การโค่นล้มผู้นำไม่มีอิจมาอ์ห้ามจากสะลัฟจริงหรือ? ตอนที่ 1

ในช่วงนี้เราได้เห็นกระแสทางโซเชี่ยล แสดงความเห็นกันเรื่องการล้มผู้นำไปคนละทางสองทาง บทความนี้มีเจตนาในการวิเคราะห์ข้อเขียนของฝ่ายที่พยายามจะอ้างว่าการห้ามโค่นล้มผู้นำมุสลิม “ไม่มีอิจมาอ์” ในเรื่องนี้ โดยการยกหลักฐานต่าง ๆ มานำเสนอซึ่งเราจะวิเคราะห์กันดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก: สาเหตุของการปลดผู้นำออกจากตำแหน่ง

มีการระบุกันว่าสาเหตุที่ผู้นำจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้นมีสี่สาเหตุคือ

  1. ผู้นำที่แสดงการกุฟรฺหรือกลายเป็นกาฟิรฺ
  2. ผู้นำที่ละทิ้งละหมาดและทิ้งการเรียกร้องสู่การละหมาด
  3. ผู้นำที่ไม่ตัดสินด้วยชารีอะห์อิสลาม
  4. ผู้นำที่มีความฟาซิก อธรรม และบิดอะห์

วิจารณ์

ข้อเขียนสี่ประการข้างต้นนั้นหากเราไปเสาะแสวงหาดู เราจะพบว่ามันเป็นข้อเขียนของอับดุลลอฮฺ อัดดะมีญีย์ ในหนังสือ الإمامة العظمى عند أهل السنة والجماعة ซึ่งข้อเขียนของเขานั้นไม่ใช่งานเขียนจากยุคสะลัฟ และตัวเขาเองยังไม่ใช่นักวิชาการที่เป็นที่ “อ้างอิง” หลักของวงวิชาการ ฉะนั้นข้อเขียนหรือความเห็นตรงไหนของตัวเขาที่ไม่มี “นักวิชาการในยุคก่อนหน้านี้” พูดมาก่อน เราก็ถือว่าไม่ใช่หลักฐานทางวิชาการในการจะนำเอามานำเสนอกัน ซึ่งจากข้อเขียนของเขาข้างต้น เรามีทั้งข้อที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ข้อแรก ผู้นำที่เป็นกาฟิรฺไปแล้ว แน่นอนว่าฝ่ายสะละฟีย์ทุกคนเห็นพ้องกันอยู่แล้วว่าผู้นำที่เป็นกาฟิรนั้น จะต้องถูกถอดถอนออกและอนุญาตให้ทำการสู้รบโค่นล้มได้ อย่างไรก็ตามแต่นักวิชาการได้อธิบายต่อไปว่าเงื่อนไขของการโค่นล้มผู้นำชนิดที่เป็นกาฟิรฺนี้จะต้องเกิดประโยชน์มากกว่าโทษเท่านั้น

หมายความว่าผู้นำกาฟิรฺที่จะถูกปลดออกนั้นจะต้องถูกปลดออกในสภาพที่ไม่เกิดความเสียหายและความชั่วร้ายมากกว่าเดิม แต่หากการสู้รบกับผู้นำประเภทนี้ส่งผลเสียหายกว่าเดิมเช่นนั้นถือว่าไม่อนุญาตให้กระทำ (มัจมูอฺฟะตาวาย์ อิบนุบาซฺ เล่ม 8 หน้า 202)

ส่วนข้อที่สอง คือ ผู้นำที่ละทิ้งละหมาดและทิ้งการเรียกร้องสู่การละหมาด กรณีเช่นนี้ก็อนุญาตให้สู้รบได้ซึ่งไม่มีข้อโต้เถียงในผู้นำประเภทนี้ อย่างไรก็ตามแต่สิ่งที่ท่านผู้อ่านจะต้องคำนึงถึงคือ ผู้นำที่ไม่เรียกร้องคนไปสู่ละหมาดนั้น แทบจะไม่ปรากฏเลยด้วยซ้ำไปในประวัติศาสตร์อิสลาม เนื่องจากในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นกันอยู่ในโลกมุสลิมนั้น บรรดาผู้นำทั้งที่ดีและเลวต่างก็ได้แต่งตั้งคนของรัฐเป็นอิมามและมุอัซซินสำหรับการอะซาน ซึ่งเงื่อนไขของการล้มผู้นำแบบนี้มักไม่ค่อยปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้มผู้นำในอียิปต์นั้นใช้เงื่อนไขข้อนี้ล้มไม่ได้เลย

