[ประเด็นร้อนเดือนเราะมะฎอน] การดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันแรกของเดือนใหม่ ตอนที่ 1

[บทความนี้มี 2 ตอน โปรดอ่านให้จบ พิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางและ #เปิดใจให้กว้างแก่ทรรศนะที่เราไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้]

ทรรศนะที่ 1: เมื่อชาวเมืองใดเมืองหนึ่งได้เห็นจันทร์เสี้ยว เมืองอื่น ๆ ทั้งหมดก็จำต้องเห็นพ้องและปฏิบัติตาม

  • อิมามอิบนุลมุนซิร (ฮ.ศ. 241-318; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอัชชาฟิอี)

“เมื่อมีการยืนยันเห็นจันทร์เสี้ยว ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง และไม่มีการยืนยันว่าเห็นจันทร์เสี้ยว ณ เมืองอื่น ๆ บรรดานักวิชาการมีทรรศนะที่แตกต่างกันในเรื่องนี้เป็นสองทรรศนะ ดังนี้ :-

(1) ให้แต่ละเมืองใช้เกณฑ์การเห็นจันทร์เสี้ยวของตนเอง (โดยที่ประเทศอื่นไม่จำเป็น (ไม่วาญิบ) ต้องตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของประเทศดังกล่าว) นี่คือทรรศนะของอิกริมะฮ์, อิสหาก (อิบนุรอฮะวัยฮ์), อัลกอสิม และสาลิม

(2) แต่ท่านอื่น ๆ กลับกล่าวว่า : เมื่อเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนทั้งหลายว่าประชาชนของเมืองใดเมืองหนึ่งได้เห็นจันทร์เสี้ยว พวกเขาทั้งหมดจำเป็นต้องตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของเมืองนั้น โดยที่พวกเขาต้องถือศีลอดชดใช้ (เกาะฎออ์) อันเนื่องมาจากพวกเขาไม่ได้ถือศีลอดในวันนั้น นี่คือทรรศนะของอิมามอัลลัยษ์ อิบนุสะอฺด์, อิมามอัชชาฟิอี และอิมามอะห์มัด (อิบนุหัมบัล) รวมถึงอัลมะดะนี (หมายถึง อิมามมาลิก อิบนุอะนัส) และอัลกูฟี (หมายถึง อิมามอะบูหะนีฟะฮ์) ด้วยเช่นกัน”

[อิบนุลมุนซิร, อัลอิชรอฟ อะลา มะซาฮิบ อัลอุละมาอ์, อะบูหัมมาด เศาะฆีร อะห์มัด อัลอันศอรี (บรรณาธิการ), (มักกะฮ์: มักตะบะฮ์ มักกะฮ์ อัษษะกอฟียะฮ์, 2004-1425), เล่ม 3: หน้า 112.]

“ตามการอ้างอิงของอิมามอันนะวะวี เกี่ยวกับคำพูดดังกล่าวของอิมามอิบนุลมุนซิร ทำให้เราเข้าใจว่า แท้จริงแล้วบรรดาอิมามทั้งสี่มัซฮับรวมทั้งอิมามอัลลัยษ์ อิบนุสะอฺด์ ทั้งหมดล้วนมีทรรศนะว่า ความแตกต่างด้านมัฏละอ์ไม่มีผล (ต่อการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันแรกของเดือนใหม่)”

[อะห์มัด มุหัมมัด ชากิร, อะวาอิล อัชชุฮูร อัลอะเราะบียะฮ์ฯ, (อียิปต์: มุเฏาะบะอะฮ์ มุศเฏาะฟา อัลบาบี อัลหะละบี, 1939-1358), หน้า 17.]

“ทรรศนะแห่งปวงปราชญ์ส่วนใหญ่ (ญุมฮูร) กล่าวว่า การถือศีลอดระหว่างชาวมุสลิมนั้นจะต้องเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของมัฏละอ์ (ตำแหน่งการขึ้นของจันทร์เสี้ยว)”

[วะฮ์บะฮ์ อัซซุหัยลี, อัลฟิกฮ์ อัลอิสลามี วะอะดิลละตุฮู, พิมพ์ครั้งที่ 2, (ดามัสกัส: ดาร อัลฟิกร์, 1405-1985), เล่ม 2: หน้า 605.]


