เนื่องจาก อ.อิบรอเฮม สือแม ยกเชคมุอัลลิมีย์ ที่อ้างว่าเรื่องห้ามล้มผู้นำมุสลิมมีคิลาฟเป็น 2 ทัศนะ และเชคมุอัลลิมีได้อ้างอีกว่าอิมามอะบูหะนีฟะฮ์มีทัศนะให้ล้มผู้นำมุสลิม ผมขอชี้แจงว่า
ประการแรก
การที่ อ.อิบรอเฮม อ้างเชคมุอัลลิมีย์นั้นไม่ได้มีอะไรใหม่เลย แค่กระโดดจากท่านอิมามญัศศอศมาหาเชคมุอัลลิมีย์
จึงขอบอกว่าได้มีการโต้แย้ง อ.อิบรอเฮม ไปเรียบร้อยแล้วในส่วนที่ท่านอิมามอัลญัศศอศได้อ้างผิดว่าอิมามอะบูหะนีฟะฮ์มีทัศนะให้ล้มผู้นำมุสลิม และท่านอาจารย์ยังไม่ได้โต้กลับเลย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การโค่นล้มผู้นำไม่มีอิจมาอ์ห้ามจากสะลัฟจริงหรือ? ตอนที่ 2)
ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่า การที่คนรุ่นหลัง สรุปความเข้าใจของคนรุ่นแรกผิดนั้น มันเป็นเรื่องปกติ และหากเจอคำพูดของคนรุ่นแรกแล้ว จะมาดื้อยึดถือความเห็นของคนรุ่นหลังไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเรื่องซิฟัต เรื่องใช้ไสยศาสตร์รักษา เรื่องกอฎอกอดัร ฯลฯ ก็มีหลายทัศนะหมดเลย ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่าเราต้องทำอย่างไรในกรณีที่อุละมาอ์รุ่นหลังมีการสรุปความเข้าใจของคนรุ่นแรกไม่เหมือนกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การเข้าใจเจตนารมณ์ของชาวสะลัฟศอลิฮ์)
การที่ อ.อิบรอเฮม ยกคนรุ่นหลังมานั้น ผมอยากให้พี่น้องลองดูตัวบทที่เป็นคำพูดของคนรุ่นแรกก่อน คืออิมามหะนะฟีย์เองเลย เป็นการรายงานมาจาก ท่านอบูมะติอ์ อัลบัลคีย์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอิมามอะบูหะนีฟะฮ์ โดยท่านอบูมะตีอฺ อัลบัลคีย์ ได้ถามท่านอบูฮะนีฟะฮฺไว้ว่า
ما تقول فيمن يأمر بالمعروف وينهى عن المنكر فيتّبعه على ذلك ناس فيخرج على الجماعة، هل ترى ذلك؟
قال: لا، قلت ولم؟ وقد أمر الله تعالى ورسوله بالأمر بالمعروف والنهي عن المنكر وهذا فريضة واجبة. فقال: وهو كذلك، لكن ما يفسدون من ذلك يكون أكثر مما يصلحون من سفك الدماء واستحلال المحارم
{{ ลูกศิษย์ : “ท่านจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับผู้ที่สั่งใช้ในเรื่องความดีและห้ามปรามจากเรื่องความชั่ว มีผู้คนปฏิบัติตามเขา แล้วเขาก็ออกกมาทำการก่อกบฏ ท่านเห็นด้วยกับการกระทำของเขาหรือไม่?”
อิมามอบูหะนีฟะฮ์ : “ไม่”
ลูกศิษย์ : เพราะเหตุใดท่านถึงไม่เห็นด้วยล่ะ? อัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ได้วางบทบัญญัติให้สั่งใช้ในเรื่องความดีและห้ามปราบความชั่ว มันเป็นฟัรฎูที่จำเป็นไม่ใช่หรือ?
