อัลกุรอานกับทฤษฎีบิกแบง (15) : ตอบโต้การแก้เกี้ยวใส่คำพูดสะลัฟเรื่อง กานะตา ชัยอัน วาฮิดัน มุลตะซิก่อตัยนิ (ฟ้ากับแผ่นดินได้เคยรวมติดเป็นสิ่งเดียวกัน)

หลังจากที่เราได้เสนอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในลิงค์นี้ (ตอนที่ 12)

ก็ปรากฏว่าครูกลอนสยามได้ออกมาแถอีกตามเคยด้วยข้ออ้างดังนี้

ข้ออ้างแรก : คำว่า “คนไทยหัวใจดวงเดียว” การใช้คำนี้ไม่ได้แปลว่า หัวใจคนไทยหลอมละลายรวมกันทางกายภาพ

ตอบ

หากอ้างประโยคนี้เพื่อจะมาทำลายคำอธิบายของเราแล้วไซร้ เราขอถามว่าท่านไม่อ้างต่อล่ะว่า คำว่า “คนไทยหัวใจดวงเดียว” ก็ไม่ได้ให้ความหมายว่า หัวใจที่เป็นอวัยวะในร่างกายของคนไทยมาติดแนบกันเหมือนกระดาษติดกับลูกบอล!! เออสรุปแล้วยกประโยคนี้มาจะเอาอะไรผมยังไม่เข้าใจเลยครับ

ข้ออ้างที่สอง : ผู้คัดค้านยกภาษาอาหรับประโยคหนึ่งที่ระบุว่า لَئِنْ عِشْتُ إِلَى هَذَا الْعَامِ الْمُقْبِلِ لَأُلْحِقَنَّ آخِرَ النَّاسِ بِأَوَّلِهِمْ حَتَّى يَكُونُوا شَيْئًا وَاحِدًا» ซึ่งผู้คัดค้านให้ความหมายว่า ท่านอุมัร กล่าวว่า “หากฉันมีชีวิตอยู่ถึงปีหน้า ฉันจะให้คนมาทีหลังและคนมาก่อนได้เท่าๆ กัน” ให้สังเกตุคำว่า “ฮัตตายะกูนู ชัยอันวาฮิดัน” แปลตรงๆ ได้ว่า “จนกว่าพวกเขาจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน” อันนี้คือแปลตรงๆ สำนวนนี้ไม่แตกต่างจากสำนวนในตัฟสีรของท่านอิหม่ามบะฆ่อวีที่ใช้ว่า “กานะตา ชัยอัน วาฮิดัน” หากตรงนี้ดึงดันจะแปลให้ได้ว่าหมายถึง “หลอมละลายรวมกันเป็นหนึ่ง” รายงานจากท่านอุมัรก็ต้องดึงดันแปลให้ได้ว่าหมายถึงท่านอุมัรจะจับคนทั้งหลายมาหลอมละลายให้กลายเป็นคนเดียว ส่วนวิธีใดนั้นคงต้องตีความกันต่อว่าจะใช้หม้อต้มดี หรือขุดหลุมเผาดี หรือจะเอาแช่สารละลายตัวไหนดี อันนี้ต้องไปถามเหลาปราชญ์สยามนิยมลัทธิบิกแบงเท่านั้น

ตอบ

ก็ถ้าใช้ตรรกะวิบัติแบบนี้ ผมก็จะแย้งคนคัดค้านบิกแบงกลับว่า คำว่า “กานะตา ชัยอัน วาฮิดัน” ในคำพูดท่านอุมัรข้างต้นก็คงจะหมายถึง ท่านอุมัรจะจับคนทั้งหลายมามัดติดกันให้แนบชิดจนกลายเป็นคนเดียว ส่วนวิธีใดนั้นคงต้องตีความกันต่อว่าจะใช้กาวแปะหรือเชือกมัดดี!

ความจริงแล้วคำว่า “กานะตา ชัยอัน วาฮิดัน” เรายังยืนยันว่าให้ความหมายในทางหลอมรวมกันจนเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่มันต้องดูบริบทด้วยครับว่า ในประโยคหนึ่งๆ ผู้พูดมีเจตนาจะพุ่งเป้าไปที่การรวมกันเป็นสิ่งเดียวกันของอะไร ย้ำนะครับว่า ดูบริบทด้วยครับว่า ในประโยคหนึ่งๆ ผู้พูดมีเจตนาจะพุ่งเป้าไปที่การรวมกันเป็นสิ่งเดียวกันของอะไร!

