อัลกุรอานกับทฤษฎีบิกแบง (12) : ตอบโต้คำแก้เกี้ยวที่มีต่อตัฟซีรบะเฆาะวีย์กรณีบิกแบง

หลังจากที่เราได้เขียนบทความยืนยันเรื่องความสอดคล้องระหว่างบิกแบงกับอัลกุรอานในตอนที่แล้ว (ตอนที่ 11)

ก็ปรากฏว่าฝ่ายคัดค้านได้ออกมาคัดค้านเราอีกตามเคย โดยรอบนี้ได้ออกมาแก้เกี้ยวกับคำพูดอิมามอัลบะเฆาะวีย์ซึ่งเราจะขอแยกประเด็นตอบโต้ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง

ผู้คัดค้านอ้างว่า คำว่า شَيْئًا وَاحِدًا مُلْتَزِقَتَيْنِ ““ทั้งคู่เป็นสิ่งเดียวกันโดยติดกันอยู่”” ในคำตัฟซีรนั้น หมายถึง ฟ้าและโลกในสภาพเสร็จสมบูรณ์แล้วได้แนบติดกันเฉย ๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่หลอมรวมกันแต่อย่างใด โดยผู้คัดค้านอ้างว่าเนื่องจากมีคำขยายว่า “มุลตะซิก่อตัยนิ” ซึ่งคำนี้ในภาษาอาหรับมิได้หมายถึงการหลอมรวมแต่หมายถึง การติดกันเฉย ๆ

วิพากษ์

ข้อแรก คำว่า มุลตะซิก่อตัยนิ ในภาษาอาหรับเราทราบดีครับว่า มันหมายถึงการติดแนบ เช่นปากกาติดชิดกับดินสอ อย่างไรก็ตามคำๆ นี้ มันไม่ได้ถูกใช้ในประโยคนี้เดี่ยวๆ นะครับ แต่มันใช้ขยายคำว่า “ชัยอันวาฮิดัน” ที่แปลว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ฉะนั้นการตีมึนโดยยกตัวอย่างภาษาอาหรับในกรณีอื่นมาเทียบงใช้คำว่า “มุลตะซิก่อตัยนิ” แต่เพียงลำพังจึงเป็นการอธิบายทางภาษาที่มั่วนิ่มและคนละกรณีครับ

การพูดว่า “น้ำส้มกับน้ำเปล่าถูกเทลงในแก้วจนกลายเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน” กับ “ปากกาและดินสอถูกวางติดกัน” สองประโยคนี้ให้ความหมายคนละอย่าง ประโยคแรกให้ความหมายในเชิงผสมเพราะมีคำว่า “กลายเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน” ส่วนตัวอย่างที่สองให้ความหมายว่าติดกันเฉยๆ ซึ่งการอยู่ติดกันของดินสอและปากกาไม่น่าจะเรียกว่าสิ่งเดียวกัน

ฉะนั้นตัวอย่างภาษาอาหรับทั้ง 6 ตัวอย่างที่ผู้คัดค้านยกมาเสนอเป็นตัวอย่างการใช้คำว่า “อิลตะซ่าก่อ” ในประโยคต่างๆ แบบเดี่ยวๆ ไม่ได้ใช้ขยายคำใดที่มีความหมายว่า “เป็นสิ่งเดียวกัน” จึงไม่น่าจะเอามาเทียบกันได้ เพราะเป็นการใช้คำดังกล่าวแบบลำพังไม่ได้ถูกใช้ขยายในลักษณะเดียวกันกับอิมามบะเฆาะวีย์

การที่ท่านไปเจอประโยคว่า “ฝุ่นดินติดนิ้ว” จะเอาไปอธิบายให้เป็นความหมายเดียวกันกับ “น้ำส้มถูกเทรวมกับน้ำเปล่าจนกลายเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน” ย่อมไม่ใช่สิ่งถูกต้อง

ข้อสอง สิ่งที่สนับสนุนความเข้าใจของเราที่ว่าประโยค شَيْئًا وَاحِدًا مُلْتَزِقَتَيْنِ ให้ความหมายในทางเป็นสิ่งเดียวกันที่หลอมรวมกัน ไม่ใช่เป็นฟ้าเสร็จเรียบร้อยไปติดกันเฉยๆ กับโลกที่เสร็จเรียบร้อย เราได้รับความเข้าใจเช่นนี้จากนักวิชาการที่ชำนาญด้านการตัฟซีรและมีความรู้ภาษาอาหรับดีกว่าปราชญ์สยามที่คัดค้าน