“ไม่มีการพิจารณาด้านความแตกต่างของมัฏละอ์เป็นเกณฑ์ในเรื่องการเห็นจันทร์เสี้ยว นอกจากปราชญ์บางส่วนจากมัซฮับชาฟิอี ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นทรรศนะที่มีน้ำหนักมากกว่า (รอญิห์) ส่วนทรรศนะที่ถูกยึดถือ (มุอ์ตะมัด) ของปราชญ์มัซฮับชาฟิอีอีกส่วนหนึ่งและอีก 3 มัซฮับ (อัลหะนะฟี, อัลมาลิกี และอัลหัมบะลี) ถือว่ามุสลิมทุกคนจำต้องถือศีลอดตามการเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศใดก็ตาม”

[สะอีด หะวา, อัลอะสาส ฟิสสุนนะฮ์ วะฟิกฮิฮา, (ไคโร:ดาร อัสสะลาม, 1414-1994), ส่วนที่ 3 อัลอิบาดาต ฟิลอิสลาม, เล่ม 6: หน้า 2537.]

  • อิมามอัลค็อฏฏอบี (ฮ.ศ. 319-388; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอัชชาฟิอี)

“(อิมามอัลค็อฏฏอบี กล่าวว่า) นักนิติศาสตร์อิสลามส่วนมากกล่าวว่า : เมื่อได้รับการยืนยันด้วยการบอกเล่าของผู้คนว่าประชาชนในประเทศใด ๆ มีการเห็นจันทร์เสี้ยวก่อนหน้าพวกเขา พวกเขาจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ (ตามจำนวนวันที่ขาดไป) นี่คือทรรศนะของอิมามอะบูหะนีฟะฮ์และสหายของท่าน, ทรรศนะของอิมามมาลิก และเป็นทรรศนะที่อิมามอัชชาฟิอี และอิมามอะห์มัด อิบนุหัมบัล ได้ยึดถือปฏิบัติ”

[ชัมสุลหัก อัลอะซีม อาบาดี, เอานุลมะอ์บูด ชัรห์ สุนัน อะบีดาวุด,อับดุรเราะห์มาน มุหัมมัด อุษมาน (บรรณาธิการ), พิมพ์ครั้งที่ 2, (มะดีนะฮ์: อัลมักตะบะฮ์ อัสสะละฟียะฮ์, 1968-1388), เล่ม 6: หน้า 454.]

“เมื่อชาวเมืองใดเมืองหนึ่งได้เห็นจันทร์เสี้ยว เมืองอื่น ๆ ทั้งหมดก็จำต้องเห็นพ้องและปฏิบัติตาม”

[อัชเชากานี, อัดดุร็อร อัลบะฮียะฮ์ ฟิลมะสาอิล อัลฟิกฮียะฮ์, (ฏ็อนฏอ: มักตะบะฮ์ อัศเศาะหาบะฮ์, 1987-1408), หน้า 24; ศิดดีก หะสัน คอน, อัรเราเฎาะฮ์ อันนะดียะฮ์ ชัรห์ อัดดุร็อร อัลบะฮียะฮ์, มุหัมมัด ศุบหี้ หะสัน หัลลาก (บรรณาธิการ), พิมพ์ครั้งที่ 2, (เบอร์มิงแฮม: ดาร อัลอัรก็อม, 1993-1413), เล่ม 1: หน้า 537; มุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานี, อัตตะอ์ลีกอต อัรเราะฎียะฮ์ อะลัรเราเฎาะฮ์ อันนะดียะฮ์,อะลี หะสัน อัลหะละบี (บรรณาธิการ),(ไคโร: ดาร อิบนุอัฟฟาน, 2003-1423), เล่ม 2: หน้า 12.]

  • อิบนุกุดามะฮ์ (ฮ.ศ. 541-620; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอะห์มัด (อัลหัมบะลี))

“มวลบรรดามุสลิมได้ร่วมกันมีมติว่า หากมีการแจ้งหรือประจักษ์ซึ่งจันทร์เสี้ยว เพื่อกำหนดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน จากมุสลิมที่เชื่อถือได้ จำเป็นที่ทุก ๆ คนต้องถือศีลอดทันที”

[อิบนุกุดามะฮ์ อัลมักดิซี, อัลมุฆนี, อับดุลลอฮ์ อิบนุอับดิลมุห์สิน อัตตุรกี และอับดุลฟัตตาห์ มุหัมมัด อัลหุลว์ (บรรณาธิการ), พิมพ์ครั้งที่ 3, (ริยาด: ดาร อาลัม อัลกุตุบ, 1997-1417), เล่ม 4: หน้า 329.]

