การโค่นล้มผู้นำไม่มีอิจมาอ์ห้ามจากสะลัฟจริงหรือ? ตอนที่ 2

เราได้นำเสนอบทความเรื่องนี้กันไปก่อนแล้วใน ตอนที่ 1 –คลิกอ่าน– ซึ่งทางเราหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความกระจ่างในเรื่องนี้ในระดับเบื้องต้นกันไปแล้ว ครั้งนี้ตอนที่ 2 เราจะมาเขียนชี้แจงหลักฐานส่วนที่เหลือซึ่ง ดร.อิบรอฮีม สือแม ได้ยกมาเพื่ออ้างว่า “ไม่มีอิจมาอ์” ในเรื่องนี้กัน

หลักฐานที่ 1 : ท่านอบูฮะนีฟะฮฺมีทัศนะโค่นล้มผู้นำ

ท่าน ดร.อิบรอฮีม สือแม ได้อ้างงานเขียนของท่านอัลญัศศอศที่ “อ้าง” ว่าท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺมีทัศนะในการโค่นล้มผู้นำ โดยท่านอิมามอัลญัศศอศได้ยกเรื่องราวของอิมามอบูฮะนีฟะฮฺที่ให้การสนับสนุนไซด์ บินอะลี ที่ต่อต้านรัฐบาลอุมะวียะห์ภายใต้การนำของฮิชาม บินอับดุลมะลิกด้วยอาวุธ

ข้อโต้แย้ง : เราไม่ปฏิเสธเลยว่ามีนักวิชาการรุ่นหลังจำนวนหนึ่งกล่าว “อ้าง” ว่าท่านอบูฮะนีฟะฮฺมีทัศนะในการโค่นล้มผู้นำ ซึ่งท่านอิมามอัลญัศศอศเองมีความเข้าใจเช่นนี้อยู่

อย่างไรก็ตามแต่สำหรับคนที่แสวงหาความจริงและมีความละเอียดรอบคอบแล้ว เขาไม่ควรจะรีบด่วน “ตักลีด” ตามคำอ้างในทุกกรณี ความจริงคนที่พอจะมีความรู้กันบ้างก็จะทราบกันดีว่า การอ้างของนักวิชาการรุ่นหลังว่า “คนรุ่นสะลัฟ” เชื่อแบบนั้น แบบนี้โดยอาศัย “การเข้าใจ” ที่เขาเหล่านั้นมีอยู่เป็นพื้นฐานคำอธิบาย เป็นสิ่งที่มีเห็นกันได้ตลอด

แต่นั่นมิได้หมายความว่า “สิ่งที่ถูกอ้าง” กลับไปใส่คนรุ่นอดีตจะต้องเป็นจริงตามที่อ้างเสมอไป เราคิดว่า ดร.อิบรอฮีม สือแม ก็น่าจะทราบกันดีว่ากรณีการอ้างทัศนะใส่คนรุ่นแรกแบบผิด ๆ มีให้เห็นกันบ่อยมากจากนักวิชาการในรุ่นหลัง

เช่น ท่านอิบนุลเญาซีย์อ้างว่าอิมามอะฮฺมัดตีความศิฟัตของพระองค์ หรือท่านอิมามอันนะวะวีย์อ้างว่าชาวสะลัฟได้มีการตีความศิฟัตของอัลลอฮฺแบบนั้นแบบนี้

ซึ่งเรื่องนี้คนที่อยู่ในวงวิชาการอะกีดะฮฺย่อมทราบดีว่าคำอ้างเหล่านี้ไม่มีความถูกต้องและชาวสะลัฟที่ถูกอ้างชื่อก็ไม่เคยตีความพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน “#ตัวบท” ที่ #เป็นคำพูดของท่านอิมามฮะนะฟีย์กลับสวนทางไปจากที่ท่านอัลญัศศอศนำเสนอ เนื่องจากคำพูดของท่านจริง ๆ ในเรื่องนี้แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าท่านอิมามฮะนะฟีย์สั่งห้ามการโค่นล้มผู้ปกครองเช่นเดียวกับอิมามท่านอื่น ๆ

ท่านอบูมะตีอฺ อัลบัลคีย์ ได้ถามท่านอบูฮะนีฟะฮฺไว้ว่า

ما تقول فيمن يأمر بالمعروف وينهى عن المنكر فيتّبعه على ذلك ناس فيخرج على الجماعة، هل ترى ذلك؟
قال: لا، قلت ولم؟ وقد أمر الله تعالى ورسوله بالأمر بالمعروف والنهي عن المنكر وهذا فريضة واجبة. فقال: وهو كذلك، لكن ما يفسدون من ذلك يكون أكثر مما يصلحون من سفك الدماء واستحلال المحارم

“ท่านจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับผู้ที่สั่งใช้ในเรื่องความดีและห้ามปราบจากเรื่องความชั่ว มีผู้คนปฏิบัติตามเขา แล้วเขาก็ออกกมาทำการก่อกบฏ ท่านเห็นด้วยกับการกระทำของเขาหรือไม่?

ท่านอิมามตอบว่า: “ไม่”

ฉัน (อบูมุเฏียะอฺ) ก็กล่าวว่า: เพราะเหตุใดท่านถึงไม่เห็นด้วยล่ะ? อัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ได้วางบทบัญญัติให้สั่งใช้ในเรื่องความดีและห้ามปราบความชั่ว มันเป็นฟัรฎูที่จำเป็นไม่ใช่หรือ?