ท่านชัยคฺวะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ได้อธิบายกระโยคนี้ไว้ในตัฟซีรของท่านว่า

أَوَلَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أولم يعلموا. رَتْقاً الرتق: السد والضم والالتحام، والمراد:
ذات رتق، أي ملتزقتين. والمعنى: كانتا شيئا واحدا، أو حقيقة متحدة. فَفَتَقْناهُما أي فصلناهما بالتنويع والتمييز،

และบรรดาผู้ปฏิเสธไม่เห็นดอกหรือ หมายถึง พวกเขาไม่รู้ดอกหรือว่า (ฟ้ากับโลกเคย) ร็อตก็อน ซึ่งคำนี้หมายถึง การกั้น, การรวมและเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายของมันก็คือทั้งสองเป็นสิ่งที่ติดกัน ซึ่งก็หมายถึง ทั้งสองเคยเป็นสิ่งเดียวกันหรือเป็นแก่นแท้เพียงหนึ่งเดียว และเราได้แยกมันทั้งสอง (ฟ้าและโลก) ออกจากกัน หมายถึง ได้แยกทั้งสองออกจากกันด้วยการแยกชนิดและจำแนกลักษณะ (ว่าอะไรฟ้าและอะไรโลก)

ดู التفسير المنير للزحيلي 17/43

จากคำอธิบายของท่านชัยคฺวะฮฺบะฮฺข้างต้น ทำให้เราได้ว่า การแยกชนิดได้ว่าอะไรคือชั้นฟ้าอะไรคือโลก เกิดขึ้นหลังจากการแยกแล้ว แต่ตอนเชื่อมติดกันนั้นได้อยู่ในสภาพหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันจึงถูกเรียกว่า “สิ่งเดียวกัน” อันเป็นคำของท่านอิบนุอับบาซ

ท่านอิบนุอาดิล อัลฮัมบะลีย์ ได้อธิบายไว้ว่า

قال ابن عبَّاس في رواية عكرمة والحسن وقتادة وسعيد بن جبير: كانتا شيءاً واحداً ملتزمين ففصل الله بينهما، ورفع السماء إلى حيث هي وأقر الأرض. وهذا القول يوجب أن خلق الأرض مقدم على خلق السماء، لأنه تعالى لما فصل بينهما جعل الأرض حيث هي، وأصعد الأجزاء السماوية.

ท่านอิบนุอับบาสตามการรายงานอันหนึ่งของท่านอิกริมะฮฺ, ท่านหะซัน, ท่านเกาะตาดะฮฺ, ท่านซะอี้ด บินญุเบรทั้งหมดต่างก็กล่าวว่า ฟ้ากับโลกเคยเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน ต่อมาพระองค์ก็ได้แยกมันออกพร้อมกับได้ยกชั้นฟ้าขึ้นไปให้มีอยู่ในที่ของมันและได้ทำให้โลกมั่นคงอยู่ (ในที่ของมัน) และทัศนะนี้นั้นถือว่าเป็นเงื่อนไขบังคับว่าจะต้องเข้าใจว่าโลกถูกสร้างมาก่อนชั้นฟ้า เนื่องจากว่าเมื่อพระองค์ได้แยกมันทั้งสองออกจากกันแล้ว พระองค์ได้ทำให้โลกอยู่ในที่ของมัน และได้ยกองค์ประกอบของชั้นฟ้าขึ้นไป (คือสร้างให้เป็นฟ้า ณ ตอนนี้-ผู้แปล)

