บทตอบ อ.อิบรอฮีม สือแม: การทำลายความน่าเชื่อถือตำราสะลัฟ EP.01

ผมเคยแสดงความคิดเห็นไปก่อนหน้านี้ว่า Method กระบวนการได้มาซึ่งความรู้สะลัฟของ อ.อิบรอเฮม สือแม นั้น ไม่ต่างอะไรกับอะชาอิเราะห์ กล่าวคือ ไม่ยอมทิ้งการสรุปอิจมาอ์ของคอลัฟที่ขัดแย้งกับสะลัฟ แต่ก็ยังมองในแง่ดีว่ายังมีความต่างกันที่พวกอัชอารีย์นั้น พร้อมจะบอกว่า ตำราสะลัฟนั้นปลอม พร้อมจะทำลายความน่าเชื่อถือของตำราสะลัฟ!

มาวันนี้ผมผิดหวังมากเมื่อ อ.อิบรอเฮม สือแม พยายามจะดิสเครดิตหนังสือมะซาอิ้ลของท่านอิมามฮัรบ์ อิบนุอิสมาอีล อัลกิรมานีย์ (ฮ.ศ.280) ซึ่งเป็นอุละมาอ์สะลัฟระดับใหญ่มาก เป็นลูกศิษย์อิมามอะฮ์หมัด หนังสือของท่านนั้นนับเป็นรากฐานสำคัญของอะกีดะฮ์อิสลาม ผมจึงขอชี้แจงการดิสเครดิตดังนี้

การดิสเครดิตชุดที่ 1

อ้างว่าไม่มีสายรายงานต่อเนื่อง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของหนังสือ (ภาพ 1 แถบแดง ภาพข้างล่าง)

 

ชี้แจง

ประการที่ 1: คนที่ทำหน้าที่ตรวจทาน (ตะห์กีก) หนังสือเล่มนี้โดยตรงซึ่งจะมีความละเอียดละออรอบคอบเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกี่เจ้าก็ตามที่ได้ทำหน้าที่ตรวจทาน ถามว่ามีสักเจ้าหรือไม่ที่ยืนยันออกมาว่าหนังสือเล่มนี้เชื่อถือไม่ได้ ความจริงแล้ว ไม่ถูกต้องเลยแม้แต่น้อยที่ อ. อิบรอเฮม ที่ไม่ใช่ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจทานโดยตรงจะมาหาเรื่องลดความน่าเชื่อถือของหนังสือเล่มนี้หรือจะมาตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่ผู้ที่ได้ทำหน้าที่ตรวจทานโดยตรงไม่รู้กี่เจ้ากลับยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้เชื่อถือได้ … แปลกแต่จริงครับ หรือว่า อ.อิบรอเฮม จะเป็นคนแรกของโลกที่ทำแบบนี้

ประการที่ 2: คำพูดของ อ.อิบรอเฮม ความว่า “แต่อาศัยการยอมรับอิบนุตัยมียะฮ์และอิบนุก็อยยิม ที่เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ *น่าจะ* มาจากอิมามอะฮ์หมัด” (ภาพ1แถบเขียว) การยอมรับของอิบนุตัยมียะฮ์และอิบนุก็อยยิมยังไม่เพียงพออีกหรือ? คำพูดนี้จึงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากการสร้างชุบฮัตให้มีต่อหนังสือเล่มนี้ เพราะอะฮ์ลุซซุนนะฮ์เชื่อว่าอุละมาอ์นั้นมีความบริสุทธิ์ใจและซื่อสัตย์กับหลักการศาสนา ดังนั้นการที่อุละมาอ์ระดับอิบนุตัยมียะฮ์และอิบนุก็อยยิมจะอ้างอิงความรู้นั้นไม่ใช่ว่าอยู่บนความคุมเครือว่าขาดตอนหรือเปล่าแล้วก็อ้างส่งเดชว่ามาจากคนนั้นคนนี้ ยิ่งไปกว่านั้นอิบนุตัยมียะฮฺได้ยืนยันเอาไว้อย่างชัดเจนว่าหนังสือมะซาอิ้ลของท่านฮัรบฺนั้นเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีซึ่งท่านฮัรบฺอัลกิรมานีย์ได้รายงานมาจากอิหม่ามอะห์หมัดและจากท่านอิสฮาก (ดูคำกล่าวดังกล่าวนี้ของอิบนุตัยมียะฮฺได้ที่ดัรอฺ อัตตะอารุฎ เล่มที่ 2 หน้าที่ 22)