เงื่อนไขสองข้อแรกนี้ถือว่าไม่ใช่ประเด็นโต้เถียงกันแต่อย่างใด ที่เป็นปัญหาคือเงื่อนไขประการที่สามกับสี่มากกว่า

มีการระบุว่า หากผู้นำที่ไม่ตัดสินด้วยชารีอะห์อิสลาม ก็อนุญาตให้สู้รบโค่นล้มได้ ซึ่งข้อเขียนกว้าง ๆ แบบนี้เราถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากคำว่า “ไม่ตัดสินด้วยชะรีอะฮฺ” เป็นคำที่กว้างมาก ระบอบการปกครองที่เป็นรัฐอิสลามก็ย่อมอาจมีการตัดสินที่อธรรมไม่ตรงตามชะรีอะฮฺปรากฏให้เห็น เช่นอาจจะมีการตัดสินคดีความหนึ่งใดอย่างฉ้อฉลเพื่อผลประโยชน์ของผู้นำหรือคนของรัฐก็เป็นได้ หรือการไม่ใช้ระบอบอิสลามปกครองเลยก็ถือว่าเข้าในคำว่า “ไม่ตัดสินด้วยชะรีอะฮฺ”

ซึ่งเราสามารถสรุปได้เลยว่าคำ ๆ นี้มีปัญหาในรายละเอียดว่าจะเอาขอบเขตแค่ไหน ไม่ตัดสินด้วยชะรีอะฮฺกี่ข้อถึงจะล้มได้ ? เพราะในความเป็นจริงแล้วนักวิชาการได้ระบุว่า การไม่ตัดสินด้วยกฎหมายของอัลลอฮฺมีทั้งแบบที่เป็นกุฟรฺและไม่กุฟรฺ ซึ่งฝ่ายที่อนุญาตการล้มผู้นำไม่มีการแจงรายละเอียดว่า แบบไหนอย่างไร

ความจริงแล้วเราอยากจะถามว่า อุละมาอ์ท่านใดคือผู้กล่าวว่า การที่ผู้นำไม่ตัดสินด้วยชะรีอะฮฺจะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยการสู้รบ? และอุละมาอ์ท่านนั้นกำหนดรายละเอียดอย่างไร? แบบไหน? ซึ่งตรงนี้ทางผู้ที่มีความเชื่อแบบนี้จะต้องเป็นฝ่ายนำเสนอ

สิ่งที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ตระหนักไว้ก็คือ ครั้งหนึ่งมีคนถามชัยคฺอุษัยมีนว่า เยาวชนในแอลจีเรียได้ก่อการปฏิวัติและฮุกุ่มผู้นำแอลจีเรียเป็นกาฟิรฺ โดยพวกนี้ถือว่าผู้นำแอลจีเรียเป็นกาฟิรฺ ประเทศแอลจีเรียก็เป็นประเทศกาฟิรฺที่ไม่อนุญาตให้เชื่อฟังผู้นำแบบนี้อีก โดยพวกเขาอ้างว่ารัฐบาลแอลจีเรียปกครองประเทศด้วยกฎหมายของพวกยุโรป

เชคอุษัยมีนจึงได้ถามกลับว่า ผู้นำยังทำการละหมาดอยู่รึเปล่า คนถามก็ตอบว่า ละหมาดครับเชค ดังนั้นเชคจึงตอบว่า เช่นนั้นผู้นำคนนั้นก็เป็นมุสลิม ตราบใดที่เขาละหมาดก็ถือว่าเขายังเป็นมุสลิม ไม่อนุญาตให้ตักฟีรผู้นำแบบนี้ เนื่องจากท่านนบีเคยถูกถามถึงการโค่นล้มผู้นำ แล้วท่านนบีก็ตอบว่า โค่นไม่ได้ ตราบใดที่ผู้นำยังคงละหมาดอยู่ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้โค่นล้มผู้นำแบบนี้ และไม่อนุญาตให้ตักฟีรผู้นำที่ยังละหมาดอยู่ [ดูหนังสือ فتاوى العلماء الأكابر فيما اهدر من دماء في الجزائر หน้า 183-184. ของเชคอับดุลมะลิก อัรเราะมะฎอนนีย์]

ส่วนชนิดที่สี่ คือ ผู้นำที่ฟาซิก อธรรม และบิดอะห์ #ข้อนี้คือข้อที่เป็นประเด็นขัดแย้ง เนื่องจากฝ่ายที่ต่อต้านการล้มผู้นำถือว่าผู้นำที่เพียงแต่อธรรมหรือมีบิดอะฮฺที่ไม่ถึงขั้นกุฟรฺนั้น ไม่อนุญาตให้สู้รบโค่นล้มได้ ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺกล่าวว่า

