บทนำ ตอนที่ 1: หนังสือสารพัดปัญหาแห่งหมู่ชนยุคญาฮิลียะฮ์ (EP.01)

[เนื้อหาที่ท่านกำลังอ่านแปลมาจากหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่า เขียนโดย ชัยค์มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ ชื่อว่า มาซาอิลญาฮิลิยะฮ์ฯ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของหมู่ชนญาฮิลิยะฮ์ และได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจาก ชัยค์ศอลิฮ์ บินเฟาซาน อัลเฟาซาน ปราชญ์อาวุโสจากประเทศซาอุดิอารเบีย]

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ผู้ทรงกรุณาปราณียิ่ง ผู้ทรงเมตตา

คำนำ

มวลการสรรญเสริญทั้งลายเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮ์ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งสากลโลก ขอพระองค์ทรงสรรเสริญและประทานความศานติแก่นบีมุฮัมมัดของเรา ตลอดจนวงศ์วานและสาวกของท่านโดยทั่วกัน

อนึ่ง ข้าพเจ้าได้เคยทำการเรียนการสอนชุดหนึ่งที่มัสญิดเอาไว้ ซึ่งการเรียนการสอนดังกล่าวเป็นการอธิบายขยายความถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ “สารพัดปัญหาแห่งหมู่ชนยุคญาฮิลียะฮ์ (อาหรับยุคก่อนที่ท่านนบีจะมาเผยแพร่ศาสนา)” ซึ่งท่านชัยคุลอิสลาม อัลมุญัดดิด ชัยค์มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮ์ ได้เรียบเรียงประเด็นปัญหาเหล่านั้นเอาไว้ในสาส์นฉบับย่อฉบับหนึ่ง

และมีนักศึกษาบางส่วน -ขออัลลอฮ์ทรงประทานความสำเร็จให้แก่พวกเขา- ได้บันทึกการเรียนการสอนครั้งนั้นเป็นเทปเอาไว้ ต่อมาจึงมีนักศึกษาบางคน -ขออัลลอฮ์ตอบแทนความดีแก่เขา- ทำการแกะเทปการเรียนการสอนดังกล่าวออกมา พร้อมกับเขียนลงเป็นลายลักษณ์ และได้นำมาให้ข้าพเจ้าตรวจสอบดู เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านมันแล้วจึงเห็นดีด้วยที่จะให้มีการตีพิมพ์พร้อมทั้งเผยแพร่มันออกไป เพื่อที่จะให้มันเป็นประโยชน์สูงสุด เนื่องด้วยความบกพร่องและความผิดพลาดบางประการที่อาจเกิดขึ้นได้ในการอธิบายขยายความครั้งนี้

ทว่ามันก็ยังเป็นอย่างที่ผู้คนกล่าวกันว่า

شيء خير من لا شيء

 “การมีอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ถึงแม้จะบกพร่องไปบ้าง) มันก็ดีกว่าการที่ไม่มีอะไรเลย”

ข้าพเจ้าจึงหวังจากผู้อ่านที่ได้อ่านคำอธิบาย (จากหนังสือเล่ม) นี้และเล็งเห็นถึงข้อผิดพลาดจุดใดก็ตาม ให้เขาได้มากล่าวเตือนข้าพเจ้าเพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้แก้ไขมันเสียใหม่ ขออัลลอฮ์ทรงช่วยเหลือให้พวกท่านทุกคนได้รับในความรู้ที่ยังประโยชน์พร้อมทั้งให้พวกท่านได้ปฏิบัติการงานที่ดี ขออัลลอฮ์ทรงสรรญเสริญและประทานความศานติแก่นบีมุฮัมมัดของเรา

จาก ผู้เขียน ชัยค์ซอลิฮ์ บินเฟาซาน อัลเฟาซาน

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงกรุณาปราณียิ่ง ผู้ทรงเมตตา

มวลการสรรญเสริญเป็นของอัลลอฮ์ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งสากลโลก ขออัลลอฮ์ทรงสรรญเสริญ ทรงประทานความศานติ และทรงประทานความจำเริญแก่นบีมุฮัมมัดของเรา ตลอดจนวงศ์วานและสาวกของท่านโดยทั่วกัน

อนึ่ง:


ท่านชัยคุลอิสลามมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮุตะอาลา ได้กล่าวเอาไว้ในคำนำสาส์นมะซาอิลอัลญาฮิลียะฮ์ (สารพัดปัญหาแห่งหมู่ชนยุคญาฮิลียะฮ์) ของท่านว่า:

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนในสิ่งที่มันสวนทางกับ (ความเชื่อและการปฏิบัติ) ของกลุ่มชนญาฮิลียะฮ์ทั้งจากพวกที่เป็นชาวคัมภีร์ (อะฮ์ลุลกิตาบ) และพวกอาหรับที่ไม่ใช่ชาวคัมภีร์ (พวกอุมมีย์) มันถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่มุสลิมมิอาจละเลยที่จะเรียนรู้ได้

