในวันที่ 13 ญุมาดิ้ลเอาวัล ปี ฮ.ศ. 1435 ที่มัสยิด ฮัมดฺ อยู่ที่เมืองมะฮฺร็อก หลังจากนั้น บรรยายนี้ได้ถูกถอดเทปออกมา และกระผมได้เพิ่มเติมประโยชน์บางข้อเข้าไปในบรรยายดังกล่าวหลังจากที่ได้ทบทวนดูแล้ว ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนทุกคนๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำสารนี้ออกมา