  • อิมามอันนะวะวี (ฮ.ศ. 631-676; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอัชชาฟิอี)

“เมื่อพวกเขากลุ่มหนึ่งเห็นจันทร์เสี้ยวที่เมืองหนึ่ง แต่ที่เมืองอื่นนั้นไม่เห็นจันทร์เสี้ยว ฉะนั้นแท้จริงแล้วการที่สองเมืองมีอาณาเขตใกล้เคียงกันก็ให้ถือว่าเป็นประเทศเดียวกัน ชาวเมืองอีกเมืองหนึ่งจึงต้องถือศีลอดตามผู้ที่เห็นจันทร์เสี้ยวโดยไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ในประเด็นนี้ ทว่า หากทั้งสองเมืองมีระยะทางที่ห่างไกลกัน (จนมีความแตกต่างด้านมัฏละอ์) ในประเด็นนี้มีสองทรรศนะใหญ่ ๆ คือ

– (ทรรศนะที่หนึ่ง) ซึ่งเป็นทรรศนะที่ถูกต้องกว่าจากสองทรรศนะนี้ (อะเศาะห์) ถือว่าชาวเมืองอื่นไม่วาญิบต้องถือศีลอดตาม ซึ่งเป็นทรรศนะที่ผู้เขียน (คืออิมามอัชชีรอซี), อะบูหามิด (อัลเฆาะซาลี), อัลบันดะนีญี และคนอื่น ๆ ได้ชี้ขาด และได้ยืนยันว่าถูกต้องโดยอัลอับดะรี, อัรรอฟิอี และนักวิชาการส่วนใหญ่ (ในมัซฮับชาฟิอี)

– ทรรศนะที่สอง ชาวเมืองอื่นวาญิบ (ต้องถือศีลอดตามประเทศที่เห็นจันทร์เสี้ยว) ซึ่งเป็นทรรศนะของอัศศ็อยมะรี และได้ยืนยันว่าถูกต้องโดยอัลกอฎี อะบุฏฏ็อยยิบ, อัดดาริมี, อะบูอะลี อัสสินญี และคนอื่น ๆ”

[อันนะวะวี, กิตาบ อัลมัจญ์มูอ์ ชัรห์ อัลมุฮัซซับ ลิชชีรอซี, มุหัมมัด นะญีบ อัลมุฏีอี (บรรณาธิการ), (เจดดาห์: มักตะบะฮ์ อัลอิรชาด, ม.ป.ป.), เล่ม 6: หน้า 280.]

  • อิบนุอาบิดีน (ฮ.ศ. 1198-1252; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอะบีหะนีฟะฮ์ (อัลหะนะฟี))

“ความแตกต่างของมัฏละอ์ และการเห็นจันทร์เสี้ยวในเวลากลางวันก่อนเวลาตะวันคล้อยและหลังตะวันคล้อย ไม่ถูกพิจารณาตามทรรศนะที่ปรากฏชัดของมัซฮับ และบรรดาคณาจารย์อาวุโสในมัซฮับส่วนมาก ตลอดจนการฟัตวาในมัซฮับถือตามหลักที่ว่านี้ดังนั้นคนที่อยู่ทางทิศตะวันออกจำเป็นต้องถือศีลอดตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของคนที่อยู่ทางทิศตะวันตก ทั้งนี้เมื่อการเห็นของคนทางทิศตะวันตกเป็นที่แน่ชัด”

[อิบนุอาบิดีน, ร็อดดุลมุห์ตาร อะลัดดุรริลมุคตารฯ, (ริยาด: ดาร อาลัม อัลกุตุบ, 2003-1423), เล่ม 3: หน้า 363-364.]

