ละหมาดตารอเวี๊ยะในทัศนะของท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะห์

รื่องจำนวนร็อกอัตในการละหมาดตารอเวี๊ยะ (อาจจะพูดถึงช้าหน่อย เพราะไม่ค่อยได้เล่นช่วงนี้) หลายๆคนคงจะได้ฟัง ได้รับรู้ กันมาแล้ว และบางคนอาจจะยึดทัศนะที่ว่าต้องละหมาดสิบเอ็ดหรือ สิบสาม ร็อกอัต และ บางคนก็อาจยึดว่า ต้องละหมาดยี่สิบร็อกอัต ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นเห็นต่างของบรรดานักวิชาการ และเป็นเรื่องที่ศาสนาอนุญาติให้เห็นต่างได้ และจะไม่มีการอิงการ หรือ ตัดสินฝ่ายตรงข้ามว่าหลงผิด และในค่ำคืนนี้จะขอนำเสนอทัศนะคำอธิบายของผู้ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของแนวทางสะละฟีย์ในปัจจุบัน อย่างท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ

โดยท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุตัยมียะห์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า :

“และที่มันคล้ายคลึงกันกับเรื่องดังกล่าวนี้ในบางแง่มุม คือ การขัดแย้งกันของบรรดาผู้รู้ในจำนวนร็อกอัตของการละหมาดตารอเวี๊ยะ(กิยามุ รอมาฎอน) เพราะว่าได้มีรายงานยืนยันมาว่าท่าน อุบัย บิน กะอฺ ได้เคยนำละหมาดผู้คน ยี่สิบ ร็อกอัตและทำ วิตรฺ อีกสามร็อกอัต ในการละหมาดตารอเวี๊ยะ

และบรรดาผู้รู้หลายท่านได้มองสิ่งดังกล่าวนี้ว่ามันคือซุนนะห์ เพราะว่าท่านอุบัย ได้กระทำมันขึ้นท่ามกลาง ชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอร โดยที่ไม่มีใครคัดค้านใดๆทั้งสิ้น

และบรรดาผู้รู้กลุ่มอื่นถือว่าซุนนะห์ คือ สามสิบเก้าร็อกอัต โดยถือตามการปฏิบัติของชาวเมืองมาดีนะห์สมัยก่อน

และบรรดาผู้รู้อีกกลุ่มนึงกล่าวว่า : ที่แท้จริงแล้วได้มีรายงานที่ถูกต้องยืนยันมาจากท่านหญิง อาอิชะห์ รอดิยั้ลลอฮุอันฮาว่า ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมไม่เคยเพิ่มร็อกอัตมากไปกว่า สิบสาม ร็อกอัต ทั้งในรอมาฎอนและนอกรอมาฎอนเลย

ในขณะที่ผู้รู้อีกกลุ่มนึงได้สับสนในฐานเดิมอันนี้ (คือละหมาดสิบสามร็อกอัต ผู้แปล) ครั้นเมื่อพวกเขาคิดว่าฮะดีษที่ถูกต้องไปค้านกับซุนนะห์ของบรรดาคอลีฟะห์ผู้ทรงธรรมและการปฏิบัติของบรรดามุสลิม

และที่ถูกต้องนั้น สิ่งดังกล่าวทั้งหมด คือ สิ่งที่ดีงามทั้งสิ้น ดังเช่นที่ท่าน อิหม่ามอะฮฺหมัด รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ ได้ระบุเอาไว้ในเรื่องดังกล่าวนี้ว่า จำนวนร็อกอัตไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ตายตัวในการละหมาดเดือนรอมาฎอน (ตะรอเวี๊ยะ) เพราะว่าท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมไม่ได้กำหนดจำนวนร็อกอัตเอาไว้ในการละหมาด ดังนั้นแล้วการจะทำให้จำนวนร็อกอัตมีมาก หรือ มีน้อย จึงขึ้นอยู่กับว่า ยืนละหมาดนานหรือยืนละหมาดสั้น

เพราะท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมนั้นได้ยืนละหมาดนานในละหมาดยามค่ำคืนจนกระทั่งได้มีรายงานในหนังสือ อัศศอเฮียะ จากฮะดีษของท่านฮุซัยฟะฮฺว่า ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้เคยอ่าน ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ ซูเราะอันนิซาอฺ และซูเราะหฺ อาละ อิมรอน ในหนึ่งร็อกอัต

ดังนั้นเองการยืนละหมาดที่ยาวนานมันเพียงพอแล้วกับการละหมาดหลายๆ ร็อกอัต และท่านอุบัยอฺ บิน กะอฺบ ครั้นเมื่อท่านนำละหมาดผู้คน ในขณะที่พวกเขารวมเป็นญะมาอะห์เดียวกัน ท่านไม่สามารถนำละหมาดผู้คนอย่างยาวนานได้ ดังนั้นท่านจึงทำให้จำนวนร็อกอัตมีมากขึ้นเพื่อที่สิ่งดังกล่าวนี้จะได้มาทดแทนการยืนละหมาดนานๆ พวกเขาเลยให้การยืนละหมาด มีจำนวนเป็นเท่าตัวของจำนวนรอกอัตท่านนบี โดยท่านนบีได้เคยละหมาด สิบเอ็ด หรือ สิบสาม ร็อกอัต หลังจากนั้นผู้คนที่อยู่ เมืองมาดีนะห์ ไม่สามารถยืนละหมาดนานๆได้ ดังนั้นพวกเขาจึงเพิ่มจำนวนร็อกอัตขึ้น จนกระทั่งถึงสามสิบเก้าเลยทีเดียว”

“มัจมูอฺ ฟะตาวาอฺ ชัยคิ้ล อิสลาม อิบนิ ตัยมียะห์” เล่ม 23 หน้าที่ 112-113

และท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุตัยมียะห์ ได้กล่าวไว้ในอีกที่นึงว่า :

“เช่นเดียวกันตัวการละหมาดตารอเวี๊ยะ ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมไม่ได้กำหนดจำนวนร็อกอัตแบบเจาะจงตายตัว หากแต่ว่าท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ไม่เคยละหมาดเกินไปกว่าสิบสามร็อกอัตทั้งในรอมาฎอนและนอกรอมาฎอน แต่ทว่าท่านยืนละหมาดยาวนาน

แล้วครั้นเมื่อท่านอุมัรได้รวมผู้คนให้ละหมาดภายใต้การเป็นอีหม่ามของท่าน อุบัย บิน กะอฺบ ท่านอุบัยได้นำละหมาดพวกเขายี่สิบร็อกอัต แล้ว วิตรฺ อีกสามร็อกอัต โดยท่านอุบัย ได้ลดปริมานการอ่านตามจำนวนร็อกอัตที่เพิ่มขึ้นมา เพราะว่าสิ่งดังกล่าวนี้มันเบากว่าการยืนนานๆในร็อกอัตเดียว

หลังจากนั้นชาวสลัฟกลุ่มนึงก็ได้ละหมาดกันถึง สี่สิบร็อกอัต และวิตรฺ อีกสามร็อกอัต กันเลยทีเดียว

ในขณะที่ชาวสลัฟอีกกลุ่มละหมาดกัน สามสิบหก ร็อกอัต แล้ววิตรฺ อีก สามร็อกอัต และทั้งหมดนี้ถือว่าอนุญาติทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วไม่ว่าเขาจะยืนละหมาดอย่างไรในรูปแบบเหล่านี้ในช่วงเดือนรอมาฎอน แน่นอนมันถือเป็นสิ่งที่ดีงาม

และที่ประเสริฐที่สุด มันก็ย่อมแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของสภาพของแต่ละคนที่ทำการละหมาด ดังนั้นถ้าหากว่าในหมู่พวกเขามีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถยืนละหมาดนานๆ ได้ การละหมาดสิบสามร็อกอัต ดังที่ท่านรอซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้ละหมาดของท่านเองในเดือนรอมาฎอนและนอกเดือนรอมาฎอน ย่อมประเสริฐที่สุด

