ความผิดของกลุ่มและตัวคนในกลุ่ม

[เผยแพร่แล้วในเว็บไซต์ https://th-th.facebook.com/thvoiceofgen/ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2016 (พ.ศ. 2559)

1. เมื่อเราพูดถึงประเด็นนี้ เราอาจจะมุ่งประเด็นมาที่คำถามที่ในทำนองว่า “คุณยอมรับหรือไม่ว่ากลุ่มอิควาน กลุ่มอะชาอะเราะฮฺ หรือกลุ่มซูฟีย์นั้นมีความผิดที่ทำให้ออกจากการเป็นชาวอะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ โดยที่ตัวคนใครก็ตาม (ที่อาจจะอยู่หรือไม่ได้อยู่ในกลุ่มทั้ง 3 นี้) ที่จงใจที่จะยึดในความผิดดังกล่าวนี้อีกภายหลังจากที่เขาได้รับรู้แล้วถึงความผิดนั้น ก็ถือว่าเขาผู้นั้นได้สิ้นจากการเป็นชาวซุนนะฮฺ (นั่นคือกลายเป็นผู้ที่ดื้อดึงในบิดอะฮฺหรือที่เรียกเป็นภาษาอรับว่ามุ๊บตะดิอฺ)” ที่ให้เริ่มต้นถามคำถามในทำนองนี้ก็เพื่อว่าจะได้เกิดความชัดเจนและตรงประเด็นตั้งแต่เริ่มต้น

2. คำพูดในทำนองที่ว่า “ผมไม่ได้เป็นอิควาน แต่ผมแค่เห็นด้วยกับบางสิ่งของกลุ่มอิควาน” ถามว่า บางสิ่งที่เห็นด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นสิ่งที่ทำให้หลงผิดหรือไม่ ถ้าตอบว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรผิดแต่อย่างใด คำถามก็คือ อย่างนั้นผมจะพูดบ้างได้หรือไม่ว่า “ผมไม่ได้เป็นชีอะฮฺ แต่ผมเพียงแค่เห็นด้วยกับบางสิ่งของกลุ่มชีอะฮฺเท่านั้น”

ซึ่งการพูดเช่นนี้ถือว่าคำพูดที่คลุมเคลือ ทำให้เกิดความสงสัยได้ และเราจะเห็นได้ว่าคำพูดในทำนองดังกล่าวนี้มักจะมาจากผู้ที่มีความโน้มเอียงไปยังแนวทางของกลุ่มนั้นที่ถูกกล่าวถึงอยู่ (เช่นกลุ่มอิควาน) และละเลยหรือนิ่งเฉยต่อความผิดที่กลุ่มนั้นที่มีอยู่โดยไม่ยอมโต้ตอบและชี้แจงความหลงที่กลุ่มนั้น ๆ มีอยู่

3. กลุ่มชีอะฮฺมีความผิดที่เข้าทั้งด่าน 1 และด่าน 2 แต่ถ้ามีใครคนใดพูดขึ้นมาว่า “ผมเป็นชีอะฮฺน่ะครับ แต่เป็นชีอะฮฺในความหมายที่ว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งถูกต้องที่มีอยู่ในกลุ่มชีอะฮฺ และไม่ได้ขอเกี่ยวข้องอะไรกับความผิดที่กลุ่มชีอะฮฺมี ทั้งที่เป็นความผิดด่าน 1 และด่าน 2 ” ถามว่าเราจะว่าอย่างไรกับคนที่พูดเช่นนี้

4. จากข้อที่ 3 ข้างต้น แน่นอนสำหรับผู้ที่มีความรู้ก็จะบอกว่าการพูดเช่นนี้ เป็นการพูดที่ไม่ถูกต้องและห้ามพูดโดยเด็ดขาด เพราะเป็นคำพูดที่หลงผิด เพราะมิเช่นนั้นแล้วก็อาจจะมีคนอื่น ๆพูดในทำนองนั้นได้เช่นกันโดยไปเอา พุทธ หรือ คริสต์ ก๊อดยานีย์ หรือศาสนาหรือลัทธิอื่น ๆ มาใส่แทนที่คำว่าชีอะฮฺ (ที่กล่าวเอาไว้ในข้อที่ 3) เช่น “ผมเป็นก๊อดยานีย์น่ะครับ โดยเป็นก๊อดยานีย์ในความหมายที่ว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งถูกต้องที่มีอยู่ในกลุ่มนี้ และไม่ได้ขอเกี่ยวข้องอะไรกับความผิดที่กลุ่มนี้มี ทั้งที่เป็นความผิดด่าน 1 และด่าน 2”

5. จากข้อที่ 4 ถ้าเราถามว่าทำไม หรือเพราะอะไรการพูดเช่นนั้น (ตามข้อที่ 3) จึงถือว่าผิดและเป็นคำพูดที่หลงผิด คำตอบก็คือ กลุ่มใดก็ตามมีความผิด (ไม่ว่าเป็นด่าน 1 หรือด่าน 2 หรืออาจจะมีทั้งสองอย่าง) เช่นกลุ่มชีอะฮฺ (ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความผิดทั้งด่าน 1 และด่าน 2) เมื่อเราพูดถึงกลุ่มเหล่านี้แล้ว เราจะไม่มุ่งความสนใจไปที่สิ่งต่าง ๆ ที่ถูกต้องที่กลุ่มชีอะฮฺมีอยู่ แต่จะมุ่งไปที่หลักคำสอนของที่หลงผิดที่กลุ่มนั้นมีอยู่

