ความหมายของประเด็นอิจติฮาด

ประเด็นเรื่องการเห็นต่างในศาสนาแบ่งออกเป็น สองประเภท คือ ประเด็นที่ศาสนาอนุญาตให้เห็นต่างได้ และประเด็นที่ไม่อนุญาตให้เห็นต่าง และสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงคือ ประเด็นที่ศาสนาอนุญาติให้เห็นต่างได้ โดยเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการ “อิจติฮาด” (ย้ำไม่ใช่ประเด็นคิลาฟียะห์ที่บรรดาอุละมาอ์ไม่รับพิจารณา หรือ ที่เรียกว่า คิลาฟฎออีฟ) ซึ่งในภาษาอาหรับอุละมาอ์ใช้คำว่า “คิลาฟ ซาอิฆ” หรือ “คิลาฟกอวีย์” หรือ “คิลาฟมุอฺตะบัร” และผมจะพยายามเขียนให้สั้นๆ เพื่อพี่น้องจะได้เข้าใจได้ง่ายๆ อินชาอัลลอฮ

และความหมายของประเด็นอิจติฮาดนั้น ท่านชัยคฺ ดร. สุไลมาน อัรรุฮัยลีย์ (ท่านเป็นอุละมาอ์สะละฟีย์ ในยุคปัจจุบัน นักเรียนมะดีนะห์ หรือ คนที่จบมาจากมหาลัยมะดีนะห์ คงรู้จักกันดี โดยท่านได้สอนอยู่ที่มัสยิดนบี) ฮะฟิเศาะฮุ้ลลอฮ ได้อธิบายเอาไว้ว่า :

المسألةُ الاجتِهاديَّة: هي الَّتي تتقاربُ فيها الأدِلَّة، يعني يكون لكُلِّ قول دليل لهُ قُوَّة؛ فتتقاربُ الأدِلَّة، حتَّى لو رجَّحتَ؛ لا يكون ذلك مانعًا مِن الرَّأي الآخَر؛ فالأدِلَّة مُتقاربة

“ประเด็นอิจติฮาดียะห์ คือ ประเด็นที่ หลักฐานต่างๆ ในประเด็นเหล่านั้นมีความใกล้เคียงกัน หมายความว่า ทุกๆ ทัศนะต่างมีหลักฐานที่แข็งแรงสำหรับตัวเอง แล้วหลักฐานต่างๆ มันใกล้เคียงกันจนกระทั่งว่า ถ้าหากคุณได้ให้น้ำหนัก( ทัศนะใดทัศนะหนึ่ง) , สิ่งดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้เป็นตัวห้ามจาก (การให้น้ำหนัก) อีกทัศนะนึงเลย เพราะหลักฐานต่างๆมันใกล้เคียงกัน”

อ้างอิง: http://www.ajurry.com/vb/showthread.php?t=38983

หมายความว่า ประเด็นอิจติฮาจ คือ ประเด็นที่ ต่างฝ่ายต่างมีหลักฐานทั้งคู่ แต่อาจจะแตกต่างกันที่การให้น้ำหนักและความเข้าใจของบรรดาอุละมาอ์ในประเด็นนั้นๆ

เมื่อพี่น้องเข้าใจความหมายของประเด็นอิจติฮาดียะห์ ดังนั้นจุดยืน การวางตัวต่อประเด็นเหล่านี้ คือ การไม่อิงการ (เอาเป็นเอาตาย) กับฝ่ายตรงข้าม การไม่ตำหนิ หรือ พูดในเชิงดูถูก หรือ กล่าวว่า ฝ่ายตรงข้ามไม่เอานบี ไม่เอาหลักฐาน ยึดทัศนะอ่อน เป็นพวกบิดอะอฺ หรือ คำพูดทำนองนี้ แต่เราสามารถชี้แจง อธิบายได้ว่าอันไหนมีน้ำหนักโดยไม่ใช้สำนวนที่รุนแรงต่อกัน

โดยท่านชัยคฺ สุไลมาน อัรรุฮัยลีย์ ได้กล่าวอีกว่า

فإذا أصبحتْ المسألةُ اجتِهاديَّةً، تقاربتْ الأدِلَّة؛ فإنَّه لا إنكار، ولا يمنع هذا أنْ تُرجِّحَ، يُمكن أنْ تُرجِّح قولا، ولكنَّك لا تُنكر على مَن خالَف هذا القول

“ดังนั้นถ้าหากว่า ประเด็นนั้นๆ เป็นปัญหาอิจติฮาดียะห์ ซึ่งหลักฐานต่างๆ ใกล้เคียงกัน แท้จริงมันจะไม่มีการอิงการ (เอาเป็นเอาตาย) ใดๆ ทั้งสิ้น และสิ่งนี้มันก็ไม่ได้ เป็นตัวหักห้ามที่คุณจะให้น้ำหนักทัศนะใดทัศนะหนึ่ง แต่ทว่าคุณอย่าได้อิงการ (คัดค้าน เอาเป็นเอาตาย) กับบุคคลที่เห็นต่างจากทัศนะนี้”

