ศาสนามีข้อกำหนด (หุกม์) อย่างไรเกี่ยวกับการรับชมการแข่งขันกีฬา?

๏ คำถามที่สองจากคำวินิจฉัย (ฟัตวา) เลขที่ 18951

คำถาม: ศาสนามีข้อกำหนด (หุกม์) อย่างไรเกี่ยวกับการรับชมการแข่งขันกีฬา อาทิ การแข่งขันฟุตบอลโลก หรือกีฬาประเภทอื่น ๆ ?

คำตอบ: การแข่งขันฟุตบอลเพื่อแลกกับเงินหรือรางวัลนั้น ถือเป็นการกระทำที่ต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากการพฤติกรรมดังกล่าวคือการพนัน และเนื่องจากบทบัญญัติศาสนาไม่อนุญาตให้รับค่าตอบแทนจากการเข้าแข่งขันใด ๆ เว้นแต่ในกรณีการแข่งขันนั้นอยู่ในชนิดที่ศาสนบัญญัติได้อนุมัติให้จัดขึ้นเท่านั้น ได้แก่ การแข่งม้า, แข่งอูฐ และแข่งยิงธนู ด้วยเหตุนี้การเข้าร่วมในการแข่งขันดังกล่าวในตอนต้นจึงเป็นสิ่งต้องห้าม

นอกจากนั้นการรับชมการแข่งขัน สำหรับผู้ที่ทราบว่าการแข่งขันที่กำลังรับชมนั้นคือการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยมีค่าตอบแทนเป็นเงื่อนไข (พนัน) ก็ถือเป็นเรื่องต้องห้ามด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เหตุที่นับว่าการเข้าร่วมแข่งขันเป็นเรื่องต้องห้ามด้วยนั้น อันเนื่องมาจากการที่เขานำตัวเข้าไปร่วมในกิจกรรมดังกล่าวก็เท่ากับว่าเขายอมรับในกิจกรรมนั้น ๆ ด้วยนั่นเอง

ส่วนในกรณีที่การแข่งขันจัดขึ้นโดยไม่แลกกับค่าตอบแทน และไม่เป็นการรบกวนกับการปฏิบัติศาสนกิจซึ่งอัลลอฮ์ทรงกำหนดไว้ อาทิ การละหมาด อีกทั้งยังปราศจากจากสิ่งต้องห้ามต่าง ๆ อาทิ การเปิดเผยเอาเราะฮ์ การปะปนกันระหว่างชายกับหญิง (อิคติลาฏ) หรือการเล่นเครื่องดนตรีและอื่น ๆ แล้ว ก็ไม่เป็นความผิดแต่ประการใดในการเข้าร่วมและรับชมการแข่งขันประเภทนี้

-วะบิลลาฮิตเตาฟีก, วะศ็อลลัลลอฮุ อะลา นะบียินา มุหัมมัด วะอาลิฮี วะเศาะห์บิฮี วะสัลลัม-

คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา

อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อิบนุบาซ — ประธาน
อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อาลิชชัยค์ — รองประธาน
ศอลิห์ อิบนุเฟาซาน อัลเฟาซาน — สมาชิก
บักร์ อิบนุอับดิลลาฮ์ อะบูซัยด์ — สมาชิก

[คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา, “ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮ์ อัดดาอิมะฮ์ ลิลบุหูษ อัลอิลมียะฮ์ วัลอิฟตาอ์,” อะห์มัด อิบนุอับดิรร็อซซาก อัดดุวัยช์ (บรรณาธิการ), 23 เล่ม, พิมพ์ครั้งที่ 5, (ริยาด: ดาร อัลมุอัยยัด, ฮ.ศ. 1424 – ค.ศ. 2003), เล่ม 15: หน้า 238-239.]

❝ส่วนการล่าช้าเวลาละหมาดเนื่องจากดูการแข่งขันดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้าขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านด้วยการตักเตือนของพี่น้องผู้หวังดีว่า พวกท่านอย่าไปใช้เวลาอันทรงคุณค่าของพวกท่านในการดูการแข่งขันนั้น เพราะข้าพเจ้าไม่ทราบถึงความดีอะไรในมันสำหรับพวกท่านเลย ไม่ว่าจะในดุนยาหรือในอาคิเราะฮ์ ทว่ามันเป็นแต่เพียงการใช้เวลาโดยปราศจากประโยชน์เท่านั้น

แล้วส่วนมากของการแข่งขันต่าง ๆ เท่าที่ข้าพเจ้าได้ยินมา มันมีการเปิดเผยเอาเราะฮ์ ซึ่งท่านจะพบว่ามีกางเกงขาสั้นเพียงแค่ครึ่งขาอ่อน หรืออะไรทำนองนั้น แล้วพวกเขา (นักกีฬา) ก็เป็นคนหนุ่ม ซึ่งคนหนุ่มนั้นไม่เป็นที่ต้องสงสัยอันใดว่าพวกเขาคือ “ฟิตนะฮ์” เมื่อเปิดเผยขาอ่อน

อีกทั้งการแข่งขันเหล่านี้บางทีอาจจะมีคนที่ยกย่องเชิดชูเขา (นักกีฬา) อย่างเกินเลยเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เขา (นักกีฬา) ไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูนั้น

ในด้านอื่น ๆ ข้าพเจ้าก็หวังว่าจะมีการรวมตัวกันของพวกท่านในสภาพนั้น เพื่อที่จะศึกษาเรียนรู้อะไรสักอย่างที่มีประโยชน์ อาทิ หนังสือ “ริยาฎุศศอลิหี้น” หรือหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ อันทำให้จิตใจและการกระทำดีขึ้น

และดังเช่นที่พวกท่านทราบอยู่แล้ว เวลาในชีวิตนั้นมีขอบเขตจำกัด โดยคน ๆ หนึ่งเขาไม่ทราบหรอกว่าเมื่อใดเวลาเหล่านั้นจะสิ้นสุดลง เช่นนั้นแล้วจงรีบฉวยโอกาสเถิด

-บาเราะกัลลอฮุฟีกุม-❞

[มุหัมมัด อิบนุศอลิห์ อัลอุษัยมีน, “มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะเราะสาอิลฯ,” 29 เล่ม, (ริยาด: ดาร อัษษุร็อยยาฯ, ฮ.ศ. 1420 – ค.ศ. 1999), เล่ม 15: หน้า 37, เลขที่ 937.]

