การเห็นต่างในศาสนามีกี่ประเภท และท่าทีของชาวสะลัฟที่มีต่อผู้เห็นต่าง

เรายอมรับหรือไม่ว่าในศาสนามีเรื่องเห็นต่าง? ถ้ายอมรับว่ามี แล้วการเห็นต่างในศาสนามีกี่ประเภท?

และคำตอบคือ มี สองประเภท คือ :

หนึ่ง : เรื่องที่ศาสนาไม่อนุญาตให้เห็นต่างได้ (خلاف غير سائغ ) นั่นก็คือ เรื่องที่เป็นอุศู้ลของศาสนา เป็นเรื่องอะกีดะฮฺหลักความเชื่อ เป็นเรื่องที่มีอิจมาอ์ (มติเอกฉันท์) ที่ถูกต้องยืนยันเอาไว้ ซึ่ง การเห็นต่างนี้จะใช้ชี้วัดว่า ใครหลงผิด หรือ ไม่หลงผิด

สอง : เรื่องที่ศาสนาอนุญาตให้มีการเห็นต่างได้ (خلاف سائغ ) เช่น ในเรื่องปลีกย่อย เรื่องที่ไม่มีอิจมาอ์มายืนยัน เรื่องที่ชาวสะลัฟมีการเห็นต่าง หรือเรื่องที่เป็นการอิจติฮาด (การวินิจฉัยของปราชญ์) ซึ่งมีหลักฐานชุดเดียวกัน คือ ต่างมีหลักฐานทั้งคู่แต่ได้ข้อสรุปต่างกัน ซึ่งเรื่องนี้ บรรดาชาวสะลัฟฟุศอและฮฺตลอดจนอุละมาอ์สะละฟีย์ในยุคปัจจุบันจะไม่เอาเป็นเอาตายกัน และจะไม่เอาเรื่องนี้มาตัดสินอีกฝ่ายว่าหลงผิด ไม่ยอมยืนหยัด หรือ ไม่ใช่อะลิสซุนนะห์ หรือ ดูถูกเหน็บแนมกัน ส่วนตัวอย่างจากชาวสะลัฟมีมากมายถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอกัน อินชาอัลลอฮ

ผมเชื่อว่าหลายคนพอจะรู้และเข้าใจในประเด็นนี้กันดีอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าการปฏิบัติของเรา การวางตัว การมีท่าทีของเรา จะเป็นตามที่ชาวสะลัฟและอุละมาอ์สะละฟีย์ในยุคปัจจุบัน เขาทำกันมารึป่าว?

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการออกอีดอีดิ้ลอัฎฮาที่ผ่านมา เรื่องนี้เราคิดว่ามันเป็นการเห็นต่างประเภทไหน? (และขอดักไว้ก่อนว่าผมยังไม่ได้พูดว่าอันไหนมีน้ำหนักมากกว่า แต่ต้องการจะสื่อว่าเรื่องนี้เห็นต่างได้หรือไม่)

ถ้าหากเรามองว่าเป็นการเห็นต่างชนิดแรก (คือไม่อนุญาติให้เห็นต่างคนเห็นต่างหลง) แน่นอนเรื่องนี้ต้องเป็นหนึ่งในเรื่องเรื่องอุศู้ลของศาสนามีอิจมาอฺยืนยันเรื่องนี้ชัดเจน แล้วถามว่ามีหรือไม่?

แล้วถ้าหากว่าเรามองเป็นการเห็นต่างชนิดที่สอง (คือ อนุญาติให้เห็นต่างได้) แน่นอนเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่หนึ่งในเรื่องอุศู้ลของศาสนา แต่มันคือ ประเด็นปลีกย่อย และเรื่องนี้ก็ไม่มีอิจมาอฺมายืนยัน

ดังนั้นคำตอบของเรื่องนี้จึงเป็นชนิดที่สอง

ฉะนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ท่าทีของเราที่มีต่อคนที่เห็นต่างควรเป็นแบบไหน แบบที่ชาวสะลัฟเขาทำกันหรือไม่ ลองถามใจตัวเองดู?

และที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้แตะ ไม่ให้พูดเรื่องนี้เลย คือ เราสามารถบอกและนำเสนอชี้แจงได้ว่าอันไหนมีน้ำหนักสำหรับเราได้ แต่ท่าทีของเราที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามต้องเป็นไปตามจุดยืนของชาวสะลัฟและอุละมาอ์สะละฟีย์ในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือ ให้เกียรติฝั่งตรงข้ามไม่อิงการ (ปฏิเสธคัดค้านเอาเป็นเอาตาย) กับอีกฝ่าย และไม่ควรมองว่า อีกฝ่ายไม่ยืนหยัดเสียแล้ว หรือ ใช้คำพูดเหน็บแนมอีกฝ่าย หรือคำพูดที่สื่อไปทำนองว่าคุณไม่เอาหลักฐาน เพราะถ้าหากพูดแบบนี้มันแสดงถึงการที่เราอิงการคัดค้านในประเด็นที่ศาสนาให้เห็นต่างได้

