60 ประการแห่งการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด EP.01: ข้อ 1 – 10

ข้อที่ 1

Irrelevant or Questionable Authority (citing one who is neither an authority or is biased or is unknown): ยกหลักฐานอ้างอิงที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือเป็นหลักฐานที่มีแหล่งที่มาที่น่าสงสัย  อาจจะเนื่องจาก ผู้ที่ถูกอ้างอิงเพื่อเป็นหลักฐานนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่ถูกอ้างโดยตรง หรือไม่ก็ไม่มีใครรู้จักเขาว่าเป็นใคร หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีอคติในเรื่องนั้นๆ

ข้อที่ 2

Appeal to Common Opinion (argues that most people accept or reject it): เอาคนส่วนมาก หรือส่วนใหญ่มาเป็นเหตุผล หรือหลักฐาน เพื่อสนับสนุนจุดยืนของตัวเอง

ข้อที่ 3

Genetic Fallacy (evaluating something in earlier context and carrying it over to present): ทึกทักว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือคนหนึ่งคนใดเคยมีสภาพเป็นอย่างไรมาก่อน สิ่งนั้นหรือเขาผู้นั้นก็ยังคงมีสภาพเช่นนั้นด้วยจนถึงปัจจุบัน (ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นเลย) โดยละเลยบางสิ่งที่ได้เปลี่ยนแปลงไปที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ

เช่น พูดว่า “ผมจะไม่มีทางเลือกเขาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะผมโตมากับเขา เรียนห้องเดียวกัน  เขาทำตัวไม่ได้เรื่องเลย มีนิสัยนักเลงหาเรื่องคนอื่นไปทั่ว คนอย่างนี้จะพึ่งพาอะไรได้ หรือหวังอะไรไม่ได้มาก”

จะเห็นได้ว่า คนที่พูดเช่นนี้ ทึกทักเอาเองว่า คนๆ หนึ่ง หรือ สิ่งๆ หนึ่งมีสภาพในอดีตอย่างไร ปัจจุบันก็จะต้องเหมือนเดิมด้วย  ซึ่งไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น

เช่น นาย ก. กล่าวว่า “นาย เอ บอกผมว่า 1+1 เท่ากับ 2 แต่ทว่าพ่อแม่ของผมสอนผมมาตั้งแต่เด็กว่า 1+1 เท่ากับ 5 ดังนั้น นาย เอ จะต้องผิดแน่ๆ” หรือ นาย ก. โต้แย้งกับนาย ข. ในเรื่องๆ หนึ่ง แต่นาย ก. ข้อมูลไม่แน่นพอจึงแพ้นาย ข. ในการโต้แย้งกันในครั้งนั้น แต่อีก 1 ปีต่อมานาย ก. ยืนยันกับนาย ข. ว่าสิ่งที่นาย ข. เชื่อนั้นผิดพลาด เพราะผมมีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าผิด นาย ค. จึงพูดกับ นาย ข. ว่า “คุณไม่ต้องพูดอะไรมากหรอก เพราะคุณแพ้เขามาก่อนแล้ว ไม่มีประโยชน์” จะเห็นได้ว่า นาย ค. ผิดพลาดในการใช้เหตุผลในข้อนี้

ข้อที่ 4

Rationalization (saving face; using false reasons to justify): เชื่อหรือมีทัศนะอย่างหนึ่งอย่างใดไปก่อนแล้วโดยที่ยังไม่ได้รู้เลยว่าความเชื่อ หรือทัศนะของตนเองนั้นมีเหตุผลหรือหลักฐานมาสนับสนุนดีพอหรือไม่ และเมื่อเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา ก็พยายามอ้างเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล (ง่ายๆ ก็คือ แก้ตัว)

คือ สร้างเหตุผลขึ้นมาเองโดยทำให้ดูสมเหตุสมผล  เพื่อต้องการรักษาหน้าตัวเอง หรือเพื่อรักษาความเชื่อหรือทัศนะของตนเองที่ไม่ค่อยมีน้ำหนักเอาไว้  ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เหตุผลที่ให้มานั้น ไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือแทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแท้จริงที่จะไปสนับสนุนทัศนะของตนเองได้

