การมีอยู่จริงของพระเจ้า (โดยสังเขป) ตอนที่ 1

คนในยุคปัจจุบันมักจะกล่าวว่าความเชื่อในเรื่องพระเจ้าองค์เดียวเป็นความเชื่องมงายและเหลวไหล มุสลิมเป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งของโลกที่โดนด่าประณามว่าเป็นพวกงมงายที่ศรัทธาในการมีอยู่ของพระเจ้า ลัทธิปฏิเสธพระเจ้า (atheism) ที่แฝงมาในนามของวิทยาศาสตร์ได้เข้าทำลายทุกความคิดที่เชื่อในพระเจ้าโดยการยัดข้อหาแก่ฝ่ายที่ศรัทธาในพระเจ้าว่าเป็นพวกล้าหลัง โง่งม ไม่รับกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นโยบายที่กระตุ้นรณรงค์การต่อต้านพระเจ้าผ่านสื่อระดับยักษ์ทั่วโลก ทำให้วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านพระเจ้าถูกผลิตซ้ำเพื่อกลืนกินให้ประชากรโลกเกิดสำนึกใหม่ว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง

ท้ายที่สุดคำว่าพระเจ้าก็กลายเป็นกระแสในทางลบ ผู้คนต่างถูกล้างสมองด้วยวาทกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อให้เข้าใจว่าคำนี้เป็นคำอวิชชาอันไม่ประเทืองแก่ปัญญา ทั้งที่ประชากรโลกที่เกลียดกลัวในคำว่าพระเจ้านั้นส่วนใหญ่มิได้ไตร่ตรองหรือศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เลย เพียงแต่ถูกประโคมซ้ำ ๆ ซาก ๆ จากระบบการศึกษาให้ดูแคลนต่อคำ ๆ นี้ ข้าฯ พบนับไม่ถ้วนว่าคนจำนวนมากที่มองเรื่องพระเจ้าในฐานะที่เป็นเรื่องงมงาย คนจำพวกนี้ความจริงก็มิได้ศึกษาเรื่องพระเจ้าด้วยตนเองจนเกิดข้อสรุปเช่นนั้นเลยด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นคนจำพวกนี้ก็มักเบาความในเรื่องวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย พวกเขาไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เลยนอกจากแค่หางอึ่ง ที่พวกเขาเข้าใจอยู่มีเพียงว่าวิทยาศาสตร์คือ สัจธรรม พระเจ้าขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ พระเจ้าจึงเป็นเรื่องพกลม ทั้งที่ในทัศนะของคนพวกนี้ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางว่าอะไรคือพระเจ้า อะไรคือวิทยาศาสตร์ อะไรคือสัจธรรม!

ข้อสังเกตที่สะท้อนให้เห็นถึงความหยาบกร้านของทัศนคติเหล่านี้ ปรากฏให้เห็นในพฤติกรรมของคนไทยหมู่มาก จากการสำรวจความเห็นหลายครั้ง ข้าฯ พบว่าคนไทยมองเรื่อง พระเจ้าเป็นเรื่องงมงายขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ที่เป็นสัจธรรม แต่คนไทยจำพวกนี้กลับศรัทธาในเรื่องเวรกรรม เจ้าพ่อ เจ้าแม่ อำนาจลี้ลับ ผีสางนางไม้ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งดวงชะตาราศีก็ถูกคนไทยจำนวนมากที่ปฏิเสธพระเจ้ายึดถือไว้เสียแทน ข้าฯ เคยถามโชเฟอร์แท็กซี่ผู้หนึ่งว่าเขาเชื่อในเรื่องพระเจ้าไหม? เขาตอบว่าเขาไม่เชื่อ เพราะมนุษย์มาจากลิง แต่ขณะเดียวกันภายในรถยนต์ของเขากลับประดับหิ้งพระตลอดจนสารพัดเครื่องรางของขลังรุงรังไปหมด!

ปรากฏการณ์เช่นนี้ข้าฯ ตีความได้ว่ามันเกิดขึ้นจากการกล่อมเกลาโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบขั้นตอน จนกระทั่งทำให้ประชากรโลกเลือกที่จะทำตามคำสั่งของระบบการศึกษาที่เสี้ยมสอนว่าพระเจ้าไม่มีจริง กระบวนการเหล่านี้ทำงานในระบบเดียวกันกับการโฆษณาสินค้าในโลกทุนนิยม มีงานวิจัยระบุว่าสินค้าที่ครองตลาดมหาชนจำนวนมากเกิดขึ้นได้ก็จากการโฆษณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนติดตาประชาชน หรือการผลิตวลียอดนิยมตลอดจนจุดเด่นต่าง ๆ ขึ้นมาเสริมสินค้าซ้ำไปซ้ำมา