المشهور من مذهب أهل السنة أنهم لا يرون الخروج على الأئمة وقتالهم بالسيف وإن كان فيهم ظلم

“และที่เลื่องลือจากแนวทางของอะฮฺลุซซุนนะฮฺนั้นคือ พวกเขาไมยึดถือแนวคิดการโค่นล้มผู้ปกครองและสู้รบกับผู้ปกครองด้วยคมดาบ แม้ว่าในตัวของผู้ปกครองจะมีความอธรรมก็ตามที” [มินฮาจญุซซุนนะฮฺ เล่ม 3 หน้า 390.]

ท่านอิมามบัรบะฮารีย์ ปราชญ์ชาวสะลัฟนามอุโฆษได้กล่าวไว้ในหนังสืออะกีดะฮฺของท่านความว่า

وإذا رأيت الرجل يدعو على السلطان فاعلم أنه صاحب بدعة وهوى وإذا سمعت الرجل يدعوا للسلطان بالصلاح فاعلم أنه صاحب سنة

“และเมื่อใดที่ท่านเห็นคนหนึ่งดุอาอ์แช่งใส่ผู้นำ (ให้ได้รับความพินาศ) ก็จงรู้เถิดว่า เขาคือพวกบิดอะฮฺและพวกอารมณ์นิยม และเมื่อท่านได้ยินชายคนหนึ่งดุอาอ์ให้แก่ผู้นำด้วยหวังว่าผู้นำเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดี ก็จงทราบเถิดว่าเขาคือชาวซุนนะฮฺ” (ชัรฮุซุนนะฮฺ 107)

ตรงนี้ต้องขอย้ำนะครับว่า การขัดแย้งในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการโค่นล้มผู้นำด้วยอาวุธ เราไม่ได้เถียงเรื่องผู้นำที่ลาออกไปเองเพราะความไม่เหมาะสมของตนเอง

ส่วนที่มีการอ้างคำพูดของอบูฟาริสที่ว่า

فإذا شعرت الأمة بأن هذا الحاكم فاسق مستهتر أو جائر، أو لا يصلح للإمامة، وتقدمت له بالنصيحة، ولكنه أبى واستكبر، فما عليها إلا أن تقاطعه وتقاطع من له به أية علاقة، وحينئذ يجد نفسه منبوذاً من أمته، فأما اعتدل أو اعتزل

“เมื่อประชาชนมีความรู้สึกว่าผู้นำของเขาเป็นฟาซิก อธรรม ไม่สนใจการงาน ไม่คู่ควรกับตำแหน่ง และประชาชนได้ทำการนาศีหะห์แล้ว แต่เขายังดื้อดึงไม่ยอมรับ ดังนั้น ประชาชนจะต้องตัดขาดจากเขาและตัดขาดจากผู้ที่ยังมีความสัมพันธ์กับเขา เมื่อนั้น เขาจะพบว่าตัวเขาถูกถอดทิ้งโดยประชาชน ซึ่งทางเลือกสำหรับเขามีแค่ ๒ ทาง คือ กลับตัวเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม หรือลาออกจากการเป็นผู้นำ” (อัลนิซอมอัลสิยาสีย์ 273)

เราขอกล่าวว่าคำพูดนี้ไม่มีที่มาจากความเข้าใจของนักวิชาการสะลัฟและนักวิชาการผู้ดำรงมั่นในแนวทางสะลัฟอันเป็นนักปราชญ์ที่ขึ้นชื่อว่าชำนาญในแนวทางสะลัฟจริง ๆ จึงไม่สามารถนำความเห็นของเขามาอ้างเป็นหลักฐาน

เนื่องจากอบูฟาริสผู้นี้คือ มุฮัมมัดอับดุลกอดิร อบูฟาริส เจ้าของหนังสือ อันนิซอมอัซซิยาซีย์ฟิลอิสลาม เป็นนักวิชาการชาวปาเลสไตน์ในยุคปัจจุบันคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งข้อเขียนของนักวิชาการในยุคปัจจุบันที่ปราศจากการอ้างอิงจากนักวิชาการรุ่นสะลัฟและยังเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในฐานะที่กลับของความรู้ ย่อมไม่ใช่หลักฐานสำหรับการอ้างอิง เหมือนกับการอ้างตำราซัยยิดกุฏบฺ หรือดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ จึงไม่ใช่หลักฐานสำหรับการอ้างอิง