ที่ถูกต้องนั้น สิ่งที่ถูกอ้างเป็นจุดยืน ทัศนะหรือความเชื่อ จะเกิดขึ้นหรือมีขึ้นภายหลังจากที่ได้มีการนำเสนอเหตุผลและหลักฐานแล้ว พูดอีกอย่างคือ เชื่อไปตามหลักฐานและเหตุผล เช่น “นาย ก. เชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิ้ลไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยเมื่อถูกถามว่ามีอะไรเป็นหลักฐานยืนยัน ก็เพิ่งจะเริ่มหาหลักฐานมายืนยันแต่สุดท้ายก็หาไม่ได้ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ถูกอ้างเป็นจุดยืนหรือความเชื่อนั้นมีมาก่อนหลักฐานหรือเหตุผลที่จะใช้ยืนยันว่าคัมภีร์ไบเบิ้ลไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข”

หรือในอีกกรณีหนึ่งคือการที่คนหนึ่งได้ปกปิดเหตุผลที่แท้จริงของตนเองในเรื่องหนึ่งเอาไว้ จะเนื่องด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ และสร้างเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงขึ้นมาแทน ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะไม่ต้องการบอกเหตุผลที่แท้จริงของตนเอง

เช่น นาย ก. เรียนรู้มาอย่างดีแล้วว่าอิสลามเป็นศาสนาที่แท้จริง แต่กระนั้นก็ยังไม่มารับอิสลาม เมื่อถูกถามว่าทำไมยังไม่รับอิสลามอีก นาย ก. ตอบในทำนองว่า “ผมมีปัญหากับพ่อแม่อยู่ในตอนนี้เรื่องรับอิสลาม จึงขอยังไม่รับอิสลามก่อน แล้วเมื่อจัดการกับปัญหาได้เมื่อไหร่ผมจะรับอิสลามแน่นอน”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สาเหตุที่แท้จริงของนาย ก. ที่ยังไม่รับอิสลามเป็นเพราะกลัวการที่ตนเองต้องถูกขลิบหนังปลายอวัยวะเพศ (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เงื่อนไขในการรับอิสลาม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ หนังสือเป็นมุสลิมใครว่ายาก ของอาจารย์อามีน ลอนา) แต่ปัญหากับพ่อแม่ก็มีจริงแต่ไม่ใช่อุปสรรคที่แท้จริง ที่นาย ก. ไม่ยอมบอกเหตุผลที่แท้จริงในตอนแรกเลยก็เพราะอาย

ข้อที่ 5

Drawing the Wrong Conclusion (it’s not supported by the evidence): ยกหลักฐานและเหตุผลที่ไม่ได้สนับสนุนทัศนะหรือข้ออ้างของตนเอง แต่กลับไปสนับสนุนอีกเรื่องหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว หลักฐานและเหตุผลที่ยกมานั้น จะต้องไปสนับสนุนสิ่งหนึ่ง หรือทัศนะหนึ่ง (เช่น เอ)  แต่กลับถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนอีกอย่างหนึ่ง (เช่น บี) ทั้งๆ ที่หลักฐานและเหตุผลที่ยกมานั้น มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกันในการที่จะถูกนำไปใช้สนับสนุนทัศนะ บี ได้เลย

ตัวอย่างเช่น “ศาสนาคริสต์มีองค์กรช่วยเหลือคนจำนวนมาก  หลายๆ คนตั้งตัวได้ก็เพราะองค์กรเหล่านี้ และคนที่ติดยาหลายต่อหลายคนเลิกยาได้เพราะองค์กรของศาสนาคริสต์ เพราะฉะนั้นศาสนาคริสต์จึงเป็นศาสนาที่ถูกต้อง”

จะเห็นได้ว่า เหตุผลที่ให้มาในเรื่ององค์กรด้านต่างๆ ของคริสต์ ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรที่จะใช้ยืนยันว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่แท้จริงได้ แต่ข้อสรุปที่เราน่าจะได้ก็คือ ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เป็นห่วงความเป็นอยู่ของคนในสังคม และต้องการให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่แท้จริง