ประการที่ 3: ในการแสดงความคิดเห็นกัน อ.อิบรอเฮม ได้มีความสับสนโดยเอาวิธีการอ้างอิง 2 รูปแบบมาปนกัน (ภาพ 2) ระหว่าง

1. “การรายงานแบบท่องจำปากต่อปากในศาสตร์หะดีษ” ซึ่งต้องอาศัยความต่อเนื่องของสายรายงาน ไม่ขาดตอน กล่าวคือ “เกิดทันกัน ต้องพบเจอกัน ไม่มีการตัดลีซ ฯลฯ” เอามาปนกับ

2. “การอ้างอิงหนังสือ” ซึ่งแม้ผู้อ้างอิงอย่างท่านอิบนุก็อยยิมจะเกิดไม่ทัน แต่เมื่อท่านได้อ้างเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้มา (นะก้อล) เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าท่านอิบนุก็อยยิมได้เคยอ่านหนังสือเล่มจริงมาแล้ว ซึ่งเป็นเล่มที่มีความน่าเชื่อถืออย่างแน่นอน จากนั้นท่านอิบนุกอยยิมก็ได้นำมากล่าวเอาไว้หนังสือของท่านอีกทีจากสิ่งที่ท่านได้อ่านมา เพราะความน่าเชื่อถือของท่านอิบนุกอยยิมนั้นไม่เป็นที่สงสัยแต่อย่างใด มิเช่นนั้นอาจารย์จะบอกหรือครับว่าอิบนุกอยยิมได้อ้างเอาเองใส่ท่านอิมามฮัรบ์ อิบนุอิสมาอีล อัลกิรมานีย์

ประการที่ 4: อิมามอัสสะฮะบีย์บอกว่า “หนังสือริซาละฮ์นี้เป็นหนังสือ 2 เล่มใหญ่” ประมวลไปด้วยหมวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิจมาอ์ ฟิกฮ์ ญัรวัตตะอ์ดีล ฯลฯ ซึ่งอิบนุก็อยยิมได้นำส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มาไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ “ฮาดี อัลอัรวาห์” เพราะฉะนั้นต่อให้หนังสือฉบับลายมือของท่านฮัรบ์จะสูญหายไป แต่หนังสือของอิบนุก็อยยิมได้ตกทอดมาถึงเราและได้รายงานข้อความอิจมาอ์นั้นมา ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ดังนั้นการที่อิบนุก็อยยิมเขียนไว้ แสดงว่าท่านได้อ่านมาแล้ว ไม่งั้นระบบการอ้างตำราทั้งหลายในโลกอิสลามพังแน่เพราะมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ถูกอุละมาอ้างอิง แต่ตัวเล่มจริงนั้นได้สูญหายไปแล้ว เช่น การที่อิบนุก็อยยิมได้อ้างถึงความเชื่อของ อิบนุกุลลาบ ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาซึ่งต้นฉบับลายมือนั้นสูญหายไปแล้ว

ลิ้งค์ด้านล่างนี้คืองานวิจัยเกี่ยวกับหนังสือของอิมามฮัรบ์ อัลกิรมานีย์โดยตรงเลย ซึ่งได้มีการอ้างถึงอิบนุตัยมียะฮฺที่ได้รับรองความน่าเชื่อถือของหนังสือเล่มนี้เอาไว้โดยที่อิบนุตัยมียะฮฺเองได้นำเอาต้นฉบับคัดลอกที่เก่าแก่และแม่นยำที่สุดๆ จากต้นฉบับ

Link Download หนังสือ https://units.imamu.edu.sa/colleges/sharia/rnd/Documents/الفقه/4/مسائل%20حرب%20الكرماني%20د.%20الوليد%20الفريان.pdf