ท่านอิมามกล่าวว่า: “ก็ใช่ แต่พวกเขาสร้างความเสียหายมากกว่าผลดี ซึ่งก็คือการนองเลือดและการอนุมัติสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม”

อ้างอิง: หนังสือ ฟิกฮุลอักบัร หน้า 44

ท่านชัยคฺอิบนุบาซ ได้แสดงความเห็นต่อคำพูดท่านอิมามฮะนะฟีย์ข้างต้นไว้ว่า

ولهذا أنكر أبو حنيفة على هؤلاء الذين يخرجون على السلطان ، ويقول أنهم يفسدون أكثر مما يصلحون .
فالواجب عليهم إنكار المنكر ، والدعوة إلى الخير لكن بغير السلاح .
أما الخروج بالسلاح لقتل المسلمين ، ولقتل أولياء الأمور بزعمهم أنهم ينكرون المنكر ؛ فهذا عمل الخوارج ، وعمل المعتزلة الذين أفسدوا أكثر مما يصلحون .
وفعلوا خلاف ما أمر به النبي – صلى الله عليه وسلم – أنه قال : ((من رأى من الأمير شيئًا في معصية الله ؛ فليكره ما يأتي من معصية الله ، ولا ينزعن يدًا من الطاعة)) .
ولما قال الرسول – صلى الله عليه وسلم – : ((إنه يلي عليكم أمراء فتعرفون وتنكرون . قالوا : ألا نقاتلهم ؟ قال : لا ، أدوا إليهم حقهم ، واسألوا الله الذي لكم)) .
((إلا أن تروا كفرًا بواحًا)) ، وفي لفظ آخر : ((ما أقاموا فيكم الصلاة)) .
ولكن هؤلاء الذي أيضًا يقاتَلون ؛ لا يجوز الخروج عليهم إلا على بصيرة وعلى علم ، وعلى قدرة أنهم يزيلون المنكر .
أما هؤلاء الجهلة الذين يريدون الخروج بزعمهم ويقتلون الناس ويؤذون الناس ، ويقتلون المسلمين على غير بصيرة ؛ هؤلاء ليس لهم الخروج ؛ إنما الخروج على مَن قدر على ذلك ، ورأى كفرًا بواحًا على قوم ما أقاموا الصلاة أو أظهروا كفرًا بواحًا غير ذلك ، بشرط أن يكون ذلك القيام يحصل به المقصود ، ولا يحصل به ما هو أنكر منه .
نسأل الله العافية .

“และด้วยเหตุนี้เองท่านอบูฮะนีฟะฮฺได้แสดงการปฏิเสธบรรดาคนเหล่านั้นที่ทำการก่อกบฏต่อผู้นำ และท่านได้กล่าวว่าพวกเขาสร้างความเสียมากกว่าสร้างผลดี มันเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องแสดงการปฏิเสธความชั่วและเรียกร้องไปสู่ความดี ทว่าก็โดยปราศจากการใช้อาวุธ

ส่วนการออกไปก่อกบฏโดยใช้อาวุธเพื่อเข่นฆ่าบรรดามุสลิม เพื่อเข่นฆ่าบรรดาผู้นำโดยอ้างว่าเป็นการแสดงการปฏิเสธความชั่ว นี่เป็นงานของพวกค่อวาริจและงานของพวกมัวะอฺตะซิละฮฺที่สร้างผลเสียมากกว่าผลดี

พวกเขาได้ทำตรงกันข้ามกับคำสั่งของท่านนบี (ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ที่ว่า : “ผู้ที่เห็นที่สิ่งใดก็ตามที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺจากผู้นำ เขาก็จงเกลียดการฝ่าฝืนอัลลอฮฺที่ผู้นำได้กระทำ ทว่าอย่าได้ถอนมือออกจากการเชื่อฟังเด็ดขาด”

และเนื่องจากที่ท่านนบีได้กล่าวว่า : “แท้จริงจะมีบรรดาผู้นำได้มาปกครองพวกท่าน พวกท่านจะยอมรับบางการกระทำของพวกเขา(เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ดี) และพวกท่านจะปฏิเสธบางการกระทำของพวกเขา(เนื่องจากมันเป็นความชั่ว) พวกเขา (บรรดาศ่อฮาบะฮฺ) กล่าวว่า: เราต้องต่อสู้กับพวกเขาไหม? ท่านนบีตอบว่า : อย่า แต่พวกท่านจงมอบสิทธิ์ที่พวกเขาพึงจะได้รับแก่พวกเขา และจงขอต่ออัลลอฮฺซึ่งสิทธิ์ที่พวกท่านพึงจะได้รับ”

“เว้นแต่ว่าพวกท่านจะเห็นกุฟรฺที่ชัดแจ้ง” และอีกในสำนวนหนึ่ง “ตราบใดที่พวกเขายังดำรงการละหมาดในหมู่พวกท่าน”

อย่างไรก็ดี ไม่อนุญาตให้ก่อกบฏต่อพวกเขาเว้นแต่ต้องมีความรู้ หลักฐานที่ชัดแจ้ง และมีความสามารถที่จะกำจัดความชั่วร้ายได้ ส่วนพวกโง่เขลาเหล่านั้นที่ต้องการก่อกบฏตามคำอ้างของพวกเขา พวกเขาทำร้ายและเข่นฆ่าผู้คน เข่นฆ่าบรรดามุสลิมอย่างไร้ความรู้ที่ประจักษ์แจ้ง คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิ์ออกไปก่อกบฏ