6. เราจะว่าอย่างไรกับคำพูดต่อไปนี้ “ชีอะฮฺก็มีทั้งผิดและถูก เพราะฉะนั้นเราอย่าไปพูดเลยว่าชีอะฮฺเป็นกาเฟร” สำหรับคนที่มีความรู้และมีการวิเคราะห์อย่างชัดเจนก็จะโต้ตอบว่า “ตกลงคุณกำลังพูดถึงชีอะฮฺที่หมายถึงความเป็นกลุ่มหรือพูดถึงชีอะฮฺที่หมายตัวคน (เช่น นาย ก. นาย ข. ) ที่อยู่ในกลุ่มชีอะฮฺ ช่วยตอบมาให้ชัดเจนด้วย เพราะถ้าคุณหมายถึงชีอะฮฺในความหมายตัวคนที่อยู่ในกลุ่มชีอะฮฺ ก็ขอตอบว่า ใช่ ตัวคนมีทั้งถูกผิด และไม่ใช่ตัวคนที่เป็นชีอะฮฺเพียงกลุ่มเดียว ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม ตัวคนที่อยู่ในกลุ่มนั้น ๆ ก็มีทั้งถูกและผิด และตัวคนที่เป็นชีอะฮฺนั้นอุละมาอ์ส่วนหนึ่งก็ยังไม่ให้ไปตัดสินแบบเจาะจงตัวให้เขาเป็นกาเฟรก่อน

แต่จะต้องมีการพิสูจน์หลักฐานเชิงประจักษ์แก่เขาและขจัดความมึนงงสับสนออกไปจากเขาเสียก่อน แต่ถามต่อไปว่า ตกลงคุณจะนิ่งเฉยต่อความผิดของกลุ่มชีอะฮฺอย่างนั้นหรือ อนุญาตอย่างนั้นหรือให้เรานิ่งเฉยต่อความผิด (ไม่ว่าจะเป็นด่าน 1 หรือด่าน 2) ที่มีอยู่ในกลุ่มใดก็ตาม ถามว่าถ้าคุณนิ่งเฉยต่อความผิดของกลุ่มหลงผิดต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่เข้าด่าน 1 หรือด่าน 2 ก็ตาม) แล้วตัวคนที่อยู่ในกลุ่มนั้นเขาจะรู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มที่เขาอยู่นั้นมีความผิด ตกลงคุณจะเอาการที่คนเรา (เช่นคนที่เป็นชีอะฮฺ) มีผิดมีถูกมาเป็นเหตุผลให้ไม่ต้องชี้แจงความหลงผิดที่มีอยู่ในกลุ่มหนึ่ง ๆ อย่างนั้นหรือ? ”

7. สมมุติว่ามีคน ๆ หนึ่งได้ออกมาชี้แจงให้ผู้คนได้รับรู้แล้วว่ากลุ่มชีอะฮฺมีความผิดอย่างไรบ้าง จากนั้น เมื่อคน ๆ นี้ที่ออกมาชี้แจงได้ถูกถามจากคนที่เป็นชีอะฮฺว่า “แล้วผมจะเป็นชีอะฮฺต่อไปได้หรือไม่ครับ โดยที่ผมไม่ขอยึดตามความผิดทั้งหมดที่กลุ่มชีอะฮฺมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นความผิดอะไรก็ตาม แต่จะขอยึดตามในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น” เขากลับตอบว่า “ คุณสามารถเป็นชีอะฮฺต่อไปได้ครับ ไม่เป็นไร แต่คุณจะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับความผิดที่กลุ่มชีอะฮฺมีน่ะครับ” ขอถามว่าเราจะว่าอย่างไรกับคำตอบที่คน ๆ นี้ได้ตอบออกมาแบบนี้ แน่นอนเราจะต้องตอบว่า การตอบเช่นนี้ถือว่าผิดอย่างแน่นอน เพราะถ้ารู้แล้วว่ากลุ่มชีอะฮฺมีความหลงผิดแล้ว (ไม่ว่าความหลงผิดจะเข้าด่าน 1 หรือด่าน 2 ก็ตาม) ก็ไม่อนุญาตให้พาดพิงตัวเองว่าเป็นชีอะฮฺอีกต่อไป