ดังนี้แล้ว ในเมื่อปราชญ์อย่างอิบนุตัยมียะฮฺ และอิบนุกอยยิม ได้สรุปออกมาเพื่อยืนยันถึงความน่าเชื่อถือของหนังสือเล่มนี้เอาไว้แล้ว แล้วท่าน อ.อิบรอเฮม เป็นใคร ที่บังอาจไปรื้อความเข้าใจของอุละมาอ์ เพื่อตั้งข้อสงสัยต่างๆ นาๆ ให้กับหนังสือเล่มนี้อีก เพราะฉะนั้นเราขอให้ อ.อิบรอเฮม มีความละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ในการค้นและขอแนะว่า google ช่วยได้มากๆ ครับในการค้นหาข้อมูลให้ตรงประเด็น google มีประโยชน์มากแต่ก็ต้องระมัดระวังให้มากด้วยในการค้นเพราะอาจจะไปค้นข้อมูลที่ผิดๆ มาได้

 

ประการที่ 5: จากที่ อ.อิบรอเฮม ได้บอกว่า “หนังสือขาดความน่าเชื่อถือ” พอถูกคุณ Arachkhan Cheralee ถาม (ภาพ 3) ว่า

“มีผู้ตรวจทานเจ้าไหนที่สรุปออกมาว่าหนังสือเชื่อถือไม่ได้ (หรือท่านทำตัวเป็นผู้ตรวจทานเอง)”

ก็อัลฮัมดุลิ้ลละฮ์ เมื่อรู้ว่าทำอะไรเกินตัวอย่างน้อยท่าน อ.อิบรอเฮม ก็กระโดดหนีออกมาทันทีแล้วพูดว่า

“แล้วผมบอกว่าเชื่อไม่ได้หรอคับ” จากนั้นจึงอธิบายคำพูดตัวเองใจความว่า “ผมหมายถึงความน่าเชื่อถือลดลง”

คำว่า “ถูกลดความน่าเชื่อถือ” ก็ยังเป็นเคลมอยู่ดีครับ คำถามจึงมีอยู่ว่า

คำถาม: คำว่า “ถูกลดความน่าเชื่อถือ” คืออย่างไร หมายความว่าอย่างไร อ.อิบรอเฮม ต้องการจะบอกอะไร ต้องการจะสื่ออะไรกับคำพูดที่ว่า “ถูกลดความน่าเชื่อถือ” จะบอกว่าเชื่อถือไม่ได้? หรือจะบอกว่าเชื่อถือได้? หรือจะบอกว่าเชื่อได้แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาด?

ถ้า อ.อิบรอเฮม บอกว่า เชื่อได้แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาด เช่นนั้นเราขอตอบว่า คนที่ทำหน้าที่ตะห์กีก (ตรวจสอบ) หนังสือเล่มนี้โดยตรงเขาระวังมากกว่าอาจารย์ เขาละเอียดละออ เขาละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าอาจารย์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าหลายๆ เจ้ามารวมกันแล้ว ไม่มีสักเจ้าเลยที่จะได้ข้อสรุปแบบที่ อ.อิบรอเฮม ได้สรุปออกมา อย่างนี้ อ. อิบรอเฮม ก็น่าจะพิจารณาตัวเองได้แล้วน่ะครับ หรือว่าอาจารย์จะเป็นคนแรกของโลก?

การดิสเครดิตชุดที่ 2 

อ.อิบรอเฮม ได้ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อเพื่อลดความน่าเชื่อถือของหนังสือเล่มนี้

การดิสเครดิตประการที่ 1: มีหลายประเด็นที่ไม่เป็นอิจมาอ์ตามที่กล่าวอ้างของผู้ตะห์กีกหนังสือที่ได้ตั้งชื่อว่าอิจมาอฺ

ชี้แจงประการที่ 1: การที่ในหนังสือเล่มหนึ่งมีความผิดพลาดบ้างนั้นเป็นเรื่องปกติ และถ้ามีเรื่องที่ไม่ใช่อิจมาอ์ มันก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่า จะทำให้อีกเรื่องที่เป็นอิจมาอ์กลายเป็นไม่มีอิจมาอ์ไป ไม่เช่นนั้นหะดีษซอฮิฮ์ในมุสนัดอิมามอะฮ์หมัดคงใช้ไม่ได้ เพราะมีหะดีษฏออีฟอยู่ด้วย และอีกอย่างที่ต้องการบอกเอาไว้ก็คือหนังสือของท่านอิหม่ามฮัรบฺอัลกิรมานีย์นั้นประกอบไปด้วยสองเล่มใหญ่ และมีบทต่างๆ โดยที่หนึ่งในบทของหนังสือเล่มนี้คือบทที่กล่าวถึงอะกีดะฮฺที่ถือเป็นอิจมาอฺ

