ตัวบท
[อ่านตอนที่แล้ว] ท่านชัยค์ได้กล่าวว่า: เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างท่านมาเพื่ออิบาดะฮ์ต่อพระองค์ เช่นนั่นก็พึงทราบเถิดว่า การอิบาดะฮ์นั้นจะไม่เรียกว่าการอิบาดะฮ์ นอกจากจะต้องมาพร้อมกับเตาฮีด
คำอธิบาย
“เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างท่านมาเพื่ออิบาดะฮ์ต่อพระองค์” หมายถึง เมื่อท่านได้ทราบข้อมูลที่มาจากอายะฮ์นี้แล้วที่ว่า
وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ
ความว่า: “และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่ออิบาดะฮ์ต่อข้า” [ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต (51): 56]
ซึ่งท่านก็เป็นหนึ่งในมนุษย์ ท่านก็เข้าไปอยู่ในอายะฮ์นี้ และท่านก็ทราบแล้วว่าอัลลอฮ์ไม่ได้สร้างท่านมาอย่างไร้เป้าหมาย หรือสร้างท่านมาเพื่อกิน เพื่อดื่มเท่านั้น เพื่อใช้ชีวิตในดุนยา ท่องเที่ยวไปนั่นนี่ แล้วปิติร่าเริง พระองค์ไม่ได้สร้างท่านมาเพื่อสิ่งนี้ แต่พระองค์ทรงสร้างท่านเพื่ออิบาดะฮ์ต่อพระองค์
แต่ที่พระองค์ทรงทำให้สภาพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นี้ เป็นเครื่องอำนวยประโยชน์แก่พวกท่าน ก็เพื่อเป็นสิ่งที่คอยช่วยท่านในเรื่องการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์เท่านั้น เพราะว่าท่านจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ และท่านจะไม่สามารถบรรลุไปสู่การอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ได้นอกจากจะด้วยสิ่งเหล่านี้
อัลลอฮ์ทรงทำให้สภาพสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นี้ เป็นเครื่องอำนวยประโยชน์แก่พวกท่าน ก็เพื่อให้ท่านอิบาดะฮ์ต่อพระองค์ ไม่ใช่เพื่อให้ท่านมีความสุขกับมัน ท่องเที่ยวไปนั่นนี่ แล้วปิติร่าเริง ทำความเลว ทำความชั่ว กิน แล้วก็ดื่มตามใจปรารถนา นี่มันพฤติกรรมของปศุสัตว์ ส่วนลูกหลานของอาดัมนั้น อัลลอฮ์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสูงส่ง สร้างพวกเขาเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุผลอันล้ำเลิศ นั่นก็คือการอิบาดะฮ์นั่นเอง
อัลลอฮ์ ตะอาลา กล่าวว่า
وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ
ความว่า: “และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่ออิบาดะฮ์ต่อข้า” [ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต (51): 56]
مَا أُرِيدُ مِنْهُم مِّن رِّزْقٍ وَمَا أُرِيدُ أَن يُطْعِمُونِ
ความว่า: “ข้าไม่ต้องการปัจจัยยังชีพจากพวกเขา.” [ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต (51): 57]
อัลลอฮ์ไม่ได้สร้างท่านเพื่อทำงานให้พระองค์ ด้วยการให้ท่านประกอบอาชีพ และรวบรวมทรัพย์สินให้พระองค์ เหมือนที่ลูกหลานอาดัมได้กระทำต่อกันโดยจัดให้มีคนทำงาน เพื่อหารายได้ให้กับพวกเขา ไม่ใช่เช่นนั้น อัลลอฮ์ทรงร่ำรวยเพียงพอจากสิ่งดังกล่าว อัลลอฮ์ทรงร่ำรวยเพียงพอจากสรรพสิ่ง
และด้วยเหตุดังกล่าว พระองค์ได้กล่าวว่า
مَا أُرِيدُ مِنْهُم مِّن رِّزْقٍ وَمَا أُرِيدُ أَن يُطْعِمُونِ
ความว่า: “ข้าไม่ต้องการปัจจัยยังชีพจากพวกเขา และข้าก็ไม่ต้องการให้พวกเขาให้อาหารแก่ข้า” [ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต (51): 57]
อัลลอฮ์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสูงส่ง เป็นผู้ให้อาหาร ไม่ใช่ผู้รับอาหาร พระองค์ไม่มีความต้องการพึ่งพาอาหาร และพระองค์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสูงส่ง สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยกับตัวตนขอพระองค์เอง พระองค์ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการอิบาดะฮ์ของท่าน หากท่านปฏิเสธ อำนาจของพระองค์ก็ไม่ได้บกพร่องลง
แต่ท่านต่างหากที่เป็นผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาพระองค์ ท่านต่างหากที่เป็นผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการอิบาดะฮ์ ดังนั้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งจากความเมตตาของพระองค์ ในการที่พระองค์สั่งใช้ให้ท่านอิบาดะฮ์ต่อพระองค์เพื่อผลประโยชน์ของท่านเอง
เพราะเมื่อท่านอิบาดะฮ์ต่อพระองค์แล้ว พระองค์ ผู้ทรงบริสุทธิ์ ผู้ทรงสูงส่ง ก็จะให้เกียรติท่านด้วยผลตอบท่าน และรางวัล ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอิบาดะฮ์นั้น คือสาเหตุแห่งการที่อัลลอฮ์จะให้เกียรติท่านในดุนยา และอาคิเราะฮ์
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว แล้วใครกันเล่าที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการอิบาดะฮ์? ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการอิบาดะฮ์ ก็คือตัวของผู้ที่ทำการอิบาดะฮ์นั่นเอง ส่วนอัลลอฮ์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสูงส่ง พระองค์นั้นเพียงพอจากสรรพสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้น
ตัวบท
ท่าน (ชัยค์) ได้กล่าวว่า: เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างท่านมาเพื่ออิบาดะฮ์ต่อพระองค์ เช่นนั่นก็พึงทราบเถิดว่า การอิบาดะฮ์นั้นจะไม่เรียกว่าการอิบาดะฮ์ นอกจากจะต้องมาพร้อมกับเตาฮีด ดังเช่นที่การละหมาดนั้น จะไม่เรียกว่าการละหมาดนอกจากจะต้องมาพร้อมกับความสะอาด
คำอธิบาย
เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าอัลลอฮ์นั้นสร้างท่านมาเพื่อทำการอิบาดะฮ์ต่อพระองค์ เช่นนั้นแล้วแท้จริงอิบาดะฮ์จะไม่เป็นอิบาดะฮ์ที่ถูกต้อง ที่อัลลอฮ์ (ซุบฮานะฮุวะตาอาลา) จะพึงพอใจ เว้นแต่ว่าอิบาดะฮ์นั้นจะต้องครบสองเงื่อนไขด้วยกัน เมื่อเงื่อนไขข้อใดจากสองข้อขาดไป อิบาดะฮ์นั้นก็จะหมดความหมาย
เงื่อนไขข้อแรก อิบาดะฮ์นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เพื่อพระพักตร์ของอัลลอฮ์ ไม่มีชิรก์อยู่ในนั้น เพราะหากมีชิรก์มาเจือปน อิบาดะฮ์นั้นก็จะ
ไร้ค่า เฉกเช่นความสะอาดที่มีฮะดัษเข้ามาเจือปน ความสะอาดนั้นก็จะสูญสลายไป และเช่นกันเมื่อท่านทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ จากนั้นท่านก็ตั้งภาคีต่อพระองค์ อิบาดะฮ์ของท่านก็จะไร้ค่า นี่คือเงื่อนไขข้อแรก
เงื่อนไขข้อสอง การเจริญรอยตามเราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพราะอิบาดะฮ์ใดก็ตามแต่ที่เราะซูลไม่ได้นำมา มันก็จะใช้ไม่ได้ และถูกตีกลับ เพราะมันคืออุตริกรรม และความงมงาย ด้วยเหตุนี้ท่านนบีจึงกล่าวว่า
مَنْ عَمِلَ عَمَلا لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ
ความว่า: “ใครที่ปฏิบัติการงานหนึ่งการงานใด ที่ไม่ได้มีคำสั่งใช้ของเราในเรื่องนั้น การงานนั้นมันจะถูกตีกลับ” (มุสลิม 1718)
และอีกรายงานหนึ่ง
مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ
ความว่า: “ใครที่อุตริขึ้นมาในการงานของเรา โดยที่สิ่งนั้นไม่ได้มาจากการงานของเรา การงานนั้นมันจะถูกตีกลับ” (อัลบุคอรีย์ 2697 และมุสลิม 1718)
ดังนั้นอิบาดะฮ์นั้นจึงต้องเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้นำมา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดกันเองว่าดี สอดคล้องกับเจตนาหรือเป้าหมายของพวกเขาเอง
ตราบใดที่มันไม่ได้มีหลักฐานจากบทบัญญัติได้ระบุไว้มันก็เป็นบิดอะฮ์ มันไม่ได้ยังประโยชน์อันใดกับผู้ที่กระทำมัน ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อโทษให้กับเขาเสียด้วย เพราะมันคือการฝ่าฝืน ถึงแม้ว่าเขาจะอ้างว่าเขาได้ใช้มันไปในการแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ ผู้ทรงมีเกียรติ ผู้ทรงสูงส่ง ก็ตาม
อิบาดะฮ์จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขสองข้อนี้ คือ ความบริสุทธิ์ใจและการปฏิบัติตามเราะซูล เพื่อที่จะทำให้มันเป็นอิบาดะฮ์ที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับผู้กระทำ ดังนั้นถ้าหากชิรก์ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอิบาดะฮ์นั้น อิบาดะฮ์ดังกล่าวก็จะไร้ค่า และถ้าอิบาดะฮ์ที่พูดถึงกลายเป็นสิ่งที่อุตริขึ้นมา ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องนั้น มันก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ค่าเช่นเดียวกัน
ถ้าปราศจากเงื่อนไขสองข้อนี้ ก็จะไม่มีประโยชน์อันใดทั้งสิ้นจากอิบาดะฮ์ดังกล่าว เพราะมันมีขึ้นบนสิ่งที่ไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่ อัลลอฮ์ ผู้ทรงบริสุทธิ์ ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกำหนดเอาไว้ ซึ่งอัลลอฮ์จะไม่ตอบรับสิ่งใด นอกจากสิ่งที่พระองค์ได้วางบัญญัติไว้ในคัมภีร์ของพระองค์หรือผ่านคำกล่าวของเราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ของพระองค์เท่านั้น
จึงไม่มีคนใดทั้งสิ้นที่เป็นสิ่งถูกสร้างของพระองค์ที่จะต้องไปปฏิบัติตาม นอกจากเราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เท่านั้น ส่วนคนอื่นนอกจากเราะซูลนั้น เขาจะได้รับการปฏิบัติตามและการเชื่อฟัง หากเขาปฏิบัติตามเราะซูล แต่ถ้าเมื่อใดที่เขาขัดแย้งกับท่านเราะซูล ก็จะไม่มีการเชื่อฟังใดๆ ทั้งสิ้น
อัลลอฮ์ ได้กล่าวว่า
أَطِيعُوا اللَّـهَ وَأَطِيعُوا الرَّسُولَ وَأُولِي الْأَمْرِ مِنكُمْ
ความว่า: “…จงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังเราะซูล ตลอดจนผู้ถือครองการงานในหมู่พวกเจ้า…” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4) : 59]
ผู้ถือครองการงาน หมายถึง บรรดาผู้นำ และบรรดาผู้รู้ เมื่อพวกเขาเชื่อฟังอัลลอฮ์ ก็จำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังพวกเขา (ผู้ถือครองการงาน) และปฏิบัติตามพวกเขา ส่วนเมื่อพวกเขาขัดแย้งกับคำสั่งของอัลลอฮ์ ก็ไม่อนุญาตที่จะไปเชื่อฟังพวกเขาหรือปฏิบัติตามพวกเขาในเรื่องนั้นๆ ที่พวกเขาขัดแย้ง
เพราะว่าไม่มีใครสักคนในจำนวนสิ่งถูกสร้างของพระองค์ที่จะได้รับการเชื่อฟังอย่างเอกเทศสิ้นเชิง นอกจากเราะซูลของอัลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เท่านั้น ส่วนผู้อื่นนั้นจะได้รับการเชื่อฟังและปฏิบัติตาม หากเขาเชื่อฟังเราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และปฏิบัติตามเราะซูล นี่แหละคือการอิบาดะฮ์ที่ถูกต้อง
ตัวบท
