การโค่นล้มผู้นำไม่มีอิจมาอ์ห้ามจากสะลัฟจริงหรือ? ตอนที่ 3

ในสองตอนแรก (ตอนที่ 1 –คลิกอ่าน– และตอนที่ 2 –คลิกอ่าน-) เราได้วิพากษ์บทความของ ดร.อิบรอฮีม สือแม กันไปแล้ว ซึ่งเรายังมีประเด็นที่ต้องโต้แย้งอีกส่วนหนึ่งจากหลักฐานที่ ดร.อิบรอฮีม ยกมา ความจริงถ้าท่าน ดร.จะกรุณาเราขอให้ท่านรอเราชี้แจงบทความของท่านให้หมดก่อน แล้วท่านค่อยตอบเรามาก็ได้ จะได้ไม่เป็นการแย้งไปมาแบบคละประเด็นกัน อันนี้เราเสนอไปแล้วแต่ว่าท่านจะยอมรับหรือไม่

ประเด็นที่หนึ่ง : ประเด็นเรื่องของท่านอัซซะฟากุซีย์

ในตอนที่ผ่านมา เราได้ท้วงการยกคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ ที่ตัวบทเต็ม ๆ เป็นดังนี้

وقول السفاقسي أجمعوا أن الخليفة إذا دعا إلى كفر أو بدعة يقام عليه تعقب بأن المأمون والمعتصم والواثق كلٌّ منهم دعا إلى بدعة القول بخلق القرآن وعاقبوا العلماء بسبب ذلك بالضرب والقتل والحبس وغير ذلك، ولم يقل أحد بوجوب الخروج عليهم بسبب ذلك.

จากนั้นเราก็แปลด้วยสำนวนว่า

“และคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ ที่ว่า บรรดานักวิชาการอิสลามเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้นำ เมื่อเรียกร้องสู่สิ่งที่เป็นกุฟร์หรือเรียกร้องสู่การทำบิดอะห์ จะต้องทำการปฏิวัติเขา (ท่านอัซซะฟากุซีย์พูดเช่นนี้) ต่อเนื่องมาจากกรณีที่ผู้นำอย่างอัลมะอ์มูน, อัลมุอฺตะศิม และอัลวาษิก พวกนี้ทั้งหมดได้เรียกร้องสู่บิดอะฮฺที่ว่าอัลกุรอานเป็นมัคลู้กและพวกเขาได้ลงโทษนักวิชาการด้วยกับเหตุดังกล่าวนั้น (คือลงโทษนักวิชาการที่ไม่ยอมรับทัศนะบิดอะฮฺของผู้นำ) ด้วยการเฆี่ยนตี, การฆ่าและการคุมขัง และอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีนักวิชาการคนใดกล่าวว่ามันเป็นวาญิบที่จะต้องโค่นผู้นำเหล่านั้นด้วยกับเหตุดังกล่าวนั้น”

แล้วปรากฏว่าท่าน ดร.อิบรอฮีม ได้แย้งคำแปลของเราไปด้วยเหตุผลต่อไปนี้

เหตุผลแรก ท่าน ดร.กล่าวว่า คำว่า تعقب ในประโยคนี้แปลว่า “ถูกแย้ง” ไม่ได้แปลว่า “ต่อเนื่องมาจาก” หรือ “พูดต่อจาก” ตามความเข้าใจของเรา

ตรงนี้เราขอเรียนชี้แจงท่าน ดร.ว่า เวลาเราแปลหรืออ่านข้อความสำคัญจากคำพูดของนักวิชาการ เราพยายามอย่างยิ่งในการจะดูว่าคำพูดดังกล่าวได้ถูกอ้างหรือเข้าใจจากนักวิชาการท่านอื่นอีกทีหรือไม่ ในกรณีที่เราสามารถหามาได้ เพื่อป้องกันการเข้าใจที่ผิดพลาดของเรา

คำว่า تعقب ในพจนานุกรมอาหรับอังกฤษจะให้ความหมายว่า chasing ; following ; pursuit ซึ่งหมายถึงการติดตาม หรือตามหลังมาซึ่งตรงกับคำอาหรับว่า تَتَبّع และการที่เราเข้าใจคำพูดของซะฟากุซีย์ข้างต้นในลักษณะนั้นเหตุผลแรกมาจากความหมายทางภาษา

ส่วนเหตุผลที่สองก็คือ เราพบว่ามีนักวิชาการได้แสดงออกมาว่าพวกเขาเข้าใจคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ในลักษณะที่กำลังกล่าวถึงผู้นำที่กระทำกุฟรฺ

ท่านอิบนุฮะญัร อัลบุฏอมีย์ ได้กล่าวไว้ว่า

“แต่ทว่าผู้ปกครองนั้นจะถูกถอดถอนและเขาจะไม่มีสิทธิในอำนาจการปกครองเหนือมุสลิมเมื่อใดที่พบสิ่งต่อไปนี้ในตัวเขา สิ่งแรกคือ กุฟรฺและการตกศาสนาหลังจากที่เคยนับถือศาสนาอิสลาม…และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ปกครองถูกถอดถอนออกตามมติเอกฉันท์ในหมู่นักวิชาการ…ท่านอัซซะฟากุซีย์ได้กล่าวว่า บรรดานักวิชาการอิสลามเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้นำ เมื่อเรียกร้องสู่สิ่งที่เป็นกุฟร์หรือเรียกร้องสู่การทำบิดอะห์ จะต้องทำการปฏิวัติเขา” หนังสือ
العقائد السلفية بأدلتها النقلية والعقلية (2/418-419)

จะเห็นได้ว่า ท่านอิบนุฮะญัร อัลบูฏอมีย์ เองได้ยกคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์มานำเสนอไว้ในภายในหัวข้อของผู้นำที่ทำกุฟรฺ โดยท่านอิบนุฮะญัรไม่ได้พูดเลยแม้แต่น้อยถึงผู้นำที่เป็นบิดอะฮฺ

จากข้อเขียนข้างบนเราจะพบว่าท่านอิบนุฮะญัร อัลบุฏอมีย์ได้ยืนยันว่าหากผู้นำตกศาสนา เขาจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามอิจมาอฺ ซึ่งท่านอัลบูฏอมีย์ก็ได้ยกคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ที่รายงานอิจมาอฺมานำเสนอ โดยท่านบูฏอมีย์ไม่ได้พูดถึงบิดอะฮฺที่ไม่ใช่กุฟรฺเลยแม้แต่น้อย และก็คงเป็นเรื่องประหลาดที่ใครจะคิดว่าท่านบูฏอมีย์คงยอมรับแค่ครึ่งแรกของข้อความที่อ้างอิจมาอ์เรื่องผู้นำกุฟรฺแต่ปฏิเสธท่อนหลังที่พูดถึงบิดอะฮฺ แล้วก็ปล่อยผ่านไม่ทักท้วงอะไร

นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราเข้าใจคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ในลักษณะข้างต้น ด้วยเหตุนี้เพื่อรวมประโยคเหล่านี้เข้าด้วยกัน เราจึงไม่คิดจะมองคำว่า تعقب ในลักษณะที่หมายถึง ถูกแย้ง เพราะฐานของท่านอัซซะฟากุซีย์ดังกล่าวในลักษณะที่หมายถึงบิดอะฮฺมุกัฟฟิเราะฮฺจากบริบทของข้อเขียนที่ท่านอัลบูฏอมีย์ ได้ยกมา แต่ท้ายที่สุดหากเราเข้าใจผิดเราก็ยินดีแก้ไขอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอันใด แต่ขอให้ท่านแย้งเราให้เห็นภาพชัดเจนเท่านั้นพอ

เหตุผลที่สองที่ ท่าน ดร.อิบรอฮีม อ้างว่าเราแปลผิด ก็คือ ท่าน ดร.อ้างว่า คำพูดของท่านซะฟากุซีย์ใช้คำว่า “เอา” (أو) ซึ่งให้ความหมายที่เป็นอีกประเภทไปจากกุฟรฺ อันหมายถึงบิดอะฮฺที่ไม่ถึงระดับของกุฟรฺ จากนั้นท่าน ดร.ก็พูดต่อว่าทางเราว่า ไม่เข้าใจภาษาอาหรับ และเลอะเทอะออกทะเลขนาดกล่าวหาเราว่า แค่อักษรตัวเดียวทำให้สำนักพิมพ์อัซซาบิกูนเป็นเคาะวาริจฺ !!

ท่าน ดร.ครับ ถ้าท่านรอบคอบและตรวจทานสักนิดท่านจะรู้ว่า คนที่ตีความคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ข้างต้นว่าหมายถึงบิดอะฮฺมุกัฟฟิเราะฮฺนะ ไม่ใช่เด็กประถมอ่อนด้อยภาษาอาหรับที่ไหน แต่เขาคือท่านอิบนุฮะญัร อัลอัซเกาะลานีย์นะครับ!

ในหนังสือฟัตฮุลบารีย์หลังจากท่านอิบนุฮะญัร อัลอัซเกาะลานีย์ได้นำเสนอคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ข้างต้นแล้ว (ท่านอัซซะฟากุซีย์เป็นคนเดียวกันกับท่านอิบนุตตีน) ท่านอิบนุฮะญัรก็กล่าวว่า

وَمَا ادَّعَاهُ مِنَ الْإِجْمَاعِ عَلَى الْقِيَامِ فِيمَا إِذَا دَعَا الْخَلِيفَةُ إِلَى الْبِدْعَةِ مَرْدُودٌ ، إِلَّا إِنْ حَمَلَ عَلَى بِدْعَةٍ تُؤَدِّي إِلَى صَرِيحِ الْكُفْرِ ،

“และสิ่งที่เขา (อัซซะฟากุซีย์) ได้อ้างว่ามีอิจมาอฺให้โค่นผู้นำในยามที่พบว่าผู้นำได้เรียกร้องไปสู่บิดอะฮฺ (ข้ออ้างเช่นนี้) เป็นสิ่งที่ถูกปัดทิ้ง เว้นแต่ว่าหากจะต้องตีความ (คำพูดนี้) ว่าหมายถึงบิดอะฮฺที่นำพาไปสู่กุฟรฺที่ชัดแจ้ง” (ฟัตฮุลบารีย์ 13/124)

ก็อยากจะถามว่า การที่ท่านอิบนุฮะญัรตีความคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ข้างต้นว่าหมายถึงบิดอะฮฺที่เป็นกุฟรฺนั้น ท่านอิบนุฮะญัรอ่อนภาษาอาหรับในเรื่องอักษร “เอา” ตามที่ท่านว่ามาหรือเปล่า หรือท่านจะบอกว่าอิบนุฮะญัรเป็นเคาะวาริจฺด้วย??

ความจริงแล้วคำพูดของทางเราออกจะแปลกใจอย่างมากที่พบว่า ท่าน ดร.อิบรอฮีม ได้กล่าวหาเราว่าเป็นเคาะวาริจฺด้วยสำนวนเลอะเทอะว่า

“ท่านเข้าใจเองจากคำพูดของเชคอัลซะฟากุซีย์ ว่า ((ผู้ปกครองราชวงศ์อับบาซียะฮฺที่เชื่อว่าอัลกุรอานเป็นมัคลู้ก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบิดอะฮฺชนิดนี้เป็นกุฟร์)) ในคำพูดของพวกท่าน เห็นได้ชัดเจนว่า พวกท่านเองก็ไม่ได้ดีมากไปกว่ากลุ่มคนที่มีลักษณะนิสัยเหมือนเคาะวาริจที่มีหลักตักฟีรมาตัดสินผู้นำอย่างที่พวกท่านอ้างกันไหว ท่านเองเป็นผู้ตัดสินว่าผู้นำราชวงศ์อับบาซียะห์เป็นกาฟิร เพราะมีความเชื่อผิดเพี้ยนจากอะห์ลิลซุนนะห์ในเรื่องอัลกุรอาน”

คำพูดข้างต้นของ ดร.อิบรอฮีม สือแม นั้นสะท้อนความเขลาในเรื่องกฏการตักฟีรและยัดเยียดข้อหามั่วนิ่มแก่เรา

ต้นที่มาของเรื่องนี้นั้นมีอยู่ว่า เราบอกว่า คำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์นั้นกำลังพูดถึงบิดอะฮฺที่เป็นกุฟรฺ ซึ่งบิดอะฮฺที่เป็นกุฟรฺนี้มีอยู่ในความเชื่อของผู้นำอับบาซียะฮฺในเรื่องอัลกุรอานเป็นมัคลู้ก ซึ่งการพูดว่าผู้นำหรือใครก็ตามว่ามีความเชื่อที่เป็นกุฟรฺนั้น ในทางวิชาการเขารู้กันว่ามันคือคนละสิ่งกับการกล่าวหาเจ้าตัวว่าเป็นกาฟิรฺ เรื่องพื้นฐานแบบนี้ท่าน ดร.ยังไม่เข้าใจอีก น่าเศร้าจริง ๆ

มันเหมือนเวลาเราพูดว่า ชาวบ้านมุสลิมทำชิริก ซึ่งชิริกที่ชาวบ้านทำนะ ตัวการกระทำนั้นเขาเรียกว่า กุฟรฺ แต่ไม่ได้หมายถึงการหุกุ่มชาวบ้านคนนั้นว่าเป็นกาฟิรเพราะในหลักการศาสนาการจะตักฟีรรายตัวจะต้องมีเงื่อนไขมากมาย