ประเด็นที่สอง: การแบ่งประเภทของกลุ่มคนที่โค่นล้มผู้นำ

กลุ่มผู้สนับสนุนการโค่นล้มผู้นำได้มีการนำเสนอว่า กลุ่มคนที่ทำการโค่นล้มผู้นำนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ เคาะวาริจฺ, โจรก่อการร้าย, อัลบุฆอตและอะฮฺลุลฮัก

ที่แบ่งมานี้ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่หลักที่ต้องเข้าใจก่อนก็คือ การที่นักวิชาการเขาแบ่งกลุ่มคนที่ต่อต้านผู้นำออกเป็นสี่ชนิดนี้ เขาไม่ได้แบ่งเพื่อจะบอกว่าการกระทำของพวกเขานั้นถูกต้องหรือสามารถนำมาอ้างได้แต่อย่างใด

หากแต่นักวิชาการแบ่งประเภทของผู้ต่อต้านผู้นำออกมาเพื่อให้เห็นถึงความต่างในรายละเอียดของแต่ละกลุ่มเท่านั้น เพียงแต่การที่ท่านอิบนุฮะญัรเรียกคนบางกลุ่มที่โค่นล้มผู้ปกครองว่า อะฮฺลุลฮัก นั้นเพื่อต้องการจะบอกว่าแม้นคนกลุ่มนี้จะล้มผู้นำแต่ยังนับเขาว่าเป็นชาวซุนนะฮฺอยู่ ไม่ได้นับคนเหล่านี้เป็นพวกเดียวกับเคาะวาริจฺแต่อย่างใด

ท่านอิบนุฮะญัรได้กล่าวไว้ว่า

وهذا مذهب للسلف قديم لكن أستقر الأمر على ترك ذلك لما رأوه قد أفضى إلى أشد منه ففي وقعة الحرة ووقعة بن الأشعث وغيرهما عظة لمن تدبر

“และสิ่งนี้ (การโค่นล้มผู้นำ) คือทัศนะหนึ่งของชาวสะลัฟในรุ่นเก่าก่อน แต่ทว่าได้เกิดการเห็นพ้องต้องกันขึ้นแล้วในประเด็นนี้ว่าให้ละทิ้งการโค่นล้มผู้นำเมื่อพวกเขาได้เห็นว่าการสู้รบกับผู้นำได้นำพาไปสู่ความเสียหายที่ร้ายแรงกว่า และในเหตุการณ์ต่อต้านยะซีดของชาวมะดีนะฮฺก็ดี, เหตุการต่อต้านอัลฮัจญาจของอิบนุลอัชอัษก็ดีและอื่น ๆ จากสองเหตุการณ์นี้มีบทเรียนสำหรับผู้ที่ใคร่ครวญพินิจอยู่” [ตะสี้บุตตะฮฺสี้บ เล่ม 2 หน้า 288]

คำพูดของท่านอิบนุฮะญัรข้างต้นนั้น ชัดเจนว่าตัวท่านถือว่ามติเอกฉันท์ในเรื่องการการห้ามโค่นล้มผู้นำเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและอิจมาอ์ดังกล่าวมาเกิดขึ้นหลังการสู้รบของชาวสะลัฟกลุ่มนี้จบสิ้นลงด้วยความหายนะล้มตาย ท่านชัยคฺศอลิฮฺ อาลเชค ได้อธิบายเป้าหมายของท่านอิบนุฮะญัรข้างต้นไว้ว่า

ومِنْ أهل العلم من قال تَوَسُّعَاً في اللفظ (الخروج على الولاة كان مذهباً لبعض السلف قديم، ثم لما رُئِيَ أنَّهُ ما أَتَى للأمَّة إلا بالشر والفساد فأجمعت أئمة الإسلام على تحريمه وعلى الإنكار على من فعله) كما قاله الحافظ ابن حجر

“และในหมู่นักวิชาการนั้นมีผู้ที่ใช้สำนวนในเรื่องนี้ด้วยการขยายกว้างในถ้อยคำว่า การโค่นล้มผู้ปกครอง เป็นทัศนะหนึ่งของสะลัฟรุ่นเก่าบางส่วน ต่อมาเมื่อได้ถูกเห็นกันว่าการโค่นล้มผู้นำไม่ได้นำพามาซึ่งสิ่งใดแก่ประชาชาตินี้นอกจากความชั่วร้ายและความเสียหาย ประชาชาติอิสลามจึงได้มีเอกฉันท์กันว่าเป็นที่ต้องห้ามที่จะล้มผู้นำและยังเห็นพ้องกันถึงการต่อว่าคนที่กระทำการล้มผู้นำ ดังที่ท่านอัลฮาฟิซฺอิบนุฮะญัรได้กล่าวไว้” (ชัรฮฺอัฏเฏาะฮาวีย์ 1/477)