อย่างคำพูดของท่านอุมัรข้างต้น ท่านพูดว่า حَتَّى يَكُونُوا شَيْئًا وَاحِدًا  “จนกว่าพวกเขาจะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน” ซึ่งตรงนี้ท่านพุ่งเป้าการกลายเป็นสิ่งเดียวกันไปที่ “ส่วนแบ่ง” จึงได้ความหมายว่า “ฉันจะให้คนมาทีหลังและคนมาก่อนได้เท่าๆ กัน” หมายถึงว่าได้ สิ่งเดียวกันในแง่ของปริมาณ หมายความว่า ปริมาณของแต่ละคนที่จะได้ได้รวมจนเป็นสิ่งเดยวกันไม่มีจำแนก เช่นเดียวกับตัวบทที่ท่านยกมา

فَقَالَ لَهُمَا (جبير بن مطعم وعثمان بن عفان) رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: ” إِنَّمَا بَنُو هَاشِمٍ وَالْمُطَّلِبِ شَيْءٌ وَاحِدٌ

ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวแก่เขาทั้งสอง (ท่านญุเบร อิบนุ มุฏอิมและท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน) ว่า “ฉันเห็นว่าตระกูลฮาชิมและมุฏฏอลิบ เป็นสิ่งเดียวกัน”

คำพูดนี้ก็เหมือนกัน คำพูดของท่านเราะซูลอันนี้ไม่ได้แปลว่า ทั้งสองตระกูลได้ติดแนบกันเหมือนกระดาษติดกับลูกบอล แต่ที่ถือว่าเป็นสิ่งเดียวกันนั้นหมายถึงทั้งตระกูลฮาชิมกับตระกูลมฏฏอลิบได้หลอมรวมกันในแง่ของความเป็นเครือญาติและสายตระกูล ฉะนั้นประโยคนี้ต่อให้แปลว่าหลอมรวมก็แปลได้ เพราะเป้าหมายของคำพูดไม่ได้หมายถึงการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในเชิงกายภาพหรือตัวตน แต่หมายถึงในเชิงสายตระกูลเครือญาติ

ขณะที่คำพูดของท่านอิมามบะฆอวีย์ที่กล่าวว่าฟ้ากับโลกเคยรวมเป็นสิ่งเดียวกันนั้น หมายถึงรวมในด้านกายภาพหรือซาตของมัน ไม่ใช่ในด้านความหมายนามธรรมแบบสองประโยคที่ยกมาข้างต้น เราได้รับความเข้าใจเช่นนี้จากนักวิชาการที่ชำนาญด้านการตัฟซีรและมีความรู้ภาษาอาหรับดีกว่าปราชญ์สยามที่คัดค้าน

ท่านชัยคฺวะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ได้อธิบายกระโยคนี้ไว้ในตัฟซีรของท่านว่า

أَوَلَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أولم يعلموا. رَتْقاً الرتق: السد والضم والالتحام، والمراد:
ذات رتق، أي ملتزقتين. والمعنى: كانتا شيئا واحدا، أو حقيقة متحدة. فَفَتَقْناهُما أي فصلناهما بالتنويع والتمييز،

และบรรดาผู้ปฏิเสธไม่เห็นดอกหรือ หมายถึงพวกเขาไม่รู้ดอกหรือว่า (ฟ้ากับโลกเคย) ร็อตก็อน ซึ่งคำนี้หมายถึง การกั้น, การรวมและเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายของมันก็คือทั้งสองเป็นสิ่งที่ติดกัน ซึ่งก็หมายถึง ทั้งสองเคยเป็นสิ่งเดียวกันหรือเป็นแก่นแท้เพียงหนึ่งเดียว และเราได้แยกมันทั้งสอง(ฟ้าและโลก)ออกจากกัน หมายถึงได้แยกทั้งสองออกจากกันด้วยการแยกชนิดและจำแนกลักษณะ (ว่าอะไรฟ้าและอะไรโลก)