  • ตำราชื่อดังแห่งมัซฮับอิมามมาลิก (อัลมาลิกี)

“มัซฮับอิมามมาลิก กล่าวว่า : เมื่อจันทร์เสี้ยวถูกเห็น การถือศีลอดก็ครอบคลุมดินแดนอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าดินแดนนั้นจะใกล้หรือไกลก็ตาม โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะทางของการละหมาดย่อ และไม่ต้องคำนึงถึงมัฏละอ์ว่าตรงกันหรือไม่ ดังนั้นทุกคนที่ข่าวการเห็นจันทร์เสี้ยวไปถึงผู้นั้นก็จำเป็นต้องถือศีลอด ทั้งนี้หากข่าวการยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวได้ถูกถ่ายทอดโดยการเป็นพยานของผู้ที่มีคุณธรรม 2 คน หรือกลุ่มคณะบุคคลที่รับรู้กันแพร่หลาย”

“อัชชัรหุลกะบีร” 1/510; “บิดายะตุลมุจญ์ตะฮิด” 1/278; “อัลเกาะวานีน อัลฟิกฮียะฮ์” หน้า 116

[วะฮ์บะฮ์ อัซซุหัยลี, อัลฟิกฮ์ อัลอิสลามี วะอะดิลละตุฮู, พิมพ์ครั้งที่ 2, (ดามัสกัส: ดาร อัลฟิกร์, 1405-1985), เล่ม 2: หน้า 606.]

  • อิมามอัลบุฮูตี (ฮ.ศ. 1000-1051; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอะห์มัด (อัลหัมบะลี))

“เมื่อการเห็นจันทร์เสี้ยวเป็นที่ยืนยัน ณ สถานที่หนึ่ง จะใกล้หรือไกลก็ตาม การถือศีลอดก็จำเป็นสำหรับผู้คนทั้งหมด และข้อชี้ขาดของคนที่ไม่เห็นจันทร์เสี้ยวก็คือข้อชี้ขาดของคนที่เห็นจันทร์เสี้ยว”

[อัลบุฮูตี, กัชชาฟุลกินาอ์ อะนิลอิกนาอ์, (ซาอุดีอาระเบีย: กระทรวงยุติธรรม, 2003-1424), เล่ม 5: หน้า 206-207.]

  • อิบนุมุฟลิห์ (ฮ.ศ.816-884; มุจญ์ตะฮิดแห่งมัซฮับอิมามอะห์มัด (อัลหัมบะลี))

“หากได้มีการพิสูจน์การเห็นจันทร์เสี้ยวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าแต่ละเมืองหรือแต่ละประเทศจะอยู่ใกล้หรือไกลกัน ให้ทุก ๆ ท้องที่ทำการถือศีลอดตามกันได้ทันที อันเนื่องจากว่ากฎของผู้ที่ได้เห็นจันทร์เสี้ยวมันคือกฎอันเดียวกันกับผู้ที่มิได้เห็นมัน ถึงแม้ว่ามัฏละอ์แต่ละท้องถิ่นแต่ละประเทศจะแตกต่างกันก็ตาม อันนี้ถือว่าเป็นทรรศนะที่อิบนุมุฟลิห์ได้วางเป็นตัวบทเอาไว้ และก็มีนักวิชาการส่วนมากกล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวมันคือสิ่งที่บ่งบอกถึงโดยทั่ว ๆ ไป (อุมูม) เช่นเดียวกันกับข้อบัญญัติต่าง ๆ ที่คนทุกคนร่วมกันปฏิบัติได้ทุกสถานที่ทั่วโลก เช่นกันนั้นรวมถึงการถือศีลอดด้วย ดังกล่าวคือทรรศนะของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง (ของมัซฮับหัมบะลี) และอัลกอฎี (อะบูยะอ์ลา) พร้อมทั้งสหายของท่าน รวมไปถึงเจ้าของตำรา ‘อัลมุฆนี’ (คือ อิบนุกุดามะฮ์) และตำรา ‘อัลมุหัรร็อร’ (คือ มัจญ์ดุดดีน อิบนุตัยมียะฮ์)”

[อิบนุมุฟลิห์, กิตาบุลฟุรูอ์, อับดุลลอฮ์ อิบนุอับดิลมุห์สิน อัตตุรกี (บรรณาธิการ), (เบรุต: มุอัสสะสะฮ์ อัรริสาละฮ์, 2003-1424), เล่ม 4: หน้า 413-414.]