แท้ที่จริงแล้วการก่อกบฏนั้นมันสำหรับผู้ที่มีความสามารถ และได้เห็นกุฟรฺอย่างชัดแจ้งจากกลุ่มชนหนึ่งที่ไม่ได้ดำรงละหมาดหรือได้แสดงกุฟรฺอย่างอื่นที่ชัดแจ้งออกมา โดยมีเงื่อนไขว่าหากทำการก่อกบฏไปแล้วนั้นจะต้องให้ได้ตามเป้าหมายและจะต้องไม่เกิดสิ่งที่มันชั่วร้ายกว่าเดิม ขออัลลอฮฺทรงปกป้องคุ้มครองเราด้วยเถิด”

อ้างอิง: หนังสือ ชัรฮฺอัรริซาละฮฺอัลฮะมาวียะฮฺ 86-88.

คำพูดของท่านอบูฮะนีฟะฮฺข้างต้นถือว่าชัดเจนกว่า “ความเข้าใจ” ของท่านอัลญัศศอศ ด้วยเหตุนี้เองบรรดานักวิชาการในมัสฮับฮะนะฟีย์หลาย ๆ ท่านจึงสรุปจุดยืนของท่านอิมามฮะนะฟีย์ต่างไปจากที่ท่านอัลญัศศอศสรุปมา

ท่านอิบนุลฮุมาม กล่าวว่า

وإذا قلد عدلا، ثم جار وفسق لم ينعزل، ويستحق العزل إن لم يستلزم فتنة، ويجب أن يدعى له ولا يجب الخروج عليه كذا عن أبي حنيفة وكلمتهم قاطبة

“และเมื่อผู้นำได้ขึ้นปกครองอย่างทรงธรรม ต่อมาเขากลับประพฤติชั่วและอธรรม ในสภาพนี้เขาจะไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่เขาก็สมควรที่จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการออกไปโค่นล้มโดยใช้กำลัง) หากว่ามันไม่ส่งผลให้เกิดฟิตนะฮฺ จำเป็นที่จะต้องขอดุอาอฺให้กับเขา และไม่จำเป็นที่จะต้องออกไปก่อกบฏต่อเขา ในทำนองนี้แหละมีรายงานมาจากท่านอบูฮะนีฟะฮฺและพวกเขาทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน”

อ้างอิง: หนังสือ المسايرة หน้า 291.

ท่านอัลบัซดะวียฺกล่าวว่า:

الإمام إذا جار أو فسق لم ينعزل عند أصحاب أبي حنيفة بأجمعهم وهو المذهب المرضي

“ผู้นำนั้นเมื่อเขาอธรรมและประพฤติชั่ว เขาจะไม่ถูกปลดออกจากตำแหน่งตามแนวทางของสาวกของท่านอบูฮะนีฟะฮฺทั้งหมด ซึ่งมันเป็นแนวทางที่น่าพึงพอใจ”

ถ้าหากท่าน ดร. อิบรอฮีม มีความจริงใจในการแสวงหาความจริง #ท่านย่อมต้องทราบดีว่าข้อสรุปของท่านอัลญัศศอศข้างต้นถือว่าค้านโดยตรงกับคำพูดท่านอบูฮะนีฟะฮฺ

ซึ่งคนที่แสวงหาความจริงจะต้องไม่ทิ้งคำพูดของเจ้าตัวที่ชัดเจนกว่า

ความจริงแล้วถ้าหากเรายึดถือว่าคำอธิบายของท่านอัลญัศศอศมีความถูกต้อง (รวมถึงรายงานจากคนอื่น ๆ ในยุคสะลัฟที่กล่าวคัดค้านท่านอบูฮะนีฟะฮฺในเรื่องนี้) เช่นนั้นก็จะต้องทำการรวมหลักฐานเหล่านี้เข้าด้วยกัน มิใช่เลือกเอาที่ถูกใจและทิ้งที่ไม่ถูกใจไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ท่านอัลลามะฮฺ มุฮัมมัด บินอับดิรเราะฮฺมาน อัลเคาะมีซ เจ้าของหนังสือ اعتقاد الأئمة الأربعة (อะกีดะฮฺอิมามสี่มัสฮับ) ซึ่งท่านเป็นนักวิชาการที่มีผลงานและความชำนาญในการตรวจสอบอะกีดะฮฺของอิมามทั้งสี่ท่านนี้ ท่านได้สรุปจุดยืนของท่านอิมามฮะนะฟีย์ในเรื่องนี้ไว้ว่า

ويمكن الجواب عن هذا بأنه في أول أمره كان يرى الخروج على السلطان الجائر، ثم استقر آخر الأمر على عدم الخروج. دلّ على هذا ما قرره واختاره الطحاوي في بيان اعتقاد أهل السنة والجماعة على مذهب أبي حنيفة وصاحبيه حيث قال: “ولا نرى الخروج على أئمتنا وولاة أمورنا وإن جاروا ولا ندعو عليهم، ولا ننزع يدا من طاعتهم، ونرى طاعتهم من طاعة الله عزَّ وجلَّ فريضة، ما لم يأمروا بمعصية، وندعو لهم بالصلاح والمعافاة” 2.
وما ذكره الطحاوي هو ما حكاه ابن الهمام عن أبي حنيفة في المسايرة وأقره الشارحان، ابن أبي الشريف وابن قطلوبغا وكذا ذكره البزدوي.

