คำสั่งเสียที่หนึ่ง
มีรายงานจากท่านอะบิ้ลอะฮฺวัศ กล่าวว่า : ท่านอบูอิสหาก –คือ ท่านอัมรฺ อัซซะบีอีย์- (มีชีวิต ช่วงปี ฮ.ศ.33 – 127) ได้กล่าวว่า : “โอ้เยาวชนเอ๋ย พวกเธอจงฉวยโอกาสเอาไว้เถิด น้อยนักที่ค่ำคืนหนึ่งได้ผ่านพ้นฉันไปนอกเสียจากว่าฉันจะอ่านอัลกุรอ่านหนึ่งพันอายะห์ในค่ำคืนนั้นและตัวฉันจะอ่าน ซูเราะห์อัลบะเกาะเราะฮ์ในหนึ่งร็อกอัต และฉันได้ถือศีลอดในเดือนฮุรุม (เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์ ซุ้ลฮิจญะห์ มุฮัรรอมและรอญับ- ผู้แปล) และฉันจะถือศีลอดในสามวันของทุกๆ เดือน รวมไปถึงวันจันทร์และวันพฤหัสด้วย หลังจากนั้นท่านก็อ่านอายะฮ์ที่ว่า :
وَأَمَّا بِنِعْمَةِ رَبِّكَ فَحَدِّثْ
“และส่วนความโปรดปรานแห่งพระเจ้าของเจ้านั้นเจ้าจงแสดงออก” [อัดดุฮา : 11][1]
คำพูดของท่านที่ว่า “ฉันจะอ่านอัลกุรอ่านหนึ่งพันอายะฮ์ในค่ำคืนนั้น” หมายถึง จำนวนที่ใกล้เคียง ไม่ได้หมายถึง การจำกัดจำนวนอายะฮ์ที่ตายตัว และนั่นหมายความว่า ท่านจะอ่านอัลกุรอ่านจบเล่มหนึ่งรอบในทุกสัปดาห์ และการอ่านอัลกุรอ่านจบรอบหนึ่งในทุกๆ สัปดาห์ คือ นิสัยของชาวสลัฟโดยรวม
มีรายงานจากท่าน อัมรฺ บินมัยมูน (เสียชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ 74) ท่านได้เคยเล่ากับพี่น้องของท่านคนหนึ่งว่า : “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงประทานให้ฉันได้ละหมาดเท่านั้น เท่านี้ เมื่อคืนนี้ และได้ทรงประทานความดีแบบนั้น แบบนี้”[2]
ท่านอบูอับดุลลอฮฺ อัลฮากิม ได้กล่าวในหนังสือ “อัลมุสตัดร็อก” หลังจากที่ท่านได้ถ่ายทอดรายงานทั้งสองบทข้างต้นว่า : “ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่านอัมรฺ บินอุบัยดิ้ลละห์ อัซซะบีอีย์ และท่านอัมรฺ บินมัยมูน อัลเอาดีย์ แท้จริงท่านทั้งสองได้สำทับเตือนในสิ่งที่เป็นการส่งเสริมบรรดาเยาวชนในการทำอิบาดะห์”
และเช่นเดียวกันจากรายงานทั้งสองบทข้างต้นเป็นตัวอย่างการตัรบียะห์ (การอบรมสั่งสอน) ด้วยกับการทำเป็นแบบอย่าง เยาวชนต้องการแบบอย่างเหล่านี้ เพื่อที่เขาจะได้กระตือรือร้นและเป็นการง่ายดายแก่เขาในการปฏิบัติตาม แต่ทว่าผู้สอนจำเป็นที่จะต้องสำทับเตือนให้เยาวชนระมัดระวังในการตั้งเจตนา และมีเป้าหมายที่ดี เพื่อที่เขาจะได้ไม่ตกอยู่ในการโอ้อวดจนทำให้การงานของเขาเป็นอันไร้ผลไป
คำสั่งเสียที่สอง
หนึ่งในคำสั่งเสียของชาวสลัฟที่มีต่อเยาวชนคือ สิ่งที่มีรายงานมาจากท่านฮัมมาด บินซัยดฺ โดยท่านกล่าววว่า : “เราได้เข้าไปหาท่านอนัส บินซีรีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (เสียชีวิตปี ฮ.ศ.118) ในขณะที่ท่านป่วย แล้วท่านก็กล่าวว่า :
“จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด โอ้เยาวชนทั้งหลาย และพวกเธอจงพิจารณาดูถึงคนที่พวกเธอรับเอาฮะดีษเหล่านี้มาให้ดีเถิด เพราะแท้จริงมัน (ฮะดีษเหล่านี้) คือ ศาสนาของพวกเธอ”[3]
และนี่ถือเป็นคำสั่งเสียที่ยิ่งใหญ่มาก นั่นก็คือ เยาวชนที่มุ่งสู่การแสวงหาความรู้ และการรับฮะดีษ สมควรที่การรับความรู้ของเขาจะต้องอยู่บนมือของบรรดาผู้มีความรู้มีความมั่นคง เป็นผู้มีความรู้อย่างแท้จริงและมีความหลักแหลม เป็นผู้อาวุโสในความรู้ ไม่ควรที่จะรับความรู้จากทุกคน แต่เขาจะต้องรับความรู้จากชาวซุนนะห์ที่ขาของเขามั่นคงอยู่ในซุนนะห์ (ยืนหยัดในซุนนะห์ – ผู้แปล) เท่านั้น
มีรายงานจากท่านอิบนุเชาซับ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. 156) ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า :
“หนึ่งในความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อเยาวชน คือ เมื่อเขาทำอิบาดะฮ์เขาได้คบค้ากับชาวซุนนะห์ โดยเขา (ชาวซุนนะห์คนดังกล่าว- ผู้แปล) ได้พาเขาให้อยู่บนซุนนะห์”
และมีรายงานจากท่านอัมรฺ บิน ก็อยส์ อัลมะลาอีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวว่า :
“เมื่อท่านเห็นเยาวชนคนหนึ่ง ช่วงแรกที่เขาเติบโตมากับชาวอะลิสซุนนะห์ วั้ลญะมาอะอฺ ดังนั้นท่านก็จงหวังในตัวเขาได้ และถ้าหากว่าท่านเห็นเขาอยู่กับชาวบิดอะอฺ (ผู้ที่ทำอุตริกรรมในศาสนา-ผู้แปล) ก็จงอย่าได้คาดหวังในตัวเขาได้เลย เพราะเยาวชนจะมั่นคงอยู่ในช่วงแรกที่เขาได้เติบโตมา”
และมีรายงานจากท่านอัมรฺ บินก็อยส์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า :
“แท้จริงเยาวชนย่อมมีการเติบโต ดังนั้นหากว่าเขาเลือกที่จะนั่งร่วมกับบรรดาผู้รู้ เขาก็แทบจะปลอดภัยแล้วแต่ถ้าหากว่าเขาเอนเอียงไปหาคนอื่นที่ไม่ใช่พวกเขา (บรรดาผู้รู้) เขาก็แทบจะได้หายนะแล้ว”[4]
คำสั่งเสียที่สาม
`มีรายงานมาจากท่านมาลิก บินดินารฺ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. 127) ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ท่านได้กล่าวว่า : “แท้จริงแล้วความดีนั้นอยู่ในวัยรุ่น”[5]
นี่ถือเป็นคำเตือนสำทับที่สำคัญยิ่ง จากท่านมาลิกบินดินารฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ อันเนื่องจากความสำคัญของช่วงวัยนี้ เยาวชนนั้นถ้าหากว่าเขาได้ใช้ประโยชน์ในช่วงวัยนี้อย่างมีคุณค่าแล้วละก็เขาก็ย่อมจะได้รับความดีอย่างใหญ่หลวง
และสิ่งที่เขาได้ทำเอาไว้ในชีวิตวัยหนุ่มของเขาก็จะกลายเป็นขุมทรัพย์เป็นเสาหลักและรากฐานที่มั่นคงอยู่กับตัวเขาไปจนกระทั่งเขาเสียชีวิต เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชาติของเขา ตลอดจนเป็นข้อตักเตือน (เป็นความจริงใจ- ผู้แปล) ให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย
ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าเขาไม่ทำในช่วงวัยดังกล่าวให้ดีแล้วละก็ เขาก็ย่อมทำให้ความดีและความจำเริญของช่วงวัยนี้สูญหายไปอย่างเปล่าประโยชน์
เมื่อใดที่ความแข็งแรงของช่วงวัยหนุ่ม การมีเวลาว่างและการมีทรัพย์สินอยู่กับมือมากมายได้มารวมอยู่ในตัวเยาวชนคนหนึ่ง นี่ก็จะเป็นสิ่งที่จะทำให้เยาวชนคนนั้นหายนะได้ ดังคำกล่าว (ที่เป็นบทกลอนอาหรับ- ผู้แปล) ของคนบางคนที่ว่า :
วัยหนุ่มของเขาช่างดูเหมือนไร้ราคา
ทั้งเวลาทั้งความมั่งคั่งมีหลากหลาย
แต่เพียรเก็บเกี่ยวสิ่งมีค่านี้ให้ละลาย
ไปกับสิ่งไร้จุดหมาย…ในดุนยา
ดังนั้นเมื่อรวมความเข้มแข็งของวัยหนุ่ม การมีเวลาว่างและการมีทรัพย์สินมากมายเข้าไปแล้ว อย่างที่สี่ คือ การมีฟิตนะห์ (ความวุ่นวายต่างๆ- ผู้แปล) มากมาย ฟิตนะห์ดังกล่าวมันก็อยู่ใกล้กับเยาวชนและรวมไปถึงประตูแห่งฟิตนะห์ยังมีมากมายอีก
ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับเยาวชนคนนั้นที่ได้ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรงในช่วงวัยหนุ่มของเขาด้วยกับสิ่งกับดังกล่าว เขาก็จะทำให้ตัวเองพลาดจากการทำความดีของวัยหนุ่มและความจำเริญของความดีนั้นไป และที่ท่านมาลิก บินดีนารฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวว่า :
“แท้จริงแล้วความดีนั้นอยู่ในวัยรุ่น”
เป็นการสำทับเตือนจากท่านถึงความจำเริญและความดีงามอันใหญ่หลวงที่อยู่ในช่วงวัยนี้ ถ้าหากว่าอัลลอฮฺได้ทรงประทานความสำเร็จแก่เยาวชนคนนั้นและช่วยเหลือเขาในการใช้ประโยชน์ช่วงวัยรุ่นในสิ่งที่พระองค์ทรงพอพระทัย
คำสั่งเสียที่สี่
`อีกหนึ่งในคำสั่งเสียของชาวสลัฟ ร่อฮิมะฮุมุ้ลลอฮฺ ที่มีต่อเยาวชนคือ สิ่งที่มีรายงานมาจากท่าน ซัยดฺ บินอบีซัรกออฺ กล่าวว่า : ท่านซุฟยาน อัษเษารีย์ (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. 161) ได้เดินออกมาในขณะที่พวกเราอยู่ที่ประตูบ้านของท่าน แล้วท่านซุฟยานก็กล่าวว่า :
“โอ้เยาวชนทั้งหลาย จงรีบเร่งในความจำเริญของความรู้นี้เถิด เพราะพวกเธอไม่รู้หรอกว่า บางทีพวกเธออาจจะไปไม่ถึงสิ่งที่พวกเธอคาดหวังไว้ก็ได้ พวกเธอบางส่วนจงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กันและกันเถิด”[6]
คำพูดของท่านที่ว่า “จงรีบเร่งในความจำเริญของความรู้นี้เถิด” หมายความว่า พวกเธอจงไขว่คว้าโอกาสช่วงวัยหนุ่มของพวกเธอเอาไว้เถิด เพื่อพวกเธอจะได้เก็บเกี่ยวความรู้
เพราะว่าคนเราเมื่อแก่ตัวลง ความกระตือรือร้น ความจำและความสามารถในการจดจำที่เขามีจะไม่เท่าเหมือนตอนช่วงวัยหนุ่มของเขา ประกอบกับภาระความรับผิดชอบ หน้าที่การงาน ภารกิจและผลประโยชน์ต่างๆ ได้รายล้อมรอบตัวเขาอยู่