และท่านชัยคฺ ดร. อับดุสสลาม อัลมาญีดีย์ ฮะฟิเศาะฮุ้ลลอฮ ผู้เขียนหนังสือ “ลาอิงการ ฟี มะซาอิลิ้ลอิจติฮาด” (เล่มนี้ดีมากแนะนำให้คนได้ภาษาอาหรับลองโหลดเล่มนี้มาอ่านดู) โดยท่านชัยคฺได้กล่าวว่า :

وعلى هذا، فإن مفهوم الإنكار المنفي في المسائل الاجتهادية هو: الإنكار باليد، أو التشنيع على المخالف، أو القدح في دينه وعدالته، كرميه بالبدعة أو الفسق، وهجره من أجلها، فإن هذا كله يطبق على من أتى منكراً في مسـألة غير اجتهادية سـواءً كان ذلك في مسـألة إجمـاعية أم خلافية…وكل شيءٍ بحسبه، ولا يتنافى في هذا مع بيان الراجح من الرأيين، وهذا كان فعل الصحابـة رضي الله عنهم

“และสำหรับเรื่องนี้ แท้จริงแล้วความเข้าใจเกี่ยวกับการอิงการ (คัดค้าน) ที่ถูกปฏิเสธ ใน ประเด็นอิจติฮาดียะห์ คือ การคัดค้านด้วยมือ (กำลัง) หรือ การตำหนิอย่างรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่าง หรือ ว่าร้ายในศาสนาของเขา และในความยุติธรรมของเขา เช่น ว่าร้ายเขาด้วยกับการทำบิดอะอฺ หรือ ฝ่าฝืน และออกห่างจากเขาอันเนื่องจากประเด็นอิจติฮาด ดังนั้นแล้วสิ่งที่กล่าวมานี้ทั้งหมดจะถูกปฏิบัติใช้กับคนที่ กระทำสิ่งที่ผิดในประเด็นที่ไม่ใช่ประเด็นอิจติฮาดียะห์ ไม่ว่าประเด็นนั้นจะอยู่ในประเด็นอิจมาอฺ หรือคิลาฟก็ตาม และทุกๆ อย่างก็ขึ้นอยู่กับสภาพของมัน และมันก็ไม่ได้ขัดแย้งกันในเรื่องนี้ (ประเด็นอิจติฮาด) กับการชี้แจงทัศนะที่มีน้ำหนักจากทัศนะทั้งสอง และสิ่งนี้แหละที่บรรดาศอฮาบะห์ได้ปฏิบัติกัน”

อ้างอิง: หนังสือ “ลาอิงการ ฟีมะซาอิลิ้ลอิจติฮาด” หน้าที่ 154

และท่านชัยคุ้ล อิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ ได้กล่าวว่า :

إن مثل هذه المسائل الاجتهادية لا تنكر باليد، وليس لأحد أن يلزم الناس باتباعه فيها، ولكن يتكلم فيها بالحجج العلمية، فمن تبين له صحة أحد القولين: تبعه، ومن قلد أهل القول الآخر فلا إنكار عليه ” انتهى من “مجموع الفتاوى” (30/80)

“ดั่งปัญหาที่เกี่ยวกับการวินิจฉัย (มัสอะละห์อิจติฮาดียะห์) นี้ที่จะไม่ถูกอิงการ (คัดค้าน) ด้วยมือ (กำลัง) และไม่ใช่สิทธิสำหรับคนหนึ่งคนใดที่จะไปบังคับผู้คนให้ปฏิบัติตามเขา ทว่าเขาจะต้องพูดคุยกันในเรื่องนั้นด้วยหลักฐานทางวิชาการ, ดังนั้นผู้ใดที่ความถูกต้องจากหนึ่งในสองทัศนะเป็นที่ชัดเจนสำหรับเขา เขาก็ปฏิบัติตามนั้น แต่ผู้ใดที่ตักลีด (ยึดตาม) อีกทัศนะหนึ่ง ก็ไม่มีการอิงการ (คัดค้าน) ต่อเขา”

อ้างอิง: “มัจมูอฺ อัล ฟะตาวา” เล่ม 30 หน้าที่ 80

และอย่าเข้าใจผิดว่า การชี้แจงหลักฐาน และ การบอกว่าอันไหนแข็งอันไหนอ่อน เป็นการอิงการ เพราะอุละมาอฺอธิบายชัดเจนแล้ว

พี่น้องสามารถอ่านรายละเอียดต่อได้จากลิงค์ นี้

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2340600642622172&id=100000167762885

และสุดท้ายนี้ผมจะขอยกตัวอย่างประเด็นอิจติฮาดให้พี่น้องได้เห็นภาพ เช่น เรื่อง

1.การดูเดือนนอก เดือนใน เป็นประเด็น อิจติฮาดียะ
2.การละหมาดย่อ เป็นประเด็นอิจติฮาดียะห์
3.การอ่านกุนูตในเวลาละหมาดซุบฮิ (โดยชัยคุ้ลอิสลามอิบนุตัยมียะห์บอกว่า) เป็น ประเด็นอิจติฮาดียะห์
4.การอ่านบิสมิ้ลละห์ ดังหรือ ค่อย เป็นประเด็นอิจติฮาดียะห์

และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ขอให้พี่น้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจกัน. วั้ลลอฮุอะอฺลัม

وصلى الله على نبيينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم