โอ้อัลลอฮ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงให้อภัย พระองค์ทรงชอบการให้อภัยดังนั้นขอพระองค์ให้โปรดให้อภัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า:
“ผู้ใดที่ได้ยืนขึ้น (หมายถึงการทำอิบาดะห์ เช่นการละหมาด ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยกับความศรัทธา และมีความหวังในผลตอบแทน เขาจะถูกอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมาของเขา” รายงานโดย อิหม่ามบุคอรี
เตรียมพร้อมสำหรับสิบคืนสุดท้ายและวันที่เหลืออยู่กันเถิด และค้นหาค่ำคืนอันประเสริฐนี้ ทำอิบาดะห์ให้สุดความสามารถและมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ พระองค์จะทรงตอบแทนแก่เราอย่างมากมาย
การเจาะจงคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ
ชัยคฺมุฮัมมัดศอลิฮ์ อุซัยมีน รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ถูกถามว่า: “คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺอยู่ในสิบคืนสุดท้ายหรือไม่ และมันจะเปลี่ยนย้ายไป (หมายถึงค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺจะวนเวียนไปในสิบคืนนี้) หรือไม่ครับ?
ชัยคฺอุซัยมีนได้ตอบว่า:
ใช่แล้ว ค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺอยู่ในสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และ (ทัศนะ) ที่ถูกต้องนั้น ก็คือ มันจะเปลี่ยนย้ายไป (ภายใน10คืนนี้) เหมือนเช่นที่ ท่านอิบนุฮะญัร รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้กล่าวเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวนี้ไว้ในหนังสือ “ฟัตฮุ้ลบารี” และดังเช่นที่ได้มีซุนนะห์บ่งชี้ไว้ถึงสิ่งดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วบางที “คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ” อาจจะอยู่ในค่ำคืนที่ 21 หรือ อยู่ในค่ำคืนที่ 23 อยู่ในค่ำคืนที่ 25 ค่ำคืน 27 ค่ำคืนที่ 29 ก็เป็นได้ และบางทีมันอาจจะอยู่ในค่ำคืนที่เป็นคู่ก็ได้ ทุกค่ำคืนที่กล่าวมานี้เป็นไปได้ที่จะเป็น “ค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ” และมนุษย์เราถูกสั่งใช้ให้มีความมุ่งมั่นที่จะ (แสวงหา) ค่ำคืนนี้โดยการละหมาดไม่ว่าจะเป็นการละหมาดกับญะมาอะห์ถ้าหากว่าเขาอยู่ในเมืองที่มีการจัดตั้งญะมาอะห์ขึ้นเขาก็ละหมาดพร้อมกับญะมาอะห์นั้นถือว่าประเสริฐที่สุด นอกจากว่าเขาจะอยู่ในชนบท (ที่ไม่มีญะมาอะห์) เขาก็ควรจะละหมาดแม้ว่าจะคนเดียวก็ตาม
และพึงทราบไว้เช่นเดียวกันว่า บุคคลที่ยืนขึ้น (ละหมาดและทำอิบาดะห์อื่นๆ) ในคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ ด้วยกับศรัทธามั่นและหวังในผลตอบแทน เขาก็ย่อมได้รับความดีงามของค่ำคืนนี้ไม่ว่าเขาจะรู้ถึงค่ำคืนนี้หรือไม่รู้ก็ตามแม้กระทั่ง สมมุติว่าคนๆ หนึ่งไม่รู้ถึงเครื่องหมายของค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺหรือว่าเขาไม่ได้ตื่นในคืนนั้นเพราะการนอนของเขาหรือสาเหตุอื่นจากนี้แต่ทว่าเขายืนละหมาดด้วยความศรัทธามั่นและหวังในผลตอบแทน แน่นอนอัลลอฮตะอาลาย่อมให้แก่เขาซึ่งสิ่งที่พระองค์ได้ทรงเตรียมไว้สำหรับสิ่งดังกล่าวนี้ ก็คือ พระองค์จะทรงอภัยโทษให้แก่เขาจากความผิดบาปที่ผ่านมาแม้ว่าเขาจะ (ทำอิบาดะห์) อยู่คนเดียวก็ตาม
และชัยคฺอุซัยมีนได้ถูกถามอีกคำถามหนึ่งในลักษณะเดียวกันว่า:
คำถาม: ขออัลลอฮทรงตอบแทนท่านด้วยความดีงามอันเนื่องมาจากอิสลามและบรรดามุสลิมเป็นสาเหตุ คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺนั้นคงที่ตายตัวอยู่ในค่ำคืนที่เจาะจงของทุกปีหรือว่ามันย้ายไปมาจากคืนหนึ่ง (ของปีก่อน) ไปอีกคืนหนึ่ง (ของปีถัดไป) ครับ
ชัยคฺได้ตอบว่า: คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺนั้นไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามันอยู่ในเดือนรอมฎอนเนื่องด้วยคำตรัสของอัลลอฮตะอาลาที่ว่า:
إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ
“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ” ซูเราะห์อัลก็อดรฺ อายะที่ 1
และอัลลอฮตะอาลาได้ทรงชี้แจงไว้ในอายะห์อื่นอีกว่า พระองค์ทรงประทานกุรอ่านลงมาในเดือนรอมฎอน พระองค์ทรงตรัสว่า :
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมา” ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ อายะห์ที่ 185
และท่านบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้เคยทำการเอี๊ยะติกาฟในช่วงสิบคืนแรกของรอมฎอนเพื่อแสวงหาคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ หลังจากนั้นท่านก็ได้เอี๊ยะติกาฟต่อในช่วง 10 วันของกลางเดือนหลังจากนั้นท่านก็เห็นว่าคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺนั้นอยู่ในสิบคืนสุดท้ายของรอมฎอน (รายงานโดยบุคอรี)
หลังจากนั้น บรรดาศอฮาบะห์ของท่านนบีจำนวนหนึ่งต่างเห็นพ้องกันในความฝัน (คือถูกทำให้ฝันเห็นคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ) ว่าคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺนั้นอยู่ใน เจ็ดคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ดังนั้นท่านนบีจึงกล่าวว่า: “ฉันเห็นว่าความฝันของพวกท่านนั้นมันสอดคล้องกันในช่วงเจ็ดคืนสุดท้ายดังนั้นใครที่แสวงหามันเขาก็จงแสวงหามันในช่วงเจ็ดคืนสุดท้ายเถิด (รายงานโดยบุคอรี)
และนี่คืออย่างน้อยที่สุดของเวลาที่ถูกกล่าวกันในการจำกัดคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺในช่วงเวลาที่เจาะจง
และเมื่อเราได้พิจารณาหลักฐานต่างๆที่รายงานมาเกี่ยวกับคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ มันได้เป็นที่ชัดเจนสำหรับพวกเราแล้วว่าคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจากคืนหนึ่ง (ของปีก่อน) ไปอีกคืนหนึ่ง (ของปีถัดไป) และแท้จริงแล้วมันก็ไม่ได้อยู้ในค่ำคืนที่เจาะจงของทุกๆปี ดังนั้นท่านนบีจึงถูกทำให้เห็นคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺในฝัน ขณะที่ท่านกำลังสุหยูดในน้ำและดินโคลนในตอนเช้าของมัน และคืนดังกล่าวนั้นคือ คืนที่ 21 (รายงานโดยบุคอรี)
และท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวอีกว่า : “พวกท่านจงแสวงหาคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนเถิด” (รายงานโดยบุคอรี)
และหลักฐานนี้ได้บ่งชี้ว่า คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในค่ำคืนที่เจาะจง และด้วยกับสิ่งนี้เองหลักฐานต่างๆ จึงสอดคล้องกัน และคนที่ได้อยู่ในทุกๆ คืนของสิบคืนสุดท้าย เขาก็หวังว่าตัวเองจะบังเอิญพบกับคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ (ไม่คืนใดก็คืนหนึ่ง) และมียืนยันผลบุญของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺที่เป็นผลลัพสำหรับบุคคลที่ยืนละหมาด (พร้อมกับทำอิบาดะห์) ในค่ำคืนนี้ ด้วยกับความศรัทธามั่นและหวังผลตอบแทน ไม่ว่าเขาจะรู้ถึงคืนนั้นหรือไม่รู้ก็ตาม เพราะว่า ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้กล่าวว่า : “ใครก็ตามที่ยืนขึ้น (ละหมาดและทำอิบาดะห์อื่น) ในคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺด้วยศรัทธามั่นและหวังผลตอบแทนเขาจะถูกอภัยโทษในความผิดบาปของเขาที่ผ่านมา” (รายงานโดย บุคอรี)