“โปรดทราบเถิดว่า แท้จริงสิ่งที่ถูกนำมาอ้างอิงนั้นมันคือหะดีษที่จัดอยู่ในฐานะสูงส่ง เนื่องจากมีเศาะหาบะฮ์ร่วมกันเล่าหะดีษหลาย ๆ ท่าน จากริวายะฮ์ (การบอกเล่า) ของอิบนุอับบาส โดยไม่เกี่ยวข้องกับการที่อิบนุอับบาสใช้การวิเคราะห์หะดีษหรือใช้ดุลยพินิจส่วนตัวตามที่คนส่วนมากพากันเข้าใจว่า อิบนุอับบาสไม่ยอมรับการเห็นฮิลาลของกุร็อยบ์ที่เมืองชามกับคนในเมืองนั้น แต่สิ่งที่ชี้ชัดและยืนยันในเรื่องดังกล่าวก็คือคำพูดของอิบนุอับบาสเองที่ว่า ‘ด้วยกับสิ่งนี้เองที่ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ สั่งให้เรากระทำ’ และคำพูดของท่านเองอีกว่า ‘พวกเราจึงดำรงไว้ซึ่งการถือศีลอดต่อไปจนกว่าจะครบ 30 วัน’

ตรงนี้คือคำสั่งที่เกิดขึ้นมาจากท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ก็คือหะดีษที่อิมามอัลบุคอรีและอิมามมุสลิมได้ร่วมกันบันทึกหะดีษดังกล่าว (อัชชัยคอน) รวมทั้งอิมามนักหะดีษท่านอื่นๆ ว่า ‘พวกท่านอย่าถือศีลอดจนกว่าจะเห็นจันทร์เสี้ยว และพวกท่านอย่าออกอีด (อีดิลฟิฏร์) จนกว่าจะเห็นมัน หากมัน (จันทร์เสี้ยว) ถูกบดบังแก่พวกท่าน ก็จงนับเดือนให้ครบ 30 วัน’

คำสั่งใช้ดังกล่าวมิได้หมายถึงกลุ่มชนที่อยู่มุมใดหรือทิศใดทิศหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แต่ทว่าคำสั่งของท่านคือสิ่งที่อนุญาตให้กับมวลมุสลิมทุกคน
ยิ่งไปกว่านั้นมันคือสาส์นจากท่านนะบี ﷺ ถึงประชาชาติโดยรวม ฉะนั้นแล้วการนำหลักฐานมายืนยันในเรื่องที่จำเป็นต้องติดตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของประเทศหนึ่งประเทศใดชัดเจนยิ่งกว่าการนำเสนอหลักฐานที่ไม่ให้มีการเชื่อหรือติดตามกัน

เนื่องจากว่าเมื่อใดที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเห็นจันทร์เสี้ยวแล้ว นั่นก็ย่อมหมายถึงการเห็นของมวลมุสลิมโดยทั่วไปด้วย เพราะสิ่งใดที่จำเป็นต่อพวกเขามันก็คือข้อจำเป็นสำหรับผู้อื่นด้วย
. . .
การที่อิบนุอับบาสไม่ยอมรับการเห็นฮิลาลของประชาชนเมืองชาม ทั้งที่ระยะทางของทั้งสองเมือง (มะดีนะฮ์กับชาม) มิได้ห่างไกลกันมากเกินไป ที่จะนำมาเป็นประเด็นสำคัญในเรื่องของข้อแตกต่างทางด้านมัฏละอ์ของแต่ละพื้นที่มิได้เด็ดขาด แต่มันคือการใช้ดุลยพินิจของอิบนุอับบาสเอง ซึ่งมันมิได้มาจากตัวบทของศาสนา”

[มุหัมมัด อิบนุอะลี อัชเชากานี, นัยลุลเอาฏอรฯ,มุหัมมัด ศุบหี้ อิบนุหะสัน หัลลาก (บรรณาธิการ), (อัดดัมมาม: ดาร อิบนุลเญาซี, 1427), เล่ม 8: หน้า 250-251.]


