ข้อกำหนด (หุกม์) ในเรื่องการมีภริยาหลายคน (สมรสซ้อน) และวิทยปัญญา (หิกมะฮ์) แห่งศาสนบัญญัติเรื่องนี้

ข้อกำหนด (หุกม์) ในเรื่องการมีภริยาหลายคน (สมรสซ้อน) และวิทยปัญญา (หิกมะฮ์) แห่งศาสนบัญญัติเรื่องนี้

1. ข้อกำหนดเรื่องการมีภริยาหลายคน :

การมีภริยาหลายคนเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาต (มุบาห์) ให้กระทำได้ ตั้งแต่เดิม อัลลอฮ์ได้ตรัสว่า :

“และหากพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมในบรรดาเด็กกำพร้าได้ ก็จงสมรสกับผู้ที่ดีแก่พวกเจ้า ในหมู่หญิงสองคน หรือสามคน หรือสี่คน” [อันนิสาอ์ : 3]

ความหมายของอายะฮ์นี้คือ : หากพวกท่านสมรสกับหญิงที่เป็นกำพร้า แล้วเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมในการปฏิบัติกับพวกนางได้ ก็อนุญาต (มุบาห์) ให้พวกท่านสมรสกับหญิงอื่น สองคน สามคน และสี่คน

ทว่าการมีภริยาหลายคนอาจส่งเสริม (มันดูบ) หรือน่ารังเกียจ (มักรูฮ์) หรือต้องห้าม (หะรอม) แล้วแต่กรณี และขึ้นอยู่กับการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ประสงค์จะมีภริยาหลายคน

(ก)  หากความต้องการของชายที่จะมีภริยาอีกคนหนึ่ง : เกิดขึ้นเนื่องจากการมีภริยาเพียงคนเดียว ยังไม่อาจปกป้องตนเองให้พ้นจากการกระทำผิดประเวณีได้ หรือเนื่องจากภริยาคนแรกป่วย หรือเป็นหมัน และเขาต้องการมีบุตร และเขาค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถให้ความยุติธรรมระหว่างภริยาทั้งสองคนได้ การมีภริยาเกินกว่าหนึ่งคนสำหรับเขาจึงตกเป็นการส่งเสริม (มันดูบ) เหตุเพราะจะก่อให้เกิดผลดีที่เป็นไปตามศาสนบัญญัติ และแท้จริงแล้วบรรดาเศาะหาบะฮ์เป็นจำนวนมากก็มีภริยาเกินกว่าหนึ่งคน

(ข) หากความต้องการมีภริยาหลายคนเกิดขึ้น โดยปราศจากความจำเป็นแต่เป็นเพราะต้องการความสำราญและปรนเปรอความสุข และเขาเองก็สงสัยว่าจะสามารถให้ความยุติธรรมแก่ภริยาหลายคนได้หรือไม่ การมีภริยาหลายคนสำหรับเขาจึงตกเป็นการน่ารังเกียจ (มักรูฮ์) เหตุเพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากความจำเป็น และเพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ภริยาขึ้นได้ ถ้าหากเขาไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่บรรดาภริยาของเขาได้

ท่านนะบี ﷺ กล่าวว่า : “จงละทิ้งสิ่งที่ทำให้ท่านสงสัย ไปสู่สิ่งที่ไม่ทำให้ท่านสงสัย”

รายงานโดยอัตติรมิซี [บรรพลักษณะของวันกิยามะฮ์, หมวด : จงผูกมันเสียก่อนแล้วจึงมอบหมาย, เลขที่ : 2520] เล่าจากอัลหะสัน อิบนุอะลี

(ค) เมื่อค่อนข้างแน่ใจหรือมั่นใจว่าเขาไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ หากมีภริยาหลายคน : ซึ่งอาจเกิดจากความยากจนของเขาหรือความอ่อนแอ หรือไม่ไว้วางใจตนเองเรื่องความลำเอียง เช่นนั้นการมีภริยาหลายคนสำหรับเขาก็ตกเป็นการต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นกับผู้อื่น ท่านนะบี ﷺ กล่าวว่า : “ตนเองต้องไม่เดือดร้อนและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน”