والضد يظهر حسنه الضد     وبضدها تتبين الاشياء

“อันว่าปรปักจะเผยคุณค่าในตัวเองได้ก็ด้วยกับปรปักอีกฟากหนึ่ง
และด้วยกับปรปักนั้นเองที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ มันชัดเจนขึ้น” (จากกลอนอาหรับ)

ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ถือได้ว่าน่ากังวลอย่างยิ่งและยังถือได้ว่ามันเป็นเรื่องที่อันตรายที่สุดที่อยู่ในประเด็นปัญหาเหล่านั้นก็คือ การที่หัวใจปราศจากการศรัทธาต่อสิ่งที่ท่านเราะซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำมาเผยแพร่ ซ้ำแล้วหากเกิดความคิดเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่กลุ่มชนญาฮิลียะฮ์ได้ยึดปฏิบัติกันเข้าไปอีก นั่นก็ถือได้ว่าเป็นการขาดทุนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว  ดังที่อัลลอฮ์ ตะอาลาได้ตรัสว่า

وَالَّذِينَ آمَنُوا بِالْبَاطِلِ وَكَفَرُوا بِاللَّهِ أُولَٰئِكَ هُمُ الْخَاسِرُونَ

 ความว่า: “และบรรดาผู้ซึ่งศรัทธาต่อความเท็จ และปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่ขาดทุน” [ซูเราะฮ์ อัลอันกะบูร อายะฮ์ที่ 52]


คำอธิบาย

สาส์นฉบับนี้เป็นหนึ่งในสาส์นของชัยค์มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮ์ ซึ่งมีชื่อว่า “สารพัดปัญหาแห่งหมู่ชนยุคญาฮิลียะฮ์ซึ่งท่านเราะซูลุลลอฮ์ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนในสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่พวกชนชาวญาฮิลียะฮ์ยึดปฏิบัติกันในประเด็นปัญหาเหล่านั้น” โดยสาส์นฉบับนี้ได้ประมวลประเด็นปัญหาต่าง ๆ เอาไว้ถึง 128 ประเด็น

ท่านชัยค์มุฮัมมัด เราะหิมะฮุลลอฮ์ ได้คัดกรองประเด็นเหล่านั้นมาจากกิตาบุลลอฮ์ ซุนนะฮ์ และคำพูดของบรรดาอุละมาอ์ ซึ่งจุดประสงค์ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อต้องการเตือนให้ชนมุสลิมพึงระวังและทำตนให้ออกห่างจากประเด็นปัญหาเหล่านั้น เนื่องเพราะบรรดาประเด็นปัญหาดังกล่าวมันเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งยวด

และท่านชัยค์ เราะหิมะฮุลลอฮ์ ได้แจกแจงให้รู้ว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นปัญหาที่ท่านเราะซูลุลลอฮ์ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาสอนในสิ่งที่มันสวนทางกับสิ่งที่พวกญาฮิลียะฮ์ไม่ว่าจะเป็นพวกชาวคัมภีร์หรือพวกอุมมีย์ก็ตามได้ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในประเด็นนั้น ๆ

คำว่าชาวคัมภีร์ตรงนี้หมายถึง อะฮ์ลุลกิตาบทั้งจากพวกยะฮูดและนะซอรอ ทั้งนี้ก็เพราะพวกยะฮูดนั้น พวกเขามีคัมภีร์เตาร๊อตที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาให้กับนบีมูซา อะลัยฮิสสะลาม ส่วนนะซอรอนั้น พวกเขาก็มีคัมภีร์อินญีลที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาให้กับนบีอีซา บุตรของนางมัรยัม อะลัยฮิศเศาะลาตุวัสสะลาม ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองคนพวกนี้จึงถูกเรียกว่าอะฮ์ลุลกิตาบ ซึ่งปัจจุบันนี้พวกเขาเรียกคัมภีร์เตาร๊อตกันว่า คือพันธสัญญาเดิม หรือคัมภีร์เดิม  และเรียกคัมภีร์อินญีลกันว่าคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ ซึ่งชื่อเหล่านี้มันอยู่ในศัพท์วิชาการ (ทางศาสนา) ของพวกเขา

ซึ่งคัมภีร์ทั้งสองนั้นถือเป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานมันลงมาให้กับนบีที่มีเกียรติสองทั้งท่านคือ นบีมูซา และนบีอีซา อะลัยฮิมัสสะลาม โดยเฉพาะคัมภีร์เตาร๊อต มันถือเป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ และคัมภีร์อินญีลเองก็ได้มาเติมเต็มให้มัน (เตาร๊อต) สมบูรณ์ขึ้น และยังมายืนยันถึงสัจธรรมที่มีอยู่ในเตาร๊อตด้วย