“และสามารถที่จะให้คำตอบกับเรื่องนี้ได้ว่า ในตอนแรกนั้นท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺมีทรรศนะโค่นล้มผู้นำที่อธรรม ต่อมาในภายหลังทรรศนะของท่านก็มาสิ้นสุดลงที่ห้ามโค่นล้ม หลักฐานที่บ่งชี้ในเรื่องนี้ก็คือสิ่งที่ท่านอัฏเฏาะฮาวียฺได้ยืนยันและเลือกไว้ในหนังสือการชี้แจงหลักการเชื่อมั่นของอะหฺลิซซุนนะฮฺวะลญะมาอะฮฺตามแนวทางของอบูฮะนีฟะฮฺและสหายทั้งสองของท่าน (หนังสืออัลอะกีดะฮฺอัฏเฏาะฮาวียะฮฺ) ท่านกล่าวว่า : ‘และเราไม่มีทรรศนะให้ก่อกบฏต่อบรรดาผู้นำและผู้ปกครองของพวกเราถึงแม้ว่าเขาจะอธรรมก็ตาม เราจะไม่ขอดุอาอฺสาปแช่งพวกเขา เราจะไม่ถอนมือออกจากการเชื่อฟังพวกเขา และเรามองว่าการเชื่อฟังพวกเขานั้นเป็นฟัรฎู มันเป็นส่วนหนึ่งจากการเชื่อฟังอัลลอฮฺ ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้สั่งใช้ในสิ่งที่เป็นความชั่ว และเราจะขอดุอาอฺให้พวกเขาดำรงมั่นอยู่บนศาสนาและปลอดภัยจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง’ และสิ่งที่อัฏเฏาะฮาวียฺได้กล่าวนั้นมันคือสิ่งที่อิบนุลฮัมมามได้รายงานมาจากอบูฮะนีฟะฮฺในหนังสืออัลมุซายะเราะฮฺ และผู้อรรถาธิบายทั้งสองของหนังสือเล่มนั้นซึ่งก็คืออิบนุอบีชะรีฟและอิบนุกุฏลูบะฆอได้ให้การยืนยันเช่นนี้ และอัลบัซดะวียฺก็บอกแบบนี้เช่นเดียวกัน”

อ้างอิง: หนังสือ أصول الدين عند الإمام أبي حنيفة หน้า 569.

การที่ท่านอิมามอัฏเฏาะฮาวีย์ได้สรุปจุดยืนของท่านอิมามอบูฮะนีฟะฮฺข้างต้นว่าท่านอิมามไม่ล้มผู้นำ ย่อมน่าเชื่อถือกว่าความเข้าใจของท่านอัลญัศศอศที่เป็นคนรุ่นหลัง เนื่องจากท่านอิมามตอฮาวีย์เป็นคนที่มีชีวิตในฮ.ศ.239-321 ซึ่งถือว่าใกล้กับยุคของท่านอิมามฮะนะฟีย์และลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ มากกว่า ซึ่งฐานะของท่านอิมามอัฏเฏาะฮาวีย์นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเจ้าแห่งอะกีดะฮฺของอิมามมัสฮับฮะนะฟีย์ จากผลงานในอะกีดะฮฺอัฏเฏาะฮาวียะฮฺของท่าน

ฉะนั้นความเข้าใจของท่านอัฏเฏาะฮาวีย์ย่อมถูกต้องกว่าสำหรับผู้มีใจหาความจริง

เช่นเดียวกับท่านอิบนุลอะบิลอิศที่อธิบายอัฏเฏาะฮาวีย์อีกทีก็เห็นพ้องตามนั้นด้วย ขณะที่ท่านอัลญัศศอศเป็นคนรุ่นหลังที่เสียชีวิต ฮ.ศ. 942 ฉะนั้นการอ้างอิมามฮะนะฟีย์เพื่อค้านอิจมาอ์ถือไม่ถูกต้อง เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ต้องเข้าใจว่าท่านอิมามฮะนะฟีย์ได้ถอนทัศนะไปแล้ว

หลักฐานที่ 2 : อ้างอิมามอัชชาฟิอีย์

ดร.อิบรอฮีม กล่าวว่า “สำหรับอิมามชาฟีอีย์แล้ว มีการรายงานทัศนะเก่าของท่านว่าท่านมีความเห็นเช่นนี้เหมือนกัน (ชัรห์อัลอะกีดะห์อัลนะสาฟียะห์ 145)”

ข้อโต้แย้ง: การอ้างของนักวิชาการบางกลุ่มว่าท่านอิมามอัชชาฟิอีย์เคยมีทัศนะให้ล้มหรือปลดผู้นำนั้น ถือว่าเป็นการอ้างที่คลาดเคลื่อน ท่านชัยคฺอัลฟัรกูซ ได้ชี้แจงเรื่องนี้ไว้ว่า