[อิบนุมาญะฮ์ : บรรพข้อกำหนดต่างๆ, หมวด : ผู้ที่ก่อสร้างในสิทธิของตน ไม่ทำให้เพื่อนบ้านเดือดร้อน; มุวัฏเฏาะอ์ มาลิก : การตัดสิน, หมวด : การตัดสินในเรื่องข้อศอก]

และอัลลอฮ์ได้ตรัสว่า : “แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าพวกเจ้าจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ ก็จงมีแต่หญิงเดียว หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกเจ้าปกครองอยู่ (ทาสี) นั่นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงยิ่งกว่าในการที่พวกเจ้าจะไม่ลำเอียง” [อันนิสาอ์ : 3]

และจำเป็นต้องรับทราบด้วยว่า ในสองกรณีหลังนี้ หากชายได้ทำการสมรสกับภริยาคนที่สองหรือกับภริยาคนที่สาม การสมรสนั้นถือว่าถูกต้องตามศาสนบัญญัติ (เศาะหี้ห์) และมีผลบังคับต่างๆ ตามมา เช่น : อนุญาตให้ร่วมประเวณี, จำเป็น (วาญิบ) ต้องจ่ายค่าสมรส (มะฮัร), จำเป็นต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและอื่นๆ แม้การสมรสของเขาจะเป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ์) ในกรณีที่สอง และเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ในกรณีที่สามก็ตาม การที่ต้องห้าม (หะรอม) หมายความว่ามีบาป แต่การสมรสไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

ความยุติธรรมที่ศาสนาต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างบรรดาภริยาทั้งหลายคืออะไร?

ความยุติธรรมที่ศาสนากำหนดบังคับแก่ชายที่มีภริยาเกินกว่าหนึ่งคน นั่นคือความเท่าเทียมกันในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู ที่พักอาศัย การค้างคืน และการอยู่ร่วมกันด้วยดี และหน้าที่ต่างๆ ที่สามีจำเป็น (วาญิบ) ต้องปฏิบัติกับภริยา

ส่วนความรักที่มีอยู่ภายในจิตใจของสามีอันไม่ก่อให้เกิดความลำเอียงแก่ภริยาคนใดนั้น ไม่ถือเป็นหลักสำคัญในเรื่องความยุติธรรมที่จำต้องมีให้แก่ภริยาทุกคนโดยเท่าเทียมกัน เนื่องจากมนุษย์ไม่อาจบังคับจิตใจของตนเองในเรื่องความรักได้ และในเรื่องนี้อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า :

“และพวกเจ้าไม่สามารถที่จะให้ความยุติธรรมในระหว่างบรรดาหญิง (ภริยา) ได้เลย และแม้ว่าพวกเจ้าจะมีความปรารถนาอันแรงกล้าก็ตาม” [อันนิสาอ์ : 129]

หมายความว่า พวกท่านไม่สามารถบังคับจิตใจให้เกิดความรักแก่ภริยาทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้ เช่นนั้นพวกท่านจะต้องไม่ให้ความลำเอียง ที่รักภริยาบางคนมากกว่าบางคนนั้น เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การล่วงละเมิดและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ภริยาบางคนของตน

ส่วนความยุติธรรมในเรื่องดังที่ได้กล่าวมาแล้วอันได้แก่ ความยุติธรรมในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ที่พักอาศัย การค้างคืน และการอยู่ร่วมกันด้วยดี นั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติได้

ท่านนะบี ﷺ เคยกล่าว-ภายหลังจากท่านได้ให้ความยุติธรรมแก่บรรดาภริยาของท่านในเรื่องการแบ่งเวรและการปฏิบัติแล้ว-ว่า : “ข้าแต่อัลลอฮ์ นี่คือการแบ่งของข้าพเจ้า ในสิ่งที่ข้าพเจ้าปกครองอยู่ ฉะนั้นได้โปรดกรุณาอย่าประณามข้าพเจ้าในสิ่งที่ท่านปกครองอยู่ โดยข้าพเจ้าไม่ได้ปกครอง”

รายงานโดยอะบูดาวุด [ในบรรพการสมรส, หมวด : การแบ่งเวรในบรรดาภริยา, เลขที่ : 2134] และอัตติรมิซี [ในบรรพการสมรส, หมวด : การให้ความเท่าเทียมกันในบรรดาภริยา, เลขที่ 1140] และผู้รายงานท่านอื่นๆ เล่าจากอาอิชะฮ์

ดังที่ท่านกล่าวนั้นเป็นเรื่องของความรักและความโอนเอียงที่มีในจิตใจ อันที่จริงแล้วท่านนะบี ﷺ ก็รักอาอิชะฮ์มากกว่าภริยาคนอื่นๆ

2. วิทยปัญญา (หิกมะฮ์) ในศาสนบัญญัติเรื่องมีภริยาหลายคน :

โดยหลักการแล้วอิสลามยินยอมให้มีภริยาได้หลายคน โดยไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ที่จำเป็น (ฟัรฎู) และการที่อิสลามยินยอมให้มีภริยาได้หลายคนนั้น ก็เพราะมีเป้าหมายที่ลุ่มลึกในการพัฒนาสังคม และผู้ที่มีวิสัยทัศน์เท่านั้น จึงจะเล็งเห็นถึงเป้าหมายนี้ได้ ต่อไปนี้คือวิทยปัญญา (หิกมะฮ์) บางประการที่ศาสนายินยอมให้มีภริยาได้หลายคน

(ก)  เพื่อปกป้องผู้ที่ไม่สามารถรักษาตนเองให้พ้นจากการกระทำผิดประเวณีได้ ด้วยการมีภริยาเพียงคนเดียว นี่เป็นเรื่องของความต้องการทางธรรมชาติ ที่อาจฉุดลากเขาไปสู่สิ่งที่ไม่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ

เช่นนั้นการที่เขาจะสมรสกับหญิงอีกคนหนึ่งภายในกรอบของการปกป้องดูแล มีสิทธิและหน้าที่ตามบัญญัติที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ย่อมจะเป็นผลดีแก่ตัวเขาเองและแก่สังคมยิ่งกว่าที่จะปล่อยให้เขาถลำลึกสู่ความชั่วของการกระทำผิดประเวณี

(ข)  เพื่อปกป้องหญิงให้พ้นจากความกระเหี้ยนกระหือรือของชายที่หวังเพียงแค่การลิ้มลอง ด้วยวิธีการกระทำผิดประเวณีที่จะทำให้หญิงและบุตรของนางไม่ได้รับสิทธิใดๆ ตามหลักการศาสนา ซึ่งต่างกับการสมรสที่จะทำให้หญิงได้รับสิทธิต่างๆ และยังเป็นหลักประกันให้แก่บุตรของนางอีกด้วย

เช่นนั้นการที่หญิงตกเป็นภริยาคนที่สองอย่างได้รับการคุ้มครอง มีเกียรติ และได้รับสิทธิต่างๆ ตามศาสนบัญญัติย่อมเป็นการดีกว่าการอยู่เป็นม่าย หรืออยู่อย่างเป็นแค่เพียงคนรัก ที่อาจนำไปสู่สิ่งเลวร้ายได้อย่างง่ายดาย

เช่นนั้นจุดมุ่งหมายของอิสลามซึ่งยินยอมให้มีภริยาได้หลายคน ก็คือการปกป้องชายไม่ให้ผิดประเวณี และคุ้มครองหญิงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความใคร่อย่างไร้หลักประกัน และเป็นการปกป้องสังคมให้พ้นจากความเสื่อมเสีย ไร้ระเบียบ และไร้ศีลธรรม