ฉะนั้นการที่เราบอกว่า ท่านอัซซะฟากุซีย์ กำลังพูดถึงผู้นำที่มีกุฟรฺอย่างกรณีของราชวงศ์อับบาซียะฮฺนั้น เราไม่ได้หมายถึงว่า ท่านอัซซะฟากุซีย์ได้หุกุ่มตัวผู้นำแบบมุอัยยัน (ฮุกุ่มตัว) ว่าเป็นกาฟิรฺ และทางเราเองก็ไม่เคยเชื่อด้วยว่าผู้นำในราชวงศ์นี้ได้ตกศาสนาไปแล้ว

เราเพียงแต่นำเสนอว่า ท่านอัซซะฟากุซีย์กำลังพูดถึงเงื่อนไขพื้นฐานว่าถ้าผู้นำมีกุฟรฺ เช่นนี้ผู้นำจะสามารถถูกถอดถอนออกได้ เช่น กุฟรฺแบบกรณีของราชวงศ์ อับบาซียะฮฺในเรื่องอัลกุรอานเป็นมัคลู้ก แต่ทว่าการพูดแบบนี้เป็นการพูดถึงเงื่อนไขรวมๆ ในพื้นฐาน ไม่ได้หมายความว่าการตักฟีรได้เกิดขึ้นแล้ว หรือเราไปฮุกุ่มผู้นำในยุคนั้นว่าเป็นกาฟิรฺแล้วในขณะที่พูด ทางเราคิดว่า ดร.คงมีปัญหาเรื่องการอ่านภาษาไทย มันเหมือนเวลาเราพูดว่า ผู้นำประเทศนั้นประเทศนี้ มีกุฟรฺซึ่งในหลักการศาสนาถือว่าสามารถถอดถอนได้ แต่ทั้งนี้การพูดมุตลัก (กว้าง ๆ แบบนี้) ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ดูเงื่อนไขประการอื่นที่ศาสนากำหนดอีก การพูดในลักษณะข้างต้นเป็นการพูดแบบสรุป ๆ รวบรัดไม่ได้ลงรายละเอียดทุกมุม

ที่ตลกไปกว่านั้นคือ การที่ ดร.ตีมึนแล้วเขียนมาว่า

“จากนั้น ท่านก็สรุปกันเอง บนความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนจากความจริง หาความชอบธรรมให้กับประเทศที่กระทำบิดอะห์เมาลีดนบี ตามที่ท่านได้สรุปมา เอ้… ประเทศไหนหน้อที่พวกท่านกำลังหาความชอบธรรมให้กับมัน”

ท่านงงอะไรหรือเปล่า เรากล่าวเรื่องเมาลิด เพื่อจะโต้แย้งท่านว่า การที่ตัวท่านเองเข้าใจคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์ว่า หากผู้นำมีบิดอะฮฺแบบไม่ถึงกุฟรฺ ก็สามารถโค่นล้มได้ เราได้โต้แย้งท่านว่า การเข้าใจคำพูดแบบนี้ของนักวิชาการเป็นการยัดเยียดความเขลาแก่นักวิชาการอย่างอธรรม เพราะหากท่านอัซซะฟากุซีย์เข้าใจแบบที่ท่าน ดร.ว่ามาจริง ก็แสดงว่าผู้นำที่กระทำและเรียกร้องสู่บิดอะฮฺแบบไม่กุฟรฺ อย่างเมาลิด, ละหมาดเราะฆออิบในคืนนิศฟุชะอฺบาน, อิซีกุโบร์ ผู้นำแบบนี้สามารถใช้อาวุธโค่นล้มได้กระนั้นหรือตามทัศนะของอัซซะฟากุซีย์ใน “ความเข้าใจ” ของตัวท่าน

ซึ่งเราถือว่าการเข้าใจแบบนี้เป็นการยัดเยียดความเขลาให้แก่ผู้รู้ เราจึงตีความว่าบิดอะฮฺในคำพูดของท่านอัซซะฟากุซีย์หมายถึงบิดอะฮฺแบบกุฟรฺ แล้วถามว่าเราไปอ้างความชอบธรรมแก่ผู้นำที่ทำเมาลิดอะไรล่ะ เรางงมาก ???

ประเด็นที่สอง : เรื่องความคลุมเครือ

ท่าน ดร. ได้เขียนว่า

“ท่านได้ตั้งคำถามว่า ((บางคนอาจจะถามว่า ทำไมการล้มผู้นำในยุคสะลัฟตอนต้นจึงไม่เหมาทุกคนว่าเป็นเคาะวาริจฺ เราขอตอบว่า การโค่นล้มผู้นำของสะลัฟบางท่านนั้นเกิดขึ้นจากความคลุมเครือของสถานการณ์และเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีอิจมาอฺในเรื่องนี้ ฉะนั้นจึงถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดการอิจติฮาด (วินิจฉัย) ขึ้นก่อนหน้าที่จะมีอิจมาอ์ในเรื่องนี้กัน)) ท่านตั้งคำถามได้ดี แต่ท่านการตอบเองหรือเอาคำตอบจากหนังสือบางเล่มที่มาจากยุคสลัฟมั้งคับ ถึงได้ตอบผิดเพี้ยนเพียงนี้ ท่านตอบว่า ((การโค่นล้มผู้นำของสะลัฟบางท่านนั้นเกิดขึ้นจากความคลุมเครือของสถานการณ์”

จากนั้นท่านก็กล่าวว่า

“สำหรับความคลุมเครือที่ท่านว่ามานั้น อะไรคือความคลุมเครือที่ทำให้บรรดาสลัฟเหล่านั้นสับสนถึงขนาดไม่แยกแยะระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง อะไรที่ทำให้กลุ่มหนึ่งของสลัฟออกมาต่อต้าน จริงๆเรื่องนี้ได้อธิบายมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มันเป็นทัศนะของกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่ากระทำได้ เพราะมีหลักฐานมากมายในเรื่องของการสั่งใช้กระทำความดีและห้ามปรามกระทำความชั่ว โดยไม่ได้แยกแยะว่าเป็นผู้นำหรือไม่ กลุ่มสลัฟที่เข้าใจตัวบทหะดีษในลักษณะนี้ ก็จะทำการนะศีหัตผู้นำ สุดท้ายเมื่อผู้นำไม่ยอมรับ ก็จะลุกขึ้นต่อต้าน เพราะเป็นคำบัญญัติของพระองค์เช่นกัน แต่สลัฟเสียงสวนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะมีตัวบทหะดีษอีกมากมายที่สั่งให้อดทน ไม่ให้ต่อต้านผู้นำอธรรม เว้นแต่ว่าเขาตกมุรตัด จึงวาญิบที่ต้องถอดถอน หากมีอำนาจในการถอดถอนโดยไม่เกิดผลเสียต่อสังคมมุสลิม มันไม่ได้เกิดจากความคลุมเครือของสถานการณ์แต่อย่างใด แต่มันเป็นความเข้าใจที่ไม่ลงตัวหรือแตกต่างกันระหว่างบรรดาสลัฟต่อหลักฐานที่มาจากท่านนบี ศอลลัลเลาะห์อะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งต่างคนต่างเข้าใจในมุมที่ต่างกัน มันเลยเกิดทัศนะที่แตกต่างกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ และมีตัวอย่างมากมาย ทั้งในยุคศอหะบะห์หรือยุคสลัฟหลังจากนั้น”