والقول بأنَّ ظهور الفسق مِنَ الإمام مُوجِبٌ لعزلِه أو انعزالِه مطلقًا هو مذهبُ المععتزلة والخوارج(٢١)، ونَسَبه بعضُهم إلى الجمهور كالقرطبيِّ(٢٢)، ونَسَبه الزبيديُّ إلى الشافعيِّ في القديم(٢٣)، وكلاهما غيرُ صحيحٍ، ولعلَّ مقصود القرطبيِّ بالجمهور: أكثريةُ الأشاعرة، أمَّا نسبتُه إلى الشافعيِّ ـ رحمه الله ـ فهو على غيرِ اعتقاده ومذهبِه، وإنما هو مذهبُ بعضِ الشافعية، وبه جَزَم الماورديُّ ـ رحمه الله ـ في «الأحكام السلطانية»، وأصحُّ المنقولِ عنه ما ذَهَب إليه الرافعيُّ والنوويُّ ـ رحمهما الله ـ: أنه لا ينعزل الإمامُ بالفسق(٢٤)، وهو الموافِقُ لمذهب الشافعيِّ، بخلافِ مذهب بعض الشافعية المرجوح؛ فقَدْ غلَّطه النوويُّ ـ رحمه الله ـ بقوله: «وأمَّا الوجهُ المذكور في كُتُب الفقه لبعضِ أصحابنا أنَّه يَنعزِلُ، وحُكِيَ عن المعتزلة ـ أيضًا ـ فغلطٌ مِنْ قائله مخالفٌ للإجماع»

“และทัศนะที่อธิบายว่าหากมีความชั่วปรากฏขึ้นจากตัวผู้นำ ก็เป็นเงื่อนไขบังคับเลยว่าให้ถอดถอนผู้นำออกไปเลยโดยสิ้นเชิง ทัศนะนี้คือมัสฮับของพวกมุอฺตะซิละฮฺ, และเคาะวาริจฺ และนักวิชาการบางท่านได้พาดพิงว่าทัศนะเป็นทัศนะของนักวิชาการส่วนมาก เช่นที่ท่านท่านอัลกุรตุบีย์ได้กล่าวไว้ ขณะที่ท่านอัซซุบัยดีย์ ได้อ้างพาดพิงว่าทัศนะนี้เป็นทัศนะเก่าของอิมามอัชชาฟิอีย์ ซึ่งทั้งสองกรณีนั้นถือว่าไม่มีความถูกต้องแต่อย่างใด และบางทีเป้าหมายของอัลกุรตุบีย์ที่ใช้คำว่า นักวิชาการส่วนใหญ่นั้น หมายถึงส่วนใหญ่ของอะชาอิเราะฮฺก็เป็นได้

สำหรับการอ้างว่านี่คือทัศนะของอิมามอัชชาฟิอีย์นั้น ความจริงแล้วทัศนะดังกล่าวไม่ใช่ความเชื่อและมัสฮับของอิมามชาฟิอีย์แต่อย่างใดเลย

แต่ทว่ามันเป็นเพียงทัศนะของบางส่วนจากชาฟิอียะฮฺ (อุละมาอ์ในมัสฮับนี้) และด้วยกับสิ่งนั้นเองที่ท่านอัลมาวัรดีย์ได้ฟันธงไว้ในหนังสือ อัลอะฮฺกามอัซซุลฏอนียะฮฺ และคำรายงานที่ถูกต้องที่สุดจากอิมามชาฟิอีย์นั้น คือสิ่งที่ท่านอัรรอฟิอีย์และอันนะวะวีย์ ได้เลือกเฟ้นไว้นั่นคือผู้ปกครองจะไม่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเพียงเพราะความชั่ว ซึ่งมันคือสิ่งที่สอดคล้องกันกับมัสฮับชาฟิอีย์ (จริง ๆ ) ซึ่งแตกต่างไปจากมัสฮับของนักวิชาการชาฟิอีย์บางส่วนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า

และท่านอิมามอันนะวะวีย์ ได้ถือว่าทัศนะดังกล่าวนั้นคือสิ่งผิดพลาด ดังที่ท่านกล่าวว่า และสำหรับทัศนะหนึ่งที่ถูกกล่าวกันไว้ในหนังสือ ฟิกของอุละมาอ์ชาฟิอีย์บางส่วนว่าผู้นำจะต้องถูกถอดถอนและยังเป็นทัศนะที่ถูกรายงานมาจากพวกมุอฺตะซิละฮฺด้วยเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากบรรดาผู้ที่กล่าวถึงมันซึ่งถือว่าสวนทางกับมติเอกฉันท์”

ที่มา : https://ferkous.com/home/?q=art-mois-116

จากคำพูดข้างต้นจะเห็นได้ว่า นอกจากท่านอิมามอันนะวะวีย์จะไม่ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นทัศนะของอิมามชาฟิอีย์จริง ๆ แล้ว ทัศนะดังกล่าวยังเป็นทัศนะของชาฟิอียะฮฺบางส่วนที่ถือว่าค้านกับอิจมาอฺ ไม่ใช่เป็นตัวทำลายอิจมาอฺหรือทัศนะที่สองแต่อย่างใด

หลักฐานที่ 3 : อ้างอิมามอะฮ์มัด

ดร.อิบรอฮีม กล่าวว่า: “สำหรับทัศนะของอิหม่ามอะห์มัด มีสายรายงานจากท่านที่หลากหลาย ซึ่งทัศนะที่มัชฮุร คือ ห้ามต่อต้านผู้นำฟาซิก แต่ก็มีสายรายงานที่ขัดกับสายรายงานนี้ เช่นสายรายงานที่รายงานโดยอิบนฺอะบียะอฺลาในหนังสือฎ่อบะกอตอัลหะนาบีละห์ จากอิหม่ามอะห์มัดว่า เมื่อผู้ใดในบรรดาผู้นำ เรียกร้องสู่บิดอะห์ พวกเจ้าอย่าได้ตอบรับอย่างเด็ดขาด และหากพวกเจ้าสามารถถอดถอนเขา ก็จงทำ (ฏอบะกอตอัลหะนาบิละห์ 2/305)”