จากที่นำเสนอไปตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า นักวิชาการอย่างท่านอิบนุฮะญัรเองยังได้ยอมรับว่าเรื่องการห้ามล้มผู้นำที่อธรรมนั้นเป็นอิจมาอ์ที่ได้เกิดขึ้นหลังจากการสู้รบของชาวสะลัฟกลุ่มนั้นจบลง ซึ่งการที่ใครจะมาอ้างคิลาฟโดยการยกเหตุการณ์วุ่นวายก่อนหน้าการเกิดอิจมาอฺมาอ้างนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่เข้าใจลำดับของเวลาในการเกิดอิจมาอฺ

บางคนอาจจะถามว่า ทำไมการล้มผู้นำในยุคสะลัฟตอนต้นจึงไม่เหมาทุกคนว่าเป็นเคาะวาริจฺ เราขอตอบว่า การโค่นล้มผู้นำของสะลัฟบางท่านนั้นเกิดขึ้นจากความคลุมเครือของสถานการณ์และเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีอิจมาอฺในเรื่องนี้ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดการอิจติฮาด (วินิจฉัย) ขึ้นก่อนหน้าที่จะมีอิจมาอ์ในเรื่องนี้กัน

ซึ่งภายหลังจากที่มีอิจมาอ์ในหมู่ชาวซุนนะฮฺแล้ว กลุ่มคนที่ยังเหลือทัศนะในเรื่องการล้มผู้นำก็จะเป็นพวกเคาะวาริจฺและมุอฺตะซิละฮฺเป็นหลักแทน ขณะที่ชาวซุนนะฮฺได้ถือว่าการห้ามโค่นล้มผู้ปกครองกลายมาเป็นอิจมาอ์ในช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งคนที่โค่นล้มผู้นำในยุคนี้กับชาวสะลัฟเหล่านั้น ย่อมมีความแตกต่างกันเนื่องจากในเวลานี้เป็นการโค่นล้มผู้นำหลังจากอิจมาอ์ได้กำเนิดขึ้นแล้ว

ส่วนพวกที่เรียกว่า บุฆอตนั้น ท่านอิบนุฮะญัร ได้อธิบายว่า

وقسم خرجوا لطلب الملك فقط سواء كانت فيهم شبهة أم لا وهم البغاة

“และคนอีกชนิดหนึ่ง คือพวกที่โค่นผู้นำเนื่องเพราะต้องการแสวงหาอำนาจเท่านั้น ไม่ว่าในพวกนี้จะมีความคลุมเครือสับสนหรือไม่ก็ตามที พวกนี้ถูกเรียกว่า อัลบุฆอต” (ฟัตฮุลบารีย์ เล่ม 16 หน้า 168)

ทั้งหมดนี้คือประเภทของบุคคลต่าง ๆ ที่ทำการโค่นล้มผู้นำซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเภทใดที่นักวิชาการ ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่สามารถนำมาอ้างเป็นหลักฐานได้ทั้งสิ้น มีบางคนอ้างว่า การโค่นล้มผู้นำในยุคปัจจุบัน มีแค่ประเภทที่สามและสี่เท่านั้น ขณะที่กลุ่มแรก (เคาะวาริจฺ) ได้หายไปจากโลกใบนี้แล้ว

เราขอแย้งว่านี่เป็นการอ้างมั่วนิ่ม ไม่มีอุละมาอ์คนใดเคยพูดว่าในยุคของเราไม่ปรากฏการโค่นล้มผู้นำจากพวกเคาะวาริจฺ เพราะการพูดแบบนี้เท่ากับกำลังจะบอกว่าเคาะวาริจฺได้สูญหายไปจากโลกใบนี้แล้ว ซึ่งนี่เป็นการอ้างที่มดเท็จ

ในทางกลับกัน เราพบว่าในยุคของเรานั้นมีการโค่นล้มผู้ปกครองบนแนวทางของเคาะวาริจฺโดยตรง ไม่ได้มีแต่เพียงบุฆอตเท่านั้น ท่านชัยคฺอับดุลกะรีม อัลคุฏ็อยรฺ ได้อธิบายความต่างของเคาะวาริจฺกับบุฆอตไว้ว่า

الخوارج طائفة خرجت في زمن على بن أبي طالب رضي الله عنه يكفرون مرتكب الكبيرة ويكفرون ولاة الأمر تبعاً لهذا الرأي والخلاف في تكفيرهم معروف بين أهل العلم. وأما البغاة فلا يكفرون بل يخرجون على الأئمة لتأويل سائغ في نظرهم فهؤلاء ليسوا بكفار إجماعاً، لكن يجب قتالهم وكفهم حتى يفيئوا فإذا فاءوا وجب الكف عنهم.