“มัจมูอฺ อัลฟะตาวาวัรร่อซาเอ้ล” โดย ชัยคฺศอลิฮ์ อุซัยมีน รอฮิมะฮุ้ลลอฮ เผยแพร่ ปี 1413 สำนักพิมพ์ : ดารุ้ลวะตอน มี 26 เล่ม / เล่มที่ 14 หน้าที่ 227-229
ฮิกมะห์ของการแสวงหาคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ
ชัยคฺมุฮัมมัดศอลิฮ์ อุซัยมีน รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้กล่าวว่า:
“และอัลลลฮฺอัซซะวะญั้ลได้ทรงปกปิดมันไว้ (คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ) แก่บ่าวของพระองค์เนื่องด้วยฮิกมะห์ที่ยิ่งใหญ่ 2 ประการด้วยกัน
ฮิกมะห์แรก: แสดงให้เห็นถึงความอุสาหะในการแสวงหาคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺซึ่งเขาได้ขมักขเม้นในทุกๆ ค่ำคืนเผื่อว่าบางทีเขาอาจะได้รู้ถึงมันและอาจจะประสบกับมัน (ในค่ำคืนใดค่ำคืนหนึ่ง) เพราะถ้าหากว่ามันเป็นคืนที่เจาะจงแล้วละก็ก็ย่อมจะไม่พบผู้คน (มากมาย) นอกจากในคืนดังกล่าวเท่านั้นเป็นแน่
ส่วนฮิกมะห์ที่สอง: ผู้คนจะยิ่งปฏิบัติการงานที่ดีเพิ่มมากขึ้นซึ่งพวกเขาได้ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาและได้รับประโยชน์ด้วยการงานนี้”
“มัจมูอฺ ฟะตาวา วัรร่อซาเอ้ล” โดยชัยคฺอุซัยมีน รอฮิมะฮุ้ลลอฮ พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 1420 สำนักพิมพ์ : ดารุษษะริยา ลินนัชริวัตเตาซีอฺ เล่มที่ 14 หน้าที่ 230
เครื่องหมายของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ
ชัยคฺมุฮัมมัดศอลิฮ์ อุซัยมีน รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ ชัรฮุ้ลมุมเตี๊ยะ อะลาซาดิ้ลมุสตักนิอฺ เล่ม ที่ 6 หน้าที่ 496-497 ว่า :
บทค้นคว้าที่เจ็ด: เกี่ยวกับเครื่องหมายของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ
คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺนั้น สำหรับมันมีทั้งเครื่องหมายที่เปรียบเทียบได้ (สัมผัสได้ขณะนั้น) และเครื่องหมายที่ตามมาภายหลัง (ในช่วงเช้าของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ)
ส่วนเครื่องหมายที่เปรียบเทียบได้ (สัมผัสได้ในขณะนั้น) ก็คือ:
1. มีแสงสว่างและรัศมีมากในคืนดังกล่าว และเครื่องหมายนี้จะอยู่ในเวลาขณะนั้น (ขณะคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ) จะไม่มีผู้ใดสัมผัสได้นอกจากผู้ที่อยู่บนบกสถานที่ห่างไกลจากแสงสว่างเท่านั้น
2. มีความเงียบสงบ หมายถึง จิตใจสงบนิ่ง และผู้ศรัทธามีความปลาบปลื้มใจ เพราะว่าเขาจะพบกับความผ่อนคลาย ความเงียบสงบ และปลาบปลื้มใจในคืนดังกล่าวนั้นซึ่งมากกว่าสิ่งที่เขาจะพบในค่ำคืนที่เหลือ
3. ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า: แท้จริงลมเย็นจะเกิดขึ้นในคืนนั้นอย่างสงบ หมายถึง ไม่มีพายุหรือลมแรงมาในค่ำคืนนี้หากแต่ว่าอากาศจะเหมาะสม
และที่บ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวเนื่องจากหะดิษของท่านญาบิร ว่า ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า :
“แท้จริงฉันเคยถูกทำให้เห็นคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺหลังจากนั้นฉันก็ถูกทำให้ลืม โดยที่มันอยู่ในช่วง 10 คืนสุดท้าย ซึ่งเป็นคืนที่บรรยากาศแจ่มใส ปลอดโปร่ง ไม่ร้อนและไม่หนาวจัด ราวกับว่าดวงจันทร์ปรากฏขึ้นพร้อมกับดวงดาวของมันโดยที่ชัยตอนของเวลาค่ำคืนจะไม่ออกมาจนกระทั่งรุ่งสาง”