เหตุผลของการมีภริยาหลายคน :

มีเหตุผลหลายข้อที่ทำให้วิทยปัญญาแห่งศาสนบัญญัติเรื่องการมีภริยาหลายคนปรากฏเด่นชัดขึ้น และจะขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ :

(1)  ชายคนหนึ่งมีความต้องการเพศตรงข้ามอย่างรุนแรง แต่เขามีภริยาที่รังเกียจชายมาแต่กำเนิด หรือเพราะอาการป่วย

ชายคนนี้ควรผิดประเวณี ทำลายศาสนา ทำลายทรัพย์ ทำลายสุขภาพ ? หรืออยู่อย่างเก็บกดความต้องการทางเพศของเขาไว้ ทรมานตนเอง หรือเขาควรจะสมรสกับภริยาอีกคนหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าเขามีความสามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้ความยุติธรรม โดยไม่ละเมิดในการปฏิบัติต่อกัน ?

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการแก้ไขปัญหาแบบที่สามนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับชายคนนี้ และเกิดประโยชน์มากที่สุดแก่สังคม

(2)  ไฟสงครามที่ลุกโพลง-โลกปัจจุบันนี้ถือว่าสงครามเป็นแนวทางของชีวิต-ได้คร่าชีวิตของชายหรือทำให้ร่ายกายพิการไปเป็นจำนวนมากจึงทำให้จำนวนหญิงมีมากกว่าชาย ฉะนั้นจะเป็นผลดีแก่หญิงหรือไม่ถ้าหากชายจะจำกัดการมีภริยาเพียงคนเดียว และปล่อยให้หญิงเป็นจำนวนมากขาดผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดู และไม่มีบุตรที่จะคอยให้การอุปการะเลี้ยงดูในยามชรา ซึ่งอาจนำพาหญิงไปสู่การทำบาปและผิดประเวณี ?

หรือควรอนุญาตให้ชายมีภริยาได้มากกว่าหนึ่งคนภายในกรอบของการปกครองตามศาสนบัญญัติโดยสมบูรณ์ ?

เราไม่ได้ละเมิดกฎทางตรรกศาสตร์และความชอบธรรมในขณะที่เรากล่าวว่า : การมีภริยาหลายคนในสภาพเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องมนุษยธรรมที่กำหนดขึ้นโดยความห่วงใยและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

และไม่ใช่เป็นการขัดแย้งกับความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเรากล่าวว่า : การที่ท่านเราะสูล ﷺ มีภริยาหลายคนนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของมนุษยธรรม

ภริยาบางคนของท่านเป็นหญิงที่อพยพไปยังมะดีนะฮ์โดยลำพังคนเดียวทิ้งครอบครัวไว้ที่มักกะฮ์ หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นหญิงม่ายที่สามีตายในสมรภูมิ ปราศจากผู้ปกครองดูแล เมื่อท่านเราะสูล ﷺ สมรสกับหญิงเหล่านั้น พวกนางก็ได้รับเกียรติให้เป็นมารดาแห่งมวลชนผู้ศรัทธา (อุมมุลมุอ์มินีน) และได้รับเกียรติให้เป็นคู่สมรสของท่านเราะสูล ﷺ ในขณะที่ยุโรปห้ามการมีภริยาหลายคนนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการทำร้ายชีวิตสมรสเท่านั้น แต่ยังเป็นการทรมานตนเอง หรือเป็นการกีดกันหญิงส่วนใหญ่ไม่ให้สมรสอีกด้วย

(3)  ชายใดสมรสกับหญิงที่ตนรัก และหญิงนั้นก็รักตน แต่หญิงเป็นหมันให้กำเนิดบุตรไม่ได้ และเขาต้องการอย่างยิ่งที่จะมีบุตร

เป็นการเหมาะสมหรือที่จะห้ามชายนั้นสมรสกับภริยาคนที่สอง และปล่อยให้ชีวิตเขามีชีวิตอย่างหมองไหม้ไร้บุตรไว้เชยชม ? หรือจะใช้ให้เขาหย่าภริยาคนแรกที่เขารัก หรือจะอนุญาตให้เขาสมรสกับภริยาคนที่สองพร้อมทั้งยังคงปกป้องดูแลคนแรกไว้ ?

