[ประเด็นร้อนเดือนเราะมะฎอน] การดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดวันแรกของเดือนใหม่ ตอนที่ 2 (จบ)

โปรดอ่านตอนที่แล้ว  บทความนี้มี 2 ตอน โปรดอ่านให้จบ พิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางและ #เปิดใจให้กว้างแก่ทรรศนะที่เราไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้]

ทรรศนะที่ 2: สำหรับแต่ละเมืองก็ให้ชาวเมืองดูจันทร์เสี้ยว (เพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) ของตนเอง

“๏ บทว่าด้วยการอธิบายว่า สำหรับแต่ละเมืองก็ให้ชาวเมืองดูจันทร์เสี้ยว (เพื่อกำหนดวันถือศีลอดและวันออกอีด) ของตนเอง และเมื่อใดที่พวกเขาเห็นจันทร์เสี้ยว ข้อกำหนด (หุกม์) การเห็นของพวกเขาจะไปกำหนดสำหรับเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลจากพวกเขาไม่ได้

– รายงานจากกุร็อยบ์ว่า : อุมมุลฟัฎล์ บินติลหาริษ ได้ส่งเขาไปหามุอาวิยะฮ์ที่แคว้นชาม เขากล่าวว่า : ‘ฉันได้เดินทางไปที่ชาม และได้จัดการธุระของนางแล้วขณะนั้นเดือนเราะมะฎอนได้ย่างเข้ามาขณะฉันยังอยู่ที่ชาม โดยฉันเห็นจันทร์เสี้ยวข้างขึ้นในคืนวันศุกร์ ต่อมาฉันได้เดินทางกลับนครมะดีนะฮ์ในตอนปลายเดือน ซึ่งอิบนุอับบาสได้ถามฉันแล้วก็คุยกันเรื่องจันทร์เสี้ยว’ เขาถามว่า : ‘พวกท่านเห็นจันทร์เสี้ยวกันเมื่อใด ?’ ฉันตอบว่า : ‘พวกเราเห็นมันในคืนวันศุกร์’ เขาถามต่อว่า : ‘ท่านได้เห็นมันด้วยตัวเองหรือ ?’ ฉันตอบว่า : ‘ใช่ ! และคนอื่น ๆ ก็เห็นด้วย พวกเขาจึงได้ถือศีลอด และมุอาวิยะฮ์ก็ถือศีลอด’ เขากล่าวว่า : ‘แต่พวกเราเห็นมันคืนวันเสาร์ ดังนั้นเราจะยังคงถือศีลอดต่อไปจนกว่าจะครบ 30 วัน หรือไม่ก็เห็นจันทร์เสี้ยวเสียก่อน’ ฉันถามว่า : ‘การเห็นจันทร์เสี้ยวของมุอาวิยะฮ์และการถือศีลอดของเขายังไม่เพียงพอหรือ ?’ เขาตอบว่า : ‘ไม่ ! ดังกล่าวนี้ที่เราะสูลุลลอฮ์ﷺ เคยใช้พวกเรา’”

[หะดีษเศาะหี้ห์; มุสลิม อันนัยสาบูรี, เศาะหี้ห์ มุสลิม(อัลมุสนัด อัศเศาะหี้ห์), (ไคโร: ดาร อัตตะอ์ศีล, 2014-1435), เล่ม 3: หน้า 293-294, เลขที่ 1100.]

“ในบทนี้มี (กล่าวถึง) หะดีษกุร็อยบ์จากอิบนุอับบาส ซึ่งหะดีษบทนี้สื่อความหมายของการตั้งชื่อบทอย่างชัดเจน (คือ ไม่จำเป็นต้องตามการเห็นจันทร์เสี้ยวจากเมืองอื่น)
และทรรศนะที่ถูกต้อง (อัศเศาะหี้ห์) ณ บรรดาสหายของเรา (คือปราชญ์มัซฮับชาฟิอี) คือ การเห็นจันทร์เสี้ยวจะไม่ใช้สำหรับมุสลิมทุกคน แต่ทว่าจะใช้เฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ (กับพื้นที่ที่เห็นจันทร์เสี้ยว) ในระยะทางไม่ถึงระยะทางละหมาดย่อ, มีทรรศนะที่ว่าหากมัฏละอ์เหมือนกันจำเป็นที่จะต้องรับการเห็นนั้น, มีทรรศนะที่ว่าหากพื้นที่เหมือนกันก็ต้องใช้ ถ้าไม่เหมือนกันก็ไม่เป็นต้อง และส่วนหนึ่งของปราชญ์ของเรากล่าวว่าการเห็นจันทร์เสี้ยว ณ ที่ใดของโลก ก็ใช้ได้กับชาวโลกทั้งหมด

ฉะนั้น เราเห็นว่าแท้จริงแล้วการที่อิบนุอับบาสไม่รับข่าวจากกุร็อยบ์ อันเนื่องจากมันเป็นชะฮาดะห์ (การเป็นพยานเพื่อรับรอง) ซึ่งมันมิอาจพิสูจน์ได้ด้วยจำนวนคนเดียว แต่สิ่งที่พบเห็นจากหะดีษนี้อิบนุอับบาสไม่ยอมรับ ไม่ใช่เพราะการเป็นชะฮาดะฮ์ แต่แท้จริงแล้วท่านไม่ยอมรับเนื่องจากข้อกำหนด (หุกม์) การเห็นจันทร์เสี้ยวไม่สามารถใช้ได้กับคนที่อยู่ไกล”

[อันนะวะวี, เศาะหี้ห์ มุสลิม บิชัรห์ อันนะวะวี, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กีซา: มุอัสสะสะฮ์ กุรเฏาะบะฮ์, 1994-1414), เล่ม 7: หน้า 277.]

“๏ บทว่าด้วยสิ่ง (คือหะดีษ) ที่มี (รายงาน) มาว่า อนุญาตสำหรับชาวเมืองใด ๆ นั้น ให้พวกเขาดูจันทร์เสี้ยวของพวกเขาเอง

. . .