คำถาม: การเชียร์อย่างคลั่งไคล้ของกองเชียร์ ในการเชียร์ทีมฟุตบอลที่ตัวเองชอบนั้น มีข้อกำหนด (หุกม์) อย่างไร?

คำตอบ: การคลั่งไคล้แบบนี้เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) มันไม่ส่งผลดีอะไรเลยและอิสลามก็ไม่ส่งเสริม และการคลั่งไคล้แบบนี้ยังสร้างความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้ง โต้เถียงกันมากมายเหมือนดังคนที่คลั่งไคล้ในมัซฮับต่าง ๆ ที่เห็นความเสียหายอันชัดเจน มีทั้งเรื่องเล่าที่ผิดเพี้ยนและเรื่องโกหกมากมาย

พวกที่คลั่งไคล้เหล่านั้นก็ปกป้องเฉพาะกลุ่มของตน ฉะนั้นการคลั่งไคล้ในตัวผู้เล่น ในทีมในสโมสรทั้งหมดเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะทั้งสโมสร ทั้งทีม และผู้เล่น เป็นพวกไร้สาระ เป็นเพียงแค่ความสนุกสนานและรื่นเริง มีจุดมุ่งหมายคือให้ได้มาซึ่งรางวัลและชัยชนะ ให้ร่างกายและกล้ามเนื้อแข็งแรง แต่คนเชียร์กลับไม่ได้รับอะไรเลย อุตส่าห์ทุ่มเทเชียร์ทีมที่ตนรัก คนที่คลั่งไคล้ได้รับเพียงความขัดแย้ง เป็นศัตรู ทะเลาะกับมิตรสหาย ตัดพี่ตัดน้องกับญาติสนิท ถ้าหากเชียร์กันคนละทีม

[อับดุลลอฮ์ อิบนุอับดิรเราะห์มาน อัลญิบรีน, “คำวินิจฉัย (ฟัตวา) เลขที่ 1990 : การคลั่งไคล้สโมสรฟุตบอล,” สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016, จาก http://ibn-jebreen.com/fatwa/vmasal-1990-.html]

๏ ข้อกำหนด (หุกม์) การแข่งขันฟุตบอลในปัจจุบัน

การแข่งขันฟุตบอลในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของความเพลิดเพลินที่บาฏิล (ไม่ถูกต้อง) การเล่นฟุตบอลโดยผ่านสโมสรกีฬากลุ่มต่าง ๆ และประเทศ จึงไม่เป็นที่อนุญาต เพราะการเล่นดังกล่าวเป็นการเลียนแบบคนกาฟิร เป็นการร้องเรียนเพื่อตัดสินคดีความต่อฏอฆูตและกฎหมายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและอื่น ๆ เป็นการสูญเสียเวลาไปกับความเพลิดเพลินและการละเล่น เป็นการสูญเสียทรัพย์สิน เปิดเผยเอาเราะฮ์และขาอ่อน มีฟิตนะฮ์ของเด็กหนุ่มหน้าตาดี มีการปะปนกันระหว่างชายกับหญิง ปิดกั้นการรำลึกถึงอัลลอฮ์และการละหมาด ด้วยการละทิ้งละหมาดหรือละหมาดล่าช้า สร้างความแตกแยก ความเป็นศัตรูกัน และการเกลียดชังกันในผู้เล่นและกองเชียร์

โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขัน มีการสร้างฟิตนะฮ์และการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดการด่าทอ และเสียดสีระหว่างกัน ทำให้เสียเวลาในการศึกษาหาความรู้และการเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ เพราะบ่อยครั้งที่มีการปะทะกันระหว่างตัวผู้เล่นและเกิดแขนขาหัก ฉะนั้นการแข่งขันฟุตบอลจึงเป็นส่วนหนึ่งของความเพลิดเพลินอันจอมปลอมที่บรรดาศัตรูอิสลามใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหันเหมนุษย์ออกจากภารกิจหลักที่พวกเขาถูกสร้างมา นั่นก็คือการอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์และการเชิญชวนสู่พระองค์ ขอพระองค์โปรดคุ้มครองเราให้ปลอดภัยด้วยเถิด แต่หากปลอดจากผลเสียที่ต้องห้ามต่าง ๆ ก็ถือว่าอนุญาต

[มุหัมมัด อิบนุอิบรอฮีม อิบนุอับดิลลาฮ์ อัตตุวัยญิรี, “มุคตะศ็อร อัลฟิกฮ์ อัลอิสลามีฯ,” พิมพ์ครั้งที่ 11, (บุร็อยดะฮ์: ดาร อัศดาอ์ อัลมุจญ์ตะมะอ์, ฮ.ศ. 1431 – ค.ศ. 2010), หน้า 759.]

และดู

สุกรี สาแลง, “หลักเกณฑ์ข้อบัญญัติการกีฬาในอิสลาม,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2552), หน้า 197-203, ในหัวข้อ “การแข่งขันกีฬาที่ใช้อุปกรณ์ประเภทลูกบอลหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับลูกบอล” [http://kb.psu.ac.th/psukb/handle/2010/6190]