“เคาะวาริจฺนั้นคือกลุ่มที่ปรากฏขึ้นในยุคของท่านอะลีย์ และพวกนี้จะตักฟีรคนที่กระทำบาปใหญ่ และพวกนี้ยังตักฟีรผู้นำมุสลิมที่ทำบาปใหญ่ตามมาอีกด้วย และการขัดแย้งกันว่าเคาะวาริจฺเป็นกาฟิรฺหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่รู้กันดีในหมู่นักวิชาการ สำหรับพวกบุฆอต พวกนี้ไม่ได้ตักฟีรใคร แต่ทว่าพวกนี้โค่นล้มผู้นำอันเนื่องจากการตีความที่เกิดขึ้นในมุมมองของพวกเขา และพวกบุฆอตนี้ไม่ใช่กาฟิรฺแต่อย่างใดตามมติเอกฉันท์ของนักปราชญ์ แต่ทว่าวาญิบในการจะต้องสู้รบกับพวกบุฆอตและสกัดกั้นพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะหวนกลับออกมาจากสิ่งนั้น เมื่อพวกเขาหวนกลับออกมาแล้วก็วาญิบที่จะต้องปล่อยพวกเขาไป”

ที่มา: https://ar.islamway.net/fatwa/39985/ما-الفرق-بين-الخوارج-والبغاة

จากคำอธิบายของท่านชัยคฺข้างต้น ความต่างระหว่างการโค่นล้มผู้นำของเคาะวาริจฺกับบุฆอตคือ การตักฟีรผู้นำจากบาปใหญ่ที่ผู้นำกระทำ ถามว่าในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วหรือกลุ่มคนที่ตักฟีรผู้นำและรัฐบาลของผู้นำจากนั้นก็เรียกร้องสู่การโค่นล้มนะ?

อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า การที่อิบนุฮะญัรถือว่าในยุคสะลัฟ มีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า อะฮฺลุลฮัก ทำการโค่นล้มผู้นำเพราะความอธรรมของผู้นำและเพื่อปกป้องศาสนา อันเนื่องจากความอธรรมและละทิ้งซุนนะห์ในตัวผู้นำ การแบ่งประเภทของบุคคลกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มคนบางส่วนในยุคสะลัฟที่กระทำการล้มผู้นำก่อนการเกิดอิจมาอ์ขึ้น ก็ท่านอิบนุฮะญัรเองนี่แหละที่ระบุว่าหลังจากได้เกิดความเสียหายขึ้นเพราะการสู้รบเหล่านั้น พวกเขาจึงได้เกิดเอกฉันท์ว่ามิให้โค่นล้มผู้นำอีก การโค่นล้มผู้นำภายหลังจากได้เกิดอิจมาอ์ห้ามขึ้นแล้วจะถือว่าเป็นอะฮฺลุลฮักได้กระนั้นหรือ?

ถ้าจะคุยกันเรื่องโค่นล้มผู้นำ “ในยุคปัจจุบันนี้” ก็ต้องอาศัยการวินิจฉัยและชี้นำจากนักวิชาการในยุคนี้จึงจะถูกต้อง มิใช่ไปเอาการแบ่งประเภทแล้วมาจัดประเภทเอาเองอย่างที่บางคนกระทำ ท่านชัยคฺอิบนุบาซได้ฮุกุ่มพวกของญุฮัยมานที่ได้ก่อการปฏิวัติต่อรัฐบาลซาอุดิอารเบียไว้ว่า

وهذه الدولة بحمد الله لم يصدر منها ما يوجب الخروج عليها، وإنما الذي يستبيح الخروج على الدولة بالمعاصي هم الخوارج ،

“และประเทศนี้ (ซาอุ) ไม่เคยมีสิ่งใดปรากฏจากรัฐนี้อันเป็นสิ่งที่จะบังคับให้ต้องก่อการกบฏต่อรัฐนี้ได้เลย และแท้จริงแล้วบุคคลที่อนุมัติให้มีการกบฏต่อรัฐเพียงเพราะมีบาปปรากฏให้เห็น พวกนี้คือเคาะวาริจฺ” (มัจมูอฺ เล่ม 4 หน้า 91)