ข้อโต้แย้ง: การอ้างว่า มีสายรายงานที่หลากหลายจากท่านอิมามอะฮฺมัดนั้น ไม่ทราบว่าใครอ้าง? แล้วรายงานที่อ้างนั้นรายงานต้นไหน? ข้ออ้างของ ดร.อิบรอฮีม ข้างต้นเป็นการอ้างอิงที่รีบด่วนไม่ตรวจสอบและไปก็อปปี้การอ้างมาจาก อัดดะมีญีย์ ที่อยู่ในหนังสือของเขาในหน้าที่ 539 มา

หากเราไปเปิดหนังสือ อัตเตาะบะกอตอัลฮะนาบิละฮฺ ของท่านอบูยะอฺลาย์ ตามที่อ้างไป เราจะพบว่า หนังสือของท่านอบูยะอฺลานั้นจบการเขียนไปตั้งแต่หน้าที่ 260 แล้ว โดยที่ตั้งแต่หน้าที่ 263 เป็นต้นไป ท่านชัยคฺ มุฮัมมัดฮามิด อัลฟะกีย์ ผู้จัดพิมพ์ได้นำเอาข้อเขียนของอิมามท่านอื่นมาพิมพ์ผนวก ซึ่งข้อเขียนที่อ้างถึงอิมามอะฮฺมัดตามที่ ดร.อิบรอฮีม อ้างมาข้างต้น อยู่ในหน้าที่ 305 เขียนไว้ว่า

وكان يقول من دعا منهم إلى بدعة فلا تجيبوه ولا كرامة وإن قدرتم على خلعه فافعلوا

“และอิมามอะฮฺมัดเคยกล่าวว่า เมื่อผู้ใดในบรรดาผู้นำ เรียกร้องสู่บิดอะห์ พวกเจ้าอย่าได้ตอบรับอย่างเด็ดขาด และหากพวกเจ้าสามารถถอดถอนเขา ก็จงทำ”

จากข้อเขียนข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำพูดของท่าน ดร.อิบรอฮีม ที่อ้างว่าข้อเขียนนี้เป็น “รายงานจากท่านอิมามอะฮฺมัด” เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง เพราะจริง ๆ แล้วข้อความนี้เป็นข้อเขียนของท่านอบุลฟัฎลฺอับดุลวาฮิด อัตตัยมีย์ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่หน้าที่ 291 และจุดที่เห็นได้ชัดว่า ดร.อัดดะมีญีย์ อ้างผิด ๆ ก็คือ เขากล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่าข้อความดังกล่าวเป็นรายงานที่สืบสายถึงอิมามอะฮฺมัดด้วยรูปแบบที่ต่อเนื่อง (ไม่ขาดตอน) ดังสำนวนว่า فيه بالسند المتصل (ดูหนังสือ الإمامة العظمى عند أهل السنة والجماعة หน้า 539) ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นแค่คำพูดของท่านอบุลฟัฎลฺ

สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงที่โต้อะชาอิเราะฮฺมานาน จะรู้ดีว่าท่านอบุลฟัฏลฺผู้นี้มีประวัติว่าเคยอ้างอะกีดะฮฺหรือทัศนะใส่ท่านอิมามอะฮฺมัดแบบ “ผิดๆ” บนความเข้าใจของตัวเอง

ผมจะยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งก็พอ นั่นคือ แนวทางอะฮฺลุซซุนนะฮฺ (รวมถึงอิมามอะฮฺมัดด้วย) นั้น จะไม่มีการยืนยันหรือปฏิเสธคำว่า “ร่างกาย” หรือ “อวัยวะ” แก่อัลลอฮฺ ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า

أما الكلام في الجسم والجوهر ونفيهما أو إثباتهما فبدعة ليس لها أصل في كتاب الله ولا سنة رسوله ولا تكلم أحد من السلف والأئمة بذلك لا نفيا ولا إثباتا
“สำหรับคำพูด เกี่ยวกับว่า (พระองค์มี) รูปร่าง และ สสารหรือไม่นั้น การปฏิเสธหรือยืนยันมันทั้งสองคือบิดอะฮ ไม่มีรากฐาน ในคัมภีร์ของอัลลอฮ และสุนนะฮรอซูลของพระองค์ ศ็อลฯ และไม่มีสะลัฟคนใด และบรรดาอิหม่าม พูดเกี่ยวกับดังกล่าว ไม่ว่าพูดในเชิงการปฏิเสธและการยืนยันก็ตาม”

อ้างอิง: ดัรอุอัตตะอารุฎ อัลอักลิ วัลนักลิ เล่ม 4 หน้า 146

จากคำพูดของท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺข้างต้น ทำให้เราเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่าแนวทางสะลัฟนั้นจะไม่ยืนยันหรือปฏิเสธการมีเรือนร่าง,รูปร่างของพระองค์แต่อย่างใด นี่คือข้อสรุปจากนักวิชาการที่ชำนาญในแนวทางสะลัฟมากที่สุดจากยุคคอลัฟ