8. สมมุติว่า นาย ก. ได้ออกมาชี้แจงให้คนที่เป็นชีอะฮฺเองและคนที่ไม่ได้เป็นชีอะฮฺ ได้รับรู้ถึงความหลงผิดที่กลุ่มชีอะฮฺมีอยู่ จากนั้น นาย ข. ก็ได้กล่าวกับนาย ก. ว่า “หัดมองความดีต่าง ๆ และข้อดีต่าง ๆ ที่อยู่ในกลุ่มชีอะฮฺเขาบ้าง ไม่ใช่มองแต่ความผิดของเขาอย่างเดียว” จากคำพูดของนาย ข. ถ้าเราจะโต้ตอบ เราสามารถถามกลับไปได้ว่า “ตกลงกำลังจะบอกว่าการที่กลุ่มชีอะฮฺมีข้อดีและสิ่งที่ถูกต่าง ๆ นั้นเป็นเหตุผลให้เราไม่ต้องชี้แจงโต้ตอบในสิ่งที่เป็นความหลงผิดของกลุ่มชีอะฮฺอย่างนั้นหรือ ? ถ้าคุณบอกว่า ‘เปล่า ผมไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น’ คำถามคือ แล้วคุณจะเอาอะไรกับคำพูดที่คุณพูดออกมา ตกลงจำเป็นใช่หรือไม่ที่เราจะต้องออกมาชี้แจงให้คนได้รู้ว่ากลุ่มชีอะฮฺมีความหลงผิดอะไรบ้าง? ถ้าตอบว่า ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ต้องพูดคำพูดที่คลุมเคลือเช่นนี้ออกมา เพราะผมไม่ได้กำลังโต้ตอบหรือหักล้างในสิ่งที่ชีอะฮฺเขาเชื่อถูกต้องอยู่แล้ว ชีอะฮฺจะมีสิ่งที่ถูกไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือ ยอมรับหรือไม่ว่าจำเป็นที่เราจะต้องชี้แจงความหลงผิดของกลุ่มนี้ให้คนได้รับรู้”

9. เพราะฉะนั้นได้โปรดอย่าจับมาผสมหรือรวมกันระหว่าง 1. ตัวคนที่อยู่ในกลุ่มชีอะฮฺ (ซึ่งเป็นเรื่องของรูปธรรม เพราะเกี่ยวกับตัวคน) กับ 2. คำสอนของกลุ่มชีอะฮฺที่หลงผิด (ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม เพราะเกี่ยวกับเนื้อหา คำสอน)

10. จากข้อที่ 9 ตัวคนอาจจะมีหลากหลายสาเหตุที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มชีอะฮฺ เพราะฉะนั้นเรื่องของตัวคน กองเอาไว้ก่อน หยุดเอาไว้ก่อน แต่สิ่งที่จะต้องรีบทำก่อนเลยก็คือ ชี้แจง โต้ตอบ คำสอนที่หลงผิดของกลุ่มชีอะฮฺให้คนที่เข้ากลุ่มชีอะฮฺหรือคนที่เป็นชีอะฮฺได้รับรู้ โดยคนที่เป็นชีอะฮฺบางคนอาจจะไม่ได้เชื่อหรือยึดถือครบทุกเรื่องที่เป็นความหลงผิดของกลุ่มชีอะฮฺ (เช่น ชีอะฮฺจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าอัลกุรอานถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข) แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเหตุผลให้เราไม่โต้ตอบหรือชี้แจงความหลงผิดของกลุ่มชีอะฮฺให้ครบถ้วนทุกข้อ ทั้งนี้ก็เพราะว่าความหลงผิดนั้น ๆ ยังมีการสอนกันอยู่ (ไม่ว่าจะสอนกันอยู่ในตำราหรือสิ่งอื่น ๆ) และเป็นไปได้ทุกเมื่อว่าจะมีใครหลงไปเชื่อตามนั้น และเพราะว่าความหลงผิดโดยตัวของมันเองจะต้องถูกโต้ตอบและชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นกี่ความหลงผิดก็ตาม เพราะฉะนั้นข้อย้ำว่า แยกระหว่างตัวคนและความหลงผิด

11. จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เราก็จะต้องนำไปใช้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน เช่นกลุ่มอิควาน อะชาอิเราะฮฺ ซูฟีย์ ตั๊บลีฆฺ ก็อดยานีย์ เพราะฉะนั้นสรุปก็คือ จำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงโต้ตอบตัวของความหลงผิด ไม่ว่าความหลงผิดนั้นจะมีกี่เรื่องก็ตามและไม่ว่าความหลงผิดนั้นจะเข้าด่าน 1 หรือด่าน 2 ก็ตาม และไม่ว่าความหลงผิดนั้นจะมีอยู่กับตัวใครคนใดหรืออยู่กับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดก็ตาม

ชัยคฺศอลิฮฺ อาลุชชัยคฺได้ถูกถามว่า กลุ่มอิควานมีอุศู้ลอะไรบ้าง (ที่ผิดเพี้ยน-ผู้แปล) นอกจากนี้ท่านชัยคฺยังได้บอกให้เรารู้ว่าพวกอิควานใช้วิธีการเช่นไรเพื่อจัดการกับคนที่โต้ตอบแนวทางของพวกเขา

ท่านใดได้ภาษาอรับลองอ่านกันดู

http://www.mnhj.net/vb/threads/5314-ما-هي-الأصول-التي-تنبني-عليها-جماعة-الإخوان-المسلمين-؟يجيبك-الشيخ-صالح-آل-الشيخ-حفظه-الله