หนังสือ اللباب في علوم الكتاب 13/485

คำพูดของท่านอิบนุอาดิ้ล ข้างต้นหักล้างความเข้าใจของฝ่ายคัดค้านได้ดังนี้

  1. ท่านอิบนุอาดิ้ลอธิบายว่า ทัศนะนี้ (ที่ว่าเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน) เป็นหลักฐานชี้ว่า โลกถูกสร้างก่อนฟ้า เพราะหากการรวมติดเป็นสิ่งเดียวกันหมายถึงทั้งสองถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วแค่ติดกันเฉยๆ จะได้ข้อสรุปว่าอะไรถูกสร้างก่อนสร้างหลังได้อย่างไร
  2. ท่านอิบนุอาดิ้ลได้ให้เหตุผลว่า ที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น เพราะเมื่อพระองค์ได้ทรงแยกโลกออกจากชั้นฟ้า พระองค์ก็ได้ทำให้โลกให้เสร็จสมบูรณ์และอยู่ในที่ของมัน และได้ยกส่วนประกอบของชั้นฟ้าขึ้นไป ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าชั้นฟ้าถูกสร้างให้เป็นฟ้าจริงๆ ณ ขณะนี้ที่ยกไปนี้ ซึ่งนี่คือเหตุผลของการได้ข้อสรุปว่าชั้นฟ้าถูกสร้างมาหลังสร้างโลก
  3. จากคำอธิบายข้างต้น จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่า ตอนที่รวมกันเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน จึงยังเป็นการหลอมรวมตามที่ชัยคฺวะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ได้อธิบายไว้นั่นเอง ไม่ใช่ติดกันแบบถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แค่ติดกันเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรถูกสร้างก่อนและหลัง

ฉะนั้นเราอยากจะบอกว่าคนที่มั่วและมึนในทางภาษาคือผู้ค้านเองมากกว่า ใครคิดว่าคนไทยเข้าใจภาษาดีกว่าอุละมาอ์ทั้งสองก็เชิญครับ

ประเด็นที่สอง

ผู้คัดค้านบอกว่า ฝ่ายเราอ้างอิมามบะเฆาะวีย์แบบไม่บริสุทธิ์ใจ เพราะหากอ้างแบบบริสุทธิ์ใจต้องอ้างจุดอื่นๆ (เช่นอายะฮฺดุคอน) ด้วย

วิพากษ์

เรื่องบริสุทธิ์ใจหรือไม่ เราคงไม่ต้องมาโฆษณาท่านหรอกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเรากับอัลลอฮฺพอ ส่วนท่านจะมั่นใจในการล้วงใจคนมากขนาดนั้นท่านก็รับผิดชอบไปคงช่วยไม่ได้ เรื่องอายะฮฺดุคอนนั่น เราคงจะได้ชี้แจงเรื่องนี้ในตอนปลายของการตอบโต้ในวาระนี้ แต่ตอนนี้เราขอคุยให้จบทีละประเด็นก่อน

อย่างไรก็ตามแต่ เราอยากจะถามฝ่ายผู้คัดค้านหน่อยว่า มีปราชญ์หรือนักวิชาการคนใดในโลกบ้างที่ “วางกฏ” ว่าถ้าเราได้อ้างคำตัฟซีรของท่านใดสักจุดหนึ่ง วาญิบจะต้องอ้างให้หมดทั้งเล่มในจุดอื่นด้วย ?!? ถ้าไม่ทำแบบนั้นถือว่าไม่บริสุทธิ์ใจ! ปราชญืคนไหนวางกฏการตัฟซีรแบบนี้??

ตกลงถ้าอ้างตัฟซีรกุรตุบีย์เรื่องนึง (เช่นตรงอายะฮฺอิสติวาอ์) ก็วาญิบจะต้องอ้างอีกจุดหนึ่ง (เช่นอายะฮฺใบหน้าที่ตรงนั้นมีการตะอ์วีลตามแนวอะชาอิเราะฮฺ) ด้วยกระนั้นหรือ??

ในตัฟซีรของชัยคฺอุษัยมีนมีการอ้างตัฟซีรของซะมัคชะรีย์ที่เป็นมุอฺตะซิละฮฺมา ตกลงชัยคฺอุษัยมีนวาญิบต้องอ้างจุดอื่นด้วยไหม ?

ท่านไปเอากฎแบบนี้จากไหน

เรื่องชัยคฺฏอยยารที่ว่ามาก็ตรรกะวิบัติคล้ายๆ กันซึ่งเรื่องจักรวาลขยายอะไรนั่นเดี๋ยวจะมีการชี้แจง อินชาอัลลอฮฺ