และถ้าหากว่าพวกเขาไม่สามารถทำมันได้ การยืนละหมาดยี่สิบร็อกอัต ประเสริฐกว่า และมันคือสิ่งที่มุสลิมส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติกัน เพราะมัน อยู่ตรงกลางระหว่างสิบกับสี่สิบ และถ้าหากว่าเขายืนละหมาด สี่สิบร็อกอัต และนอกเหนือไปจากนี้ก็เป็นที่อนุญาติและไม่มีสิ่งใดในเรื่องนี้เป็นที่น่ารังเกียจอีกด้วย โดยมีอีหม่ามมากว่าหนึ่งคนที่ได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้เอาไว้ เช่น ท่าน อิหม่าม อะฮฺหมัด และท่านอื่นๆ

และใครก็ตามที่คิดว่าการละหมาดตารอเวี๊ยะมีจำนวนร็อกอัตที่จำกัดตายตัวจากท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ไม่เพิ่มและไม่ลดไปจากนี้ แท้จริงเขาได้ผิดพลาดเสียแล้ว ก็ถ้าในเรื่องจำนวรอกอัตยังเปิดกว้างได้ แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่จะไปสงสัยว่าการยืนนานๆเพื่อจะดุอาอฺกุนูตจะทำไม่ได้ หรือการที่จะไม่กุนูตเลยตั้งแต่ต้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งดีงามเป็นที่อนุญาตทั้งสิ้น”

“มัจมูอฺ ฟะตาวา ชัยคิล อิสลาม อิบนิ ตัยมียะห์”เล่ม 22 หน้าที่ 272-273

และท่านชัยคุ้ลอิสลาม ได้กล่าวเอาไว้ในอีกที่ว่า :

“และการละหมาดตารอเวี๊ยะนั้น หากว่าเขาละหมาด เหมือนเช่น มัสฮับ อบูฮานีฟะห์ ชาฟีอีย์ และ อะหมัด คือ ยี่สิบร็อกอัต หรือ ละหมาดเหมือน มัสฮับมาลิก คือ สามสิบหก ร็อกอัต หรือละหมาด สิบสาม ร็อกอัต หรือ สิบเอ็ดร็อกอัต แท้จริงมันคือสิ่งที่ดีงามทั้งสิ้น ดังที่ท่าน อิหม่ามอะฮฺหมัดได้ระบุเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เนื่องจากไม่มีการกำหนด (จำนวนร็อกอัตในเรื่องนี้ ผู้แปล) ดังนั้นแล้วการจะทำให้จำนวนร็อกอัตมีมาก หรือ มีน้อย จึงขึ้นอยู่กับว่า ยืนละหมาดนานหรือยืนละหมาดสั้น”

“ตะอฺลีกอต อะลั้ล อิคติยารอต อัลฟิกฮี่ยะห์” หน้าที่ 111

สรุปคำอธิบายดังกล่าวของท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ คือ

1.ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อนุญาติให้ละหมาดตารอเวี๊ยะ ได้ทั้ง สิบสาม ร็อกอัต ยี่สิบร็อกอัต หรือ อาจจะมากกว่านั้นก็ถือว่าเป็นที่อนุญาติ

2.ท่านชัยคุ้ลอิสลามได้ถือปฏิบัติในเรื่องจำนวนร็อกอัตตามการปฏิบัติของบรรดาศอฮาบะห์ รอดิยั้ลลอฮุอันฮุม

3.บรรดาผู้รู้ส่วนมากมองว่า การละหมาดยี่สิบ ร็อกอัต ถือเป็นซุนนะห์ เพราะมันถูกทำขึ้นในยุคศอฮาบะห์ และสามารถเรียกได้ว่า นี่ถือป็นความเข้าใจของบรรดาศอฮาบะห์ในเรื่องนี้ โดยศอฮาบะห์กับท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมไม่ได้ทำขัดแย้งกัน

4.ท่านชัยคุ้ลอิสลามมองว่าการละหมาดตารอเวี๊ยะ ไม่ได้มีจำนวนร็อกอัตตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการยืนละหมาดและอ่านนานๆได้ หากทำได้แบบท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม สิ่งดังกล่าวย่อมประเสริฐกว่า หากไม่สามารถทำได้การละหมาดยี่สิบ ร็อกอัต ดีกว่า

และท่าน อีหม่าม ติรมีซีย์ เอง ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ สุนันของท่านว่า :

قال الإمام الترمذي رحمه الله في سننه (3/169) :

” وَأَكْثَرُ أَهْلِ الْعِلْمِ عَلَى مَا رُوِيَ عَنْ عُمَرَ وَعَلِيٍّ وَغَيْرِهِمَا مِنْ أَصْحَابِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عِشْرِينَ رَكْعَةً وَهُوَ قَوْلُ الثَّوْرِيِّ وَابْنِ الْمُبَارَكِ وَالشَّافِعِيِّ .