“มิพักต้องไปสนใจคำพูดของอิบนุอับดิลบัรที่ว่าการยึดเอาการเห็นฮิลาลได้ทุก ๆ ที่ นับว่าเป็นการฝืนมติของเหล่าเศาะหาบะฮ์ อันเนื่องจากว่าพวกเขาไม่อนุญาตให้ดูฮิลาลจากที่หนึ่งที่ใดที่มีระยะทางที่ไกลกัน เช่น เมืองโคราซาน (เมืองหนึ่งในอิหร่าน) กับสเปน อนึ่ง มติเอกฉันท์ (อิจญ์มาอ์) ในเรื่องดังกล่าวตามที่อิบนุอับดิลบัรอ้างนั้นถือว่าไม่สมบูรณ์ อันเนื่องจากประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ขัดแย้งในหมู่พวกท่านอยู่”

[มุหัมมัด อิบนุอะลี อัชเชากานี, นัยลุลเอาฏอรฯ,มุหัมมัด ศุบหี้ อิบนุหะสัน หัลลาก (บรรณาธิการ), (อัดดัมมาม: ดาร อิบนุลเญาซี, 1427), เล่ม 8: หน้า 252.]

“ส่วนการเสนอตัวบทของผู้ที่นำเอาหะดีษกุร็อยบ์ที่อิมามมุสลิมบันทึกไว้ในเศาะหี้ห์ของท่านรวมทั้งนักหะดีษท่านอื่น

. . .

อันนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากว่าอิบนุอับบาสเองก็มิได้ยืนยันว่า ท่านนะบี ﷺ สั่งใช้มิให้รับการเห็นจันทร์เสี้ยวที่ใดที่หนึ่งจากดินแดนทั้งหลาย แต่ทว่ามันเป็นการสงสัยของอิบนุอับบาสเองที่เข้าใจว่าการเห็นฮิลาล (เพื่อกำหนดวันแรกของเราะมะฎอนหรือกำหนดวันอีด) ขึ้นอยู่กับเฉพาะท้องที่ใดท้องที่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งใครก็ตามเข้าใจต่อสิ่งดังกล่าวนับว่าเป็นการนำตัวบทของศาสนามาใช้แบบผิด ๆ และด้วยกับสิ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้คนมิใช่น้อยเกิดการสับสนและหลงผิดในประเด็นกันเป็นส่วนมาก จนทำให้นักวิชาการแบ่งออกเป็นแปดแนวทาง”

[มุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานี, อัตตะอ์ลีกอต อัรเราะฎียะฮ์ อะลัรเราเฎาะฮ์ อันนะดียะฮ์, อะลี อิบนุหะสัน อัลหะละบี (บรรณาธิการ), (ไคโร: ดาร อิบนุอัฟฟาน, 2003-1423), เล่ม 2: หน้า 13.]

“ชาวเมืองนั้น ๆ จำเป็นต้องดูจันทร์เสี้ยวกันเอง และรวมไปถึงทิศทาง (เมือง) ที่ใกล้เคียงกันด้วย

. . .

–และนี่คือสิ่งที่พิสูจน์ได้และตรงกับความเป็นจริง–

(ชัยค์อัลอัลบานี) ตอบว่า : นี่คือคำพูดและทรรศนะที่ประหลาด ถึงแม้ว่าที่อัสสัยยิด สาบิกจะให้ทรรศนะว่า มันคือสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้และตรงกับความเป็นจริง แต่จะขอกล่าวว่ามันไม่ตรงกับข้อบัญญัติศาสนา

. . .

บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิจากบรรดาผู้รู้ส่วนมากต่างพากันเลือกเอาทรรศนะที่ว่า หากมีการพิสูจน์เห็นจันทร์เสี้ยวจากที่ใดที่หนึ่งแล้วก็ให้ประเทศอื่น ๆ ติดตามได้ทันที เช่น ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮ์ ในหนังสือ‘ฟะตาวา’ นอกจากนี้อิมามอัชเชากานี ในหนังสือ‘นัยลุลเอาฏอร’ และศิดดีก หะสัน คอน ในหนังสือ‘อัรเราเฎาะฮ์ อันนะดียะฮ์’ รวมถึงผู้รู้ท่านอื่น ๆ ซึ่งมันคือสัจธรรมที่ไม่มีสิ่งใดมาทัดเทียม โดยเฉพาะหะดีษของอิบนุอับบาสมันมิได้ค้านกับเรื่องดังกล่าวเลย ตามที่อิมามอัชเชากานีได้อธิบายเอาไว้ และข้าพเจ้าหวังว่าความหมายที่ถูกต้องมากที่สุดคือทรรศนะที่ว่า หะดีษของอิบนุอับบาสเป็นการยืนยันถึงคนหนึ่งที่ถือศีลอดโดยเห็นจันทร์เสี้ยวในประเทศของตน ต่อมาก็มีคนมาบอกเขาช่วงเดือนเราะมะฎอนว่า มีคนเห็นจันทร์เสี้ยวที่อื่นก่อนเขาหนึ่งวัน ในสภาพดังกล่าวให้เขาผู้นั้นถือศีลอดตามประเทศที่เห็นเดือน จนกระทั่งเขาจะถือครบจบ 30 วัน จนกว่าพวกเขาจะเห็นเดือนกันเอง ด้วยกับสิ่งนี้ปัญหามันจึงจะยุติ