ชี้แจง : ทางเราต้องขออภัยที่เขียนอะไรไม่ชัดเจนไปบ้าง ความจริงแล้ว “ความคลุมเครือของสถานการณ์” ที่เรากล่าวไปนั้นหมายถึง ความคลุมเครือของสถานการณ์ที่อาจทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เข้าใจว่าตนเองล้มผู้นำมุสลิมต่างหากเล่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้เราขอกล่าวโดยสรุปว่า บรรดาคนรุ่นสะลัฟที่ได้ทำการล้มผู้นำนั้น พวกเขามีความคลุมเครือของสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาได้รับการอภัยให้ดังนี้

กรณีของท่านฮุเซน นักวิชาการได้อาศัยรายงานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์ชัดเจนซึ่งสรุปได้ว่า

กรณีของท่านฮุเซนนั้นท่านได้ออกไปหาชาวอิรักบนฐานที่เข้าใจว่าชาวอิรักและแผ่นดินดังกล่าวถูกปล่อยทิ้งไว้โดยปราศจากผู้นำ และท่านฮุเซนไปยังอิรักก็เนื่องจากว่าชาวอิรักเขียนจดหมายไปหาท่านว่าพวกเขาไม่มีผู้นำปกครอง และพวกเขาประสงค์จะมอบสัตยาบันแก่ท่านฮุเซน ฉะนั้นท่านฮุเซนจึงไปหาพวกเขาในฐานะที่เข้าใจว่าตนเองจะเป็นผู้ปกครองของชาวอิรัก

ซึ่งท้ายที่สุดการไปของท่านฮุเซนได้ถูกขัดขวางจากทหารของยะซีดและพวกทหารของยะซีดได้กลั่นแกล้งอธรรมต่อท่านฮุเซนจนเกิดการฆ่ากันตาย

โดยในเรื่องนี้นั้นท่านอิบนุตัยมียะฮฺได้อธิบายไปอีกว่า ก่อนที่การสู้รบจะเกิดขึ้นท่านฮุเซนได้เสนอให้แก่ทหารยะซีดแล้วว่า ตัวท่านฮุเซนพร้อมจะถอนความเคลื่อนไหวดังกล่าวและจะไปหายะซีดเพื่ออยู่ภายใต้การปกครองของเขา ซึ่งจุดนี้ชี้ชัดว่าท่านฮุเซนได้ถอนความคิดแรกออกไปหมดแล้ว

แต่ปรากฏว่าพวกทหารยะซีดมีเจตนาจะกลั่นแกล้งและสังหารท่านให้ได้ เลยเกิดการสู้รบเพื่อปกป้องชีวิตตัวเองจนตายไป
ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่หลักฐานสำหรับการล้มผู้นำอีกแต่อย่างใด #และนี่คือเหตุผลที่เรากล่าวว่าสถานการณ์มันคลุมเครือที่ทำให้อะไรๆก็เกิดการเข้าใจผิดซึ่งแตกต่างไปจากการล้มผู้นำในเวลานี้

ส่วนกรณีของท่านอิบนุซุเบรนั้น ท่านอิบนุตัยมียะฮฺและท่านอิบนุกะษีรตลอดจนท่านอิบนุฮะญัร ได้อธิบายรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ให้ทราบว่า ความจริงแล้วการกระทำของท่านอิบนุซุเบรที่ต่อสู้กับอับดุลมะลิกบินมัรวานนั้นไม่เรียกว่าเป็นการล้มผู้นำ

เพราะความจริงมีอยู่ว่าหลังจากยะซีดบินมุอาวียะฮฺได้เสียชีวิตลงประชาชนทั่วสารทิศต่างก็ได้ให้บัยอะฮฺแก่ท่านอิบนุซุเบรเพื่อให้ท่านเป็นผู้นำ การบัยอะฮฺดังกล่าวดำเนินไปจนกระทั่งว่าทั่วแผ่นดินของโลกอิสลามได้ยอมรับการเป็นผู้นำของอิบนุซุเบร ยกเว้นพวกตระกูลอุมัยยะฮฺเท่านั้นที่ยังไม่ยอมรับท่านอิบนุซุเบร ซึ่งในเวลาต่อมาฝ่ายของมัรวานและอับดุลมะลิกบินมัรวานได้ซ่องสุมกำลังบัยอะฮฺให้แก่ผู้นำของตนเอง จากนั้นก็ยกทัพไปยึดเมืองต่าง ๆ ที่ได้ให้สัตยาบันต่อท่านอิบนุซุเบรจนเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบบานปลายไปในที่สุด การยึดครองดินแดนจากฝ่ายอับดุลมะลิกดำเนินไปจนกระทั่งเหลือแค่ฮิญาซกับเยเมนเท่านั้น ที่ยังอยู่ใต้อำนาจของท่านอิบนุซุเบร

และท้ายที่สุดอัลฮัจญาจแม่ทัพของอับดุลมะลิกจึงได้เข้ายึดฮิญาซและสังหารท่านอิบนุซุเบรลงได้ ฉะนั้นท่านอิบนุกุดามะฮฺจึงได้สรุปว่าคนที่ล้มผู้นำจริง ๆ ไม่ใช่ท่านอิบนุซุเบร หากแต่เป็นฝ่ายของอับดุลมะลิกบินมัรวานต่างหาก!!

ด้วยเหตุนี้เอง ดร.อับดุลอะซี้ส บินมุฮัมมัด อัซซะอี้ดจึงได้สรุปว่า กรณีของท่านอิบนุซุเบรนั้นจะต้องเข้าใจว่าการปกครองเป็นของท่านและคนที่ไปโค่นคืออับดุลมะลิก หรืออาจจะเข้าใจได้ว่าการปกครองเกิดการซ้อนและแยกเป็นสองรัฐ ที่แต่ละซีกต่างมีผู้นำเป็นของตนเองและเกิดการสู้รบกันเพื่อช่วงชิงพื้นที่ ไม่ใช่ประชาชนโค่นผู้นำตนเอง

หรือสมมติจะเข้าใจไปเลยว่าอิบนุซุเบรล้มอับดุลมะลิกจริง ๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานจะเอามาอ้าง เนื่องจากมีรายงานจากบรรดาสาวกว่าพวกเขาได้ห้ามท่านอิบนุซุเบรมิให้สู้กับอับดุลมะลิก

ส่วนกรณีของชาวสะลัฟในยุคของอิบนุลอัชอัษโค่นล้มฮัจญาจนั้น ท่านอิบนุอะญัรได้อธิบายว่ามีรายงานว่ากลุ่มหนึ่งจากในหมู่พวกเขาเข้าใจไปตั้งแต่ต้นว่าฮัจญาจนั้นมีกุฟรฺอยู่ ซึ่งถือว่าคนละกรณีกับการล้มผู้นำมุสลิม

สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดเรื่องนี้ เราขอให้ท่านอ่านหนังสือ النقض على مجوزي المظاهرات والاعتصامات ของ ดร. อับดุลอะซี้ส บินมุฮัมมัด อัซซะอี้ด ตั้งแต่หน้าที่ 89 เป็นต้นไปมีการชี้แจงรายละเอียดตามที่เราสรุปมา

โหลดหนังสือได้ที่
http://islamancient.com/ressources/docs/574.pdf

และอ่านคำชี้แจงของเชคฮารีซีย์ สานุศิษย์ของเชคเฟาซาน เพิ่มเติมได้ที่ https://www.sahab.net/

ซึ่งทั้งหมดนี้แหละคือความคลุมเครือของสถานการณ์ตามที่เรากล่าวไป

ประเด็นที่สาม : การเกิดอิจมาอฺภายหลัง

ท่าน ดร.ได้เขียนมาว่า

“สำหรับประเด็นที่สอง ที่ว่า มันยังไม่มีอิจมาอฺ พวกท่านนี้แปลกและคาดการกันเอาเอง อิจมาอฺ ก็คือ การที่บรรดานักวิชาการระดับมุจตะฮิดเห็นพ้องต้องกันในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ในแต่ละยุคสมัยหลังจากยุคสมัยของท่านนบี (อัลมัหศูล ๔/๒๐ นิฮายะห์อัลสูล ๒/๒๗๓) ดังนั้น การที่บรรดามุจตะฮิดมีความเห็นเหมือนกัน ไม่มีใครเห็นต่าง หรือปฏิบัติต่างจากทัศนะนั้นๆในแต่ละยุคแต่ละสมัย ถึงจะถือว่าเป็นการอิจมาอฺ ประเด็นล้มผู้นำอธรรมในสามทศวรรษแรกนั้น เห็นได้ว่า ยังไม่เป็นเอกฉันท์ หลังจากยุคสลัฟเข้ายุคคอลัฟก็ไม่มีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ดังที่ได้กล่าวและยกตัวอย่างไปแล้ว และผู้ที่อ้างอิจมาอฺคนแรกเลยคืออิหม่ามอัลนะวะวีย์ ซึ่งอุลามาอฺมัซหับชาฟีอีย์เองก็ไม่เห็นด้วย จึงมีการอธิบายต่างๆนาๆที่ไม่ลงตัวเช่นกัน ซึ่งอิจมาอฺหลังจากยุคสลัฟ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกในมัซหับแต่ละมัซหับก็ยิ่งยากขึ้น เพราะต่างคนต่างตามทัศนะของอิหม่ามตนเอง ถึงขั้นว่าร้ายคนที่เห็นต่างสารพัด โรคนี้คงหายยากจากโลกนี้ เมื่อยังมีคนปิดตาเดินก้าวหน้าเช่นนี้”

อิจมาอฺเรื่องการล้มผู้นำนั้นได้เกิดขึ้นภายหลังจากฟิตนะฮฺของการสู้รบกับอัลฮัจญาจได้จบลงไป นี่คือสิ่งที่ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺสรุปมาความว่า

وَلِهَذَا اسْتَقَرَّ أَمْرُ أَهْلِ السُّنَّةِ عَلَى تَرْكِ الْقِتَالِ فِي الْفِتْنَةةِ لِلْأَحَادِيثِ الصَّحِيحَةِ الثَّابِتَةِ عَنِ النَّبِيِّ – صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ – وَصَارُوا يَذْكُرُونَ هَذَا فِي عَقَائِدِهِمْ ، وَيَأْمُرُونَ بِالصَّبْرِ عَلَى جَوْرِ الْأَئِمَّةِ وَتَرْكِ قِتَالِهِمْ ،

“และด้วยเหตุนี้เอง แนวทางอะฮฺลุซซุนนะฮฺจึงได้เกิดการมั่นคง (เห็นพ้อง) กันว่าให้ละทิ้งการสู้รบในยามเกิดฟิตนะฮฺเนื่องจากบรรดาหะดีษที่เศาะฮีฮฺจากท่านนบีได้ระบุสิ่งดังกล่าวไว้ และจึงได้กลายมาเป็นว่าบรรดาปราชญ์ซุนนะฮฺต่างก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ (ห้ามล้มผู้นำ) ไว้ในอะกีดะฮฺของพวกเขา และพวกเขาได้สั่งใช้ให้อดทนกับผู้นำชั่วและละทิ้งการสู้รบกับผู้นำแบบนี้” (มินฮาญุซซุนนะฮฺ 4/76)

อิมามอะห์มัด บินฮัมบัล เราะฮิมะฮุลลอฮ์กล่าวว่า :

الإمَامُ أَحْمَد بنُ حَنْبَل: « أَجْمَعَ سَبْعُونَ رَجُلاً مِن التَّابِعِينَ وأَئِمَّةِ المسْلِمِينَ وَأَئِمَّة السَّلَفِ وفُقَهاء الأَمْصَارِ، عَلى أنَّ السُّنّة التي تُوُفّي عَلَيْهَا رَسُولُ الله صَلَّى اللهُ عَلَيهِ وَسَلَّمَ … ـ وَذَكَر مِنْهَاـ : والصّبر تحتَ لِوَاء السُّلطان عَلَى مَا كَانَ مِنْهُ مِنْ عَدْلٍ أو جَوْرٍ، ولا نَخرُج عَلَى الأُمرَاء بالسَّيْفِ وَإنْ جَارُوا».

“อุลามะอ์ยุคตาบีอีน บรรดาผู้นำมุสลิมและผู้นำจากชาวสลัฟและนักวิชาการตามหัวเมืองทั้งหมดรวม 70 ท่านได้ยืนยันอิจมาอ์บนแนวทางที่ท่านเราะซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทิ้งไว้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตลง และหนึ่งในนั้นคือ : การอดกลั้นภายใต้ผืนธงของผู้นำ ตามสิ่งที่ผู้นำดำเนินไปไม่ว่จะเป็นความยุติธรรมหรือความอธรรมก็ตาม และเราต้องไม่ไปโค่นล้มผู้ปกครองด้วยคมดาบ หากพวกเขาได้เเสดงออกซึ่งความชั่วร้าย”

جَلاءُ العَيْنَيْن في مُحاكَمَةِ الأَحْمَدَيْنِ، نُعمان بن مَحمُود الأَلُوسِي (226)

เรื่องอิจมาการล้มผู้นำ อิมามบุคอรีย์ (นักฮะดีษในยุคสลัฟ อยู่ในปีที่ 194 ฮ.-256ฮ.) ก็ได้รายงานเรื่องนี้มา ชัยค์มุฮัมมัด สะอีด รอสลานได้กล่าวไว้ในคุตบะว่า:

แท้จริงอิหม่าม อัลบุคอรีย์ ได้กล่าวว่า เรื่องการห้ามโค่นล้มผู้นำที่เที่ยงธรรมและผู้นำที่กดขี่นั้นคือเรื่องของอัลอะกีดะอ์ –
อิมามบุคอรีย์ ขออัลลอฮ์ ทรงเมตตาเขา กล่าวว่า : ฉันได้พบกับผู้รู้มากกว่า 1 พันคน ที่เป็นชาวฮิญาสทั้งมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ และกูฟะอ์ และบัศเราะห์ และ วาศิต และบัฆด๊าด(อิรัก) และ ชาม และ มิศร์ (อียิปต์) ฉันเคยเจอพวกเขาอยู่หลายครั้ง ทั้งคนรุ่นหนึ่งแล้วก็รุ่นถัดไป หลังจากนั้นก็รุ่นหนึ่งถัดไปอีกรุ่นหนึ่ง หมายถึงจากยุคสมัยหนึ่งหลังจากนั้นก็ยุคสมัยถัดไป , ฉันได้พบกับพวกเขาจำนวนมาก โดยระยะเวลามากกว่า 46 ปีมาแล้ว ฉันได้พบผู้รู้ชาวชาม , ชาวมิศร์ (อีหยิบ) และ ชาวอัลญะซีเราะห์ ถึง 2 ครั้ง และชาวบัศเราะห์ 4 ครั้งในปีต่างๆ และชาวฮิญาส 6 ปี , ฉันก็ไม่ได้นับว่าฉันเคยเข้ากูฟะอ์กี่ครั้ง และ เคยเข้าบัฆด๊าดพร้อมกับนักฮะดีษจากบรรดาชาวคุรอซานและผู้รู้อีกจำนวนมาก และ อิมาม บุคอรีย์ ได้กล่าวอีกว่า : เรานั้นเพียงพอเเล้วต่อการเอ่ยถึงพวกเขาเหล่านั้น เพื่อจะได้เป็นการย่อความและไม่ให้เรื่องดังกล่าวนั้นยืดยาวจนเกินไป ฉะนั้นแล้วฉันไม่เคยเห็นผู้รู้คนใดเลยที่ขัดแย้งในสิ่งเหล่านี้

แหล่งที่มา : (ตัฟรียฆฺ คุตบะตฺ กัยฟะ ตะอ์ริฟุ้ลคอริญีย์ คุตบะตุ้ลญุมอัตฺ 22 มิน ญะมาดิ้ลอูวลาย์ 1436 ญิจเราะห์ อัลมุวาฟิกกฺ 13-3-2015) และท่านอิมามอัลลาลิกาอิก็ได้รายงานอิจมาอ์ที่อิมามบุคอรีพูดถึงมาเช่นกัน

นี่คือความเข้าใจของนักวิชาการที่ฟันธงว่าเรื่องนี้ได้เกิดอิจมาอฺขึ้นแล้ว

นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ ดร.อ้างว่า หากยังมีมุจตะฮิดค้านเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะถือว่าเรื่องนั้นมีอิจมาอฺไม่ได้ หากท่านวางความเข้าใจเช่นนั้น เราก็จะขอถามว่า เช่นนั้นสภาพ “การฝืนอิจมาอฺ” จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อท่านวางกฏว่าถ้ามีใครค้านอะไรเข้าก็ให้ถือว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีอิจมาอฺ

ขอให้เรานึกถึงกรณีของการนิกะฮฺมุตอะฮฺ ที่เราต่างก็ยอมรับว่ามันมีอิจมาอฺห้ามมิให้แต่งงานในแบบดังกล่าวอีก หลังจากได้เกิดการคิลาฟกันมาก่อน
وقال القاضي عياض رحمه الله :
” ثبت أن نكاح المتعة كان جائزاً في أول الإسلام ، ثم ثبت أنه نسخ بما ذكر من الأحاديث في هذا الكتاب وفى غيره ، وتقرر الإجماع على منعه ” انتهى من “إكمال المعلم” (4/275)

ท่านกอฏี อิยาฎ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า

“การนิกะห์มุตอะห์ (ชั่วคราว) ถือเป็นที่อนุญาตในช่วงแรกของอิสลาม หลังจากนั้น ก็ได้มีการยกเลิก ด้วยกับตัวบทหลายหะดิษในหนังสือนี้รึอื่นจากเล่มนี้ และพร้อมทั้งมียืนยันเป็นมติเอกฉันท์ว่า ห้ามนิกะห์มุตอะห์”

จากหนังสือ انتهى من إكمال المعلم เล่ม 4 หน้า 275

เชคมุนัดญิด ได้อธิบายว่า

ولا شك أن من يقول بجواز نكاح المتعة من أهل السنة فلا بد أن يكون عنده نوع شبهة وتأويل؛ لأن بعض المتقدمين من أهل العلم كان قد أجازه وبعضهم كرهه دون تحريم ، ثم استقر الإجماع بعد ذلك على تحريمه

“ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าผู้ที่บอกว่า อนุญาตให้นิกะห์มุตอะฮฺนั้น เป็นบุคคลที่มาจากอะฮฺลิซซุนนะห์ ซึ่งจำต้องเข้าใจว่า ณ ที่ของเขาผู้นั้นมีความคลุมเครือ และการตีความ(ผิด) ปรากฏอยู่ เพราะว่านักวิชาการสมัยก่อน เขาได้เคยอนุญาตการนิกะห์มุตอะฮฺและบ้างท่านก็บอกว่ามักรูฮฺโดยที่ไม่ถึงขั้นฮะรอม หลังจากนั้นก็ได้มีการลงมติเอกฉันท์ ในการห้ามนิกะห์มุตอะฮฺ”

ที่มา : https://islamqa.info/ar/226919

และแม้นักปราชญ์จะยืนยันกันแล้วว่า มุตอะฮฺเป็นที่ต้องห้ามโดยเอกฉันท์ แต่กระนั้นก็ยังมีนักปราชญ์บางท่าน “ยืนยัน” ว่าปัญหาการนิกะฮฺมุตอะฮฺเป็นปัญหาคิลาฟ (โปรดดูหนังสือ الشرح الكبير على المقنع เล่ม 26 หน้า 287)

ซึ่งแน่นอนว่าถ้ายึดตามกฏที่ ดร.เข้าใจ ปัญหาการนิกะฮฺมุตอะฮฺก็กลายเป็นปัญหาคิลาฟอีก เนื่องจากมีนักวิชาการอนุญาตมันและมีนักวิชาการบางท่านที่เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวยังคิลาฟอยู่ ทั้งที่ก็มีรายงานอิจมาอฺมาแล้วก็ตาม