ท่านชัยค์ได้กล่าวว่า: เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าชิรก์นั้น เมื่อมันเข้าไปเจือปนกับอิบาดะฮ์ มันก็จะทำลายอิบาดะฮ์นั้น ทำให้การงานไร้ค่า และทำให้ผู้ที่ปฏิบัติมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อยู่ในนรกอย่างถาวร
ท่านก็จะทราบว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับท่านก็คือ การที่ท่านจะต้องทำความรู้จักกับเรื่องราวเหล่านี้ไว้ หวังว่าอัลลอฮ์จะทำให้ท่านหลุดพ้นจากเครือข่ายนี้ ซึ่งก็คือชิรก์ต่ออัลลอฮ์ ที่พระองค์กล่าวถึงมันว่า
إِنَّ اللَّـهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَاءُ
ความว่า: “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอภัยให้ กับการที่พระองค์ถูกตั้งภาคีขึ้น แต่จะยกโทษให้กับสิ่งอื่นนอกจากนั้นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4): 116]
คำอธิบาย
คือ ตราบที่ท่านได้รู้จักเตาฮีด ซึ่งก็คือ การให้ความเป็นหนึ่งแก่อัลลอฮ์ในการอิบาดะฮ์ ก็จำเป็นที่ท่านจะต้องรู้จักว่าชิรก์คืออะไร เพราะผู้ที่ไม่รู้จักสิ่งหนึ่ง เขาย่อมตกไปสู่สิ่งนั้น ท่านจึงต้องรู้จักประเภทต่างๆ ของชิรก์เพื่อที่ท่านจะได้ออกห่างจากมัน เพราะอัลลอฮ์ ได้เตือนให้ออกห่างจากชิรก์ โดยพระองค์กล่าวว่า
إِنَّ اللَّـهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَاءُ
ความว่า: “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอภัยให้ กับการที่พระองค์ถูกตั้งภาคีขึ้น แต่จะยกโทษให้กับสิ่งอื่นนอกจากนั้นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4): 116]
และนี่ก็คือชิรก์ที่อันตรายของมันเป็นเช่นนั้น นั่นก็คือการหักห้ามไม่ให้เข้าสวรรค์นั่นเอง
إِنَّهُ مَن يُشْرِكْ بِاللَّـهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللَّـهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ وَمَأْوَاهُ النَّارُ
ความว่า: “…แท้จริงผู้ใดให้มีภาคีแก่อัลลอฮ์ แน่นอนอัลลอฮ์จะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา และที่พำนักของเขานั้นคือนรก…” [ซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ (5): 72]
และหักห้ามจากการอภัยโทษ
إِنَّ اللَّـهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ
ความว่า: “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอภัยให้ กับการที่พระองค์ถูกตั้งภาคีขึ้น…” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4): 116]
ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่อันตรายอย่างมาก จำเป็นที่ท่านจะต้องทำความรู้จักมัน ก่อนสิ่งอันตรายอื่นใด เพราะว่าชิรก์นั้นคือสิ่งที่ความเข้าใจและสติปัญญามากมายนั้นหลงผิดเกี่ยวกับมัน
ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าชิรก์คืออะไร จากคัมภีร์และซุนนะฮ์ อัลลอฮ์นั้นไม่ได้เตือนให้ออกห่างจากสิ่งใด นอกจากพระองค์ได้ทรงชี้แจงสิ่งนั้นไว้ และไม่ได้สั่งใช้สิ่งใด นอกจากพระองค์ได้ทรงชี้แจงสิ่งนั้นไว้ให้กับมนุษย์แล้ว พระองค์ไม่มีทางที่จะหักห้ามชิรก์ และทิ้งมันไว้โดยไม่บอกรายละเอียด ทว่าพระองค์ได้ชี้แจงมันไว้ในอัลกุรอานอันยิ่งใหญ่ และเราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็ได้ชี้แจงมันไว้ในซุนนะฮ์อย่างชัดเจนและเพียงพอ
เมื่อเราต้องการที่จะรู้ว่าชิรก์คืออะไร เราก็จะต้องกลับไปสู่คัมภีร์และซุนนะฮ์ เพื่อจะได้รู้จักชิรก์ ไม่ใช่ว่าเราจะกลับไปสู่คำพูดของคนนั้น คนนี้ ซึ่งจะกล่าวหลังจากนี้