แล้วถามว่าเราเป็นแบบนั้นหรือไม่? ก็ลองตรวจสอบกันดู

ตัวอย่างท่าทีของชาวสะลัฟที่มีต่อผู้เห็นต่าง

และหนึ่งในตัวอย่างท่าทีของชาวสะลัฟฟุศศอและฮฺในเรื่องที่ศาสนาอนุญาตให้เห็นต่างได้ นั่นก็คือ ในเรื่อง “การละหมาดเดินทาง” โดยท่าทีของพวกเขาที่มีต่อเรื่องที่เห็นต่างนั่นก็คือ การให้เกียรติและไม่ตำหนิกัน ซึ่งรายละเอียดและหลักฐานของแต่ละทัศนะต่างมีกันทั้งหมด แต่ผมขอไม่นำมาเสนอ ณ ตรงนี้ เกรงว่าจะยาวจนเกินไป และมันก็ยังไม่ได้อยู่ในประเด็นที่เราจะเอา ณ ตอนนี้ แต่ที่เราจะเอาก็คือ “ท่าทีของพวกเขาที่มีต่อกันต่างหาก”

โดยท่าน อิบนุอะบีชัยบะห์ ได้รายงานในหนังสือ “อัลมุศอนนัฟ” ของท่าน เล่มที่ 2 หน้าที่ 340 และท่านอิบนุอิบดิลบัร ได้รายงานเอาไว้ในหนังสือ “อัลอิสติซการ” ของท่าน และท่านอิบนุ รุชดฺ ได้รายงานเอาไว้ในหนังสือ “บิดายะตุ้ล มุจตะฮิด วะนิฮายะตุ้ล มุกตะศิด” ของท่าน หน้าที่ 142 ว่า : ท่าน อบี นะญีฮฺ (ท่านเป็นเมาลา อดีตทาสรับใช้ของท่านอัคนัซ บิน ชะรีกซึ่งเป็นศอฮาบะห์) ได้กล่าวว่า :

اصطحبت أصحاب محمد – صلى الله عليه وسلم – فكان بعضهم يتم وبعضهم يقصر وبعضهم يصوم ، وبعضهم يفطر ، فلا يعيب هؤلاء على هؤلاء ، ولا هؤلاء على هؤلاء

“ฉันได้เคยติดตามบรรดาสาวกของมุฮัมมัด ศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แล้วปรากฏว่า บางคนในหมู่พวกเขาได้ทำละหมาดเต็ม และบางคนได้ละหมาดย่อ บางคนถือศีลอด และบางคนละศีลอด แต่พวกเขาเหล่านั้น (คนที่ละหมาดเต็ม) ก็ไม่ได้ตำหนิใดๆ พวกเขาเหล่านั้น (ที่ละหมาดย่อ) และพวกเขาเหล่านั้น (คนที่ถือศีลอด) ก็ไม่ได้ตำหนิพวกเขาเหล่านั้น (คนที่ละศีลอด)”

และได้มีรายงานคำพูดในทำนองนี้จากท่าน อนัส บิน มาลิก รอดิยัลลอฮุอันฮุ แต่อุละมาอ์บอกว่าเป็นสายรายงานที่อ่อน

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีและชัดเจนของบรรดาศอฮาบะห์ที่มีต่อคนที่เห็นต่างโดยพวกเขาไม่อิงการ (เอาเป็นเอาตาย) กับฝ่ายตรงข้าม และไม่กล่าวหาว่าหลงผิด ฉะนั้นพวกเราควรทำความเข้าใจในประเด็นนี้ หมายถึง ประเด็นที่ศาสนาอนุญาติให้เห็นต่างได้ และควรมีท่าที หรือ จุดยืน ตามแบบที่ชาวสะลัฟเขามีกัน

ซึ่งการมีจุดยืนเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าพูดไม่ได้ หากแต่ว่าเราสามารถนำเสนอหลักฐานตามบรรดาอุละมาอ์ที่เราเห็นว่ามีน้ำหนักได้ แต่ที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดที่หลายคนยังสอบไม่ผ่าน นั่นก็คือ ตัวอย่างที่ผมได้นำเสนอและเน้นย้ำไปข้างต้น และก็รวมถึงคณาจารณ์ท่านอื่นๆ ที่ได้สอนเกี่ยวกับเรื่องเห็นต่างไม่ว่าจะเป็น อ.อามีน ลอนา อ.ชารีฟ วงเสงี่ยม และ อ.ท่านอื่นๆ ฮะฟิเศาะฮุมุ้ลลอฮ. วัลลอฮุอะอฺลัม