รายงานโดยอิบนุคุซัยมะให้สถานะหะดีษศอเฮี๊ยะ และท่านอิบนุฮิบบาน
และหะดีษของท่านอุบาดะห์ บิน ศอมิต ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า :
“แท้จริงสัญลักษณ์ของของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ คือ ค่ำคืนของมันนั้น ปลอดโปร่ง แจ่มใส ราวกับว่า ดวงจันทร์ได้ส่องแสง สงบนิ่ง เงียบสงัด ไม่เย็นและไม่ร้อนจนเกินไปในค่ำคืนนี้ และดวงดาวต่างๆจะไม่ได้รับอนุญิาติที่จะตกลงมาในคืนนี้จนกว่าจะเช้า และเครื่องหมายของมัน(คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ) คือ ดวงอาทิตย์ในตอนเช้าของมันจะขึ้นอย่างราบเรียบไม่มีแสงจ้าเหมือนเช่นดวงจันทร์ในคืนเต็มดวงและชัยตอนก็ไม่ได้รับอนุญาติให้ออกมาในวันนั้น”
รายงานโดย อิหม่ามอะหมัด (5/324) และท่ายหัยซะมี่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลมุจมะอฺ (3/175) บรรดาผู้รายงานเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ
และคำพูดของท่านนบีที่ว่า : “ปลอดโปร่งแจ่มใส” หมายถึง สว่างไสว ไม่ร้อนและไม่เย็นจนเกินไป ไม่มีฝนตกและอากาศหนาวเย็น
4. อัลลอฮจะทรงทำให้มนุษย์เห็นคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺในความฝันเหมือนเช่นที่ได้เกิดขึ้นกับบรรดาศอฮาบะห์บางท่าน
5. คนๆ นั้นจะพบความหอมหวาน และความกะปี้ระเป่าในการละหมาดยามค่ำคืนมากกว่าในค่ำคืนอื่นๆ
ส่วนเครื่องหมายที่ตามมาภายหลัง (ในตอนเช้าของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ):
ส่วนหนึ่งจากมันก็คือ ดวงอาทิตย์จะขึ้นในตอนเช้าของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺโดยที่มันไม่มีแสงสว่างจ้าซึ่งไม่เหมือนอย่างที่เคยเป็นในวันต่างๆ ที่เหลือ
และที่บ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวนี้ คือ หะดิษของท่านอุบัย บินกะอฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ หะดิษมัรฟูอฺ ว่า :
“และเครื่องหมายของมัน (คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ) คือ การที่ดวงอาทิตย์ในตอนเช้าของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺปรากฏขึ้นโดยที่มันไม่มีแสง” รายงานโดยอิมามมุสลิม
และส่วนสิ่งที่ถูกกล่าวกันว่า สุนัขจะเห่าน้อยลงหรือไม่เห่าเลยนั้น สิ่งนี้มันไม่ตรงสักเท่าไร เพราะในบางครั้งคนที่ให้ความสนใจกับทั้งสิบคืนแล้วเขาก็พบว่าสุนัขมันเห่ามันก็ไม่ได้เงียบอะไร แล้วถ้าหากว่า มีคนกล่าวว่า : อะไรคือประโยชน์ที่ได้รับจากเครื่องหมายที่ตามมาทีหลังละ ? คำตอบคือ เป็นความปิติยินดีของผู้ที่ทุ่มเทอุสาหะในคืนดังกล่าว และความมีอีหม่าน และความเชื่อมั่นที่เข้มแข็ง โดยที่เขาได้ให้ความยิ่งใหญ่กับความหวังของเขาในการงานที่เขาได้ปฏิบัติในคืนดังกล่าว
และคำกล่าวของเขาที่ว่า “และให้เขาวิงวอนขอในค่ำคืนนั้นด้วยกับสิ่งที่มีรายงานมา” (ผู้แต่งหนังสือ) หมายถึง ส่งเสริมให้วิงวอนขอในค่ำคืนนี้ด้วยกับดุอาห์ที่มีรายงานจากท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมที่ว่า :
اللهم إنك عفو تحب العفو فاعف عني
อ่านว่า : อัลลอฮุมมะ อินนะกะ อะฟูวุน ตุฮิบบุ้ลอัฟวะ ฟะอฺฟุอันนี
ความว่า : โอ้อัลลอฮ แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงให้อภัย พระองค์ทรงชอบการให้อภัยดังนั้นขอพระองค์ให้โปรดให้อภัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.