(อิมามอัตติรมิซี กล่าวว่า) หะดีษของอิบนุอับบาส (บทนี้) เป็นหะดีษที่สวยงาม (หะสัน), ถูกต้อง (เศาะหี้ห์) และแปลก (เฆาะรีบ) มีการปฏิบัติกันตามหะดีษบทนี้สำหรับบรรดานักวิชาการ นั่นคือ สำหรับชาวเมืองใดก็ให้พวกเขาดูจันทร์เสี้ยวของพวกเขากันเอง”

[อัตติรมิซี, สุนัน อัตติรมิซี (อัลญามิอ์ อัลกะบีร), (ไคโร: ดาร อัตตะอ์ศีล, 2014-1435), เล่ม 2: หน้า 115, เลขที่ 696.]

“‘ฉันถามว่า : การเห็นจันทร์เสี้ยวของมุอาวิยะฮ์และการถือศีลอดของเขายังไม่เพียงพอหรือ ? เขาตอบว่า : ไม่ !’ คำตอบนี้ตามรูปการณ์แล้วแสดงว่า แต่ละเมืองมีสิทธิจะดูเดือนของตนเองและการเห็นเดือน ณ เมืองหนึ่ง ไม่เพียงพอ (คือไม่จำเป็น) สำหรับอีกเมืองหนึ่ง”

[อัลมุบาร็อกฟูรี, ตุห์ฟะตุลอะห์วะซี บิชัรห์ ญามิอ์ อัตติรมิซี, (เบรุต: ดาร อัลกุตุบ อัลอิลมียะฮ์, 1990-1410), เล่ม 3: หน้า 307.]

“เมื่อเห็นจันทร์เสี้ยวในเมืองหนึ่ง ชาวเมืองใกล้เคียงจำเป็นต้องถือศีลอดตามชาวเมืองในเมืองที่เห็นด้วย แต่ชาวเมืองที่ห่างไกลกัน ไม่จำเป็นต้องถือศีลอดตาม เพราะเมืองที่ใกล้กัน เช่น ดามัสกัส, ฮอมส์ และอะเลปโป มีสภาพเหมือนเป็นเมืองเดียวกัน ซึ่งไม่เหมือนกับเมืองที่ไกล ๆ กัน เช่น ดามัสกัส, ไคโร และมักกะฮ์ หลักที่ใช้ในการพิจารณาว่าเป็นเมืองที่ไกลกันก็คือมีมัฏละอ์ (ตำแหน่งขึ้นตกของดวงอาทิตย์) ต่างกัน

. . .

ผู้รู้กล่าวว่า : ในกรณีของชาวเมืองที่อยู่ไกล ที่ยังไม่จำเป็นต้องถือศีลอดนั้น ถ้าหากมีคนจากเมืองที่เห็น เดินทางไปยังเมืองที่อยู่ไกล ให้เขาถือศีลอดตามชาวเมืองนั้น แม้ตัวเขาเองจะถือศีลอดครบ 30 วันแล้วก็ตาม เพราะการที่เขาเดินทางไปยังเมืองนั้นทำให้เขากลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของเมืองนั้นไปข้อบังคับที่ใช้อยู่กับชาวเมืองนั้นก็จะต้องนำมาใช้บังคับเขาด้วยเช่นกัน ส่วนคนที่เดินทางไปจากเมืองที่ยังไม่เห็นฮิลาล ไปยังเมืองที่เห็นฮิลาลกันแล้ว ให้เขาออกจากการถือศีลอดพร้อมกับชาวเมืองนั้น โดยไม่คำนึงว่าเขาจะถือศีลอดได้ 28 วัน –เพราะเดือนนั้นอาจเป็นเดือนขาดที่มี 29 วัน– หรือเขาถือศีลอดได้ 29 วัน –เพราะเดือนนั้นอาจเป็นเดือนเต็มที่มี 30 วัน– ก็ตาม แต่ในกรณีที่เขาถือศีลอดได้เพียง 28 วันนั้นเขาจำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ (เกาะฎออ์) อีกหนึ่งวัน เพราะเขายังถือศีลอดไม่ครบเดือน ทั้งนี้เพราะเดือนอาหรับจะไม่มี 28 วัน อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 29 วัน และอย่างมากไม่เกิน 30 วัน

คนหนึ่งออกเดินทางจากเมืองที่กำลังเป็นวันอีด ไปยังเมืองหนึ่งที่อยู่ห่างไกลและชาวเมืองกำลังถือศีลอดกัน เขาจำเป็นต้องอดอาหาร (อิมสาก) ตลอดวันนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับชาวเมืองนั้น”

[มุศเฏาะฟา อัลคิน, มุศเฏาะฟา อัลบุฆอ และอะลี อัชชัรบะญี, อัลฟิกฮุลมันฮะญี อะลา มัซฮับ อัลอิมาม อัชชาฟิอี, พิมพ์ครั้งที่ 13, (ดามัสกัส: ดาร อัลเกาะลัม, 2012-1433), เล่ม 1: หน้า 335-336.]


ถาม: อิสลามมีทรรศนะอย่างไร ? เกี่ยวกับการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาที่แตกต่างกันเช่น อีดอัลฟิฏร์และอีดอัลอัฎหา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นผลทำให้มีการถือศีลอดในวันที่ห้ามการถือศีลอด เช่น วันอีดอัลฟิฏร์ และงดการถือศีลอดในวันที่จำเป็นจะต้องทำการถือศีลอด เราหวังว่าจะได้รับคำตอบที่สมบูรณ์เกี่ยวกับปัญหาที่สำคัญยิ่ง และถือเป็นหลักฐาน ณ ที่อัลลอฮ์ และหากว่าความแตกต่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ภายในสองวัน มันก็เป็นไปได้ที่จะเกิดวันอีดที่แตกต่างกันถึงสามวัน

และด้วยเหตุที่อิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความแตกต่างดังกล่าว ดังนั้น อะไรคือแนวทางที่ถูกต้องที่ให้มุสลิมถือเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ?