แต่ถ้า ดร.อิบรอฮีม ยังสับสนกับข้อเท็จจริงตรงนี้ว่า ในโลกวิชาการ มีอุละมาอ์ที่ไม่ชำนาญสำหรับการสรุปแนวทางสะลัฟอย่างถูกต้อง หรือมีอุละมาอ์ที่ชอบสรุปแนวทางสะลัฟแบบผิด ๆ ท่านดร. ก็จะทึกทักเอาอีกว่าเรื่องร่ายกายนี้เป็นเรื่องเห็นต่างไม่มีอิจมาอฺโดยอ้างคำพูดท่านอบุลฟัฎลฺ มาอ้างแบบเดียวกับที่ท่านกระทำในเรื่องการล้มผู้นำ

ท่านอบุลฟัฎลฺผู้นี้แหละที่เคยสรุปอะกีดะฮฺของอิมามอะฮฺมัดแบบผิด ๆ โดยไปอ้างว่าท่านอิมามอะฮฺมัดเชื่อว่าอัลลอฮฺ “ปราศจากเรือนร่าง” ดังที่เขาได้กล่าวว่า

وكان يقول : إن لله تعالى يدين وهما صفة في ذاته ليستا بجارحتين ولاليستا بمركبتين ولا جسم ولا جنس من الأجسام

“ท่านอิมามอะฮฺมัดได้กล่าวว่า-พระองค์อัลเลาะฮฺทรงมีพระหัตถ์ทั้งสองของพระองค์ ซึ่งพระหัตถ์ทั้งสองนั้นคือ คุณลักษณะแห่งอาตมัน (องค์) ของพระองค์เท่านั้น-มิได้หมายถึงว่ามันเป็นอวัยวะทั้งสอง หรือทั้งสองถูกประกอบขึ้นมา และมันก็ไม่ใช่เรือนร่างและมิใช่ประเภทหนึ่งประเภทใดของร่างกาย”

อ้างอิง: อิอฺติก๊อดอัลอิมามมุนับบัลอบีย์อับดิลละฮฺ อะฮฺมัดบินฮัมบัล. หน้า 22-23.

คำพูดของท่านอบุลฟัฎลฺข้างต้นนั้นชัดเจนว่าเขาได้สรุปว่าอิมามอะฮฺมัดปฏิเสธคำว่า ญิซมุน (เรือนร่าง) กับพระองค์ ทั้งที่นี่ไม่ใช่อะกีดะฮฺอิมามอะฮฺมัดจริง ๆ แต่เป็นการเข้าใจของท่านอบุลฟัฎลฺเอง

ผมไม่อยากจะคุยประเด็นให้ยืดเยื้อ แนะนำให้ท่าน ดร.อิบรอฮีม หาหนังสือ الأشاعرة في ميزان أهل السنة ของชัยคฺไฟศอล อัลญาซิม ซึ่งตอบโต้อะชาอิเราะฮฺไว้อย่างดี ลองดูในหน้าที่ 398 เป็นต้นไป แล้วท่านจะพบว่า นักวิชาการได้ท้วงท่านอบุลฟัฏลฺในประเด็นนี้โดยระบุว่าท่านอบุลฟัฎลฺเขียนหนังสือ อะกีดะฮฺอิมามอะฮฺมัด บนความเข้าใจของตัวท่านเองและมักใช้สำนวนว่า อิมามอะฮฺมัดพูดหรือเชื่อแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ ไม่เป็นไปตามที่อ้างแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้นท่านอิบนุตัยมียะฮฺเองยังได้สรุปว่าท่านอบุลฟัฎลฺนั้นเอียงไปทางอะชาอิเราะฮฺอย่างมาก ลองดูหนังสือตามที่ผมอ้างดู ไฟล์พีดีเอฟก็มีให้โหลดกัน

เรื่องล้มผู้นำนี้ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ท่าน ดร.นำเสนอไป เป็นเพียงการอ้างความเข้าใจจากท่านอบุลฟัฎลฺ มิใช่รายงานจริง ๆ ทว่าคำพูดจริง ๆ ของอิมามอะฮฺมัดนั้นท่านสั่งห้ามการล้มผู้นำชัดเจน ดังที่ท่านกล่าวว่า

ولا يحل قتال السلطان ولا الخروج عليه لأحد من الناس فمن فعل ذلك فهو مبتـدع على غير السنة والطريق

“และไม่อนุญาตให้สู้รบกับผู้นำ และไม่อนุญาตแก่ใครที่จะโค่นผู้นำ ผู้ใดกระทำการณ์เช่นนั้นเขาคือมุบตะดิอฺ (พวกทำบิดอะฮฺลุ่มหลงออกจากแนวทางซุนนะฮฺ) โดยไม่อยู่บนแนวทางสุนนะฮฺและหนทางแห่งสุนนะฮฺ”

อ้างอิง: หนังสือ อุศูลลุซซุนนะฮฺ ของอิมามอะฮฺมัด

คำพูดของท่านอิมามอะฮฺมัดข้างต้นนั้นชัดเจนว่า ท่านสั่งห้ามการล้มผู้นำ และยังถือว่าใครกระทำสิ่งดังกล่าวเป็นมุบตะดิอฺ ซึ่งตรงนี้เป็นคำตอบอย่างดีสำหรับคนที่กล่าวอ้างว่า การตับดีอฺเรื่องการล้มผู้นำเพราะมองว่าเป็นอิจมาอฺเป็นการกระทำของพวกรุวัยบิเฎาะฮฺ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้วอิมามอะฮฺมัดเองละมั้งที่เป็นอัรรุวัยบิเฎาะฮฺ นะอูสุบิลละฮฺมินสาลิก