และที่เราทางเราได้โพสหนังสือไป (ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้) ก็เป็นหนังสือที่ได้ดึงบทนี้ของหนังสือของท่านอิหม่ามฮัรบฺอัลกิรมานีย์ โดยแยกออกมาทำเป็นหนังสือเฉพาะและได้ตั้งชื่อใหม่ว่า إجماع السلف في الاعتقاد كما حكاه الإمام حرب الكرمان (ดังภาพข้างล่าง)

ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ก็คือสิ่งที่ได้ถูกดึงออกมาจากบทหนึ่งหนังสือของท่านอิหม่ามฮัรบฺอัลกิรมานีย์อีกที โดยเป็นบทที่ว่าด้วยเรื่องอะกีดะฮฺที่ถือเป็นอิจมาอฺ

ตามที่ได้ชี้แจงไป เราจึงขอถามว่า

คำถามที่ 1: เรื่องอะไรบ้างในหนังสือเล่มนี้ที่ท่านบอกว่าไม่ใช่อิจมาอ์จริง? และสมมุติว่าท่านสามารถบอกมาได้ว่าเป็นเรื่องอะไรที่อยู่ในหมวดอะกีดะฮ์ ท่านก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเพราะอะไรจึงไม่ใช่อิจมาอฺจริง หรือว่าผู้ที่ทำการตะห์กีก (ตรวจทาน) หนังสือของท่านฮัรบ์อัลกิรมานีย์ได้ทักท้วงเอาไว้อย่างนั้นหรือ และถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าเรื่องหนึ่งๆ ไม่ใช่อิจมาอฺจริง นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องที่อื่นไปจากนี้ที่ได้ถูกยืนยันว่าเป็นอิจมาอฺจะต้องถูกทำให้ลดความน่าเชื่อถือไปด้วย

คำถามที่ 2: ผู้ตะฮ์กีกหนังสือเล่มนี้มีคนไหนบอกว่าหนังสือเล่มนี้เชื่อถือไม่ได้? มีคนไหนบอกว่าความน่าเชื่อถือลดลง? ท่านเอาการสรุปแบบนี้มาจากไหน?

คำถามที่ 3: ประเด็นเรื่องอิจมาอฺห้ามล้มผู้นำนั้น ผู้ตะฮ์กีกคนไหนได้ทำการท้วงติงว่าไม่มีอิจมาอ์

การดิสเครดิตประการที่ 2: มีหะดีษฎออีฟมากมายในหนังสือนี้ ถึงขั้นเป็นหะดีษมัตรูก และบางรายงานมีผู้รายงานที่โกหก

ชี้แจงประการที่ 2: มีหนังสือเล่มไหนบ้างไม่มีผิดพลาด ไม่งั้นตัฟซีรอิบนุกะษีรซึ่งเป็นตัฟซีรที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในหมู่อุละมาอฺอะฮฺลิซซุนนะฮฺก็ใช้ไม่ได้ หรือแม้แต่ตำราอธิบายฮะดีษที่เลื่องลือของอิหม่ามนะวะวีย์ที่มีความผิดพลาดในเรื่องซิฟัตของอัลลอฮฺ หรือแม้แต่หนังสือ “กิต๊าบ อัซซุนนะฮ ” ของลูกชายอิหม่ามอะห์หมัดที่เราใช้ตอบโต้กลุ่มหลงผิดกันตกลงถ้าในหนังสือเล่มนี้มีการกล่าวกันถึงขั้นตัดสินอบูฮะนีฟะฮฺให้เป็นกาเฟร ซึ่งเราก็จะไม่ยึดตามนั้นอยู่แล้ว ตกลงส่วนอื่นๆ ของหนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ไปด้วยใช่ไหม จะกลายเป็นสิ่งที่หมดความน่าเชื่อถือในการยึดถือไปด้วยใช่หรือไม่ ???