และด้วยเหตุเช่นนั้นพวกเขาจึงถูกเรียกว่าอะฮ์ลุลกิตาบ เพื่อเป็นการจำแนกระหว่างพวกเขากับกลุ่มชนอื่น ๆ นอกเหนือจากพวกเขาซึ่งไม่ได้รับคัมภีร์

และในส่วนของพวกอุมมีย์นั้น หมายถึงชาวอาหรับที่ไม่ได้นับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใดในสองศาสนาที่กล่าวข้างต้น อาหรับพวกนี้ถูกเรียกว่าพวกอุมมียูน ซึ่งเป็นพหูพจน์ของคำว่าอุมมีย์ โดยคำ ๆ นี้พาดพิงไปหาคำว่า อุม (ซึ่งอุมมีย์นั้นหมายถึงคนที่ไม่สามารถที่จะอ่านและเขียนหนังสือได้) เพราะว่าส่วนมากของชนเหล่านี้เป็นพวกที่ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ และพวกก็เขาไม่ได้รับคัมภีร์ใด ๆ เลยก่อนที่อัลกุรอานจะถูกประทานลงมา ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงถูกเรียกว่าอุมมียูน ดังที่อัลลอฮ์ ตะอาลาตรัสว่า

هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولًا مِّنْهُمْ

ความว่า: “พระองค์คือผู้ทรงส่งเราะซูลมาในหมู่อุมมียูน เขานั้นก็เป็นหนึ่งในพวกเขาเอง (พวกอุมมียูน)” [ซูเราะฮ์ อัลญุมอะฮ์ อายะฮ์ที่ 2]

 และดังที่พระองค์ตรัสว่า

وَمَا آتَيْنَاهُم مِّن كُتُبٍ يَدْرُسُونَهَا ۖ وَمَا أَرْسَلْنَا إِلَيْهِمْ قَبْلَكَ مِن نَّذِيرٍ

ความว่า: “และเราไม่เคยมอบคัมภีร์ใด ๆ ให้แก่พวกเขา เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้จากมันมาก่อน และเราก็ไม่เคยส่งผู้ตักเตือนคนใดไปหาพวกเขาก่อนหน้าเจ้า (มุฮัมมัด) มาก่อนเลย” [ซูเราะฮ์ สะบะอ์ อายะฮ์ที่ 44]

และอัลลอฮ์ตะอาลาตรัสว่า

لِتُنذِرَ قَوْمًا مَّا أُنذِرَ آبَاؤُهُمْ فَهُمْ غَافِلُونَ

ความว่า: “เพื่อที่เจ้า (มุฮัมมัด) จะได้ตักเตือนชนกลุ่มหนึ่ง ในสิ่งที่ข้าได้เคยเตือนบรรพบุรุษพวกเขามาแล้ว แต่พวกเขาก็หาได้สนใจไม่” [ซูเราะฮ์ ยาซีน อายะฮ์ที่ 6]

นี่แหละคือความหมายของอุมมียูน และอัลลอฮ์ยังทรงบอกถึงคุณลักษณะของนบีของพระองค์ว่าท่านนั้นคืออุมมีย์ อัลลอฮ์ตะอาลาตรัสว่า

الَّذِينَ يَتَّبِعُونَ الرَّسُولَ النَّبِيَّ الْأُمِّيَّ الَّذِي يَجِدُونَهُ مَكْتُوبًا عِندَهُمْ فِي التَّوْرَاةِ وَالْإِنجِيلِ يَأْمُرُهُم بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَاهُمْ عَنِ الْمُنكَرِ

ความว่า: “ผู้ซึ่งปฏิบัติตนตามเราะซูล ผู้ที่เป็นนบี ผู้ที่เป็นอุมมีย์ ซึ่งพวกเขาได้เห็นเขา (เราะซูล) ถูกบันทึกอยู่ ณ ที่พวกเขาเอง ทั้งในเตาร๊อตและอินญีล โดยที่เราะซูลนั้นได้มาสั่งใช้พวกเขาให้ทำความดี และห้ามปรามพวกเขาไม่ให้ทำความชั่ว” [ซูเราะฮ์ อัลอะอ์รอฟ อายะฮ์ที่ 157]

ฉะนั้นแล้วการที่ท่าน (นบีมุฮัมมัด) เป็นอุมมีย์ที่ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ แต่ได้นำเอาคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่มาเผยแพร่ นั่นคือหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความสัจจริงของสาสน์ที่ท่านได้นำมา และในการเช่นนี้เองก็ถือเป็นมุอ์ญิซะฮ์ (สิ่งมหัศจรรย์ที่ใช้กำราบผู้ปฏิเสธ) ของท่านด้วยเช่นกัน

ชาวอาหรับนั้นเป็นอุมมียูน (เป็นคำพหูพจน์ของคำว่าอุมมีย์) และนบีของพวกเขาเอง ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เป็นอุมมีย์ (เป็นคำเอกพจน์ของคำว่าอุมมียูน) ด้วย

(อ่านตอนที่ 2 คลิก)