ตอบ: บรรดาปราชญ์มีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความแตกต่างของการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัฏละอ์) ช่วงเริ่มต้นของเดือน เนื่องจากสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถรับรู้ได้โดยปริยาย ทั้งทางสติปัญญาและการสัมผัส แต่บรรดาปราชญ์มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการนำเอาความแตกต่างของการปรากฏจันทร์เสี้ยวในแต่ละส่วนมาเป็นบรรทัดฐานของการกำหนดการเริ่มต้นของเดือเราะมะฎอนและการสิ้นสุดของเดือนหรือไม่ ? บรรดาปราชญ์มีทรรศนะในเรื่องดังกล่าวสองทรรศนะ คือ

  • ทรรศนะที่ถือเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัฏละอ์) ในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนดในการดูจันทร์เสี้ยว และ
  • ทรรศนะไม่ถือเอาความแตกต่างของตำแหน่งของการปรากฏของจันทร์เสี้ยวเป็นตัวกำหนดในการดูดวงจันทร์เสี้ยว

ซึ่งปราชญ์ทั้งสองกลุ่มต่างก็แสดงหลักฐานทั้งที่เป็นอัลกุรอาน, อัลหะดีษ และหลักอนุมาน (กิยาส) ซึ่งในบางครั้งปราชญ์ทั้งสองกลุ่มก็ใช้ตัวบทเดียวกันในการอ้างหลักฐาน เช่น พระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า : ‘ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น’ [อัลบะเกาะเราะฮ์ : 185] และที่ว่า : ‘เขาเหล่านั้นจะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิด มันคือกำหนดเวลาต่าง ๆ สำหรับมนุษย์’ [อัลบะเกาะเราะฮ์ : 189] และจากคำพูดของท่านนะบีﷺ ที่ว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน’ ดังกล่าวคือตัวบทของบรรดาผู้รู้ทั้งสองทรรศนะที่นำมาอ้างเป็นหลักฐานแต่พวกเขามีความเห็นที่แตกต่างกันในความเข้าใจตัวบทและแนวทางในการนำเอาตัวบทมาอ้างอิงในเรื่องดังกล่าว

ดังนั้นจึงกล่าวโดยสรุปก็คือ การขอคำชี้ขาดในเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นการขอคำชี้ขาดในปัญหาเชิงทฤษฎีที่เปิดช่องทางให้มีการวินิจฉัยปัญหาในตัวมันเอง และด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบันมีทรรศนะในเรื่องดังกล่าวที่ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่เป็นบาปแต่ประการใดสำหรับชาวเมืองหนึ่งเมืองใด เมื่อพวกเขาไม่เห็นจันทร์เสี้ยวในค่ำคืนที่ 30 ของเดือน พวกเขาก็จะยึดเอาการเห็นจันทร์เสี้ยวของทิศทางที่มิใช่การปรากฏของจันทร์เสี้ยวของพวกเขา (หมายถึงการเห็นจันทร์เสี้ยวของอีกเมืองหนึ่ง) หากพวกเขาได้รับการยืนยันที่เชื่อถือได้ในการปรากฏของจันทร์เสี้ยว แต่หากการกระทำดังกล่าวทำให้พวกเขาขัดแย้งกันในหมู่พวกเขา ก็ให้พวกเขายึดเอาคำตัดสินของผู้นำประเทศของพวกเขา หากผู้นำประเทศเป็นมุสลิม

และหากผู้นำประเทศได้ตัดสินที่จะปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะ (คือทรรศนะที่ยึดถือดวงจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏที่แตกต่างกัน กับทรรศนะที่ไม่ยึดถือความแตกต่างของตำแหน่งที่ปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัฏละอ์)) ก็ถือว่าคำตัดสินของผู้นำประเทศเป็นตัวชี้ขาด และเป็นการขจัดความขัดแย้งและจำเป็นที่ผู้อยู่ใต้การปกครองจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากว่าผู้นำประเทศมิใช่มุสลิม ให้ยึดถือเอาคำตัดสินของสภาองค์กรกลางอิสลามของประเทศของพวกเขา เพื่อรักษาการเป็นเอกภาพในการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน และการละหมาดอีดในประเทศของพวกเขา

ลงนาม
อับดุรร็อซซาก อะฟีฟี รองประธาน
อับดุลลอฮ์ อิบนุฆุดัยยาน สมาชิก
อับดุลลอฮ์ อิบนุมะนีอ์ สมาชิก

[คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย, ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮ์ อัดดาอิมะฮ์ ลิลบุหูษ อัลอิลมียะฮ์ วัลอิฟตาอ์, อะห์มัด อิบนุอับดิรร็อซซาก อัดดุวัยช์ (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดารุลอาศิมะฮ์, 1416-1996), ล. 10 น. 100-102, เลขที่ 388.]


ถาม: มุสลิมในทวีปแอฟริกาจะถือศีลอดตามการดูจันทร์เสี้ยวของชาวมักกะฮ์ได้หรือไม่?

ตอบ:เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวทางสภาปราชญ์อาวุโสแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เคยมีการลงมติมาแล้วซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้ :-

หนึ่ง: เรื่องความแตกต่างของการปรากฏจันทร์เสี้ยวเริ่มต้นเดือน (มัฏละอ์) นั้นเป็นเรื่องที่สามารถรับรู้ได้โดยปริยายทั้งทางความรู้สึก (สัมผัส) และสติปัญญา ไม่มีปราชญ์คนใดขัดแย้งกัน แต่ความเห็นที่แตกต่างของบรรดาปราชญ์คือ การจะนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยวในแต่ละส่วนของโลกมาเป็นประเด็นการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดหรือไม่

สอง: ปัญหาการนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัฏละอ์) ในส่วนต่าง ๆ ของโลก หรือไม่นำเอาความแตกต่างดังกล่าวเป็นหลักบรรทัดฐานในการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดนั้น เป็นปัญหาเชิงทฤษฎีที่เปิดช่องทางให้มีการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดความแตกต่างทางความคิดได้ในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านศาสนา

ความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามกระบวนการวินิจฉัยปัญหา ซึ่งปราชญ์ระดับมุจญ์ติฮิด หากเขาวินิจฉัยถูก เขาก็จะได้รับผลบุญสองเท่า คือ ผลบุญการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) และผลบุญความถูกต้อง ส่วนปราชญ์มุจญ์ตะฮิดที่วินิจฉัยผิดเขาก็จะได้รับผลบุญการวินิจฉัยของเขา (อิจญ์ติฮาด) อย่างเดียว

ดังนั้นบรรดาปราชญ์จึงมีทรรศนะที่แตกต่างกันในเรื่องนี้เป็นสองทรรศนะ คือ ทรรศนะที่ถือเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่าง ๆ ของโลก (ยึดความแตกต่างของมัฏละอ์)และทรรศนะที่มิได้ยึดเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่าง ๆ ของโลก (ไม่ยึดความแตกต่างของมัฏละอ์) ซึ่งบรรดาปราชญ์ทั้งสองทรรศนะต่างก็ยึดหลักฐานจากอัลกุรอานและอัสสุนนะฮ์ทั้งสิ้น และในบางครั้งทั้งสองทรรศนะก็ใช้ตัวบทตัวเดียวกันในการอ้างหลักฐาน ประหนึ่งตัวบทดังกล่าวมีแง่มุมให้อ้างอิงได้ทั้งสองทรรศนะร่วมกัน เช่น พระดำรัสของอัลลอฮ์ : ‘เขาเหล่านั้นจะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิด มันคือกำหนดเวลาต่าง ๆ สำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธีหัจญ์’ [อัลบะเกาะเราะฮ์ : 189] และคำพูดท่านนะบี ﷺ ที่ว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน’ เป็นผลมาจากความเข้าใจในตัวบทและแนวทางการยึดตัวบทในการอ้างอิงที่แตกต่างกัน

เมื่อพิจารณาจากมุมมองดังกล่าว ทางด้านสภาปราชญ์อาวุโสมีทรรศนะและให้เกียรติต่อแนวการวินิจฉัยดังกล่าว ประกอบกับการวินิจฉัยที่แตกต่างกันของบรรดาปราชญ์ในประเด็น (มัสอะละฮ์) มิได้สร้างผลกระทบอันก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัว และด้วยเหตุที่ศาสนานี้ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา (กว่า) 14 ศตวรรษ เราไม่ทราบเลยว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวจะมีสักช่วงหนึ่งที่ประชาชาติอิสลามมีความพร้อมเพรียงกันบนบรรทัดฐานการดูจันทร์เสี้ยวอันเดียวกัน (หมายถึงจากที่เดียวกัน)

ดังนั้นสมาชิกของสภาปราชญ์อาวุโสจึงมีความเห็นว่า ให้คงสภาพดังกล่าว (หมายถึงสภาพการเข้าบวชและการออกบวชที่ต่างกันของประชาชาติอิสลาม) ไว้เหมือนดังเช่นที่เป็นอยู่ และจะไม่เข้าไปขุดคุ้ยในเรื่องนี้ และให้ประเทศอิสลามแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะนี้ ตามที่ได้ชี้แจงไว้เบื้องต้น โดยผ่านความเห็นชอบของบรรดาปราชญ์ของประเทศนั้น ๆ เนื่องจากทั้งสองทรรศนะต่างก็ตั้งอยู่บนหลักฐานและบรรทัดฐานเดียวกัน

สาม: ทางด้านสภาปราชญ์อาวุโสได้พิจารณาปัญหาการยืนยันจันทร์เสี้ยวด้วยการคำนวณทางดาราศาสตร์และตัวบทที่ระบุอยู่ในอัลกุรอานและอัสสุนนะฮ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตลอดจนทรรศนะและคำพูดของปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญของอัลอิสลาม ในประเด็นดังกล่าวทางสภาฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอ์) ไม่อนุมัติให้ยึดเอาการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นการยืนยันการเกิดจันทร์เสี้ยวที่จะนำมายึดถือในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการศาสนา เนื่องจากท่านนะบีﷺ ได้กล่าวว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน’ และที่ท่านได้กล่าว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงอย่าถือศีลอด จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน(จันทร์เสี้ยวเริ่มต้นของเดือน) และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน’ และที่ได้กล่าวในทำนองเดียวกันนี้

ลงนาม
อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อิบนุบาซ ประธาน
อับดุลลอฮ์ อิบนุกุอูด สมาชิก

[คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย, ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮ์ อัดดาอิมะฮ์ ลิลบุหูษ อัลอิลมียะฮ์ วัลอิฟตาอ์, อะห์มัด อิบนุอับดิรร็อซซาก อัดดุวัยช์ (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดารุลอาศิมะฮ์, 1416-1996),ล. 10 น. 102-104, คำถามที่สองจากคำวินิจฉัย (ฟัตวา) เลขที่ 3686.]