ส่วนการที่ ท่านดร. เขียนว่า

“กระนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว ท่านเป็นคนหนึ่งที่เศร้าเสียใจมาก เมื่อท่านอะห์มัด บิน นัสร์ อัลคุซาอีย์ถุกฆ่า เรื่องของเรื่องก็มีอยุ่ว่า เมื่อท่านอะห์มัด บิน นัศร์ (หนึ่งในนักวิชาการซุนนะห์ในยุคอิหม่ามอะห์มัด บิน หันบัล) ได้ทำการดะวะห์อย่างลับๆ ต่อต้านความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น ท่านและพรรคพวกประมาณพันกว่าคนจากชาวแบกแดดได้เริ่มเคลื่อนไหว ซึ่งในปี 231 ฮ.ศ. ได้มีการไบอะห์ให้กับท่านอย่างลับๆ เพื่อทำการสั่งทำความดีและห้ามปรามความชั่ว และต่อต้านและโค่นล้มผู้นำ อันเนื่องจากบิดอะห์ที่เขาได้ก่อขึ้น และการเรียกร้องของเขาสุ่อะกีดะห์มุตะซีละห์ คือ อัลกุรอานมัคลูก และความชั่วช้าที่ผู้นำและพรรคพวกของเขาได้กระทำ แต่แผนของท่านถูกเปิดเผย สุดท้ายท่านถุกฆ่า ทำให้ชาวแบกแดดเศร้าโศกเสียใจเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะท่านอิหม่ามอะห์มัด (สรุปจากหนังสือ อัลบิดายะห์วัลนะหายะห์ 10/303-306)”

ข้อโต้แย้ง: การที่ท่านท่านอะห์มัด บิน นัสร์ อัลคุซาอีย์คิดจะต่อต้านผู้นำในยุคนั้นเนื่องจากผู้นำเชื่อว่าอัลกุรอานเป็นมัคลู้ก แบบนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เราขัดแย้งกันเนื่องจากผู้นำอับบาซียะฮฺได้กระทำกุฟรฺในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เรากล่าวมาตลอดว่าการล้มผู้นำที่มีกุฟรฺนั้นเป็นที่อนุญาตใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่นักปราชญ์กำหนดกันไว้ การยกเรื่องนี้มาเป็นหลักฐานล้มล้างอิจมาอฺของ ดร.อิบรอฮีม จึงถือว่านอกประเด็น

หลักฐานที่ 4 : อ้างอิมามมาลิก

ท่าน ดร.เขียนว่า: “ในปี 145 ฮ.ศ. ท่านมุหัมมัด บิน อับดิลละห์ บิน หะซัน ลุกขึ้นต่อต้านอะบู ญะฟัร อัลมันศูร ที่ควบคุมครอบครัวของเขา และกระทำอย่างสุดโหด ท่านได้ขึ้นคุตบะห์ ณ มัสยิดนะบี เรียกร้องชาวมะดีนะห์ให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลอธรรม ซึ่งชาวมะดีนะห์เกือบทั้งหมดได้ไบอะห์ท่าน ซึ่งอิหม่ามมาลิก หนึ่งในนักวิชาการซุนนะห์ทั้งสีได้ฟัตวาให้ทำการไบอะห์ให้กับมุหัมมัด บิน อับดิลละห์ บิน หะซัน มีคนถามท่านอิหม่ามมาลิกว่า พวกเราได้ทำการไบอะห์ให้กับอัลมันศูรแล้ว ท่านตอบว่า พวกท่านไบอะห์ให้กับอัลมันศูร ในสภาพที่ถูกบังคับ ซึ่ง(แท้จริงแล้ว)การไบอะห์ของคนถูกบังคับถือเป็นโมฆะ เมื่อชาวมะดีนะห์ได้ยินฟัตวาดังกล่าว ต่างให้การไบอะห์มุหัมมัดทันที (อัลบิดายะห์วัลอัลนิฮายะห์ 10/89-90)”

ข้อโต้แย้ง: เราไม่อยากอภิปรายประเด็นนี้ให้ยืดเยื้อ เราแนะนำให้ท่าน ดร.อิบรอฮีม โหลดหนังสือ ضوابط معاملة الحاكم عند أهل السنة والجماعة وأثرها على الأمة จากเว็บไซต์ http://waqfeya.com/book.php?bid=9023 ซึ่งเขียน โดย เชคคอลิด อัศศอฟีรีย์ แล้วอ่านตั้งแต่หน้า 534 ดู มีการชี้แจงเรื่องนี้

ซึ่งเราขอสรุปว่า การอ้างว่าอิมามมาลิกล้มผู้นำเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะที่มีรายงานนี้มาจากบันทึกของท่านเตาะบะรีย์ในหนังสือ อัตตารีค ผ่านผู้เล่าเรื่องที่ไม่ผ่านความน่าเชื่อถือตามวิชาหะดีษ ซึ่งก็คือ ซะอฺดฺ บินอับดิลฮะมี้ด ฉะนั้นการอ้างเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นการอ้างผ่านรายงานที่ใช้ไม่ได้ นอกจากนี้อุละมาอ์ในมัสฮับมาลิกีย์ยังได้สรุปอีกว่ามัสฮับอิมามมาลิกไม่มีการล้มผู้นำและเรื่องฮะรอมโดยเอกฉันท์

(อ่านตอนที่ 3 คลิก)


Facebook Tags: #ห้ามโค่นล้มผู้นำ #แนวทางสะลัฟไม่โค่นล้มผู้นำที่อธรรมตราบใดที่ยังเป็นมุสลิม