อิสลามขึ้นอยู่กับการตีความจริงหรือ?

คุณเป็นมุสลิมหรืออิสลามสายไหนล่ะ? คำถามหนึ่งดังก้องขึ้นมากลางห้องประชุมระหว่างที่ข้าฯ กำลังนำเสนอหัวข้อรายงานเรื่อง “รัฐอิสลาม” อยู่ แน่นอนว่าคำถามดังกล่าวไม่ได้ถูกถามขึ้นโดยปากของมุสลิมหรอกครับ หากแต่ถูกถามขึ้นจากความสงสัยของ “ชนต่างศาสนิก” ที่กำลังรับฟังการนำเสนอรายงานของข้าฯ อยู่นั่นเอง

เรื่องมีอยู่ว่าผู้เขียนได้เสนอรายงานเกี่ยวกับการปกครองรัฐหรือประเทศตามรูปแบบของอิสลาม และในระหว่างอภิปรายอยู่นั้น ผู้เขียนได้กล่าวขึ้นว่า “ผู้นำ” ของรัฐอิสลามจะต้องมีคุณสมบัติกำหนดคือเรื่อง “ความยุติธรรม” พร้อมกันนั้นผู้เขียนจึงพูดติดตลกไปว่า หากผู้นำคนใดดื่มสุราก็คงเป็นผู้นำของรัฐอิสลามไม่ได้เพราะการดื่มสุราขัดแย้งกับรากฐานของความยุติธรรมที่ผู้นำพึงมี!

อาจารย์ผู้สอนจึงถามผู้เขียนว่า นี่คุณ ผมทราบมาว่าอิสลาม (จริงๆ ก็คือมุสลิมนะแหละ) นี่มีหลายสาย หลายแบบนะ เช่นที่ประเทศอินโดนิเซียก็มีอิสลามสายเสรีนิยมหรือสายทันสมัย (?) บอกว่าเหล้าดื่มได้แล้ว, หมูก็กินได้แล้ว (เพราะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ทำให้มันสะอาดได้)

ฮิญาบก็ไม่จำเป็นต้องสวมแล้วเพราะเขาบอกว่า ฮิญาบเป็นแค่การแต่งกายของชาวอาหรับไม่ใช่บัญญัติอิสลาม, แต่ขณะเดียวกันก็มีอิสลามสายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

เช่นเดียวกับอิสลามสายสุดโต่งแบบกลุ่มของ “บินลาดิน”  ที่ต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกด้วยการก่อวินาศกรรมไปต่างๆ นานา ตั้งแต่วางระเบิด, พลีชีพ, ตัดหัวตัวประกัน, นี่ยังไม่รวมมุสลิมสายกลาง, หรือหากจะให้แยกอิสลามเป็นนิกายก็คงแบ่งได้เป็นนิกายชีอะฮฺ,วะฮาบีย์,ซุนนีย์,ชาฟิอีย์,มาลิกีย์!?

แล้วตกลงแบบนี้เราจะสามารถพิสูจน์ได้ไหมว่าอะไรคืออิสลามของแท้ อะไรคืออิสลามของปลอม หรือว่าท้ายที่สุดแล้วอิสลามก็ขึ้นอยู่กับการ  “ตีความ” ของบรรดาผู้รู้ศาสนาเอาเองกันไปต่างๆ นานา

เพราะฉะนั้นที่คุณเสนอมาว่าอิสลามห้ามดื่มสุราน่ะ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าอิสลามห้ามดื่มสุราจริงๆ มิใช่เป็นการตีความอธิบายเอาเอง, แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนของอิสลามในสมัยนี้จะไม่ใช่คำสอนที่ถูกต่อเติมตีความขึ้นอีกทีจากบรรดาผู้รู้ศาสนา?