وقَالَ الشَّافِعِيُّ وَهَكَذَا أَدْرَكْتُ بِبَلَدِنَا بِمَكَّةَ يُصَلُّونَ عِشْرِينَ رَكْعَةً .

“และบรรดาผู้รู้ส่วนมากได้ถือตามสิ่งที่ถูกรายงานมาจากท่าน อุมัร ท่าน อาลี และคนอื่นๆจากทั้งสองท่านนี้ที่เป็นสาวกของท่าน รอซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ว่า(จำนวนร็อกอัตในละหมาดตารอเวี๊ยะ) คือ ยี่สิบร็อกอัต และมันก็คือ ทัศนะของท่าน ซุฟยาน อัษเษารีย์ และ ท่าน อิบนุ มุบาร็อก และอิหม่ามชาฟีอีย์ด้วย และ อีหม่ามชาฟีอีย์ กล่าวว่า : “เช่นนี้แหละที่ฉันได้รับรู้มาในประเทศของพวกเรา ที่มักกะห์ ผู้คนต่างละหมาดยี่สิบร็อกอัต”

และก็ได้มีผู้รู้บางท่าน เช่น ท่าน อิบนุฮะญัร อัลอัสกอลานีย์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้มาอธิบายไว้ในหนังสือ ฟัตฮุ้ล บารีย์ เกี่ยว ฮะดีษที่มีรายงานว่าท่านอุมัรละหมาดสิบเอ็ดว่า :

والجمع بين هذه الروايات ممكن باختلاف الأحوال ويحتمل أن ذلك الاختلاف بحسب تطويل القراءة وتخفيفها فحيث تطول القراءة تقلل الركعات وبالعكس وبه جزم الداوودي وغيره قال: والاختلاف فيما زاد على العشرين راجع إلى الاختلاف في الوتر، فكأنه تارة يوتر بواحدة وتارة بثلاث

“และการรวมกันระหว่างรายงานต่างๆเหล่านี้ (รายงานที่ท่านอุมัรให้ละหมาด สิบเอ็ด และ ยี่สิบ ผู้แปล) มีความเป็นไปได้ ด้วยกับความแตกต่างกันตามสภาพการณ์ต่างๆ และเป็นไปได้ว่า ความแตกต่างดังกล่าวนั้นอันเนื่องมาจากการอ่านยาวหรืออ่านสั้น โดยที่ถ้าเป็นการอ่านยาวจำนวนร็อกอัตก็จะน้อยตามไปด้วยและในทางตรงกันข้าม(เมื่อเป็นการอ่านสั้นจำนวนร็อกอัตก็จะมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ผู้แปล) ดังที่ท่านดาวูดี และ คนอื่นๆนอกเหนือจากท่าน ได้ยืนยันเอาไว้ว่า : “และความแตกต่างในเรื่องจำนวนร็อกอัตที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงยี่สิบร็อกอัต มันก็จะย้อนกลับไปหาเรื่องความแตกต่างในเรื่อง วิตรฺ โดยราวกับว่าบางครั้งท่านรอซู้ลทำวิตรฺ หนึ่งร็อกอัต และบางครั้งท่านก็ทำ วิตรฺ สามร็อกอัต”

และท่านอิหม่าม อับดุล อะซีซ บิน อับดุลลอฮ บิน บาซ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ กล่าวว่า :

ويقول الشيخ ابن باز رحمه الله تعالى “مجموع الفتاوى” (11/322) :

” وثبت عن عمر رضي لله عنه أنه أمر من عين من الصحابة أن يصلي إحدى عشرة ، وثبت عنهم أنهم صلوا بأمره ثلاثا وعشرين ، وهذا يدل على التوسعة في ذلك ، وأن الأمر عند الصحابة واسع ، كما دل عليه قوله عليه الصلاة والسلام : ( صلاة الليل مثنى مثنى ) ” انتهى