อิมามอบูหะนีฟะฮ์ : “ก็ใช่ แต่พวกเขาสร้างความเสียหายมากกว่าผลดี ซึ่งก็คือการนองเลือดและการอนุมัติสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม” }}
อ้างอิง: หนังสือ ฟิกฮุลอักบัร หน้า 44 (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อิมามอบูฮะนีฟะฮ์กับประเด็นการโค่นผู้นำ)
คำพูดของท่านอบูฮะนีฟะฮฺข้างต้นถือว่าชัดเจนกว่า “ความเข้าใจ” ของท่านอัลญัศศอศ และเชคมุอัลลิมีย์ ด้วยเหตุนี้เองบรรดานักวิชาการในมัสฮับฮะนะฟีย์หลาย ๆ ท่านจึงสรุปจุดยืนของท่านอิมามฮะนะฟีย์ในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่าท่านอิมามฮะนะฟีย์สั่งห้ามการโค่นล้มผู้ปกครองเช่นเดียวกับอิมามท่านอื่น ๆ
เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ท่านอัลลามะฮฺ มุฮัมมัด บินอับดิรเราะฮฺมาน อัลเคาะมีซ เจ้าของหนังสือ اعتقاد الأئمة الأربعة (อะกีดะฮฺอิมามสี่มัสฮับ) ซึ่งท่านเป็นนักวิชาการที่มีผลงานและความชำนาญในการตรวจสอบอะกีดะฮฺของอิมามทั้งสี่ท่านนี้ ท่านได้สรุปจุดยืนของท่านอิมามฮะนะฟีย์ในเรื่องนี้ไว้ว่า
ويمكن الجواب عن هذا بأنه في أول أمره كان يرى الخروج على السلطان الجائر، ثم استقر آخر الأمر على عدم الخروج. دلّ على هذا ما قرره واختاره الطحاوي في بيان اعتقاد أهل السنة والجماعة على مذهب أبي حنيفة وصاحبيه حيث قال: “ولا نرى الخروج على أئمتنا وولاة أمورنا وإن جاروا ولا ندعو عليهم، ولا ننزع يدا من طاعتهم، ونرى طاعتهم من طاعة الله عزَّ وجلَّ فريضة، ما لم يأمروا بمعصية، وندعو لهم بالصلاح والمعافاة” 2.
وما ذكره الطحاوي هو ما حكاه ابن الهمام عن أبي حنيفة في المسايرة وأقره الشارحان، ابن أبي الشريف وابن قطلوبغا وكذا ذكره البزدوي.
{{ “และสามารถที่จะให้คำตอบกับเรื่องนี้ได้ว่า ในตอนแรกนั้นท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺมีทรรศนะโค่นล้มผู้นำที่อธรรม ต่อมาในภายหลังทรรศนะของท่านก็มาสิ้นสุดลงที่ห้ามโค่นล้ม หลักฐานที่บ่งชี้ในเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่ท่านอัฏเฏาะฮาวียฺได้ยืนยันและเลือกไว้ในหนังสือการชี้แจงหลักการเชื่อมั่นของอะหฺลิซซุนนะฮฺวะลญะมาอะฮฺตามแนวทางของอบูฮะนีฟะฮฺและสหายทั้งสองของท่าน (หนังสืออัลอะกีดะฮฺอัฏเฏาะฮาวียะฮฺ) ท่านกล่าวว่า : ‘และเราไม่มีทรรศนะให้ก่อกบฏต่อบรรดาผู้นำและผู้ปกครองของพวกเราถึงแม้ว่าเขาจะอธรรมก็ตาม เราจะไม่ขอดุอาอฺสาปแช่งพวกเขา เราจะไม่ถอนมือออกจากการเชื่อฟังพวกเขา และเรามองว่าการเชื่อฟังพวกเขานั้นเป็นฟัรฎู มันเป็นส่วนหนึ่งจากการเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้สั่งใช้ในสิ่งที่เป็นความชั่ว และเราจะขอดุอาอฺให้พวกเขาดำรงมั่นอยู่บนศาสนาและปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง’ และสิ่งที่อัฏเฏาะฮาวียฺได้กล่าวนั้นมันคือสิ่งที่อิบนุลฮัมมามได้รายงานมาจากอบูฮะนีฟะฮฺในหนังสืออัลมุซายะเราะฮฺ และผู้อรรถาธิบายทั้งสองของหนังสือเล่มนั้นซึ่งก็คืออิบนุอบีชะรีฟและอิบนุกุฏลูบะฆอได้ให้การยืนยันเช่นนี้ และอัลบัซดะวียฺก็บอกแบบนี้เช่นเดียวกัน” }}
อ้างอิง: หนังสือ أصول الدين عند الإمام أبي حنيفة หน้า 569.