คำถามที่ประดังเข้ามาข้างต้นคือข้อสงสัยของชนต่างศาสนิกต่ออิสลามอย่างแท้จริง และคงไปต่อว่าต่อขานเขาไม่ได้ว่า ทำไมคุณถึงมาสงสัยอิสลามแบบนี้ นั่นก็เพราะว่าส่วนหนึ่งแล้ว “มุสลิมบางจำพวก” เองที่ทำตัว “แหกคอก” จากหลักการอิสลามจนพัฒนากลายเป็นกลุ่มก๊กต่างๆ ประหนึ่งราวกับว่าอิสลามหาความชัดเจนไม่ได้ ท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับการตีความของมุสลิมกันเอง

ทุกวันนี้เราจึงมักได้ยินว่าอิสลามมีสองนิกายหลักๆ คือนิกายชีอะฮฺและนิกายซุนนีย์ (หลังๆ มักพ่วงนิกายวะฮาบีย์เข้าไปด้วย) หรือในแง่ของประเภทของมุสลิมก็มักมีการแบ่งมุสลิมออกเป็นสามชนิด

ประเภทแรกคือมุสลิมสายโมเดิร์นหรือสายทันสมัยอันหมายถึงมุสลิมที่เอาอิสลามบ้างในบางเรื่องแล้วก็เอาวัฒนธรรมสมัยใหม่บ้างในบางเรื่อง เช่น ละหมาดก็ละหมาดไปแต่ก็ไม่สวมฮิญาบเพราะสมัยนี้แล้วมันต้องอวดความงาม!,

สองคือมุสลิมสายกลางที่เอาอิสลามค่อนข้างพอสมควรแต่ก็ไม่เคร่งครัดมากจนเกินไป

สามคือมุสลิมสายเคร่งครัดซึ่งมักถูกมองว่าต้องโพกผ้าพันศีรษะ,ปิดหน้าเหลือแต่ลูกตาและปฏิเสธความทันสมัยหรือวัฒนธรรมตะวันตกโดยสิ้นเชิง!

ความสับสนว่า “อิสลาม” คืออะไรในสายตาของคนต่างศาสนิก มักไม่ค่อยได้รับการแก้ไขให้กระจ่างจากนักปราชญ์อิสลามเพราะส่วนหนึ่งเราเรียนรู้ศาสนากันแบบ “ไร้การวิเคราะห์” และยิ่งไปกว่านั้นผู้รู้บางคนก็ยึดมั่นอยู่กับทัศนะของนักปราชญ์ในมัสฮับหรือแนวทางของตนเองจนไม่สนใจอัลกุรอานและอัลหะดีษใดๆ ทั้งสิ้น การจะตอบคำถามว่าตกลงอิสลามขึ้นอยู่กับการตีความใช่หรือไม่? ก็รังแต่จะเป็นการฆ่าตนเองไปเปล่าๆ

ในความเป็นจริงแล้วหากเราเข้าใจถึงลำดับขั้นของหลักฐานทางศาสนาดีพอ เราก็สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ไม่ยากเลยว่าทั้งๆ ที่อิสลามเป็นศาสนาที่ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงมีความแตกต่างทางด้านความคิดอยู่? และสำหรับคำตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้จำต้องเรียงลำดับการตอบตามขั้นตอนต่อไปนี้

ประการที่ 1 คัมภีร์อัลกุรอาน

ประการที่ 1 คัมภีร์อัลกุรอานนั้นเป็นหลักฐานสูงสุดทางศาสนาและทรงอำนาจที่สุดสำหรับมุสลิม อย่างไรก็ตามในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นมีโองการที่ชัดเจนซึ่งตีความได้เพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น, แต่ก็ยังมีโองการที่มีความหมายหลายนัยหรือสามารถตีความได้หลายแบบ

โดยปกติของการตีความคัมภีร์อัลกุรอานนั้น จำเป็นแก่มุสลิมที่จะต้องยึดเอาโองการของอัลกุรอานที่มีตัวบทชัดเจนเป็นหลักไว้ก่อนเพราะถือเป็นแม่ของโองการทั้งหมด จากนั้นจึงค่อยนำเอาโองการที่คลุมเครือมาทำความเข้าใจให้อยู่ในกรอบของเนื้อหาตามที่โองการอันชัดเจนได้กำหนดไว้ เช่น อัลกุรอานได้กล่าวถึงการดื่มสุราไว้ว่า

يَسْأَلُونَكَ عَنِ ٱلْخَمْرِ وَٱلْمَيْسِرِ قُلْ فِيهِمَآ إِثْمٌ كَبِيرٌ وَمَنَٰفِعُ لِلنَّاسِ وَإِثْمُهُمَآ أَكْبَرُ مِن نَّفْعِهِمَا

“พวกเขาจะถามเจ้า เกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณประโยชน์หลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน” (อัลกุรอาน 2:219)