ฉะนั้นถ้าท่าน ดร. อิบรอฮีม คิดว่าเรื่องล้มผู้นำเป็นปัญหาคิลาฟ เพราะมีคนค้านการห้ามล้มผู้นำอยู่ ท่านก็จงกล่าวว่าปัญหามุตอะฮฺก็มีคิลาฟเช่นเดียวกัน และท่านควรจะไปประณามทุกคนที่โต้ชีอะฮฺในประเด็นนี้ด้วย

ส่วนที่ท่าน ดร. อิบรอฮีม พูดมาว่า “และผู้ที่อ้างอิจมาอฺคนแรกเลยคืออิหม่ามอัลนะวะวีย์”

ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าท่านไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเด็นอิจมาอฺนี้เลย

حَدَّثَنَا أَبُو مُحَمَّدٍ عَبْدُ الرَّحْمَنِ بْنُ أَبِي حَاتِمٍ ، قَالَ : سَأَلْتُ أَبِي وَأَبَا زُرْعَةَ عَنْ مَذَاهِبِ أَهْلِ السُّنَّةِ فِي أُصُولِ الدِّينِ ، وَمَا أَدْرَكَا عَلَيْهِ الْعُلَمَاءَ فِي جَمِيعِ الْأَمْصَارِ ، وَمَا يَعْتَقِدَانِ مِنْ ذَلِكَ ؟
فَقَالَا : ” أَدْرَكْنَا الْعُلَمَاءَ فِي جَمِيعِ الْأَمْصَارِ حِجَازًا وَعِرَاقًا وَشَامًا وَيَمَنًا فَكَانَ مِنْ مَذْهَبِهِمُ… وَلَا نَرَى الْخُرُوجَ عَلَى الْأَئِمَّةِ وَلَا الْقِتَالَ فِي الْفِتْنَةِ

“ท่านอบูมุฮัมมัดอับดุรเราะฮฺมาน บินอบีย์ฮาติม ได้กล่าวว่า ฉันได้ถามบิดาของฉันและท่านอะบาซุรอะฮฺเกี่ยวกับแนวทางอะฮฺลุซซุนนะฮฺในเรื่องอุศู้ล (ราก) ของศาสนา และสิ่งที่ท่านทั้งสองได้พบว่าบรรดานักวิชาการในทุกมุมเมืองของโลกอิสลามได้ยึดถือกันและสิ่งที่ท่านทั้งสองได้เชื่อกัน และทั้งสองท่านก็ตอบว่า พวกเราได้ทันพบบรรดานักวิชาการในทุกหัวเมืองทั้งฮิญาซ, อิรัก เยเมน และปรากฏว่าสิ่งที่เป็นมัสฮับของพวกเขาก็คือ…พวกเรา (ชาวสุนนะฮฺ) จะไม่ยึดถือแนวคิดเรื่องการโค่นล้มผู้ปกครองและไม่ยึดถือการสู้รบในยามฟิตนะฮฺ” หนังสือ شرح أصول اعتقاد أهل السنة والجماعة เล่ม 197-199

สำนวนข้างต้นเป็นสำนวนการรายงานอิจมาอฺตามแนวทางของซุนนะฮฺ ด้วยเหตุนี้เองท่านอบุลฮะซัน อัลอัชอะรีย์ จึงได้กล่าวว่าเรื่องการห้ามล้มผู้นำนั้นเป็นมติเอกฉันท์ไว้ในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า رِسَالَة لأَهْلِ الثُّغُورِ بِبَابِ الأَبْوَاب لِأَبِي الحسَن الأَشْعَرِي หน้าที่ 168 (ดูตัวบทที่แนบมาข้างล่าง)

«الإجمَاعُ الخَامِسُ وَالأرْبَعُونَ:
وَأَجْمَعُوا عَلى السَّمْعِ والطَّاعَةِ لِأئِمَّةِ المسْلِمِينَ وَعَلَى أَنَّ كُلَّ مَنْ وَلِيَ شَيْئاً مِنْ أُمورِهِم عَنْ رِضَى أَوْ غَلبَةٍ وامتَدَّتْ طاعَتُه مِن بَرّ وفَاجرٍ لاَ يَلْزَمُ الخرُوج عَلَيْهِم بِالسَّيْفِ جَارَ أَو عَدَلَ، وعَلَى أَنْ يَغْزُوا مَعَهُم العَدُو، ويحجّ مَعهم البَيت، وتُدفَع إِلَيهِمْ الصَّدَقَات إِذَا طَلَبُوهَا ويُصَلَّى خَلْفَهُم الجُمع والأَعْيَاد»

ท่านอบุล ฮะซัน อัลอัชอารีย์ได้กล่าวว่า และบรรดานักวิชาการได้เอกฉันท์กันว่าให้เชื่อฟังต่อผู้นำมุสลิม ไม่ว่าผู้นำนั้นจะดีหรือเลวก็ตาม
และจะอยุติธรรมหรือยุติธรรมก็ตามจะไม่เป็นเหตุทำให้จำเป็นที่ต้องโค่นล่มพวกเขาด้วยกับคมดาบ

นอกจากนี้ยังมีท่านอื่น ๆ ที่ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นอิจมาอฺก่อนหน้าอิมามอันนะวะวีย์ ซึ่งมันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลยกับการที่ท่าน ดร.จะค้นหาข้อมูลดังกล่าว

ประเด็นที่สี่ : เรื่องเคาะวาริจฺ

ท่าน ดร.เขียนว่า

“ตามทัศนะเชคอับดุลกะรีม กลุ่มเคาะวาริจฺเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านอะลี แต่เป็นกลุ่มที่มีอะกีดะห์ตักฟีรผู้กระทำบาปใหญ่ ด้วยอะกีดะห์เช่นนี้พวกเขาจึงหุกมผู้นำอธรรมว่าเป็นกาฟิร เพราะการอธรรมถือเป็นบาปใหญ่ในมุมมองของพวกเขา ซึ่งทัศนะนี้ก็ถูกต้อง เห็นด้วยอย่างยิ่ง และผมก็ได้พูดถึงมันในบทความของผมก่อนหน้านี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะสะกิดผู้อ่าน ณ ที่นี้ คือ บรรดาคนที่ไม่เห็นด้วยกับอะลีย์ร่อฎิยัลเลาะห์อันฮฺนั้น มี ๒ กลุ่ม กลุ่มมุอาวิยะห์ กับกลุ่มที่แยกออกจากอะลี ซึ่งกลุ่มที่อยู่กับอะลี ที่มีบรรดาศอหะบะห์โดยสวนมาก ถูกเรียกว่า ชีอะห์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สนับสนุนอะลี กลุ่มที่แยกออกจากอะลี ถูกเรียกว่า เคาะวาริจฺ กลุ่มเหล่านี้ แรกๆเป็นเพียงกลุ่มการเมือง ไม่ได้มีหลักอะกีดะห์ที่ผิดเพี้ยน แต่อย่างใด ต่อมากลุ่มเหล่านี้ได้มีการพัฒนาไปในทางที่ผิดเพี้ยน มีหลักอะกีดะห์ที่ขัดแย้งกับอะห์ลุลซูนนะห์ ทำให้อุลามาอฺซุนนะห์ทั้งหลายต้องลุกขึ้นออกมาชี้แจงความหลงผิดของพวกเขา และจำแนกเป็นกลุ่มบิดเบือน”