ประเด็นที่สาม: การอ้างคำพูดของท่านอัสสะฟากุซีย์มาหักล้างอิจมาอ์

มีการอ้างว่า นักวิชาการอย่างท่านอัสสะฟากุซีย์ มีทัศนะให้ล้มผู้นำที่อธรรมและบิดอะฮฺได้ ดังที่มีการนำเสนอคำแปลออกมาว่า

“ท่านอัลสะฟากุสีย์ได้กล่าวว่า บรรดานักวิชาการอิสลามเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้นำ เมื่อเรียกร้องสู่สิ่งที่เป็นกุฟร์หรือเรียกร้องสู่การทำบิดอะห์ จะต้องทำการปฏิวัติเขา (อิรชาดอัลสารีย์ 10/217)”

ความจริงถ้าเราไม่รีบร้อนจนเกินไปและรู้จักรอบคอบในการตรวจหนังสือจากเล่มต้นฉบับ เราก็จะเข้าใจเป้าหมายของท่านอัสสะฟากุซีย์ดี คำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ข้างต้น มักถูกตัดทอนและบิดเบือนกันตามอินเตอร์เน็ต ตลอดจนหนังสือบางเล่ม ในหนังสือของอับดุลลอฮฺ อัดดะมีญีย์ ที่มีชื่อว่า الإمامة العظمى عند أهل السنة والجماعة หน้า 470 ได้อ้างคำพูดของท่านอัซวะฟากุซีย์ด้วยสำนวนต่อไปนี้ว่า

أجمعوا على أن الخليفة إذا دعا إلى كفر أو بدعة يثار عليه

“บรรดานักวิชาการอิสลามเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้นำ เมื่อเรียกร้องสู่สิ่งที่เป็นกุฟร์หรือเรียกร้องสู่การทำบิดอะห์ จะต้องทำการปฏิวัติเขา” (อิรชาดอัลสารีย์ 10/217)”

ถ้าเราอ่านการอ้างอิงของอัดดะมีญีย์ ด่วน ๆ ก็จะเข้าใจไปว่าท่านอัซซะฟากุซีย์มีทัศนะแบบนี้จริง ๆ แต่เมื่อเราไปเปิดหนังสืออิรชาดุซซารีย์จากตัวเล่มจริงตามเลขหน้าที่อ้าง จะพบการเขียนอีกแบบนึงคือ

وقول السفاقسي أجمعوا أن الخليفة إذا دعا إلى كفر أو بدعة يقام عليه تعقب بأن المأمون والمعتصم والواثق كلٌّ منهم دعا إلى بدعة القول بخلق القرآن وعاقبوا العلماء بسبب ذلك بالضرب والقتل والحبس وغير ذلك، ولم يقل أحد بوجوب الخروج عليهم بسبب ذلك.

“และคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ ที่ว่า บรรดานักวิชาการอิสลามเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้นำ เมื่อเรียกร้องสู่สิ่งที่เป็นกุฟร์หรือเรียกร้องสู่การทำบิดอะห์ จะต้องทำการปฏิวัติเขา (ท่านอัซซะฟากุซีย์พูดเช่นนี้) ต่อเนื่องมาจากกรณีที่ผู้นำอย่างอัลมะอ์มูน, อัลมุอฺตะศิม และอัลวาษิก พวกนี้ทั้งหมดได้เรียกร้องสู่บิดอะฮฺที่ว่าอัลกุรอานเป็นมัคลู้กและพวกเขาได้ลงโทษนักวิชาการด้วยกับเหตุดังกล่าวนั้น (คือลงโทษนักวิชาการที่ไม่ยอมรับทัศนะบิดอะฮฺของผู้นำ) ด้วยการเฆี่ยนตี, การฆ่าและการคุมขัง และอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีนักวิชาการคนใดกล่าวว่ามันเป็นวาญิบที่จะต้องโค่นผู้นำเหล่านั้นด้วยกับเหตุดังกล่าวนั้น”

จากข้อเขียนข้างต้น เราจะพบได้ว่า คำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ที่ท่านก็อซตอลานีย์ยกมานั้น พูดถึงกรณีที่ผู้นำทำบิดอะฮฺที่เป็นกุฟรฺ (บิดอะฮฺมุกัฟฟิเราะฮฺ) ซึ่งในกรณีนี้ท่านอัซซะฟากุซีย์มุ่งหมายไปที่บิดอะฮฺชนิดกุฟรฺของผู้ปกครองราชวงศ์อับบาซียะฮฺที่เชื่อว่าอัลกุรอานเป็นมัคลู้ก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบิดอะฮฺชนิดนี้เป็นกุฟรฺ