หนังสือ : الشرح الممتع على زاد المستقنع เล่มที่ 6 หน้าที่ 496-497 http://shamela.ws/browse.php/book-10649/page-2535#page-2534
และชัยคฺอับดุลอะซีซ บินอับดุลลอฮ บินบาซ ได้ถูกถามเกี่ยวเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่า: มีผู้ถามชัยคฺบินบาซ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ว่า:
คำถาม: คนๆ หนึ่งจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาได้ประสบพบกับคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ
คำตอบ: ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้บอกว่า แท้จริงมันนั้น (สัญลักษณ์ของคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺคือ) ดวงอาทิตย์จะขึ้นในตอนเช้าของคืนนั้นโดยที่มันไม่มีแสง
และท่านอุบัย บินกะอฺ รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ ศอฮาบะห์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้เคยสังเกตุเหตุการณ์ดังกล่าวมาหลายปีแล้วท่านก็เห็นมันขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 27 ซึ่งมันไม่มีแสงเลย โดยท่านได้เคยสาบานว่ามัน(คืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ)คือค่ำคืนที่ 27 เนื่องด้วยสาเหตุของเครื่องหมายนี้ แต่ทว่าที่ถูกต้องคือว่ามันอาจจะอยู่ในค่ำคืนที่นอกเหนือจากนี้ก็ได้ บางทีในหลายๆปี อาจจะอยู่ในคืนที่ 27 ซึ่งบางทีในอีกหลายปีถัดมาอาจจะอยู่ในคืนที่ 21 หรือ คืนที่ 23 หรือ คืนที่ 25 หรืออยู่ในคืนที่นอกเหนือไปจากนี้ก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วการเผื่อเอาไว้ และความตั้งใจบากบั่น (ในการแสวงหาคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ) ควรอยู่ในค่ำคืนทั้งหมด ญะซากุมุ้ลลอฮุคอยรอน.
ที่มา : http://www.binbaz.org.sa/noor/4904
คนที่พลาดคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ
ท่านเราะซูลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวว่า : “แท้จริงเดือนนี้ (เดือนรอมฎอน) ได้มายังพวกท่านแล้ว และในเดือนนี้ มีค่ำคืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน หากบุคคลใดพลั้งพลาดจากมัน (พลาดการทำอิบาดะต่างๆ ในค่ำคืนนี้) แท้จริงเขาได้พลั้งพลาดจากความดีงามทั้งหมดของเดือนนี้ไป ไม่มีผู้ที่พลั้งพลาดไปจากความดีของคืนนี้นอกจากผู้ที่อัปโชคเท่านั้น” รายงานโดย อิบนุมาญะ เชค อัลบานีให้สถานะหะดิษนี้ ฮะซัน ในหนังสือ ศอเฮี๊ยะ อัลญามิอฺ
ค่ำคืนที่ 27 ของเดือนรอมาฎอน
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ เล่าว่า แท้จริงท่านร่อสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวเกี่ยวกับสัญญาณของค่ำคืนอัลก็อดรฺว่า
«إنها ليلة سابعة أو تاسعة وعشرين، إن الملائكة تلك الليلة في الأرض أكثر من عدد الحصى»
“มันเป็นค่ำคืนที่ 27 หรือ 29 แท้จริงในค่ำคืนนั้น บรรดามะลาอิกะฮฺจะอยู่บนพื้นดินมากกว่าจำนวนของเม็ดทราย” รายงานโดย อีหม่ามอะฮฺหมัด และเชคอัลบานีย์ให้สถานะฮะดิษบทนี้อยุ่ในระดับ ฮะซัน ใน ศอเฮี๊ยะ อัลญาเมี๊ยะ
และมีรายงานว่าศอฮาบะห์บางท่านเจาะจงค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ คือ คืนที่ 27 ศอฮาบะห์ท่านนั้นก็คือ ท่าน อบัย บิน กะอฺ โดยท่านได้กล่าวเกี่ยวกับคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺว่า :
قال أُبيُّ بنُ كَعبٍ رضِيَ اللهُ عنهُ في لَيلةِ القَدْرِ: ((واللهِ، إنِّي لأَعلمُها، وأكثرُ عِلمي هي اللَّيلةُ التي أَمرَنا رسولُ اللهِ صلَّى الله عليه وسلَّمَ بقِيامِها، هي ليلةُ سَبعٍ وعِشرينَ))
رواه مسلم (762
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ แท้จริงฉันรู้ถึงมันดี(ลัยละตุ้ลก็อดริ) ฉันคิดว่ามันน่าจะคือคืนที่ท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมสั่งใช้ให้พวกเรายืนละหมาดคืนนั้น มันก็คือ คืนที่ยี่สิบเจ็ด” รายงานโดยอิหม่ามมุสลิม
และศอฮาบะห์อีกท่านที่บอกว่าคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺคือคืนที่ยี่สิบเจ็ดคือท่าน อบูฮุร็อยเราะฮฺ รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ
ฉะนั้นแล้วเราจะรออะไรออยู่อีกละ จะรอให้ค่ำคืนนี้ผ่านไปโดยที่เรากำลังดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง เล่นเกมส์ และทำสิ่งไร้สาระอื่นๆ ฯลฯ จนไม่ได้ทำอิบาดะห์อะไรเลยในค่ำคืนนี้กระนั้นหรือ? วัลอิญาซุบิ้ลละห์