โองการข้างต้นเหมือนจะยังไม่ชัดเจนว่าจะห้ามดื่มสุราหรือจะอนุญาตดื่มสุราเพราะบอกว่ามีทั้งโทษและประโยชน์สำหรับมนุษย์ อย่างไรก็ตามจะเข้าใจโองการข้างต้นแบบโดดๆไม่ได้เพราะเราต้องเอาโองการที่ชัดเจนกว่ามาอธิบาย นั่นคือ โองการที่ว่า

يَٰأَيُّهَا ٱلَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا ٱلْخَمْرُ وَٱلْمَيْسِرُ وَٱلأَنصَابُ وَٱلأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ ٱلشَّيْطَانِ فَٱجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญและการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของซาตาน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอาน 5:90)

ดังนั้น ส่วนหนึ่งที่เกิดมีการตีความโองการอัลกุรอานอย่างคลาดเคลื่อนไปก็มักมาจากการชอบเอาโองการที่คลุมเครือมาเป็นกฎหลักก่อนโองการที่ชัดเจน

ประการที่สอง คืออัซซุนนะฮฺหรืออัลหะดีษของนบี

ประการที่สอง คืออัซซุนนะฮฺหรืออัลหะดีษของนบี ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เข้ามาอธิบายอัลกุรอาน หะดีษจะเป็นตัวกำหนดหรืออธิบายว่าอัลกุรอานวรรคใดโองการใดแปลว่าอะไร กรณีที่มักมีการตีความอัลกุรอานผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ที่ถูกต้องก็เพราะมาจากการไม่นำเอาหะดีษเป็นตัวกำหนดความเข้าใจหรืออย่างน้อยที่สุดก็คือผู้ที่ทำการตีความอัลกุรอานบทนั้นไม่มีโอกาสได้รับหะดีษเกี่ยวกับเรื่องนั้นเพราะอุปสรรคบางอย่าง

เช่น ในสมัยอดีตยังไม่มีการรวมหะดีษเป็นเล่มจึงยากต่อการแสวงหา ส่งผลให้เกิดการตีความอัลกุรอานไม่ถูกต้องไป

ประการที่สาม คือคำอธิบายของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ (สาวก) หรือลูกศิษย์ของท่านนบี

ประการที่สาม คือคำอธิบายของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ (สาวก) หรือลูกศิษย์ของท่านนบี ซึ่งในหลายกรณีของอัลกุรอานนั้นหากเราไม่พบการอธิบายโดยท่านนบีในอัลหะดีษที่ถูกต้อง เราก็ยังสามารถนำเอาความเข้าใจของบรรดาเศาะฮาบะฮฺโดยเฉพาะบรรดาเศาะฮาบะฮฺอาวุโสทั้งหลาย เช่น ท่านอิบนุอับบาส,ท่านอบูบักรฺ,ท่านอะลีย์มาเป็นหลักฐานในการเข้าใจ

อัลกุรอานได้ สาเหตุที่ยอมรับการอธิบายของบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็เพราะมีคำยืนยันและรับรองของคัมภีร์อัลกุรอานต่อพวกเขาความว่า

وَالسَّابِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُم بِإِحْسَانٍ رَّضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي تَحْتَهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا ۚ ذَٰلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ

“บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลเลาะฮฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาลนั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (อัลกุรอาน 9:100)

ฉะนั้นที่สังคมเกิดมีความผิดแผกแหวกแนวของมุสลิมบางจำพวกขึ้นก็สืบเนื่องมาจากการที่พวกเขาไม่ยอมนำเอาความเข้าใจหรือการ “ตีความ” จากบรรดาเศาะฮาบะฮฺมาเป็นที่ตั้ง หากแต่พวกเขาได้ทำการตีความอัลหะดีษและอัลกุรอานกันไปเองต่างๆ นานา

ประการที่สี่ คือ คำอธิบายหรือความเข้าใจทางศาสนาของชาวสะลัฟ

ประการที่สี่ คือคำอธิบายหรือความเข้าใจทางศาสนาของชาวสะลัฟ ในทางนิติบัญญัติ ชาวสะลัฟหมายถึงมุสลิมที่มีชีวิตอยู่ในฮิจเราะฮฺศักราชที่ 1 ถึง ฮิจเราะฮฺศักราชที่ 300 ในกรณีเช่นนี้หมายความว่าหากไม่พบการอธิบายอัลกุรอานโดยซุนนะฮฺนบี หรือบรรดาเศาะฮาบะฮฺแล้ว ก็ให้ถือคำอธิบายของชาวสะลัฟเป็นบรรทัดฐาน โดยพิจารณาว่าพวกเขาเข้าใจอัลกุรอานหรืออัลหะดีษแต่ละบทอย่างไร