ท่านอัลญัศศอศเป็นคนรุ่นหลังที่เสียชีวิต ฮ.ศ. 942 แต่ท่านอิมามอัฏเฏาะฮาวีย์เป็นคนที่มีชีวิตใน ฮ.ศ.239-321 ได้สรุปจุดยืนของท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺข้างต้นว่าไม่ล้มผู้นำ ย่อมน่าเชื่อถือกว่าความเข้าใจของท่านอัลญัศศอศที่เป็นคนรุ่นหลัง เนื่องจากท่านอิมามฏอฮาวีย์อยู่ใกล้กับยุคของท่านอิมามฮะนะฟีย์มากกว่า และเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ซึ่งฐานะของท่านอิมามอัฏเฏาะฮาวีย์นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเจ้าแห่งอะกีดะฮฺของอิมามมัสฮับฮะนะฟีย์ จากผลงานในอะกีดะฮฺอัฏเฏาะฮาวียะฮฺของท่าน
ฉะนั้นความเข้าใจของท่านอัฏเฏาะฮาวีย์ย่อมถูกต้องกว่าสำหรับผู้มีใจหาความจริง เช่นเดียวกับท่านอิบนุลอะบิลอิศที่อธิบายอัฏเฏาะฮาวีย์อีกทีก็เห็นพ้องตามนั้นด้วย ฉะนั้นการอ้างอิมามฮะนะฟีย์เพื่อค้านอิจมาอ์ถือไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะไม่เชื่อว่าอิมามหะนาฟีย์ถือทัศนะห้ามล้มผู้นำตั้งแต่แรก “อย่างน้อยที่สุด” ก็ต้องเข้าใจว่าท่านอิมามฮะนะฟีย์ได้ถอนทัศนะไปแล้ว
ความเห็นของอิมามญัศศอศยังเอาไปค้านคนรุ่นแรกไม่ได้เลย แล้วนับประสาอะไรกับเชคมุอัลลิมีย์ที่เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปี ฮ.ศ.1386 เข้าไปแล้ว
ประการที่สอง
จริงอยู่ว่าเชคมุอัลลิมีย์ได้กล่าวถึงเรื่องล้มผู้นำมี 2 ทัศนะ ในหนังสือ “อัตตันกีล” แต่ทว่าในหนังสือ “อัลอิบาดะฮ์” ท่านได้พูดไว้ตอนนึงใจความว่า “ชาวสะลัฟที่ล้มผู้นำก่อนจะรู้ว่าเป็นความเสียหายได้รับ อุซร(ผ่อนผัน อภัยให้)” ซึ่งถ้าเชคมุอัลลิมีย์ถือว่าเรื่องนี้มีคิลาฟจริง ท่านจะไม่พูดว่า “ได้รับการอภัยให้” เพราะเรื่องที่เป็นคิลาฟกอวีย์นั้น ผู้ที่ถือทัศนะต่างกันไม่มีความผิดแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่อนผันอภัยให้
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า 1) ที่ได้เคยพูดว่ามี 2 ทัศนะนั้น เชคมุอัลลิมีย์เปลี่ยนทัศนะแล้ว หรือ 2) คำว่า 2 ทัศนะ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าอีกทัศนะจะเป็นที่ยอมรับ เหมือนที่ชีอะฮ์ถือทัศนะว่า อบูบักรไม่ใช่เคาะลีฟะฮ์