อีกตัวอย่างที่ใช้เหตุผลที่ผิดในข้อนี้คือ แนวทางชีอะฮฺกล่าวว่า “ท่านนบีได้กล่าวว่า ใครด่าอาลี ก็ถือว่า เขาได้ด่าฉัน ใครด่าฉันก็ถือว่าเขาได้ด่าอัลลอฮฺ เราพบว่า มุอาวิยะฮฺนั้นได้ด่าประนามท่านอาลี เพราะฉะนั้นแนวทางของซุนนี่จึงถือว่าผิดพลาด และชีอะฮฺจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง”

จะเห็นได้ว่า เหตุผลที่ให้มาในเรื่องมุอาวิยะฮฺด่าท่านอาลีนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรที่จะใช้ยืนยันว่า ซุนนีย์คือ แนวทางที่หลงผิด และชีอะฮฺคือแนวทางที่ถูกต้อง แต่ข้อสรุปที่เราน่าจะได้ก็คือ มุอาวิยะฮฺกระทำความผิด (สมมุติว่าเราทึกทักว่าสิ่งที่ชีอะฮฺอ้างมานั้นเป็นความจริง) เพราะฉะนั้นสมมุติว่าท่านมุอาวิยะฮฺด่า ประนามท่านอาลีจริง นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักฐานยืนยันว่า แนวทางของซุนนีย์ต้องหลงผิด และแนวทางชีอะฮฺต้องถูกต้อง

หรือผู้ที่ทำบิดอะฮฺพูดว่า “1. มีการรวมผู้คนตามอิมามคนเดียวในการทำละหมาดตะฮัจญุดหลังละหมาดตะรอวิห์ในมัสยิดฮะรอมมักกะฮ์และมะดีนะฮ์  2. มีการอ่านดุอาอ์คอตัมอัลกุรอานในละหมาดตะรอวิห์ และในละหมาดตะฮัจญุดก็เช่นกัน 3. เจาะจงคืนที่ 29 หรือคืนที่ 27 ของเดือนรอมะดอนในการคอตัมอัลกุรอานในละหมาดในมัสยิดฮะรอมมักกะฮ์และมะดีนะฮฺ  4. มีผู้ประกาศหลังจากละหมาดตะรอวิห์ว่า ซ่อลาตุลกิยาม อะษาบะกุมุลลอฮฺ เพราะฉะนั้น เราจึงสามารถ ทำบุญ 100 วันให้คนตายได้  จัดงานระลึกถึงวันเกิดท่านนบีจึงก็ทำได้เช่นกัน”

จะเห็นได้ว่า เหตุผลที่ให้มาในเรื่องสิ่งต่างๆ ที่ มัสยิดฮะรอมมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ทำกันนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรที่จะใช้ยืนยันว่า การทำบุญ 100 วันให้คนตาย สามารถทำได้ หรือจัดงานระลึกถึงวันเกิดท่านนบีสามารถทำได้  เพราะหลักฐานชี้ขาดทางศาสนาไม่ได้อยู่ที่ความเป็นมัสยิดฮะรอมมักกะฮ์ หรือมะดีนะฮ์   แต่ข้อสรุปที่เราน่าจะได้ก็คือ มีการทำบางสิ่งที่มัสยิดฮะรอม และที่มะดีนะฮฺ อันเป็นการกระทำที่ไม่มีแบบอย่างจากชาวสะลัฟ ถ้ามีการทำเช่นนั้นจริงตามที่ถูกกล่าวอ้าง

ข้อที่ 6

Using the Wrong Reasons (they don’t support the conclusion): นาย ก. ทึกทักเอาเองว่าเหตุผลที่นาย ข.ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นเพราะอย่างนั้นอย่างนี้  ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วนั่นไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงของนาย ก. เลย แต่เหตุผลที่แท้จริงของนาย ก.กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่นาย ข. ทำเช่นนี้ก็เพื่อจะได้โจมตีเหตุผลที่ไม่แท้จริงที่ตนเองทึกทักขึ้นมา และสร้างภาพว่า เหตุผลของนาย ก. สามารถถูกแย้งหรือหักล้างได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุผลของนาย ก. ยังไม่ได้ถูกหักล้าง