สาเหตุที่ให้การเชื่อมั่นต่อความเข้าใจของชาวสะลัฟก็เพราะว่าท่านนบีได้เคยรับรองไว้ว่าชาวสะลัฟนั้น “ภาพรวม” ของสังคมของพวกเขาจะมีแต่ความดีงามในเรื่องของศาสนา ดังมีหะดีษจากท่านนบี ในเรื่องดังกล่าวนี้ว่า

;خَيْرُ النَّاسِ قَرْنِي، ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ، ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ، ثُمَّ يَجِيءُ أَقْوَامٌ تَسْبِقُ شَهَادَةُ أَحَدِهِمْ يَمِينَهُ وَيَمِينُهُ شَهَادَتَهُ.

“ผู้คนที่ประเสริฐที่สุด คือ คนในศตวรรษของฉัน (รุ่นที่ 1) ถัดมาคือศตวรรษต่อจากนั้น (รุ่นที่ 2) ถัดมาก็คือศตวรรษต่อจากนั้นอีก (รุ่นที่3) จากนั้นจะมีบรรดากลุ่มที่กำเนิดขึ้นมา พวกเขาไม่ให้ความสำคัญและทำเล่นๆ กับการสาบานและการยกอ้างอัลเลาะฮฺเป็นสักขีพยาน บางครั้งก็ยกอ้าง(อัลเลาะฮฺ)ก่อนที่จะสาบานและบางครั้งก็สาบานก่อนจะยกอ้าง” [มุฮัมมัดบินอิสมาอีล อัลบุคอรีย์, อัลญามิอฺอัศเศาะฮีฮฺมินหะดีษเราะซูลลิลละฮิวะซุนนะนิฮิวะอัยยามิฮิ. มุฮิบบุดดีน อัลเคาะฏีบ,ผู้ตรวจทาน (ไคโร : มักตะบะฮฺอัสสะละฟียะฮฺ, 1400). หมายเลข :  6249.]

ควรจะเข้าใจว่ายุคสะลัฟนั้น “ส่วนใหญ่” แล้วบรรดามุสลิมได้อยู่บนความดีและหนทางของอิสลามที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความหลงผิดเกิดขึ้นเลย ในทางกลับกันมันมีความหลงผิดเกิดขึ้นจากในหมู่ประชาชนส่วนน้อยของยุคสะลัฟ การยึดเอาความเข้าใจของชาวสะลัฟจึงหมายถึงการยึดคำอธิบายทางศาสนาจากชาวสะลัฟในแต่ละเรื่องไปโดยดูว่าในเรื่องดังกล่าว “ส่วนใหญ่” ของชาวสะลัฟเข้าใจว่าอย่างไร?

ส่วนเรื่องใดก็ตามที่ไม่อยู่ในความสามารถของชาวสะลัฟในการเข้าใจเพราะเป็นปัญหาสมัยใหม่และไม่เคยเกิดขึ้นในยุคสะลัฟ เช่น หากขึ้นเครื่องบินจะทำการละหมาดโดยหันไปทางทิศใดอย่างไร? เรื่องดังกล่าวสามารถนำเอาความเข้าใจจากนักปราชญ์สมัยใหม่ได้เพราะชาวสะลัฟย่อมไม่สามารถอธิบายเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยของตนเองได้ การอธิบายในเรื่องดังกล่าวจึงไม่มีอยู่ในชาวสะลัฟ

อย่างไรก็ตามเมื่อเราพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ส่วนมากหรือ 90% ของเรื่องราวทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นอิบาดะฮฺ (พิธีกรรมทางศาสนา) และอะกีดะฮฺ (หลักความเชื่อ) จะถูกกล่าวไว้หมดสิ้นแล้วโดยชาวสะลัฟ ความเห็นของนักการศาสนายุคหลังสะลัฟหากพบว่ามันมีความขัดแย้งกับความเห็นของชาวสะลัฟย่อมถือว่าความเห็นของชาวสะลัฟถูกต้องกว่าเพราะพวกเขาได้ถูกรับรองไว้โดยท่านนบี