“และได้มีรายงานยืนยันจากท่านอุมัร รอดิยั้ลลอฮุอันฮุว่าท่านได้ใช้ ศอฮาบะห์ที่ท่านได้แต่งตั้ง ให้ละหมาดสิบเอ็ด ร็อกอัต และก็ได้มีรายงานยืนยันจากพวกเขา(บรรดาศอฮาบะห์)ว่าพวกเขาละหมาดตามคำสั่งใช้ของท่านอุมัร คือ ยี่สิบสามร็อกอัต และนี่เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าถึงการเปิดกว้างในเรื่องดังกล่าวนี้ เพราะการปฏิบัติในหมู่ศอฮาบะห์ เปิดกว้าง ดังที่คำพูดของท่านรอซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมได้บ่งชี้เอาไว้ว่า : “ละหมาดยามค่ำคืน ทีละสอง ทีละสอง”

“มัจมูอฺ ฟะตาวา วะมะกอลาต มุตะเนาวิอะ” เล่ม 11 หน้าที่ 332

ขอสรุปคร่าวๆอีกครั้ง บรรดาผู้รู้ส่วนใหญ่ตั้งแต่ยุคสลัฟจนกระทั่งปัจจุบันที่มองว่า สามารถละหมาดได้มากกว่าสิบสามร็อกอัต เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

1.มองว่าฮะดีษของท่านหญิงอาอีชะห์ เรื่องการละหมาดยามค่ำคืนของท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ที่ทำไม่เกินสิบสามทั้งในรอมาฎอนและนอกรอมาฎอน ไม่ใช่หลักฐานในการกำจัดจำนวนร็อกอัต

2.มีรายงานจากชาวสลัฟมากมายที่พวกท่านเหล่านั้นทำมากกว่าสิบสามร็อกอัต ซึ่งนี่ถือเป็นความเข้าใจของชาวสลัฟ #ฉะนั้นจะพูดไม่ได้ว่า #นบีกับศอฮาบะห์จะเอาใคร ? เพราะว่านบีกับศอฮาบะห์ไม่ได้ขัดกันตั้งแต่ต้นแล้ว

3.มีฮะดีษที่รายงานโดยท่าน อิบนุอุมัร รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ ที่ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม บอกไว้เกี่ยวกับการละหมาดยามค่ำคืนว่า ให้ทำทีละสองๆ ซึ่งก็สามารถทำได้เรื่อยๆไม่จำกัดจำนวน เพราะท่านนบีไม่ได้จำกัดเอาไว้ จนอุลามาอฺบางท่านมองว่าสามรถละหมาดได้ถึง สี่สิบเอ็ดร็อกอัตเลยทีเดียว

4. บรรดาผู้รู้มองว่าที่ละหมาดยี่สิบร็อกอัต ก็เพื่อเป็นการลดความยากลำบากลงให้กับมะอฺมูม เนื่องจากหากว่าละหมาดสิบเอ็ด หรือ สิบสาม ร็อกอัตแบบท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม จะต้องยืนนานมาก เลยมองว่าการละหมาด ในจำนวนร็อกอัตที่เยอะๆจะมาทดแทนการยืนนานๆตรงนี้ได้

ส่วนอุลามาอฺที่มองว่าจำเป็นจะต้องจำกัดเพียงแค่สิบเอ็ดหรือสิบสามร็อกอัต เช่น ท่าน ชัยคฺ อัลบานีย์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ท่านมองว่า

1.ฮะดีษของท่านหญิงอาอีชะอฺรอดิยั้ลลอฮุอันฮา คือ การเจาะจงเรื่องจำนวนร็อกอัตในการละหมาดยามค่ำคืนเพราะท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมไม่เคยละหมาดเกินไปกว่านี้

2.ท่านมองว่าฮะดีษของท่านอุมัรที่ใช้ให้ท่าน อุบัย บิน กะอฺบ นำละหมาดผู้คน จำนวนยี่สิบ ร็อกอัต คือ ฮะดีษดออีฟที่อ่อนหลักฐาน และมีฮะดีษที่ถูกต้องกว่าอีกกระแสนึงท่านอุมัรให้ละหมาด สิบเอ็ดร็อกมันจึงค้านกัน แต่ก็มีอุลามาบางท่านได้ตอบโต้การให้สถานะดออีฟนี้ของชัยคฺ อัลบานีย์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ เช่น ชัยคฺ อิสมาอีล อัลอันศอรีย์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ซึ่งจะไม่ขอนำมาพูดรายละเอียดตรงนี้

และนี่ก็เป็นมุมมองบางจุดของบรรดาอุลามาอฺในเรื่องนี้ และโดยส่วนตัวผม คือ เห็นด้วยกับคำอธิบายของท่านชัยคุ้ลอิสลามที่อธิบายในเรื่องนี้ว่าสามารถทำได้ทั้ง สิบเอ็ด ร็อกอัต หรือ สิบสามร็อกอัต หรือ ยี่สิบ ร็อกอัต หรืออาจจะมากกว่านั้น วั้ลลอฮุอะอฺลัม.

และอีกเรื่องนึงที่เห็นสมควรจะนำมากล่าวถึง คือ การอยู่ละหมาดจนกระทั่งจบพร้อมกับอีหม่าม เพราะบางคนที่ไปละหมาดตามหลังอีหม่ามที่ละหมาดยี่สิบ พอถึงร็อกอัตที่แปดมักจะลุกออกมา หรือว่า เวลาถึงแปดแล้วก็อีหม่ามจะทำวิตรฺต่อ ตังเองก็ลุกออก สิ่งเหล่านี้ถือว่าก็ทำได้ แต่ทว่าที่ดีที่สุด และถือเป็นซุนนะห์ คือ อยู่ละหมาดให้จบพร้อมไปกับอีหม่าม ดังที่มีฮะดีษรายงานว่า :

مَنْ قَامَ مَعَ الإِمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ

“ใครก็ตามที่ยืนละหมาดร่วมกับอีหม่ามจนกระทั่งอีหม่ามเสร็จสิ้นจากการละหมาด เขาก็จะได้รับผลบุญการละหมาดทั้งคืน” รายงานโดย ติรมีซีย์ และชัยคฺ อัลบานีย์ ถือว่าฮะดีษนี้ถูกต้อง

และท่านชัยคฺ อีหม่าม อับดุลอะซีซ บิน บาซ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ และท่านตอบว่า :

السنة الإتمام مع الإمام ، ولو صلى ثلاثا وعشرين ، لأن الرسول صلى الله عليه وسلم قال : ( من قام مع الإمام حتى ينصرف كتب الله له قيام ليلة ، وفي اللفظ الآخر : (بقية ليلته) .
فالأفضل للمأموم أن يقوم مع الإمام حتى ينصرف ، سواء صلى إحدى عشرة ركعة أو ثلاث عشرة أو ثلاثا وعشرين أو غير ذلك ، هذا هو الأفضل أن يتابع الإمام حتى ينصرف

“ซุนนะห์นั้น คือ การทำให้ครบสมบูรณ์พร้อมไปกับอีหม่าม แม้ว่าเขาจะละหมาดยี่สิบสามร็อกอัตก็ตาม เพราะว่าท่านรอซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมกล่าวว่า : “ใครก็ตามที่ยืนละหมาดร่วมกับอีหม่ามจนกระทั่งอีหม่ามเสร็จสิ้นจากการละหมาด เขาก็จะได้รับผลบุญการละหมาดทั้งคืน” และในอีกสำนวนนึงกล่าวว่า : “ค่ำคืนที่เหลืออยู่ของเขา”

ดังนั้นแล้วสิ่งที่ประเสริฐที่สุดสำหรับมะอฺมูม คือ การยืนละหมาดร่วมกับอีหม่ามจนกระทั่งอีหม่ามละหมาดเสร็จ ไม่ว่าอีหม่ามจะละหมาดสิบเอ็ดร็อกอัต หรือ สิบสามร็อกอัต หรือ ยี่สิบสามร็อกอัต หรือนอกเหนือไปจากนี้ นี่แหละ คือ สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในการตามอีหม่ามจนกระทั่งเขาละหมาดเสร็จสิ้นทั้งหมด”

“มัจมูอฺ ฟะตาวา วะมะกอลาต มุตะเนาวิอะ” เล่ม 11 หน้าที่ 325

และในกรณีที่ละหมาดเสร็จไปพร้อมกับอีหม่ามแล้ว แล้วอยากจะละหมาดอีกหลังจากนั้นในยามดึก ก็สามารถกระทำได้ โดยเมื่อหลังจากที่อีหม่ามให้สลามเราก็ขึ้นต่ออีกหนึ่งร็อกอัตเพื่อให้จำนวนร็อกอัตเป็นคู่และเราสามารถทำวิตรฺอีกครั้งได้ในตอนดึก หรือ ไปละหมาดเพิ่มอีกเองหนึ่งร็อกอัต ซึ่งแบบนี้ภาษาอาหรับเรียกว่า نقض الوتر ซึ่งเป็นการกระทำของชาวสลัฟบางท่าน

เช่น ท่าน อิสหาก บิน รอฮาวัย (เสียชีวิต ปี ฮ.ศ. 238) และบรรดาศอฮาบะห์กลุ่มนึง เช่นท่าน อุมัร อุษมาน และอาลี รอดิยั้ลลอฮุอันฮุม และชาวสลัฟท่านอื่นๆ รวมถึงท่าน อิบนุ กุดามะห์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮด้วย แต่อุลามาอฺส่วนใหญ่ (หนึ่งในนั้นคืออีหม่ามทั้งสี่มัสฮับ) มองว่า ไม่ต้องละหมาดเพิ่มอีกหนึ่งร็อกอัต แต่สามารถตื่นขึ้นมาละหมาดซุนัตต่อได้ โดยไม่ต้องทำวิตรฺอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งรายละเอียดของแต่ละทัศนะไว้มีโอกาสจะมานำเสนอกัน อินชาอัลลอฮ

และสุดท้ายนี้ก็ขอให้พี่น้องทุกคนมีความขมักขเม้น มีความแข็งขันในการทำอิบาดะห์ในช่วงรอมาฎอนนี้ให้มากๆ เพราะเวลาของเดือนอันประเสริฐใกล้จะหมดลงทุกทีแล้ว และก็ไม่ใครรู้ว่าปีหน้าเราจะได้เจอกับรอมาฎอนนี้ อีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นทำตอนนี้ให้ดีที่สุด จะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง ขออัลลออทรงช่วยเหลือพวกเราทุกคนในการทำอิบาดะห์เพื่อพระองค์

เพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการ

يقول الشيخ محمد عبد الوهاب (رحمه الله):(صلاة التراويح سنّة مؤكدة سنّها رسول اللّه صلى الله عليه وسلم ، وتنسب إلى عمر، لأنه جمع الناس على أبيّ بن كعب\”. والمختار عند أحمد: عشرون ركعة، وبه قال الشافعي. وقال مالك: ستة وثلاثون. ولنا:
\”أنّ عمر لما جمع الناس على أبيّ، كان يصلي بهم عشرين ركعة)7.
كتاب مختصر الإنصاف والشرح الكبير للشيخ محمد عبد الوهاب- (ج 1 / ص 212)

ท่านชัยคฺมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้กล่าวว่า :

“การละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺเป็นซุนนะฮฺที่ท่านร่อซูรุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่งเสริมให้กระทำ และมันได้ถูกพาดพิงไปยังท่านอุมัร ที่สั่งใช้ให้ท่านอุบัย บินกะฮฺบฺ นำละหมาด และอีหม่ามอะหมัดได้เลือก 20 ร็อกอะฮฺจากจำนวนของการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ และอีหม่ามชาฟีอีย์ และอีหม่ามมาลิกได้เลือก 36 ร็อกอะฮฺ และเรา (อีหม่ามมุฮัมหมัด บินอับดุลวะฮาบ-ผู้แปล) ก็เช่นกัน” แท้จริงนั้นอุมัรได้สั่งใช้ให้นำประชาชนละหมาด 20 ร็อกอะฮฺ [กิตาบมุคตะศ็อร อัลอินศอฟ วะชัรฮิลกะบีร ของชัยคฺมุฮัมหมัด บินอับดุลวะฮาบ เล่ม 1 หน้า 212]