ฉะนั้นคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ข้างต้น จึงไม่เกี่ยวกับการโค่นล้มผู้นำที่เพียงแค่เป็นคนฟาซิกหรือมีบิดอะฮฺที่ไม่ถึงขั้นกุฟรฺ (เช่นบิดอะฮฺเมาลิด) เพราะคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์พูดถึงผู้นำที่ทำกุฟรฺอยู่แล้ว จึงถือว่าการยกคำพูดของอัซซะฟากุซีย์มานำเสนอเป็นการนอกประเด็นและไม่สามารถหักล้างอิจมาอ์ห้ามโค่นล้มผู้นำมุสลิมที่อธรรมแต่อย่างใด เพราะคุยกันคนละเรื่อง และจะอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนท่านอัลก็อซตอลานีย์เองจะแสดงการทักท้วงอย่างอ้อม ๆ ว่าไม่เคยพบอุละมาอ์ในสมัยอับบาซียะฮฺคนใดที่บอกว่าวาญิบต้องล้มผู้นำอับบาซียะฮฺเหล่านั้น

ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามอันนะวะวีย์จึงได้กล่าวว่า

وأما الخروج عليهم وقتالهم فحرام بإجماع المسلمين ، وإن كانوا فسقة ظالمين .
وقد تظاهرت الأحاديث بمعنى ما ذكرته ، وأجمع أهل السنة أنه لا ينعزل السلطان بالفسق ، وأما الوجه المذكور في كتب الفقه لبعض أصحابنا أنه ينعزل ، وحكي عن المعتزلة أيضا ، فغلط من قائله ، مخالف للإجماع .

قال العلماء : وسبب عدم انعزاله وتحريم الخروج عليه ما يترتب على ذلك من الفتن ، وإراقة الدماء ، وفساد ذات البين ، فتكون المفسدة في عزله أكثر منها في بقائه .

“และสำหรับการก่อกบฏกับบรรดาผู้ปกครองและการสู้รบกับผู้ปกครองนั้น ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามตามมติเอกฉันท์ของบรรดามุสลิม แม้ว่าพวกผู้ปกครองจะเป็นบรรดาผู้อธรรมที่ชั่วช้าก็ตามที และบรรดาหะดีษต่าง ๆ ของท่านนบีได้แสดงให้เห็นถึงด้วยกับความหมายตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไป

และอะฮฺลุซซุนนะฮฺนั้นได้เอกฉันท์กันว่าผู้นำจะไม่ถูกถอดถอนเพียงเพราะมีความฟาซิกในตัวเขา และสำหรับทัศนะที่ถูกกล่าวกันในตำราฟิกทั้งหลายโดยบางส่วนจากนักวิชาการในมัสฮับชาฟิอีย์ว่าพวกเขาจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้น ซึ่งทัศนะดังกล่าวยังถูกถ่ายทอดมาจากทัศนะของพวกมุอฺตะซิละฮฺเช่นกัน เช่นนั้นถือว่าเป็นความผิดพลาดที่มาจากผู้ที่กล่าวเช่นนั้นกัน และยังเป็นการค้านกับอิจมาอ์อีกด้วย

บรรดานักวิชาการได้กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่มีการถอดถอนผู้นำแบบนี้ออกจากตำแหน่งและที่ห้ามการโค่นผู้นำแบบนี้ลงก็เพราะพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นติดตามมาจากการกระทำสิ่งดังกล่าว ไม่ว่าจะเรื่องฟิตนะฮฺ, การหลั่งเลือด, และความเสียหาย ซึ่งกลายเป็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการถอดถอนผู้นำนั้นมีมากกว่าการปล่อยให้ผู้นำดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป” (ชัรฮฺเศาะฮีฮฺมุสลิม 12/229)

คำพูดของท่านอันนะวะวีย์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การโค่นล้มผู้นำมุสลิมเป็นที่ต้องห้ามโดยเอกฉันท์แม้จะเป็นผู้นำที่อธรรมก็ตาม

ยังมีรายละเอียดที่ถูกอ้างกันอีกมาก ซึ่งหากมีโอกาสและเวลาที่เหมาะสมทางกองบรรษาธิการจะเขียนวิเคราะห์ต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

(อ่านตอนที่ 2 คลิก)


Facebook Tags: #ห้ามโค่นล้มผู้นำ #แนวทางสะลัฟไม่โค่นล้มผู้นำที่อธรรมตราบใดที่ยังเป็นมุสลิม