ถาม: เราเป็นนักศึกษามุสลิมในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พวกเราประสบกับปัญหาทุกครั้งเกี่ยวกับการเริ่มต้นเดือนเราะมะฎอนจนเป็นเหตุให้มุสลิมแตกออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ :-

1- จะถือศีลอดตามการค้นหาจันทร์เสี้ยวของเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่

2- จะถือศีลอดพร้อมกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

3- จะถือศีลอดเมื่อได้รับข่าวสารจากชมรมนักศึกษามุสลิมในอเมริกาและแคนาดา ซึ่งจะทำการค้นหาจันทร์เสี้ยวในสถานที่ต่าง ๆ ของอเมริกา และทันทีทันใดที่มีการเห็นจันทร์เสี้ยวที่เมืองหนึ่งเมืองใด ก็จะแจ้งข่าวอย่างครอบคลุมไปยังศูนย์กลางต่าง ๆ เกี่ยวกับการเห็นจันทร์เสี้ยว จึงทำให้มุสลิมในอเมริกาทั้งหมดถือศีลอดในวันเดียวกันทั้ง ๆ ที่ระยะทางของแต่ละเมืองห่างไกลกันมาก

ดังนั้นจากแนวทางใดที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดในการปฏิบัติตามเกี่ยวกับการถือศีลอดด้วยสาเหตุการเห็นจันทร์เสี้ยว ขอให้ท่านทั้งหลายได้ให้คำชี้ขาดด้วยและขอต่ออัลลอฮ์ทรงได้ตอบแทนผลบุญท่านทั้งหลาย

ตอบ: เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวทางสภาปราชญ์อาวุโสแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เคยมีการลงมติมาแล้วซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้ :

หนึ่ง: เรื่องความแตกต่างของการปรากฏจันทร์เสี้ยวเริ่มต้นเดือน (มัฏละอ์) นั้นเป็นเรื่องที่สามารถรับรู้ได้โดยปริยายทั้งทางความรู้สึก (สัมผัส) และสติปัญญา ไม่มีปราชญ์คนใดขัดแย้งกัน แต่ความเห็นที่แตกต่างของบรรดาปราชญ์คือ การจะนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยวในแต่ละส่วนของโลกมาเป็นประเด็นการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดหรือไม่

สอง: ปัญหาการนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัฏละอ์) ในส่วนต่าง ๆ ของโลก หรือไม่นำเอาความแตกต่างดังกล่าวเป็นหลักบรรทัดฐานในการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดนั้น เป็นปัญหาเชิงทฤษฎีที่เปิดช่องทางให้มีการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดความแตกต่างทางความคิดได้ในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านศาสนา

ความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามกระบวนการวินิจฉัยปัญหา ซึ่งปราชญ์ระดับมุจญ์ติฮิด หากเขาวินิจฉัยถูก เขาก็จะได้รับผลบุญสองเท่า คือ ผลบุญการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) และผลบุญความถูกต้อง ส่วนปราชญ์มุจญ์ตะฮิดที่วินิจฉัยผิดเขาก็จะได้รับผลบุญการวินิจฉัยของเขา (อิจญ์ติฮาด) อย่างเดียว

ดังนั้นบรรดาปราชญ์จึงมีทรรศนะที่แตกต่างกันในเรื่องนี้เป็นสองทรรศนะ คือ ทรรศนะที่ถือเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่าง ๆ ของโลก (ยึดความแตกต่างของมัฏละอ์)และทรรศนะที่มิได้ยึดเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่าง ๆ ของโลก (ไม่ยึดความแตกต่างของมัฏละอ์) ซึ่งบรรดาปราชญ์ทั้งสองทรรศนะต่างก็ยึดหลักฐานจากอัลกุรอานและอัสสุนนะฮ์ทั้งสิ้น และในบางครั้งทั้งสองทรรศนะก็ใช้ตัวบทตัวเดียวกันในการอ้างหลักฐาน ประหนึ่งตัวบทดังกล่าวมีแง่มุมให้อ้างอิงได้ทั้งสองทรรศนะร่วมกัน เช่น พระดำรัสของอัลลอฮ์ : ‘เขาเหล่านั้นจะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิด มันคือกำหนดเวลาต่าง ๆ สำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธีหัจญ์’ [อัลบะเกาะเราะฮ์ : 189] และคำพูดท่านนะบีﷺ ที่ว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน’ เป็นผลมาจากความเข้าใจในตัวบทและแนวทางการยึดตัวบทในการอ้างอิงที่แตกต่างกัน

เมื่อพิจารณาจากมุมมองดังกล่าว ทางด้านสภาปราชญ์อาวุโสมีทรรศนะและให้เกียรติต่อแนวการวินิจฉัยดังกล่าว ประกอบกับการวินิจฉัยที่แตกต่างกันของบรรดาปราชญ์ในประเด็น (มัสอะละฮ์) มิได้สร้างผลกระทบอันก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัว และด้วยเหตุที่ศาสนานี้ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา (กว่า) 14 ศตวรรษ เราไม่ทราบเลยว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวจะมีสักช่วงหนึ่งที่ประชาชาติอิสลามมีความพร้อมเพรียงกันบนบรรทัดฐานการดูจันทร์เสี้ยวอันเดียวกัน (หมายถึงจากที่เดียวกัน)

ดังนั้นสมาชิกของสภาปราชญ์อาวุโสจึงมีความเห็นว่า ให้คงสภาพดังกล่าว (หมายถึงสภาพการเข้าบวชและการออกบวชที่ต่างกันของประชาชาติอิสลาม) ไว้เหมือนดังเช่นที่เป็นอยู่ และจะไม่เข้าไปขุดคุ้ยในเรื่องนี้ และให้ประเทศอิสลามแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะนี้ ตามที่ได้ชี้แจงไว้เบื้องต้น โดยผ่านความเห็นชอบของบรรดาปราชญ์ของประเทศนั้น ๆ เนื่องจากทั้งสองทรรศนะต่างก็ตั้งอยู่บนหลักฐานและบรรทัดฐานเดียวกัน

สาม: ทางด้านสภาปราชญ์อาวุโสได้พิจารณาปัญหาการยืนยันจันทร์เสี้ยวด้วยการคำนวณทางดาราศาสตร์และตัวบทที่ระบุอยู่ในอัลกุรอานและอัสสุนนะฮ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตลอดจนทรรศนะและคำพูดของปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญของอัลอิสลาม ในประเด็นดังกล่าวทางสภาฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอ์) ไม่อนุมัติให้ยึดเอาการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นการยืนยันการเกิดจันทร์เสี้ยวที่จะนำมายึดถือในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการศาสนา เนื่องจากท่านนะบีﷺ ได้กล่าวว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน’ และที่ท่านได้กล่าว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงอย่าถือศีลอด จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน(จันทร์เสี้ยวเริ่มต้นของเดือน) และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน’ และที่ได้กล่าวในทำนองเดียวกันนี้

ทางคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการให้คำชี้ขาดปัญหาศาสนา มีความเห็นว่า ชมรมนักศึกษามุสลิมในประเทศที่รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลอิสลาม ทำหน้าที่เสมือนรัฐบาลอิสลามเกี่ยวกับประเด็นการยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม

เมื่อมองตามเนื้อหาของย่อหน้าที่สองของมติสภาปราชญ์อาวุโสแล้ว ชมรมนักศึกษาฯ มีสิทธิที่จะเลือกตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะ คือทรรศนะที่ถือตามความแตกต่างของตำแหน่งปรากฏจันทร์เสี้ยว (มัฏละอ์) กับทรรศนะที่ไม่ถือตามความแตกต่างดังกล่าว และทำหน้าที่ประกาศให้ครอบคลุมทั่วถึงในสิ่งที่ทางชมรมฯถือปฏิบัติให้กับมุสลิมทั้งหลายที่อยู่ในประเทศที่มีชมรมตั้งอยู่ และเป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งหลายที่จะถือปฏิบัติตามสิ่งที่ชมรมถือปฏิบัติและประกาศใช้ เพื่อความเป็นเอกภาพ ในการเริ่มการถือศีลอด และเป็นการออกจากความขัดแย้ง และความระส่ำระสายเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าว ต่างช่วยกันดูจันทร์เสี้ยวในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ เมื่อมีผู้ที่น่าเชื่อถือคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน เห็นจันทร์เสี้ยวก็ให้พวกเขาถือศีลอด และแจ้งข่าวดังกล่าวให้กับทางชมรมทราบเพื่อทางชมรมจะได้ประกาศข่าวดังกล่าว ให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งหมด นี่คือกรณีที่เข้าเดือนถือศีลอด แต่ถ้าหากกรณีที่จะออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) จำเป็นอย่างยิ่ง จะต้องมีผู้ที่ทรงธรรม (เชื่อถือได้) อย่างน้อย 2 คน ยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวต้นเดือนเชาวาล หรือนับเดือนเราะมะฎอนให้ครบ 30 วัน กรณีที่ไม่เห็นจันทร์เสี้ยว หรือเห็นจันทร์เสี้ยวเพียงคนเดียว เนื่องจากท่านนะบี ﷺ ได้กล่าวว่า : ‘สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน) และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน แต่ถ้าหากมีเมฆปกคลุม (เป็นเหตุให้สูเจ้าไม่สามารถมองเห็น) ก็ให้สูเจ้านับเดือนนั้นให้ครบ 30 วัน’

ลงนาม
อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อิบนุบาซ ประธาน
อับดุรร็อซซาก อะฟีฟี รองประธาน
อับดุลลอฮ์ อิบนุฆุดัยยาน สมาชิก
อับดุลลอฮ์ อิบนุกุอูด สมาชิก

[คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนาแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย, ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮ์ อัดดาอิมะฮ์ ลิลบุหูษ อัลอิลมียะฮ์ วัลอิฟตาอ์, อะห์มัด อิบนุอับดิรร็อซซาก อัดดุวัยช์ (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดารุลอาศิมะฮ์, 1416-1996),ล. 10 น. 109-112, คำวินิจฉัย (ฟัตวา) เลขที่ 1657.]



“ท่านจะต้องยึดถือตามผู้คนในประเทศของท่าน ถ้าพวกเขาถือศีลอดท่านก็ถือศีลอดตามพวกเขา ถ้าพวกเขาออกจากการถือศีลอด (หมายถึงวันอีด) ท่านก็จงออกจากถือศีลอดพร้อม ๆ กับพวกเขา เพราะท่านนะบีﷺ ได้กล่าวว่า : ‘การเริ่มนับถือศีลอดคือวันที่พวกท่านทั้งหลายถือศีลอดกัน และการออกจากการถือศีลอด (วันอีด) ก็คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกจากการถือศีลอด และวันเชือดสัตว์ (อีดิลอัฎหา) ก็คือวันที่พวกท่านทั้งหลายเชือดสัตว์กัน’

และเพราะว่าการขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องที่เลวร้าย ดังนั้นจึงวาญิบที่ท่านต้องทำพร้อม ๆ กับผู้คนในประเทศของท่าน เมื่อชาวมุสลิมในประเทศของท่านออกมาฉลองวันอีดท่านก็จงออกอีดพร้อม ๆ พวกเขา และเมื่อพวกเขาเริ่มถือศีลอดท่านก็ถือศีลอดพร้อม ๆ พวกเขาส่วนสาเหตุที่มีการขัดแย้งกันนั้น เพราะว่าประชากรบางส่วนเห็นจันทร์เสี้ยว และอีกบางส่วนอาจจะไม่เห็น คนที่เห็นจันทร์เสี้ยวนั้นอาจจะได้รับความไว้วางใจและเชื่อใจจากผู้อื่น ซึ่งพวกเขาก็ปฏิบัติตามความเชื่อใจนั้น หรือบางทีพวกเขาอาจจะไม่เชื่อใจและไม่ปฏิบัติตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของคนเหล่านั้นก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบางประเทศอาจจะเห็นจันทร์เสี้ยวและประกาศให้กำหนดมีการถือศีลอดหรือฉลองวันอีดตามที่เห็นนั้น แต่ประเทศอื่นกลับไม่พึงใจและไม่เชื่อใจกับการเห็นดังกล่าว อาจจะเป็นเพราะด้วยสาเหตุหลายประการ อาทิ สาเหตุทางการเมืองบ้างหรืออะไรก็ตามแต่สิ่งที่วาญิบก็คือ ชาวมุสลิมทั้งหลายจะต้องถือศีลอดพร้อมกันเมื่อเห็นจันทร์เสี้ยว และต้องออกอีดพร้อมกันเมื่อมีการเห็นจันทร์เสี้ยว เพราะอาศัยหลักฐานโดยรวมจากหะดีษของท่านนะบีﷺ ที่ว่า : ‘เมื่อพวกท่านเห็นจันทร์เสี้ยวก็จงถือศีลอด และเมื่อพวกท่านเห็นจันทร์เสี้ยว (อีกครั้ง) ก็จงออกจากการถือศีลอด และหากว่าจันทร์เสี้ยวถูกบดบังไม่ปรากฏให้เห็นแก่พวกท่าน ก็จงนับวันให้ครบ 30 วัน’