ดังนั้นคำถามที่ว่า อิสลามขึ้นอยู่กับว่าแล้วแต่ใครจะตีความหรือไม่? ก็ขอตอบว่า ไม่ใช่! เพราะลำดับขั้นของการเข้าใจศาสนานั้นสามารถผ่านขั้นตอนทั้งสี่ขั้นตอนได้อย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่าอิสลามยอมรับความแตกต่างทางด้านการเข้าใจศาสนาก็สามารถพูดว่าอิสลามยอมรับความเห็นอันแตกต่างที่มีอยู่ในหมู่ชาวสะลัฟเท่านั้น หมายความว่าเรื่องใดก็ตามที่สะลัฟสามารถรู้ได้และไม่มีอุปสรรคทางความรู้ (เช่นเรื่องละหมาดบนเครื่องบิน) การตีความของพวกเขาเท่านั้นที่เราสามารถยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ ขณะที่หากพบว่าสิ่งใดที่ปราชญ์ชาวสะลัฟได้กล่าวว่าสิ่งนั้นคือบิดอะฮฺ, สิ่งนั้นคือความหลงผิด และชาวสะลัฟไม่เคยทำในสิ่งนั้น เราก็ขอดำเนินตามรอยชาวสะลัฟในเรื่องดังกล่าวทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ต่อให้มีมุสลิมสักพันสาย,หมื่นสายในโลกปัจจุบันซึ่งตีความอิสลามกันไปต่างๆ นานาจนหาความชัดเจนไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับมุสลิมที่ยึดมั่นอยู่บนความเที่ยงแท้ของอิสลาม

เพราะไม่ว่ามุสลิมเหล่านั้นจะเป็นสายกลาง,สายแข็ง,สายหย่อนยานหรือแนวทางใดก็ตามแต่ เขาย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจอัลกุรอานและอัลหะดีษเอาเองโดยละทิ้งชาวสะลัฟได้ เพราะการเข้าใจอิสลามเอาเองโดยไม่ผ่านการเข้าใจจากชาวสะลัฟย่อมถือว่าการเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นของความคลาดเคลื่อน หรือในบางกรณีก็อาจเข้าข่ายการบิดเบือนหลักการศาสนาหรือพยายามตีความอัลกุรอานและอัลหะดีษอย่างข้างๆ คูๆ เพื่อสนับสนุนแนวทางตนเองอย่างไม่บริสุทธิ์ใจก็ได้

ดังนั้นปัญหาที่ว่าดื่มสุราได้ไหม, ฮิญาบไม่คลุมได้ไหม, สุกรกินได้ ไหม, ดอกเบี้ยกินได้ไหม, ดนตรีเล่นได้ไหม ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้สามารถตอบได้อย่างฟันธงเลยว่า ไม่ได้! เพราะปัญหาทั้งหมดนี้ได้ถูกอธิบายและเข้าใจกันในหมู่ชาวสะลัฟหมดแล้ว

ฉะนั้นในโลกปัจจุบันต่อให้มีนักการศาสนาอิสลามระดับด็อกเตอร์จบมาจากมหาวิทยาลัยใหญ่โตแค่ไหน หากสร้างคำอธิบายใหม่ๆขึ้นซึ่งค้านกับความเห็นของชาวสะลัฟ ย่อมไม่สามารถนับได้ว่านั่นเป็นการตีความหรือการวินิจฉัยปัญหาศาสนา เพราะสิ่งนั้นเป็นการ “บิดเบือน” คำสอนทางศาสนาจากความเข้าใจเดิมของชนสมัยแรก

หากในยุคสมัยนี้มีการอธิบายใหม่ว่าฮิญาบไม่จำเป็นต้องสวม, สุกรกินได้แล้วเพราะสะอาด, การลงโทษคนทำชู้โดยการขว้างหินจนตายไม่ต้องปฏิบัติตามเพราะป่าเถื่อน ทั้งหมดนี้เป็นการตีความใหม่เอาเองซึ่งขัดแย้งกับแนวทางความเข้าใจของชาวสะลัฟที่ท่านนบีได้รับรองไว้ และไม่อาจนำมาเป็นคำอ้างว่าอิสลามก็ขึ้นอยู่กับการตีความสุดแล้วแต่ใครจะเข้าใจไปอย่างไร!