ดู التفسير المنير للزحيلي 17/43

จากคำอธิบายของท่านชัยคฺวะฮฺบะฮฺข้างต้น ทำให้เราได้ว่า การแยกชนิดได้ว่าอะไรคือชั้นฟ้าอะไรคือโลก เกิดขึ้นหลังจากการแยกแล้ว แต่ตอนเชื่อมติดกันนั้นได้อยู่ในสภาพหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันจึงถูกเรียกว่า “สิ่งเดียวกัน” อันเป็นคำของท่านอิบนุอับบาซ

ท่านอิบนุอาดิล อัลฮัมบะลีย์ ได้อธิบายไว้ว่า

قال ابن عبَّاس في رواية عكرمة والحسن وقتادة وسعيد بن جبير: كانتا شيءاً واحداً ملتزمين ففصل الله بينهما، ورفع السماء إلى حيث هي وأقر الأرض. وهذا القول يوجب أن خلق الأرض مقدم على خلق السماء، لأنه تعالى لما فصل بينهما جعل الأرض حيث هي، وأصعد الأجزاء السماوية.

ท่านอิบนุอับบาสตามการรายงานอันหนึ่งของท่านอิกริมะฮฺ, ท่านหะซัน, ท่านเกาะตาดะฮฺ, ท่านซะอี้ดบินญุเบรทั้งหมดต่างก็กล่าวว่า ฟ้ากับโลกเคยเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน ต่อมาพระองค์ก็ได้แยกมันออกพร้อมกับได้ยกชั้นฟ้าขึ้นไปให้มีอยู่ในที่ของมันและได้ทำให้โลกมั่นคงอยู่ (ในที่ของมัน) และทัศนะนี้นั้นถือว่าเป็นเงื่อนไขบังคับว่าจะต้องเข้าใจว่าโลกถูกสร้างมาก่อนชั้นฟ้า เนื่องจากว่าเมื่อพระองค์ได้แยกมันทั้งสองออกจากกันแล้ว พระองค์ได้ทำให้โลกอยู่ในที่ของมัน และได้ยกองค์ประกอบของชั้นฟ้าขึ้นไป (คือสร้างให้เป็นฟ้า ณ ตอนนี้-ผู้แปล)

หนังสือ اللباب في علوم الكتاب 13/485

คำพูดของท่านอิบนุอาดิ้ล ข้างต้นหักล้างความเข้าใจของฝ่ายคัดค้านได้ดังนี้

  1. ท่านอิบนุอาดิ้ลอธิบายว่า ทัศนะนี้ (ที่ว่าเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน) เป็นหลักฐานชี้ว่า โลกถูกสร้างก่อนฟ้า เพราะหากการรวมติดเป็นสิ่งเดียวกันหมายถึงทั้งสองถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วแค่ติดกันเฉย ๆ จะได้ข้อสรุปว่าอะไรถูกสร้างก่อนสร้างหลังได้อย่างไร
  2. ท่านอิบนุอาดิ้ลได้ให้เหตุผลว่า ที่ต้องเข้าใจเช่นนั้น เพราะเมื่อพระองค์ได้ทรงแยกโลกออกจากชั้นฟ้า พระองค์ก็ได้ทำให้โลกให้เสร็จสมบูรณ์และอยู่ในที่ของมัน และได้ยกส่วนประกอบของชั้นฟ้าขึ้นไป ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าชั้นฟ้าถูกสร้างให้เป็นฟ้าจริง ๆ ณ ขณะนี้ที่ยกไปนี้ ซึ่งนี่คือเหตุผลของการได้ข้อสรุปว่าชั้นฟ้าถูกสร้างมาหลังสร้างโลก
  3. จากคำอธิบายข้างต้น จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่า ตอนที่รวมกันเป็นสิ่งเดียวกันที่ติดกัน จึงยังเป็นการหลอมรวมตามที่ชัยคฺวะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ได้อธิบายไว้นั่นเอง ไม่ใช่ติดกันแบบถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แค่ติดกันเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรถูกสร้างก่อนและหลัง
    ฉะนั้นเราอยากจะบอกว่าคนที่มั่วและมึนในทางภาษาคือผู้ค้านเองมากกว่า ใครคิดว่าคนไทยเข้าใจภาษาดีกว่าอุละมาอ์ทั้งสองก็เชิญครับ