ذكر العلامة صالح بن فوزان الفوزان في كتابه (إتحاف أهل الإيمان بدروس شهر رمضان):أما عدد ركعات صلاة التراويح فلم يثبت فيه شيء عن النبي صلى الله عليه وسلم ، والأمر في ذلك واسع، قال شيخ الإسلام ابن تيمية رحمه الله: ( له أن يصلي عشرين ركعة كما هو المشهور من مذهب أحمد والشافعي، وله أن يصلي ستا وثلاثين كما هو مذهب مالك، وله أن يصلي إحدى عشرة ركعة وثلاث عشر ركعة وكل حسن، فيكون تكثير الركعات أو تقليلها بحسب طول القيام وقصره. وعمر رضي الله عنه لما جمع الناس على أبَيّ صلى بهم عشرين ركعة، والصحابة رضي الله عنهم منهم من يقل ومنهم من يكثر، والحد المحدود لا نص عليه من الشارع صحيح)12. أ.هـ.
إتحاف أهل الإيمان بدروس شهر رمضان – (ج 1 / ص 44)

ดังกล่าวนี้ชัยคฺศอลิหฺ บินเฟาซาน อัลเฟาซาน ได้กล่าวไว้ในตำรับตำราของท่าน (อิตติฮาฟ อะลุลอีหม่าน บิดดุรูซฺ ชะฮฺริร็อมมะฎอน) :

ส่วนจำนวนของร็อกอะฮฺต่าง ๆ ของการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ มันไม่ได้ถูกยืนยันในจำนวนร็อกอะฮฺที่ตายตัวจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มันเป็นคำสั่งใช้แบบกว้าง ๆ ที่ไม่ได้กำหนดตายตัว

ท่านชัยคุลอิสลามอิบนิตัยมิยะฮฺ (เราะฮิมะฮุลลอฮฺ) : สำหรับการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ 20 ร็อกกะฮฺนั้นเป็นที่ทราบกันดีจากมัสฮับอีหม่ามอะหมัด และอีหม่ามชาฟีอี และการละหมาด 36 ก็เป็นที่ทราบกันดีจากมัสฮับของอีห่ามมาลิก และการละหมาด 11 ร็อกอะฮฺ หรือ 13 ร็อกอะฮฺนั้นก็ดีทั้งหมด ดังนั้นการละหมาดจะให้มีจำนวนมากขึ้นหรือลดน้อยลงก็ตามแต่ผู้ที่กระทำ และท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้สั่งใช้ให้ท่านอุบัย บินกะฮฺบฺนำประชาชนละหมาด 20 ร็อกอะฮฺ และในหมู่ของบรรดาศอฮาบะฮฺพวกเขาก็มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในจำนวนของร็อกอะฮฺของการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺ และการจำกัดจำนวนร็อกอะฮฺ (เท่านั้นเท่านี้-ผู้แปล) นั้นไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องในเรื่องนี้จากบรรดานักวิชาการ) [อิตติฮาฟ อะลุลอีหม่าน บิดดุรูซฺ ชะฮฺริร็อมมะฎอน เล่ม 1 หน้า 44]

وفي كتاب (الصيام من المحرر) للشيخ سليمان الحربي يقول: ( نقل ابن دقيق العيد وشيخ الإسلام ابن تيمية الإجماع على أن صلاة الليل لا حد لها.
ينظر كتاب الصيام من المحرر لسليمان الحربي 1 / 51.

และในหนังสือ (อัศศิยาม มินัลมุฮัรริร) ของชัยคฺซุลัยมาน อัลฮัรบีย์ ได้กล่าวว่า : (อิบนุดะกีก อัลอับดิ ได้อ้างคำพูดของท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมิยะฮฺถึงการอิจมาอฺในเรื่องของการละหมาดในยามคำคืนว่ามันไม่มีการกำหนดร็อกอะฮฺที่ตายตัว [ดูหนังสือ อัศศิยาม มินัลมุฮัรริร ของชัยคฺซุลัยมาน อัลฮัรบีย์ เล่ม 1 หน้า 51]