การอนุญาตให้เขามีภริยาคนที่สองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าหมายที่สุด เนื่องจากเป็นการรักษาผลประโยชน์ทั้งของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยเท่าเทียมกัน

(4)  ในบรรดาผู้ที่ห้ามการมีภริยาหลายคนนั้นได้เกิดสิ่งเลวร้ายและเป็นอันตรายยิ่งกว่าอันตรายของการมีภริยาหลายคนตามที่ถูกกล่าวหา ได้พบความเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรมเกิดขึ้นในพวกเขามากมาย ซึ่งมีทั้งการละเมิดสิทธิหญิง การกระทำผิดประเวณีและการลักลอบเป็นชู้กันถึงกับมีบุคคลชั้นนำเรียกร้องให้ผ่อนผันมีภริยาได้หลายคน และหาทางกำจัดความเสื่อมทรามที่คุกคามสังคมของพวกเขา

ข้อเตือนใจ :

การที่คนโฉดเขลาบางคนอ้างเอาการที่ศาสนาอนุญาตให้มีภริยาได้หลายคนไปใช้อย่างขาดความรับผิดชอบนั้น จะไม่ทำให้วิทยปัญญา (หิกมะฮ์) ในศาสนบัญญัติเรื่องด้อยคุณค่าลงไป และจะไม่ทำให้อิสลามต้องสะเพร่าและไร้สติดังคนโฉดเขลาเหล่านั้น

อิสลามไม่ได้ยินยอมให้การมีภริยาหลายคน เป็นอาวุธทำร้ายและเชือดเฉือนหญิง แต่อิสลามได้บัญญัติเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อสนองตอบความจำเป็นที่เกิดขึ้น เพื่อปกป้องสังคม  คุ้มครองบุคคล และกำจัดความเสื่อมทรามและตกต่ำ

โดยหลักการนี้และด้วยเงื่อนไขตามศาสนบัญญัติจึงยินยอมให้มีภริยาได้หลายคน โดยไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ที่จำเป็น (วาญิบ) ต้องกระทำ และให้กระทำได้ภายในกรอบที่จะให้หลักประกันสิทธิต่างๆ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

อิสลามเปรียบได้ดังร้านขายยาที่จำเป็นต้องมียาเตรียมไว้ทุกขนานเพื่อสนองตอบความต้องการของมนุษย์ ทุกคนที่มาซื้อยาไปใช้ตามความจำเป็นและตรงกับโรคของแต่ละคน และเป็นการไม่ถูกต้องที่เราจะลดความสำคัญของร้านขายยาลง หรือตัดตัวยาบางชนิดออกไปจากร้าน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของทุกคนได้อย่างทั่วถึง หรือเราจะอนุญาตให้ทุกคนได้ยาทุกชนิดที่มีอยู่ในร้าน แม้เขาจะไม่มีความต้องการก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลามไม่พอใจกับบทบัญญัติในเรื่องที่ศาสนายินยอมให้มีภริยาได้หลายคนนี้ เพราะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของเขา ก็ปล่อยให้เขาอยู่กับความชอกช้ำต่อไปเถิด

ที่มา : มุศเฏาะฟา อัลคิน, มุศเฏาะฟา อัลบุฆอ และอะลี อัชชัรบะญี, อัลฟิกฮุลมันฮะญีฯ, พิมพ์ครั้งที่ 13, (ดามัสกัส: ดารุลเกาะลัม, 2012), ล. 2 น. 31-36.