ข้ออ้างนี้จึงไม่ทำให้เรื่องอิจมาอ์ขาดความน่าเชื่อถือไปแต่อย่างใด ซึ่งถ้าจะเอาความผิดพลาดเรื่องหนึ่งของหนังสือมาอ้างว่าอีกเรื่องหนึ่งผิดพลาด สองเรื่องนั้นต้องเกี่ยวข้องเป็นเงื่อนไขกัน เช่น (สมมติ) ในหนังสือเล่มหนึ่งมีหะดีษฎออีฟให้กินข้าวมือซ้าย ความผิดพลาดนี้เกี่ยวข้องเป็นเงื่อนไขกับเรื่องกินข้าวมือซ้าย ทำให้เรื่องกินข้าวมือซ้ายในเล่มนี้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่จะเอาความผิดพลาดของหะดีษฎออีฟเรื่องกินข้าวมือซ้ายมาสรุปว่าเรื่องอิจมาอ์ห้ามล้มผู้นำที่อยู่ในเล่มนี้ขาดความน่าเชื่อถือไม่ได้

การดิสเครดิตประการที่ 3: ผู้แต่ง คือ อิมามหัรบ์ เห็นว่า อิมามอะบูหะนีฟะห์เป็นผู้อุตริกรรม (مبتدع) ผู้นำแห่งความหลงผิด หัวหน้าบิดอะห์ และเห็นว่าท่าน เป็นหนึ่งในแกนนำมุรญิอะห์ ไม่ทราบว่า กลุ่มอัซซาบิกูนเห็นด้วยกับอิมามหัรบ์ในการตัดสินว่าอิมามอะบูหะนีฟะห์เป็นผู้หลงผิด แกนนำผู้หลงผิด หัวหน้าผู้อุตริกรรมด้วยหรือไม่

ชี้แจงประการที่ 3: ขอถามง่ายๆเลยว่า ถ้าส่วนที่กล่าวเกี่ยวกับอบูฮะนีฟะฮฺถือว่าผิดจริง นั่นคือไม่มีอิจมาอฺจริงในเรื่องนี้ ตกลงเรื่องอื่นๆ ที่ท่านฮัรบฺอัลกิรมานีย์ได้กล่าวเอาไว้ว่าเป็นอิจมาอฺจะกลายเป็นไม่ใช่อิจมาอฺไปด้วยอย่างนั้นหรือ เช่นเรื่องอัลกุรอานไม่ใช่สิ่งถูกสร้าง และเช่นกันมันทำให้ส่วนที่ได้ถูกยืนยันว่าอิจมาอฺห้ามโค่นล้มผู้นำกลายเป็นโมฆะไปด้วยอย่างนั้นหรือ ทั้งๆ ที่ตำราสลัฟเล่มอื่นจากนี้ได้ยืนยันว่าเป็นอิจมาอฺในเรื่องนี้เอาไว้

การดิสเครดิตประการที่ 4: ผู้แต่งกล่าวอย่างชัดเจนว่า กลุ่มมุรญีอะห์มีความเห็นอนุญาตต่อต้านผู้นำด้วยคมดาบ

ชี้แจงประการที่ 4: ผมไม่เข้าใจเคลมหรือข้ออ้างข้อนี้ของท่านนัก ว่าท่านจะเอาอะไร หรือท่านจะโยงว่า เมื่อท่านอิมามฮัรบ์มีทัศนะว่าอิมามอะบูหะนีฟะฮ์เป็นมุรญิอะฮ์ และได้บอกว่ากลุ่มมุรญิอะฮ์อนุญาตต่อต้านผู้นำด้วยคมดาบ ท่านก็เลยจะโยงว่า อิมามอะบูหะนีฟะฮ์ อนุญาตล้มผู้นำด้วยคมดาบ แบบนั้นหรือเปล่า?

ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านกำลังจะบอกว่ามุรญิอะฮ์ทุกคนจำเป็นต้องมีทัศนะห้ามล้มผู้นำหรืออย่างไร? ไม่จำเป็นเลย เพราะอิควานเอง บางคนก็ไม่ได้ถือทัศนะอนุญาตล้มผู้นำทั้งที่มันเป็นทัศนะที่เลื่องลือของอิควาน ในขณะที่อิควานบางคนก็ถือทัศนะนี้ ส่วนบางคนก็เป็นแค่อีแอบ และอีกประการคือ คำพูดอิมามอะบูหะนีฟะฮ์เองนั้นชัดเจนอยู่แล้วตามที่ผมเคยคัดลอกข้อมูลที่ได้ชี้แจงโดยสำนักพิมพ์อัซซาบิกูนมาลงไว้ในลิ้งนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การโค่นล้มผู้นำไม่มีอิจมาอ์ห้ามจากสะลัฟจริงหรือ? ตอนที่ 2)

รวมคำถามสำคัญจากบทความนี้

คำถามที่ 1: ถ้าอิบนุกอยยิมได้อ่านหนังสือริซาละฮ์มา และได้นำส่วนหนึ่งในหนังสือนี้ มาไว้ในหนังสือของท่านบทว่าด้วยอะกีดะฮ์และอิจมาอ์ จากนั้นหนังสือของอิบนุกอยยิมก็ตกทอดมาจนถึงเราในยุคปัจจุบัน ส่วนหนังสือของอิมามฮัรบฺอัลกิรมานีย์เล่มที่อิบนุกอยยิมได้อ่านอาจจะสูญหายไปแล้ว คำถามคือถ้าเป็นแบบนี้ในทางวิชาการ จะถือว่าสิ่งที่อิบนุกอยยิมได้ยืนยันเอาไว้ในหนังสือของท่านเชื่อถือไม่ได้ใช่ไหม?

คำถามที่ 2ผู้ตะฮ์กีกหนังสือเล่มนี้มีคนไหนบอกว่าหนังสือเล่มนี้เชื่อถือไม่ได้? มีคนไหนบอกว่าความน่าเชื่อถือลดลง? ท่านเอาการสรุปแบบนี้มาจากไหน?

คำถามที่ 3ถ้าส่วนที่กล่าวเกี่ยวกับอบูฮะนีฟะฮฺถือว่าผิดจริง นั่นคือไม่มีอิจมาอฺจริงในเรื่องนี้ ตกลงเรื่องอื่นๆที่ท่าน ฮัรบฺอัลกิรมานีย์ได้กล่าวเอาไว้ว่าเป็นอิจมาอฺจะกลายเป็นไม่ใช่อิจมาอฺไปด้วยอย่างนั้นหรือ?

คำถามที่ 4ช่วยบอกหน่อยครับว่าคำวิจารณ์ทั้ง 4 ข้อ อ.อิบรอเฮม เอามาจากไหน? เพราะอิบนุตัยมียะฮ์และอิบนุกอยยิมรับรองหนังสือเล่มนี้

คำถามที่ 5: คำว่า “ถูกลดความน่าเชื่อถือ” คืออย่างไร หมายความว่าอย่างไร อ.อิบรอเฮม ต้องการจะบอกอะไร ต้องการจะสื่ออะไรกับคำพูดที่ว่า “ถูกลดความน่าเชื่อถือ” จะบอกว่าเชื่อถือไม่ได้? หรือจะบอกว่าเชื่อถือได้? หรือจะบอกว่าเชื่อได้แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาด? ถ้าอ.อิบรอเฮม บอกว่า เชื่อได้แต่ก็ต้องระวังความผิดพลาด เช่นนั้นเราขอตอบว่า คนที่ทำหน้าที่ตะห์กีก (ตรวจสอบ) หนังสือเล่มนี้โดยตรงเขาระวังมากกว่าอาจารย์ เขาละเอียดละออ เขาละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าอาจารย์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะถ้าหลายๆ เจ้ามารวมกันแล้ว ไม่มีสักเจ้าเลยที่จะได้ข้อสรุปแบบที่ อ.อิบรอเฮม ได้สรุปออกมา อย่างนี้ อ. อิบรอเฮม ก็น่าจะพิจารณาตัวเองได้แล้วน่ะครับ หรือว่าอ. จะเป็นคนแรกของโลก