ตัวอย่างเช่นนาย ข. พูดว่า “ผมมีความเห็นว่า การสนับสนุนการออกกฏหมายควบคุมการซื้อขายปืนของนาย ก.ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่า มันไม่ได้ป้องกันฆาตกรจากการใช้ปืนก่อเหตุได้เลย”   ตรงนี้เป็นการใช้เหตุผลที่ผิดในการสนับสนุนจุดยืนตัวเองที่ว่า การออกกฏหมายควบคุมการซื้อขายปืนไม่มีประโยชน์อะไร  เพราะนาย ก. ที่สนับสนุนการออกกฏหมายควบคุมการซื้อขายปืนรู้เป็นอย่างดีว่า มันไม่สามารถควบคุม หรือห้ามมิให้ ฆาตกรจากการใช้ปืนเพื่อไปก่อเหตุได้ 100 %  แต่กระนั้นมันก็สามารถจำกัดการมีปืนเอาไว้ในครอบครองได้ จึงทำให้เกิดเหตุการฆาตกรรมด้วยปืนน้อยลงมากกว่าที่จะไม่ใช้กฏหมาย

ความผิดพลาดในการใช้เหตุผลตรงนี้ อาจจะเกิดขึ้นในเรื่องของการสวมหมวกนิรภัย หรือการคลุมฮิญาบ ก็เป็นไปได้ เช่นนาย ก. อาจจะมีการกล่าว ในทำนองว่า “สาเหตุที่กฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้ต้องสวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน๊อคก็เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ แต่ผมเห็นคนที่สวมหมวกกันน๊อคแล้วแต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตอยู่อีก เพราะฉะนั้นผู้ที่ออกกฎหมายนี้ไม่มีเหตุผลที่ดีพอ”

แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ออกกฎหมายในเรื่องนี้รู้เป็นอย่างดีว่าหมวกนิรภัยป้องกันการเสียชีวิตอันเองจากอุบัติเหตุไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น แต่สาเหตุที่แท้จริงที่ออกฏหมายนี้ก็เพื่อที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะได้ลดน้อยลง แต่นาย ก. กลับทึกทักเหตุผลไปเองว่าสาเหตุที่ออกกฎหมายนี้ก็เพื่อจะได้ไม่มีคนตายเลย กล่าวคือการสวมหมวกนิรภัยจะป้องกันอุบัติเหตุได้ร้อยเปอร์เซ็น ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงของผู้ออกกฎหมาย โดยนาย ก. ต้องการอาศัยเหตุผลที่ตนเองทึกทักขึ้นมาเพื่อลดความน่าเชื่อถือของผู้ที่ออกกฎหมายเรื่องนี้อีกที

เรื่องฮิญาบก็เหมือนกันสมมุติว่ามีสตรีที่คลุมฮิญาบแต่ก็ยังถูกลวนลามทางเพศหรือถูกข่มขืน  พระองค์อัลลอฮฺไม่ได้ยืนยันสักทีในอัลกุรอานในทำนองว่าถ้าสตรีทุกคนที่สวมฮิญาบแล้วนางจะไม่ถูกลวนลามทางเพศอย่างแน่นอน เปล่าเลยแต่การสวมฮิญาบทำให้การถูกลวนลามทางเพศหรือการถูกข่มขืนลดน้อยลงจนเกือบไม่มีเลยก็ว่าได้

ข้อที่ 7

Appeal to Pity (sympathy replaces good evidence): นำเอาความน่าสงสาร มาเป็นเหตุผลสนับสนุนจุดยืนของตนเอง แทนการใช้เหตุผล หรือหลักฐานที่ถูกต้อง เช่น มีหลักฐานชัดเจนว่านาย ก. ทำร้ายร่างกายนาย ข. ก่อน เมื่อเรื่องถึงศาล ญาติของฝ่ายนาย ก. จึงพูดกับศาลเป็นการส่วนตัวว่า “นาย ก. เป็นคนน่าสงสาร พ่อแม่เสียตั้งแต่เด็ก ต้องสู้ชีวิตมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นศาลได้โปรดอย่าจัดสินเอาผิดนาย ก. เลย”