ในขณะที่ช่วงวัยหนุ่ม ไม่มีภาระใดๆ จากสิ่งดังกล่าวนี้เช่นเดียวกันในช่วงวัยหนุ่มมักจะหมดไปเร็วเสมอ ดังที่ อิหม่ามอะฮฺหมัด ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺได้กล่าวว่า :
“ฉันไม่ขอเปรียบเทียบเยาวชนนอกจากจะขอเปรียบเทียบกับสิ่งๆ หนึ่งที่มันอยู่ในแขนเสื้อของฉันแล้วมันก็ตกไป”[7]
และคำพูดของท่านซุฟยานที่ว่า :
“เพราะพวกเธอไม่รู้หรอกว่า บางทีพวกเธออาจจะไปไม่ถึงสิ่งที่พวกเธอคาดหวังไว้ก็ได้”
หมายความว่า บางทีเยาวชนคนหนึ่งอาจจะหวังว่าตัวเองจะได้เก็บเกี่ยวความรู้แบบนั้น แบบนี้ จะท่องจำเท่านั้นเท่านี้ และจะอ่านหนังสือเล่มนั้น เล่มนี้ และเรื่องอื่นๆ ที่เขาได้คาดหวังมันเอาไว้ แล้วเขาก็ไม่สามารถทำตามนั้นได้ แต่ทว่าหากเขาต่อสู้กับตัวเองและขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ มุ่งมั่นพยายามฉวยโอกาสในช่วงวัยหนุ่มของตัวเอง แน่นอนเขาจะก็สามารถเก็บเกี่ยวความดีอันใหญ่หลวงได้ด้วยกับการอนุมัติของอัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงเกรียงไกร
อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงเกรียงไกรทรงตรัสเอาไว้ว่า :
[ وَالَّذِينَ جَاهَدُوا فِينَا لَنَهْدِيَنَّهُمْ سُبُلَنَا وَإِنَّ اللَّهَ لَمَعَ الْمُحْسِنِينَ ] [العنكبوت : 69]
“และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอนเราจะชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาสู่ทางของเราและแท้จริงอัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับผู้กระทำความดีทั้งหลาย” [อัลอังกะบูต : 69]
และคำพูดของท่านที่ว่า: “พวกเธอบางส่วนจงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กันและกันเถิด” ในคำพูดของท่านนี้เป็นการส่งเสริมบรรดาเยาวชนในการไขว่คว้าโอกาสทำประโยชน์บางอย่างในการได้พบปะกันระหว่างพวกเขา และเป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนความรู้
[1] รายงานโดยท่านฮากิม ในหนังสือ “ อัลมุสตัดร็อก” ฮะดีษหมายเลข 3948
[2] รายงานโดยท่าน ฮากิม ในหนังสือ ” อัลมุสตัดร็อก ” ฮะดีษหมายถึง 3948
[3] รายงานโดยท่าน อัลคอตีบ ในหนังสือ “อัลญามีอฺ ลิอัคล๊าคกิรรอวีย์ วะอาดาบิซซาเมี๊ยะ” ฮะดีษ หมายเลข 139
[4] ท่านอิบนุ บัฏเฏาะห์ ได้รายงานเรื่องราวต่างๆ ข้างต้น ไว้ในหนังสือ “อัลอิบานะตุ้ล กุบรอ” เล่ม 1 หน้าที่ 204 ฮะดีษหมายเลข 42-44
[5] รายงานโดยท่าน อัลคอฏีบ ในหนังสือ “อัลญาเมี๊ยะ ลิ อัคลากิรรอวีย์ วะอาดาบิซซาเมี๊ยะ” ฮะดีษหมายเลข 673
[6] รายงานโดย อบุนุอัยมฺ ในหนังสือของท่านเอง “ ฮิ้ลยะตุ้ลเอาลิยาอฺ ” เล่ม 6 หน้า 370
[7] ท่านฮาฟิศ อัซซะฮะบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ ซิยัร อะอฺลามินนุบะลาอฺ ” เล่ม 11 หน้า 305