เราไม่ทราบว่า ท่าน ดร.เขียนประโยคนี้จะเอาอะไร ก็ขอข้ามไปวรรคถัดมาเลยแล้วกัน ท่านกล่าวอีกว่า

“แน่นอนกลุ่มเคาะวาริจฺเป็นกลุ่มอะกีดะห์ที่บิดเบือน มีหลักอะกีดะห์ที่ไม่เหมือนอะห์ลุลซุนนะห์ ซึ่งกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านผู้นำ ณ ปัจจุบัน พูดง่ายๆตามเจตนาของพวกท่าน คือ กลุ่มอิควาน ไม่ได้เป็นกลุ่มอะกีดะห์แต่อย่างใด เพราะไม่มีสักคนในกลุ่มพวกเขายอมรับว่าเป็นเคาะวะริจฺ พวกเขาเป็นกลุ่มเรียกร้องสู่อิสลามเพื่อต่อต้านศัตรูของอิสลาม สมาชิกกลุ่มนี้ยอมรับว่าพวกเขาตามอะห์ลุลซุนนะห์”

ชี้แจ้ง: การที่ใครจะเป็นเคาะวาริจฺหรือไม่ ไม่ได้ดูที่การยอมรับตนเองหรือเปล่าหรอกครับ เขาดูที่ความเชื่อของคนกลุ่มนี้ ไอซิสเองก็ไม่เคยยอมรับว่าตนเองเป็นเคาะวาริจฺอยู่แล้ว อิควานก็เช่นเดียวกัน คือถ้าจะคุยว่าอิควานมีอะกีดะฮฺตรงกับเคาะวาริจฺไหม อันนี้ต้องตั้งประเด็นใหม่ต่างหากครับ

ท่าน ดร.กล่าวว่า

“สวนเรื่องการล้มผู้นำอธรรม ประเด็นนี้ก็มีการชี้แจงไปแล้ว ซึ่งหากพวกเขาเลือกเดินผิดเส้นทางของอะห์ลุลซุนนะห์เสียงสวนมาก อย่างน้อย ((อันเนื่องจากการตีความที่เกิดขึ้นในมุมมองของพวกเขา)) อย่างที่เชคอัลคุฏ็อยรฺได้กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกกระทำเช่นนั้น ส่วนประเด็นที่ว่าพวกเขาตักฟีรผู้นำ อันนี้ท่านจะต้องนำหลักฐานที่ชัดเจนจากปากพวกเขาผ่านงานเขียนหรือสื่ออื่น ที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าพวกเขาตักฟีรผู้นำอธรรมจริง ไม่ใช่เอาข้อมูลจากคนที่เกลียดชังพวกเขาฝ่ายเดี่ยว แบบนี้มันยุติธรรมแล้วหรือ”

ชี้แจง: แทบทุกกลุ่มในยุคปัจจุบันที่โค่นล้มผู้นำ คนพวกนี้อ้างกันว่าผู้นำเป็นกาฟิรกันหมดแล้ว จึงไม่สามารถจับลงประเภทขอบุฆอตตามที่เชคคุฏ็อยรฺระบุไว้ ส่วนหลักฐานการตักฟีรผู้นำนั้น ท่าน ดร.ยังไม่สามารถอีกเหรอว่ามีคนตักฟีรผู้นำอียิปต์อยู่โทนโท่!!?

ท่าน ดร. กล่าวต่อไปอีกว่า

“อย่างไรก็ตาม หากเกิดการตักฟีรจริง อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีการตักฟีรพี่น้องมุสลิมด้วยกัน ก็ยังไม่สามารถที่จะจำแนกผู้คนเหล่านี้ว่าเป็นเคาะวาริจฺได้ อย่างมาก พวกเขาแค่มีลักษณะคล้ายเคาะวาริจฺหรือได้กระทำการงานของเคาะวาริจฺก็เท่านั้น ไม่ได้เป็นเคาะวาริจที่ท่านนบีได้พูดถึงในหะดีษแต่อย่างใด เหมือนกับหะดีษที่มีความหมายว่า สัญลักษณ์คนมุนาฟิก มี ๓ ประการ เมื่อเขาพูด เขาโกหกในคำพูด เมื่อเขาสัญญา เขาผิดสัญญา เมื่อถูกมอบอามานะห์ เขาไม่รักษาอะมาอะห์ (ศอหิหฺอัลบุคอรีย์ เลข ๓๓) ผู้กระทำสามประการในหะดีษนี้ ไม่ได้เป็นมุนาฟิกที่ตกมุรตัด แม้นว่าลักษณะสามประการนั้นเป็นลักษณะของคนมุนาฟิกที่เปลือกนอกอิสลามแต่เปลือกในกุฟร์ก็ตาม หรือจะถือเป็นมุนาฟิกอะมาลีย์ แต่ไม่ได้เป็นมุนาฟิกเชิงอะกีดะห์ที่ทำให้เขาออกจากศาสนาแต่อย่างใด”

ชี้แจง: ลักษณะของเคาะวาริจฺคือการตักฟีรผู้นำด้วยบาปใหญ่และโค่นล้มผู้นำในลำดับต่อมา ท่านไปเอาหลักจากไหนว่าแบบนี้แค่คล้าย แบบนี้เป็นเคาะวาริจฺ ช่วยอธิบายหลักหน่อยสิ คนทำชิริกก็คือมุชริกตามหลักการศาสนา (หากครบเงื่อนไขการตักฟีร) จะตรงกับมุชริกที่อัลกุรอานกล่าวทุกข้อหรือไม่นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนหะดีษมุนาฟิกที่ท่านยกมาก็นอกประเด็นครับ อันนั้นนักวิชาการเขารู้กันว่าเป็นการพูดถึงพฤติกรรมของการกลับกลอกโกหกผิดสัญญา ไม่ได้หมายถึงมุนาฟิกที่เป็นกาฟิรฺในใจและเสรแสร้งเป็นมุสลิมภายนอก ท่านจะเอามาเทียบกับกรณีเคาะวาริจฺไม่ได้ เพราะฐานใหญ่ของเคาะวาริจฺคือการตักฟีรผู้นำจากบาปใหญ่และโค่นล้ม เราไม่ได้คุยกันถึงรายละเอียดย่อยของเคาะวาริจฺ

ยังมีประเด็นตกหล่นอีกเยอะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือของชัยคฺอุดะมีญีย์และข้ออ้างอื่น ๆ ของท่านซึ่งเราจะมานำเสนอกันในตอนต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


Facebook Tags: #ห้ามโค่นล้มผู้นำ #แนวทางสะลัฟไม่โค่นล้มผู้นำที่อธรรมตราบใดที่ยังเป็นมุสลิม