ส่วนหะดีษของอะบูฮุร็อยเราะฮ์ก็ยังคงไว้ซึ่งความหมายโดยรวม (อุมูม) แล้วก็หมายถึง หากมีการเห็นหรือพิสูจน์เห็นจันทร์เสี้ยวจากที่ใดที่หนึ่ง ก็ให้ตามกันได้โดยไม่ต้องกำหนดระยะทาง โดยเดิม ๆ แล้วตัวอย่างที่อิบนุตัยมียะฮ์กล่าวไว้ในหนังสือ‘ฟะตาวา’”

[มุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานี, ตะมามุลมินนะฮ์ ฟิตตะอ์ลีก อะลา ฟิกฮิสสุนนะฮ์, พิมพ์ครั้งที่ 2, (ม.ป.ท.: ดาร อัรรอยะฮ์, ม.ป.ป.), หน้า 397-398.]

“อะบูอุมัยร์ อิบนุอะนัส เล่าว่า : เศาะหาบะฮ์ชาวอันศอรจำนวนหนึ่งได้เล่าแก่ฉันว่า : ‘จันทร์เสี้ยวเดือนเชาวาลถูกบดบังไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้นพวกเราจึงถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น (30 เราะมะฎอน) แต่ก็มีกองคาราวานเดินทางมาถึงในตอนท้ายวัน โดยพวกเขายืนยันต่อท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ว่าพวกเขาเห็นจันทร์เสี้ยวตั้งแต่เมื่อวาน เช่นนั้นท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ จึงสั่งใช้ให้ละศีลอดในวันนั้น และให้เราออกไปละหมาดอีดในวันรุ่งขึ้น’”

[เศาะหี้ห์; มุหัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานี (ฮ.ศ. 1333-1420), อิรวาอุลเฆาะลีล ฟี ตัครีจญ์ อะหาดีษ มะนาริสสะบีล, มุหัมมัด ซุฮัยร์ อัชชาวีช (บรรณาธิการ), (เบรุต: อัลมักตับ อัลอิสลามี, 1979), เล่ม 3: หน้า 102-103, เลขที่ 634; อะห์มัด อิบนุหัมบัล (ฮ.ศ. 164-241), มุสนัด อัลอิมาม อะห์มัดฯ, ชุอัยบ์ อัลอัรนะอูฏ และคณะ (บรรณาธิการ), (เบรุต: มุอัสสะสะฮ์ อัรริสาละฮ์, 1999-1420), เล่ม 34: หน้า 191, เลขที่ 20584.]

สภานิติศาสตร์อิสลามนานาชาติ (มัจญ์มะอ์ อัลฟิกฮ์ อัลอิสลามี อัดเดาลี) ได้มีมติเลขที่ 18 (3/6) ในการประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 ณ กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน เมื่อวันที่ 8-13 เศาะฟัร ฮ.ศ. 1407 ตรงกับวันที่ 11-16 ตุลาคม ค.ศ. 1986 เกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของการเริ่มต้นจันทร์เสี้ยจันทรคติว่า

“เมื่อมีการยืนยันเห็นจันทร์เสี้ยวจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ชาวมุสลิมทุกคนจำเป็น (วาญิบ) ต้องยึดถือกับการเห็นดังกล่าว และไม่มีการพิจารณาใด ๆ สำหรับความแตกต่างของมัฏละอ์ เนื่องจากความครอบคลุมของคำสั่งให้ถือศีลอดและออกอีด” (วารสารมัจญ์มะอ์ฯ ลำดับที่ 3, เล่ม 2: หน้า 811.) [www.iifa-aifi.org/1669.html]

والله أعلم .

(อ่านตอนที่ 2 -จบ- คลิก)