กระบวนการเช่นนี้จะทำให้ประชาชนตอบรับสินค้าดังกล่าวโดยไม่พิจารณาจากสภาพของสินค้าแต่อย่างใด มันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนตอบรับสินค้าเพราะการโฆษณาหาใช่เพราะการแสวงหาสินค้ามีคุณภาพในการใช้สอยแต่อย่างใด การโฆษณาผ่านกระบวนการกล่อมเกลาให้เกิดการล้างความคิดเป็นมาตรการสำคัญในการสร้างกระแสทางสังคมมากกว่าตัวเนื้อหาจริงๆเสียอีก

ความเชื่อในเรื่องพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน ประชากรโลกส่วนใหญ่มิได้ปฏิเสธพระเจ้าเพราะการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ หากแต่ดูแคลนเรื่องพระเจ้าเพราะแรงโฆษณาชวนเชื่อจากโลกตะวันตกที่ทะลักเข้าสู่สื่อและระบบการศึกษา

เมื่อสื่อประโคมวาทกรรมขึ้นมาว่าพระเจ้าคือเรื่องเหลวไหล คนก็ตอบรับกับคำนี้โดยไม่รู้ตัวเสมือนการเสพโฆษณาสินค้า หรือเมื่อสื่อประโคมข่าวว่า “การวิวัฒนาการ” หรือ “วิทยาศาสตร์” หรือ “ประสาทสัมผัส” คือสัจธรรม ประชากรโลกก็ตอบรับการประชาสัมพันธ์นี้อย่างไม่รู้ตัว คล้าย ๆ กับกรณีการสร้างกระแสเรื่องลัทธิก่อการร้าย เมื่อยักษ์ใหญ่ของโลกบอกว่ามุสลิมคือผู้ก่อการร้าย คนทั่วโลกก็ยอมรับวาทกรรมเช่นนี้ไปโดยไม่รู้ตัวเลยว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ตนเองนิยมชมชอบก็อาจเรียกว่าการก่อการร้ายก็ได้ ซ้ำร้ายบางคนกลับไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลกมุสลิมที่ถูกขนานนามว่าเป็นค่ายก่อการร้ายสากล!

เราได้บทเรียนอะไรจากปรากฏการณ์ตรงนี้?

คำตอบคือ มนุษย์ส่วนใหญ่แทบไม่ได้แสวงหาสัจธรรมหรือข้อสรุปในเรื่องหนึ่งใดผ่านกระบวนการของการค้นคว้าศึกษา มนุษย์ถูกกล่อมเกลาให้รับสิ่งใดก็ตามโดยอาศัยการโน้มน้าวซ้ำๆนับครั้งไม่ถ้วน เราไม่ปฏิเสธเลยว่าแม้กระทั่งสังคมมุสลิมเองคนที่เชื่อในพระเจ้าจำนวนมาก ความจริงก็ยังมิได้ศรัทธาในการมีอยู่ของพระองค์ผ่านการพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยการศึกษา หากแต่ศรัทธาไปภายใต้สภาพที่ได้รับการปลูกฝังจากบรรพบุรุษ จึงไม่แปลกที่มุสลิมจำนวนมากแทบไม่มีความสามารถในการพิสูจน์การมีอยู่จริงของพระเจ้าแก่ต่างศาสนิกเลย

นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมในอัลกุรอานพระองค์จึงกล่าวย้ำเตือนเรื่องการดำรงอยู่ของพระองค์ซ้ำไปซ้ำมาหลายจุดในคัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการไตร่ตรองอย่างสุดซึ้ง แม้สิ่งที่อัลกุรอานเน้นย้ำจะเป็นสัจธรรมอยู่แล้วในตัวของมัน แต่มนุษย์ก็มักเมินเฉยต่อสัจธรรมที่ถูกกล่าวขึ้นเพียงแค่ในระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากมนุษย์มักไม่ไตร่ตรองต่อสิ่งรอบกายที่กำลังบ่งชี้ถึงสัจธรรมบางอย่าง เช่นเดียวกันคนที่เคยปฏิเสธพระเจ้ามาตลอดก็สมควรจะหันมาทบทวนเนื้อหาในเรื่องนี้กันใหม่อย่างมีวิจารณญาณ

การพิสูจน์การดำรงอยู่ของพระเจ้านั้นสามารถกระทำได้หลายแง่มุม โดยเฉพาะแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ที่อาศัยการค้นคว้าอันซับซ้อนเข้าอธิบายถึงการมีอยู่ของพระผู้สร้าง อย่างไรก็ตามข้าฯเพียงต้องการอภิปรายปัญหาประการนี้ในภาพรวมเท่านั้น


(อ่านตอนที่ 2 คลิก)