หรือเช่น นาย เอ กับ นาย บี โต้วาทีกัน ผลที่ปรากฏออกมาก็คือ นาย บี โต้นายเอไม่ได้เลย แต่นายบีก็กล่าวกับ ผู้ฟังว่า “วันนี้ทั้งๆ ที่ผมป่วยมาก แต่ผมก็ยังมาโต้วาที แต่สงสัยว่านายหนึ่งคงไม่ทราบว่าผมป่วยกระมั่ง” จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่านายบีจะป่วยก็ตาม แต่นั้นก็มิได้เป็นเหตุผลทำให้ผู้ฟังต้องเชื่อในสิ่งที่นาย บีได้นำเสนอไป และไม่ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่นาย บีได้นำเสนอจะไปหักล้างเหตุผล หรือหลักฐานของนาย เอ ได้

แต่อย่างไรก็ตามในบางกรณีการนำความน่าสงสารหรือน่าเห็นใจมาเป็นเหตุผลก็สามารถรับฟังได้และถือว่ามีเหตุผล เช่น นาย ก. ซึ่งเป็นนักเรียนขอความเห็นใจจากอาจารย์คุมสอบเพื่อให้ตนเองได้เข้าห้องสอบเพราะเกิดอุบัติเหตุทำให้กีดขวางการจราจรทำให้ตนเองมาไม่ทันเวลาเข้าห้องสอบ

แต่ในหลายๆ กรณีการอ้างขอความเห็นใจก็ไม่อาจนำมาใช้แทนที่หลักฐานและเหตุผลได้ และจะเป็นการไร้เหตุผลและไร้สาระเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการอ้างขอความเห็นใจเพื่อให้ทำหรือให้เชื่อในสิ่งที่ค้านหรือแย้งกับความเป็นจริง เช่น  นาย ก. สอบตก แต่นาย ก. กลับขอความเห็นใจจากอาจารย์เพื่อปรับคะแนนของตนเองให้สอบผ่าน

มีบางกรณีเราจะต้องใช้วิจารณญาณของเราเองในการตัดสิน เนื่องจากความไม่ชัดเจน เช่น นักเรียนได้รับมอบหมายจากอาจารย์ให้ทำงานชิ้นหนึ่ง ให้เวลา 3 เดือน  3 เดือนได้ผ่านไปโดยที่นักเรียนคนนั้นทำงานยังไม่เสร็จเลย พอเจออาจารย์ก็พูดกับอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ ผมป่วยเข้าโรงพยาบาล เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจึงยังทำงานไม่เสร็จ”

ข้อที่ 8

Appeal to Force or Threat (persuasion by warning): ใช้การข่มขู่ ถึงผลร้ายที่จะตามมาถ้าไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือถ้าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด มาเป็นเหตุผลให้อีกฝ่ายเชื่อ หรือทำตามจุดยืนของตนเอง เช่น นาย ก. ที่ต้องการรับอิสลาม แต่นาย ข. กลับพูดกับนาย ก. ว่า “อย่ารับอิสลามเลย เพราะคุณต้องถูกมองว่าเป็นคนหัวรุนแรง ก่อการร้าย  และคุณอาจจะกลายเป็นคนแปลกหน้าในหมู่เพื่อนไปเลย”

ผลเสียหรือสิ่งที่ไม่ปรารถนาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมาในภายหลังไม่อาจที่จะถูกใช้มาหักล้างอิสลามได้ว่าเป็นศาสนาที่แท้จริง  ความจริงก็คือความจริง ถึงแม้ว่าผลที่จะออกมาจากการเชื่อหรือยึดถือความจริงนั้น จะถูกมองไปในทางลบ หรือทางที่ไม่ดีก็ตาม ถึงแม้ว่าผลที่จะตามมาจากการรับอิสลามจะออกมาในทางลบก็ตาม เพราะผลที่จะออกมาในทางลบนั้น ตัวมันเองไม่ได้เป็นเหตุผลหรือหลักฐานหักล้างความเป็นศาสนาที่แท้จริงของอิสลามได้