ถ้าทุกคนมั่นใจกับการเห็นจันทร์เสี้ยวอย่างถูกต้อง และรู้แน่ว่าเห็นจริงและยืนยันได้อย่างมั่นใจ ก็วาญิบที่จะต้องถือศีลอดหรือฉลองอีดด้วยการเห็นนั้น แต่ถ้าหากในความเป็นจริงกลับมีการขัดแย้งกัน และต่างก็ไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือให้ท่านถือศีลอดพร้อมๆ กับประชาคมมุสลิมในประเทศของท่าน และให้ท่านฉลองวันอีดพร้อมๆกับพวกเขา เพราะเป็นการปฏิบัติตามหะดีษของท่านนะบีﷺที่ว่า : ‘การเริ่มนับถือศีลอดคือวันที่พวกท่านทั้งหลายถือศีลอดกัน และการออกจากการถือศีลอด (วันอีด) ก็คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกจากการถือศีลอด และวันเชือดสัตว์ (อีดิลอัฎหา) ก็คือวันที่พวกท่านทั้งหลายเชือดสัตว์กัน’

และมีรายงานจากอิบนุอับบาสว่า : เมื่อกุร็อยบ์มาบอกกับท่านว่า ชาวเมืองชามได้เริ่มถือศีลอดในวันศุกร์ อิบนุอับบาสก็ตอบว่า : พวกเราเห็นเดือนในวันเสาร์ และเราก็จะถือศีลอดเรื่อยๆ จนเราเห็นจันทร์เสี้ยวสำหรับวันอีด หรือถ้าไม่เห็นมัน เราก็จะนับวันให้ครบสามสิบวัน ซึ่งท่านไม่ได้ปฏิบัติตามการเห็นจันทร์เสี้ยวของชาวเมืองชาม เพราะชามอยู่ไกลจากมะดีนะฮ์ และมัฏละอ์ระหว่างทั้งสองเมืองก็ต่างกันด้วย อิบนุอับบาสเห็นว่าเรื่องนี้อยู่ในขอบข่ายของการอิจญ์ติฮาด (การวินิจฉัย) ดังนั้นจงใช้ตัวอย่างของอิบนุอับบาส และคนอื่น ๆ ที่มีความเห็นตามท่านที่ระบุว่าให้ถือศีลอดตามคนในประเทศของท่านและฉลองวันอีดพร้อม ๆ กับคนในประเทศของท่าน –วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก–”

[อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อิบนุบาซ, มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะมะกอลาต มุตะเนาวิอะฮ์, มุหัมมัด อิบนุสะอฺด์ อัชชุวัยอิร (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดารุลกอสิม, 2000-1421), ล. 15 น. 100-102.]

“มีคนถามชัยค์ (อัลอุษัยมีน) –เราะหิมะฮุลลอฮ์– หากเราเริ่มถือศีลอดในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จากนั้นเราเดินทางกลับไปยังประเทศของเราทางเอเชียตะวันออกในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งที่นั่นเริ่มถือศีลอดช้ากว่า เช่นนี้เราจะถือศีลอด 31 วันได้หรือไม่ ?

ท่านได้ตอบว่า: หากว่าคนคนหนึ่งได้เดินทางจากเมืองหนึ่งที่เขาถือศีลอดในช่วงแรกของเดือนเราะมะฎอนไปยังอีกเมืองหนึ่งที่ครบศีลอด (อีด) ล่าช้ากว่า เขาจะละการถือศีลอด (อีด) ไม่ได้จนกว่า ผู้คนในเมืองนั้นจะละศีลอด (อีด) เสียก่อน ทั้งนี้เหมือนกับผู้ที่ถือศีลอดในเมืองหนึ่งแล้วในวันเดียวกันได้เดินทางไปยังอีกเมืองหนึ่งที่ดวงอาทิตย์ตกล่าช้ากว่า เขาจะต้องถือศีลอดต่อไปจนกว่าดวงอาทิตย์จะตก แม้จะต้องใช้เวลายาวนานถึงยี่สิบชั่วโมงก็ตาม เว้นแต่เขาจะใช้วิธีละศีลอดเนื่องจากการเดินทางของเขาตั้งแต่แรก ก็เป็นที่อนุญาตให้เขาละศีลอดได้

และในทางตรงกันข้ามกัน หากว่าเขาเดินไปยังเมืองหนึ่งที่ผู้คนในเมืองนั้นถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนครบ (อีด) ก่อนถึงสามสิบวัน เขาจะต้องละศีลอด (อีด) พร้อม ๆ กับผู้คนในเมืองนั้นด้วย ทั้งนี้หากปรากฏว่าเดือนเราะมะฎอนสำหรับเมืองที่เขาจากมา ในปีนั้นครบหนึ่งเดือนสามสิบวันเต็ม เขาจะต้องชดเพิ่มหนึ่งวัน แต่หากว่าครบหนึ่งเดือนแค่ยี่สิบเก้าวัน เขาก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น สรุปแล้วเขาจะต้องชดเพิ่ม หากว่าเขาถือศีลอดไม่ครบหนึ่งเดือน และหากว่าเขาถือศีลอดเกินหนึ่งเดือน วันที่เกินนั้นถือว่าตกไปโดยปริยาย –วัลลอฮุอะอ์ลัม–”

[มุหัมมัด อิบนุศอลิห์ อัลอุษัยมีน, มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะเราะสาอิลฯ,ฟะฮฺด์ อิบนุนาศิร อิบนุอิบรอฮีม อัสสุลัยมาน(บรรณาธิการ), (ริยาด:ดารอัษษุร็อยยา, 2003-1423), ล. 19 น. 65, เลขที่ 23.]