แต่ไม่ว่าอย่างไรจะสรุปว่าเชคมุอัลลิมีย์ถือว่าเรื่องนี้มีคิลาฟไม่ได้
เราลองมาดูคำพูดของเชคมุอัลลิมีย์ในหนังสืออัลอิบาดะฮ์ที่ผมพูดถึงกัน ท่านกล่าวเอาไว้ว่า :
“ฉันขอกล่าวว่า : …และในหะดีษบางส่วนได้มีการอธิบายว่า เป้าหมายของฏออะห์คือ การฏออะห์ในเรื่องที่ไม่ใช่การฝ่าฝืนต่ออัลเลาะห์ และอายะห์ก่อนหน้านั้นก็ได้บ่งชี้ถึงเป้าหมายนี้ และในส่วนของหะดีษบางบท ได้มีการอธิบายว่า การโค่นล้มผู้นำ ไม่เป็นที่อนุญาต เว้นแต่เขาจะเป็นกาเฟรแบบชัดเจน หรือละทิ้งละหมาด…
และสรุปได้ว่า การวิเคราะห์ในเรื่องนี้ วางอยู่บนกฎของอิสลามที่เป็นที่รู้กันว่า -เมื่อสองความชั่วเกิดขึ้น และจำเป็นที่จะต้องกระทำอันใดอันหนึ่ง เช่นนั้นต้องทำความชั่วที่เล็กเพื่อที่จะละทิ้งความชั่วช้าที่ใหญ่กว่า-
และในส่วนตรงนี้เอง #เป็นที่รู้กันดีถึงการได้รับการผ่อนผันอภัยของชาวซุนนะห์ หลังจาก ร้อยปีแรก ที่ได้กระทำเรื่องต้องห้ามในการโค่นล้มผู้นำที่ยังเป็นมุสลิมอยู่ และการได้ลิ้มลองกระทำเรื่องดังกล่าว ก็สอนให้พวกเขารู้ว่า ผลของการโค่นล้มผู้นำ เป็นอันตรายใหญ่หลวงยิ่งไปกว่าตอนที่ยังไม่มีการโค่นล้มเสียอีก”
ประการที่ 3
สมมติว่าเชคมุอัลลิมีย์ รวมถึงอุละมาอ์คอลัฟท่านอื่นจะถือทัศนะว่าเรื่องห้ามล้มผู้นำมีคิลาฟเป็น 2 ทัศนะ ก็ไม่สามารถที่เราจะเอาความเห็นนั้นมาล้มตำราสะลัฟได้ เพราะเป็นคำพูดที่ค้านกับชาวสลัฟ ซึ่งอุละมาอ์สะลัฟได้บรรจุเรื่องการล้มผู้นำเอาไว้ในหมวดหนังสือ อะกีดะห์ของชาวซุนนะห์ และระบุเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นเสียงเดียวกันว่า “การล้มผู้นำ ถือว่าเป็นเรื่องหลงผิดฎอลาละห์” ทำให้ออกจากหนทางของชาวซุนนะฮ์ เช่น คำพูดของอิมามอะฮ์หมัด (เสียชีวิต 241 ฮศ.) ใน อุศูลุซซุนนะห์ และคำพูดของท่าน อะลี บินมะดีนีย์ (เสียชีวิต 234 ฮศ.) และท่าน ฮัรบฺ อัลกิรมานีย์ (เสียชีวิต 280 ฮศ.)
ซึ่งตัวอย่างแค่ 3 ท่านนี้ ที่เป็นถึงหัวหน้าใหญ่ของชาวซุนนะห์เลยก็ว่าได้ มันเพียงพอสำหรับเราแล้ว ที่จะปฏิเสธไม่ยึดถือคำพูดของเชคมุอัลลิมีย์ ซึ่งเป็นคำพูดของคนยุคหลังที่มาค้านกับคนยุคแรก และเราพอใจ และนับว่าเป็นแนวทางของเราที่จะรับสัจธรรมและความเข้าใจศาสนาจากชาวสลัฟ จากตำราของพวกเขา เป็นอันดับแรก