การสมรสมิได้มีข้อกำหนดเพียงประการเดียว แต่ทว่ามีข้อกำหนดหลายประการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละบุคคล ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ :
1. ส่งเสริม (มุสตะหับ) :
ในกรณีที่บุคคลนั้นต้องการสมรส : กล่าวคือตัวเขาเองมีความต้องการที่จะสมรส และเขามีค่าใช้จ่ายในการสมรส เช่น ค่าสมรส (มะฮัร) และมีค่าเลี้ยงดูสำหรับตนเองและภริยา ในขณะเดียวกันหากเขาไม่สมรส เขาก็ไม่เกรงว่าตนจะกระทำความผิดโดยละเมิดประเวณี (ซินา)
กรณีเช่นนี้การสมรสถือเป็นการส่งเสริม (มุสตะหับ) เนื่องจากการสมรสของเขาจะเป็นการสืบทอดความคงอยู่ของมนุษยชาติเป็นการรักษาการสืบสกุลไว้ และยังจะมีผลดีในด้านต่างๆ อีกมาก
หลักฐานในเรื่องนี้ ได้แก่ หะดีษโดยอิมามอัลบุคอรีและอิมามมุสลิม ที่รายงานจากอับดุลลอฮ์ อิบนุมัสอูด ได้กล่าวว่า : พวกเราเป็นคนหนุ่มอยู่กับท่านนะบี ﷺ และพวกเราก็ไม่มีทรัพย์สินใด ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ได้กล่าวแก่พวกเราว่า :
“โอ้บรรดาชายหนุ่มทั้งหลายเอ๋ย เฉพาะผู้ที่มีความสามารถด้านค่าใช้จ่าย ให้เขาจงสมรสเถิด เหตุเพราะการสมรสทำให้สายตาลดต่ำลงและปกป้องอวัยวะสืบพันธุ์ได้ดียิ่ง ทว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถ ให้เขาจงถือศีลอด เพราะมันตัดความต้องการทางเพศของเขาลงได้”
(อิมามอัลบุคอรีได้รายงาน [ในบรรพการสมรส, หมวด : ส่งเสริม (ตัรฆีบ) ให้สมรส, เลขที่ 4779] และอิมามมุสลิม [ในบรรพการสมรส, หมวด : ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้ที่มีความต้องการทางเพศกระทำการสมรส . . . , เลขที่ 1400])
การสมรสในกรณีเช่นนี้ถือเป็นการดีกว่า (อัฟฎ็อล) การปล่อยตัวให้ว่างเพื่อกระทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์
และให้ถือว่าการที่ท่านเราะสูล ﷺ ให้คำแนะนำตักเตือนแก่เศาะหาบะฮ์ของท่านกลุ่มหนึ่งที่ยืนยันว่าจะไม่สมรสเพื่อกระทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์นั้นเป็นไปตามหลักการที่กล่าวนี้
อิมามมุสลิมได้รายงาน [ในบรรพการสมรส, หมวด : ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ผู้ที่มีความต้องการทางเพศกระทำการสมรส . . . , เลขที่ 1401] และนักรายงานหะดีษท่านอื่นๆ ได้รายงานจากอะนัสว่า : มีเศาะหาบะฮ์ของท่านนะบี ﷺ กลุ่มหนึ่งถามบรรดาภริยาของท่านนะบี ﷺ ถึงกิจที่ท่านได้กระทำในที่รโหฐาน พวกเขาบางคนกล่าวขึ้นว่า : ฉันจะไม่สมรสกับหญิง บางคนกล่าวว่า : ฉันจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ บางคนกล่าวว่า : ฉันจะไม่นอนบนที่นอน ต่อมาท่านนะบีได้กล่าวคำสดุดีอัลลอฮ์และสรรเสริญพระองค์ และได้กล่าวว่า :
“บุคคลเหล่านั้นที่ได้กล่าวเช่นนั้นเช่นนี้จะเป็นประการใด ทั้งที่ฉันละหมาดและฉันก็นอน ฉันถือศีลอดและฉันก็ละศีลอด และฉันสมรสกับหญิง ฉะนั้นบุคคลใดรังเกียจแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของฉัน”
ความหมายที่ว่า “ฉะนั้นบุคคลใดรังเกียจแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของฉัน” คือบุคคลใดที่ละทิ้งและหันเหออกจากแนวทางของฉันโดยไม่ศรัทธา (อิอ์ติกอด) ว่ามันเป็นแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของฉัน
หญิงก็เหมือนกับชายในข้อกำหนดนี้ ฉะนั้นหากหญิงต้องการสมรส เพื่อรักษาตนให้พ้นจากความชั่ว เพื่อคุ้มครองศาสนาของตน และเพื่อให้มีค่าเลี้ยงดู ก็ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้หญิงสมรสเช่นกัน
2. ส่งเสริม (มุสตะหับ) ไม่ให้เขาสมรส [กล่าวคือ การสมรสของเขาเป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ์) และการสมรสของเขาเป็นการค้านกับสิ่งที่ดีเลิศ (คิลาฟุลเอาลา)]
นั่นคือ ในกรณีที่เขามีความต้องการจะสมรส แต่เขาไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมรสเลย
ในกรณีเช่นนี้เขาจำต้องยับยั้งตนด้วยการทำอิบาดะฮ์และถือศีลอด เพราะการหมกมุ่นอยู่กับการทำอิบาดะฮ์และการถือศีลอดจะทำให้เขาไม่สาละวนครุ่นคิดถึงเรื่องเพศและการสมรส ซึ่งต่อไปอัลลอฮ์อาจให้เขาร่ำรวยขึ้นมาก็ได้
หลักฐานในเรื่องนี้ ได้แก่ ดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า :
“และบรรดาผู้ที่ยังไม่มีโอกาสสมรส ก็จงให้เขาข่มความใคร่ จนกว่าอัลลอฮ์จะทรงให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากความโปรดปรานของพระองค์” [สูเราะฮ์ อันนูร : อายะฮ์ที่ 33]
ข้อกำหนดนี้สามารถเข้าใจได้อีกเช่นกัน จากการตีความคำกล่าวของท่านนะบี ﷺ :
“เฉพาะผู้ที่มีความสามารถด้านค่าใช้จ่าย ให้เขาจงสมรสเถิด”
ฉะนั้นหากเขาไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมรส การไม่สมรสสำหรับเขาก็ถือเป็นการส่งเสริม (มุสตะหับ)
3. น่ารังเกียจ (มักรูฮ์) :
ในกรณีที่เขาไม่มีความต้องการที่จะสมรส เช่น ไม่มีความประสงค์สมรสที่อาจเกิดจากนิสัยหรือเพราะป่วยหรือมีโรคภัยไข้เจ็บ และเขาเองไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมรส ทั้งนี้เพราะจะเป็นการบีบบังคับในสิ่งที่เขาไม่มีความสามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากเมื่อสมรสแล้วเขาจำต้องจ่ายค่าสมรส (มะฮัร) และค่าเลี้ยงดูซึ่งเขาไม่มีความสามารถจ่ายได้ เช่นนี้การสมรสจึงเป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ์) สำหรับเขา
4. การไม่สมรสประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) :
ในกรณีที่เขามีค่าใช้จ่ายในการสมรส แต่เขาไม่มีความต้องการที่จะสมรส เพราะตัวเขาไม่มีความต้องการทางเพศ และใช้เวลาอยู่กับการทำอิบาดะฮ์หรือศึกษาหาความรู้ เช่นนั้นการใช้เวลาอยู่กับการทำอิบาดะฮ์และศึกษาหาความรู้นั้นดีกว่า (อัฟฎ็อล) การสมรสในกรณีนี้ เหตุเพราะหากสมรสอาจไม่มีเวลาทำอิบาดะฮ์และศึกษาหาความรู้ก็ได้
5. การสมรสประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) :
หากเขาไม่ได้ใช้เวลาเพื่อทำอิบาดะฮ์ และศึกษาหาความรู้ ทั้งที่ตัวเขาเองมีค่าใช้จ่ายสำหรับสมรส แต่เขาไม่ประสงค์จะสมรส ในกรณีนี้ถือว่าการสมรสประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) การไม่สมรส เพื่อเขาจะได้ไม่มีโอกาสเอาเวลาว่างไปทำความชั่วต่างๆ ส่วนการสมรสนั้นจะก่อให้เกิดความช่วยเหลือกัน ทำให้มีบุตรและเพิ่มประชาชาติอิสลาม
[มุศเฏาะฟา อัลคิน, มุศเฏาะฟา อัลบุฆอ และอะลี อัชชัรบะญี, อัลฟิกฮุลมันฮะญีฯ, พิมพ์ครั้งที่ 13, (ดามัสกัส: ดารุลเกาะลัม, 2012), ล. 2 น. 13-15.]
หมายเหตุ
مصطفى الخن ومصطفى البغا وعلي الشربجي ، ” الفقه المنهجي “ ، ط ١٣ ، ( دمش : دار القلم ، ١٤٣٣ ) ج ١ ص ٣٨١ .
บุคคลที่มีทรัพย์สินเฉพาะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำหัจญ์เท่านั้น และขณะเดียวกันเขาก็ประสงค์ที่จะสมรสด้วยการใช้ทรัพย์สินเดียวกันนั้น เขาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากสองกรณีนี้เท่านั้นคือ :
หนึ่ง : มีความต้องการสมรส แต่สามารถควบคุมตนเองได้ ในกรณีนี้เขาจำเป็น (วาญิบ) ต้องไปทำหัจญ์ และที่ดีเลิศ (อัฟฎ็อล) สำหรับเขาก็คือการไปทำหัจญ์ก่อนสมรส
สอง : เกรงว่าตนจะละเมิดประเวณี (ซินา) หากไม่สมรส ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เขาจำเป็น (วาญิบ) ต้องไปทำหัจญ์ แต่สมรสก่อนไปทำหัจญ์ประเสริฐกว่า (อัฟฎ็อล) หลักเกณฑ์ที่นำมาพิจารณาในประเด็นนี้ก็คือ ความต้องการที่จะสมรสไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความจำเป็น (วาญิบ) ที่จะต้องไปทำหัจญ์แต่อย่างใด
[มุศเฏาะฟา อัลคิน, มุศเฏาะฟา อัลบุฆอ และอะลี อัชชัรบะญี, อัลฟิกฮุลมันฮะญีฯ, พิมพ์ครั้งที่ 13, (ดามัสกัส: ดารุลเกาะลัม, 2012), ล. 1 น. 381.]