“มีคนถามชัยค์ (อัลอุษัยมีน) –เราะหิมะฮุลลอฮ์– เกี่ยวกับคน ๆ หนึ่งที่ถือศีลอดมายี่สิบเก้าวันแล้วอีดในวันรุ่งขึ้นในเมืองที่เขาถือศีลอดอยู่ หลังจากนั้นในเช้าวันอีดเขาเดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง โดยไม่ถือศีลอดแล้ว เมื่อไปถึงปรากฏว่าผู้คนในเมืองนั้นยังถือศีลอดกันอยู่ แล้วเขาจะต้องถือศีลอดหรือยังคงอยู่กับสภาพที่ไม่ถือศีลอดและถือเป็นวันอีดของเขา ?

ท่านตอบว่า: ท่านไม่จำเป็นต้องถือศีลอดอีกแล้ว เนื่องจากท่านได้เลิกถือศีลอดอย่างถูกต้องตามหลักการศาสนา (นั่นคือถือศีลอดครบและเข้าสู่วันอีดแล้ว) ดังนั้น จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่อนุญาตสำหรับเขา และไม่ต้องถือศีลอด ถ้าหากว่าตะวันลับขอบฟ้าแล้วในประเทศหนึ่ง แล้วท่านเดินทางไปยังอีกประเทศซึ่งตะวันยังไม่ตกดิน ท่านก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอดแต่อย่างใด”

[มุหัมมัด อิบนุศอลิห์ อัลอุษัยมีน, มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะเราะสาอิลฯ,ฟะฮฺด์ อิบนุนาศิร อิบนุอิบรอฮีม อัสสุลัยมาน(บรรณาธิการ), (ริยาด:ดารอัษษุร็อยยา, 2003-1423), ล. 19 น. 72, เลขที่ 28.]


“หากปรากฏว่าเมืองต่าง ๆ อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเดียวกัน และผู้นำได้มีคำสั่งให้ถือศีลอดหรือออกอีด ก็วาญิบจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำ ทั้งนี้เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาขัดแย้ง และการตัดสินของผู้นำ คือสิ่งที่จะยุติความขัดแย้งนั้น”

[มุหัมมัด อิบนุศอลิห์ อัลอุษัยมีน, มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะเราะสาอิลฯ,ฟะฮฺด์ อิบนุนาศิร อิบนุอิบรอฮีม อัสสุลัยมาน(บรรณาธิการ), (ริยาด:ดารอัษษุร็อยยา, 2003-1423), ล. 19 น. 41.]


“ทรรศนะที่ถูกต้องที่สุด (อะเศาะห์) คือ ห้าม (หะรอม) ไม่ให้ถือศีลอดในวันที่ไม่แน่ใจ แต่ถ้าหากมีการยืนยันจากผู้นำและมีประกาศให้ผู้คนถือศีลอดในวันดังกล่าว ก็ต้องไม่ทำลายคำสั่งนั้น การไม่ทำลายคำสั่งดังกล่าวคือการไม่แสดงออกอย่างประเจิดประเจ้อว่าตนไม่ถือศีลอด แต่ให้ปกปิดการไม่ถือศีลอดนั้นอย่างลับ ๆ (คือไม่ต้องถือศีลอด แต่ให้กินและดื่มในที่ลับโดยไม่ประเจิดประเจ้อต่อหน้าคนอื่น)”

[มุหัมมัด อิบนุศอลิห์ อัลอุษัยมีน, อัชชัรหุลมุมติอ์ อะลา ซาดิลมุสตักนิอ์, (อัดดัมมาม: ดาร อิบนุลเญาซี, 2003-1424), ล. 6 น. 307.]

มติที่ 7 จากมติสภานิติศาสตร์อิสลาม (อัลมัจญ์มะอ์ อัลฟิกฮี อัลอิสลามี) ของสันนิบาตมุสลิมโลก (รอบิเฏาะฮ์ อัลอาลัม อัลอิสลามี)จัดขึ้นที่นครมักกะฮ์ ระหว่างวันที่ 7-17 เราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 1401 ครั้งที่ 4 เรื่อง “การรวมฮิลาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่”

“สภานิติศาสตร์อิสลามมีมติว่า : ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องเรียกร้องให้ใช้การเห็นจันทร์เสี้ยวและวันอีดเดียวกันในโลกอิสลามเพราะการใช้การเห็นจันทร์เสี้ยวและวันอีดเดียวกัน ไม่ใช่เป็นหลักประกันว่ามุสลิมในโลกอิสลามจะมีความสามัคคีกัน เหมือนที่ผู้นำเสนอแนวคิดนี้ส่วนใหญ่เข้าใจ และควรปล่อยให้เรื่องการประกาศผลการดูดวงจันทร์เสี้ยวเป็นหน้าที่ของสถาบันอิฟตาอ์และเกาะฎออ์ ของประเทศอิสลามต่าง ๆ และการทำเช่นนั้นจะเกิดผลดีแก่อิสลามอย่างกว้างขวาง ส่วนสิ่งที่จะเป็นหลักประกันความสามัคคีของประชาชาติอิสลามคือ การปฏิบัติตามอัลกุรอานและสุนนะฮ์ในทุกกิจกรรมของพวกเขา”

[มติสภานิติศาสตร์อิสลาม (อัลมัจญ์มะอ์ อัลฟิกฮี อัลอิสลามี) ของสันนิบาตมุสลิมโลก (รอบิเฏาะฮ์ อัลอาลัม อัลอิสลามี) จัดขึ้นที่นครมักกะฮ์ฮ.ศ. 1398-1424 (ค.ศ. 1977-2004), น. 83.]

والله أعلم .