หรือเช่น นาย ก. ป่วย และไปหาหมอ หมอบอกว่าจะต้องฉีดยา หรือผ่าตัด นาย ข. ก็พูดกับนาย ก. ว่า “นาย จะยอมเจ็บตัวอย่างนั้นหรือ นายจะยอมถูกฝ่าเลือดออก เจ็บปวดทรมานอย่างนั้นหรือ อย่าทำเช่นนั้นเลย”

หรือสมมุติว่า คนสองกลุ่มทะเลาะกัน และเราก็รู้ว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่ถูกต้อง แต่กลุ่มที่อยู่บนความจริง อยู่บนความถูกต้องกลับถูกมองในแง่ลบ ในทางที่เสียหาย โดยคนทั่วไป  แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมขอถามว่า ถ้าเราเป็นผู้รักความจริง รักความยุติธรรม เราจะเลือกเข้าข้างฝ่ายไหน?

ฝ่ายที่เชื่อในการทีอยู่ในพระผู้ป็นเจ้าได้ยกเหตุผลข้อหนึ่งมาในทำนองว่า “ถ้าไม่มีพระเจ้า  ชีวิตของเราย่อมไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน แต่เราจะกลายเป็นคนที่ไร้เป้าหมาย ไร้แก่นสารอย่างแน่นอน”  ซึ่งการยกเหตุอย่างนี้มาทำให้ฝ่ายที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้าโจมตีว่าผิดพลาดในการอ้างเหตุผลในข้อนี้

เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ถูกต้องแล้ว ฝ่ายที่เชื่อในการมีอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องโต้ตอบกลับไปว่า “เราไม่ได้เชื่อในพระเจ้า เพราะกลัวว่าชีวิตในโลกนี้จะไร้เป้าหมาย แต่เราเชื่อในพระเจ้าเพราะเราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานอื่นๆ ที่เชื่อถือได้ แต่ความรู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมาย มีจุดมุ่งหมายเป็นผลพลอยได้จากการเชื่อในพระเจ้า

ข้อที่ 9

Appeal to Tradition (custom/heritage are used as evidence): ใช้ประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือมรดกตกทอดไม่ว่าจะด้านการกระทำหรือความคิด มาเป็นเหตุผล หรือหลักฐานสนับสนุนจุดยืนของตนเอง เช่น นาย ก. ต้องการให้นาย ข. เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้องแล้ว โดยพูดในทำนองว่า “เขาทำกันมานานแล้ว”  หรือ “ผู้คนทั้งหลายก็ทำอย่างนี้กันมาโดยตลอด” หรืออะไรทำนองนี้

แต่กระนั้นก็ตามใครก็ตามที่ยืนยันว่า สิ่งที่ผู้คนทำกันมาตั้งแต่อดีต หรือทำกันมาช้านาน เป็นสิ่งที่ผิด เขาผู้นั้นจะต้องนำหลักฐานมายืนยันให้ได้ว่าผิดเพราะอะไร เช่น  มนุษย์เชื่อกันมาช้านานว่าโลกแบน เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมาบอกว่าโลกไม่ได้แบนอย่างที่คนทั้งหลายเชื่อกัน จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ซึ่งก็ได้พิสูจน์กันในทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าโลกมีรูปทรงกลมเหมือนไข่นกกระจอกเทศ

หรือการทำบุญอันเนื่องจากคนตายไม่ว่าจะทำ 3 วัน หรือครบรอบ 7 วันตาย หรือ 40 วัน หรือ 100 วัน ซึ่งมุสลิมหลายๆ คนทำกันมาช้านานแต่สุดท้ายก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการกระทำเช่นนั้นผิดพลาดเพราะไม่มีแบบอย่างการกระทำจากท่านนบีและบรรดาซอฮาบะฮฺ

ข้อที่ 10

Appeal to Personal Circumstances or Motives (to self-interest instead of real issues): ใช้ผลประโยชน์ หรือ สภาพส่วนตัวมาเป็นเหตุผล เพื่อให้เกิดการยอมรับจุดยืนของตนเอง ทั้งๆ ที่ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญกว่าที่จะต้องนำมาวิเคราะห์ และพิจารณา

(อ่านตอนที่ 2 คลิก)


Facebook Tags: #60ประการแห่งการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด #มาศึกษาการใช้เหตุผลที่ถูกต้องกันครับ