ส่งเสริมให้ถือศีลอด 8 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์และวันอะเราะฟะฮ์

❝ปวงปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุเกาะฮาอ์) มีทรรศนะเห็นพ้องกัน (อิตติฟาก) ว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ถือศีลอด 8 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์ก่อนวันอะเราะฟะฮ์

ทั้งนี้ จากอับดุลลอฮ์ อิบนุอับบาส รายงานว่า: ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ได้กล่าวว่า: ‘ไม่มีวันใดอีกแล้วที่การทำกิจกรรมที่ดีจะเป็นที่รักของอัลลอฮ์ยิ่งไปกว่าในวันเหล่านี้’ −ท่านหมายถึงวันทั้งสิบ (แรกของเดือนซุลหิจญะฮ์)–

บรรดาเศาะหาบะฮ์ถามว่า: ‘โอ้เราะสูลุลลอฮ์ แม้แต่ญิฮาดในวิถีทางของอัลลอฮ์ก็ไม่อาจเทียบได้กระนั้นหรือ ?’

ท่านตอบว่า: ‘แม้แต่ญิฮาดในวิถีทางของอัลลอฮ์ก็ไม่อาจเทียบได้ เว้นแต่ชายคนหนึ่งเขาได้ออกไปรบโดยพาชีวิตและทรัพย์สินของเขาออกไป แล้วเขาก็ไม่ได้กลับคืนมาเลยสักสิ่งหนึ่งจากนั้น (ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือทรัพย์สินก็ตาม คนนี้เท่านั้นที่จะมีฐานะเหนือกว่า)’❞

[กระทรวงสาธารณสมบัติและกิจการอิสลาม, “อัลเมาสูอะฮ์ อัลฟิกฮียะฮ์,” 45 เล่ม, (คูเวต: กระทรวงสาธารณสมบัติและกิจการอิสลาม, ฮ.ศ. 1413 / ค.ศ. 1993), เล่ม 28: หน้า 91.]


อัลหาฟิซ อิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานี ได้กล่าวว่า:

❝หะดีษนี้ถูกนำมาอ้างอิงหลักฐานยืนยันถึงความประเสริฐของการถือศีลอด 10 วันของเดือนซุลหิจญะฮ์เนื่องจากการถือศีลอดได้ครอบคลุมอยู่ในการกระทำความดีงาม❞

[อิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานี, “ฟัตหุลบารี บิชัรห์ เศาะหี้ห์ อัลบุคอรี,”19 เล่ม, (ริยาด: ดาร ฏ็อยบะฮ์, ฮ.ศ. 1426 / ค.ศ. 2005), เล่ม 3: หน้า 291.]


อัลอิมามอันนะวะวี ได้กล่าวว่า:

❝การถือศีลอดใน 9 วัน (แรกของเดือนซุลหิจญะฮ์) นี้ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ์) แต่ประการใด ยิ่งกว่าไปนั้น ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้กระทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 9 ของเดือนซุลหิจญะฮ์ซึ่งเป็นวันอะเราะฟะฮ์ ดังมีหะดีษก่อนหน้านี้ที่ได้ระบุถึงความประเสริฐของการถือศีลอดวันอะเราะฟะฮ์และได้มียืนยันไว้ใน ‘เศาะหี้ห์ อัลบุคอรี’ ว่าแท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ได้กล่าวว่า: ‘ไม่มีวันใดอีกแล้วที่การทำกิจกรรมที่ดีจะเป็นที่รักของอัลลอฮ์ยิ่งไปกว่าในวันเหล่านี้’ กล่าวคือ 10 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์❞

[อันนะวะวี, “เศาะหี้ห์ มุสลิม บิชัรห์ อันนะวะวี,” พิมพ์ครั้งที่ 2, 18 เล่ม, (ม.ป.ท.: มุอัสสะสะฮ์ กุรฏุบะฮ์, ฮ.ศ. 1414 / ค.ศ. 1994), เล่ม 8: หน้า 102, อรรถาธิบายหะดีษหมวดว่าด้วยการถือศีลอด 10 วันของเดือนซุลหิจญะฮ์]


อัลอิมามอัรร็อมลี ได้กล่าวว่า:

❝สุนนะฮ์ให้ถือศีลอด 8 วันก่อนวันอะเราะฟะฮ์ ดังเช่นที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในตำรา ‘เราเฎาะฮ์ (อัฏฏอลิบีน โดยอัลอิมาม อันนะวะวี)’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำหัจญ์หรือผู้ไม่ทำหัจญ์ก็ตาม แต่สำหรับผู้ทำหัจญ์นั้นไม่มีสุนนะฮ์ให้เขาถือศีลอดวันอะเราะฟะฮ์ ทว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้เขางดถือศีลอดดังกล่าว ถึงแม้จะแข็งแรง (สามารถถือศีลอดได้) ก็ตาม อันเป็นการปฏิบัติตามแนวทางของท่านนะบี ﷺ เพื่อให้มีกำลังในการขอดุอาอ์ (ขณะวุกูฟ ณ อะเราะฟะฮ์)❞

[ชัมสุดดีน อัรร็อมลี (ฉายา: ชาฟิอีเล็ก), “นิฮายะตุลมุห์ตาจญ์ อิลา ชัรหิลมินฮาจญ์,” พิมพ์ครั้งที่ 3, 8 เล่ม, (เบรุต: ดารุลกุตุบ อัลอิลมียะฮ์, ฮ.ศ. 1424 / ค.ศ. 2003), เล่ม 3: หน้า 207.]


❝หากท่านถือศีลอดในช่วง 9 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เนื่องจากบรรดาวันเหล่านั้นเป็นวันที่มีเกียรติซึ่งส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้ทำการถือศีลอด❞

[คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา, “ฟะตาวา อัลลัจญ์นะฮ์ อัดดาอิมะฮ์ ลิลบุหูษ อัลอิลมียะฮ์ วัลอิฟตาอ์,” 23 เล่ม, อะห์มัด อิบนุอับดิรร็อซซาก อัดดุวัยช์ (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดารุลอาศิมะฮ์, ฮ.ศ. 1416 / ค.ศ. 1996), เล่ม 10: หน้า 393, คำถามที่ 1 จากคำฟัตวาเลขที่ 4052, ผู้ลงนามฟัตวาคือ อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อิบนุบาซ และอับดุลลอฮ์ อิบนุฆุดัยยาน.]


คำถาม: ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อทรรศนะที่ว่า การถือศีลอด 10 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์เป็นบิดอะฮ์ ?

คำตอบ: ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นเป็นผู้ที่ไม่รู้และจำเป็นต้องได้รับการแนะนำและสอนให้รู้ เพราะท่านเราะสูล ﷺ ได้กระตุ้นให้ปฏิบัติอะมัลศอลิห์ (การงานที่ดี) ในบรรดาวันดังกล่าว และการถือศีลอดก็เป็นหนึ่งในบรรดาอะมัลศอลิห์ เนื่องจากคำพูดของท่านนะบี ﷺ ที่ว่า:

“ไม่มีวันใด ๆ ที่การปฏิบัติอะมัลศอลิห์ในวันดังกล่าวจะเป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮ์มากกว่าการปฏิบัติอะมัลศอลิห์ใน 10 วัน (ของเดือนซุลหิจญะฮ์)” บรรดาเศาะหาบะฮ์จึงถามว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ แม้กระทั่งการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ (ก็เทียบไม่ได้) กระนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า “แม้กระทั่งการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ (ก็เทียบไม่ได้) นอกจากว่าชายคนนั้นพาตัวเองไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์พร้อมกับทรัพย์สินของตน แล้วเขาก็ไม่ได้นำสิ่งใด ๆ กลับมาอีกเลย (หมายถึงเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮ์)” บันทึกโดยอัลบุคอรี ใน “อัศเศาะหี้ห์” [บันทึกโดยอัลบุคอรี, ภาควันศุกร์, หมวดว่าด้วยความประเสริฐของกิจกรรมในบรรดาวันตัชรีก, เลขที่ 969; อัตติรมิซี, หมวดว่าด้วยรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมใน 10 วัน, เลขที่ 757 และสำนวนเป็นของอัตติรมิซี]

ถึงแม้ (อาจจะอนุมานว่า) ท่านนะบี ﷺ ไม่ได้ถือศีลอดในบรรดาวันเหล่านั้นก็ตาม แต่แท้จริงแล้วได้มีรายงานว่าท่านได้ถือศีลอดในบรรดาวันเหล่านั้นด้วย และมีรายงานเช่นเดียวกันว่าท่านไม่ได้ถือศีลอดในบรรดาวันเหล่านั้น แต่แกนหลักของเราคือคำพูดของท่าน คำพูดย่อมยิ่งใหญ่กว่าการกระทำ และเมื่อใดที่คำพูดและการกระทำมารวมกันก็จะเกิดเป็นสุนนะฮ์ที่เน้นให้ปฏิบัติ ดังนั้นคำพูดจึงมีความหมายในตัวของมันเอง การกระทำก็มีความหมายในตัวของมันเอง และการยอมรับก็มีความหมายในตัวของมันเองเช่นกัน ดังนั้นเมื่อใดที่ท่านนะบี ﷺ ได้กล่าววาจา หรือกระทำ หรือยอมรับ ก็หมายความว่าทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสุนนะฮ์ แต่คำพูดจะยิ่งใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุด รองลงมาก็คือการกระทำของท่าน และตามด้วยการยอมรับของท่าน

และท่านนะบี ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า: “ไม่มีวันใด ๆ ที่การปฏิบัติอะมัลศอลิห์ในวันดังกล่าวจะเป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮ์มากกว่าการปฏิบัติอะมัลศอลิห์ใน 10 วัน (ของเดือนซุลหิจญะฮ์)”

ดังนั้นเมื่อผู้ใดถือศีลอดหรือบริจาคทานในบรรดาวันดังกล่าว ก็ถือว่าเขาได้กระทำความดีที่ยิ่งใหญ่ และบรรดาวันเหล่านั้นยังมีบัญญัติให้กล่าวตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) ตะห์มีด (อัลหัมดุลิลลาฮ์) และตะฮ์ลีล (ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์) ด้วย

ดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า: “ไม่มีวันใด ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮ์ และชอบให้ปฏิบัติอิบาดะฮ์ในบรรดาวันดังกล่าวมากกว่าการปฏิบัติอิบาดะฮ์ใน 10 วัน (ของเดือนซุลหิจญะฮ์) ดังนั้นพวกเจ้าจงทำการตะฮ์ลีล, ตักบีร และตะห์มีด ให้มาก ๆ ในบรรดาวันดังกล่าว”

ขออัลลอฮ์โปรดประทานเตาฟีกแก่ทุกคน

[อับดุลอะซีซ อิบนุอับดิลลาฮ์ อิบนุบาซ, “มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะมะกอลาต มุตะเนาวิอะฮ์,” 30 เล่ม, มุหัมมัด อิบนุสะอฺด์ อัชชุวัยอิร (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดาร อัลกอสิม, ฮ.ศ. 1421), เล่ม 15: หน้า 418-420, อยู่ในหัวข้อที่ 169]


คำถาม: ได้มีรายงานหะดีษของการถือศีลอดใน 10 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์ แต่บางคนกล่าวว่า ท่านอย่าได้ถือศีลอด อะไรคือคำกล่าวของพวกท่าน ?

คำตอบ: การถือศีลอดใน 10 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์นั้นมาจากการงานที่ดีงามโดยไม่ต้องสงสัย แท้จริงท่านนะบี ﷺ ได้กล่าวไว้ว่า:

“ไม่มีวันใด ๆ ที่การปฏิบัติอะมัลศอลิห์ในวันดังกล่าวจะเป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮ์มากกว่าการปฏิบัติอะมัลศอลิห์ใน 10 วัน (ของเดือนซุลหิจญะฮ์)” บรรดาเศาะหาบะฮ์จึงถามว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ แม้กระทั่งการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ (ก็เทียบไม่ได้) กระนั้นหรือ?” ท่านตอบว่า “แม้กระทั่งการออกไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ (ก็เทียบไม่ได้) นอกจากว่าชายคนนั้นพาตัวเองไปญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์พร้อมกับทรัพย์สินของตน แล้วเขาก็ไม่ได้นำสิ่งใด ๆ กลับมาอีกเลย (หมายถึงเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮ์)” [รายงานโดยอัลบุคอรี, ภาควันอีดทั้งสอง, หมวดว่าด้วยความประเสริฐของกิจกรรมในบรรดาวันตัชรีก (969)] ดังนั้นการถือศีลอดจึงเข้าอยู่ในความหมายโดยรวมของหะดีษนี้

และบนมันนั้นยังมีรายงานหะดีษในสุนันต่าง ๆ ที่บางบทเป็นหะดีษหะสันว่า ท่านเราะสูลุลลอฮ์ ﷺ ได้ถือศีลอดในวันทั้งสิบนี้ [รายงานโดยอะบูดาวุด, ภาคการถือศีลอด, หมวดว่าด้วยการถือศีลอด 10 วัน (2437)] ไม่นับรวมวันอีด และอิมามอะห์มัด อิบนุหัมบัล เราะหิมะฮุลลอฮ์ ได้ยึดเอาหะดีษนี้ และที่ถูกต้องคือ การถือศีลอดของมันนั้นคือสุนนะฮ์

[มุหัมมัด อิบนุศอลิห์ อัลอุษัยมีน, “มัจญ์มูอ์ ฟะตาวา วะเราะสาอิลฯ,” 29 เล่ม, ฟะฮฺด์ อิบนุนาศิร อิบนุอิบรอฮีม อัสสุลัยมาน (บรรณาธิการ), (ริยาด: ดาร อัษษุร็อยยา, ฮ.ศ. 1423 / ค.ศ. 2003), เล่ม 20: หน้า 43-44, เลขที่ 400]