โปรดอ่าน ตอนที่ 1: 60 ประการแห่งการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด EP.01: ข้อ 1 – 10
ข้อที่ 11
Exploitation of Strong Feelings and Attitudes (manipulation of deep-seated feelings): ใช้ความอ่อนไหวทางอารมณ์ หรือความรู้สึกมาเป็นเหตุผล เพื่อให้เกิดการยอมรับจุดยืนของตน ปฎิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เรามีความรู้สึกอ่อนไหวทางอารมณ์ซึ่งอาจจะทำให้ละเลยที่จะพิจารณาที่หลักฐานและเหตุผล แต่ใช้ความอ่อนไหวทางอารมณ์นั้นมาแทนที่ ซึ่งไม่สามารถใช้พิสูจน์ความจริงได้ หรือไม่สามารถใช้เป็นตัวตัดสินได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรจริงอะไรเท็จ
ข้อที่ 12
Use of Flattery (praise replaces evidence): เอาการชมเชย หรือการยกย่อง มาแทนที่การใช้เหตุผลหรือหลักฐาน เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ อาจจะต้องการให้คนอื่นมาเชื่อเหมือนตนเองหรือ อาจจะต้องการได้ผลประโยชน์ทางวัตถุ
ข้อที่ 13
Assigning Guilt by Association (argues that those with opposite view are viewed negatively): ความผิดพลาดหนึ่งในการใช้เหตุผลคือ การปฎิเสธหลักฐานหรือเหตุผลหนึ่งที่ถูกนำเสนอ เพียงเพราะตนเองไม่ชอบหรือสงสัยในความน่าเชื่อถือของตัวผู้ที่ยกหลักฐานนั้นมา โดยปราศจากหลักฐานที่จะมายืนยันว่า หลักฐานที่ได้ถูกนำเสนอมานั้นใช้ไม่ได้อย่างไร
เช่น นาย ก. นำเสนอหลักฐานที่มาจากนักวิชาการฝ่ายคริสต์เพื่อยืนยันกับ นาย ข. ว่า คัมภีร์ไบเบิ้ลนั้นถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่นาย ข. กลับปฎิเสธหลักฐานที่นาย ก. ยกมา เพียงให้เหตุผลว่า “คุณนำหลักฐานนี้มาจากเว็ปไซต์ของมุสลิม” หรือ “คุณนำมาจากหนังสือที่มุสลิมเขียน” จะเห็นได้ว่า นาย ข. ไม่ได้พิสูจน์แต่อย่างใดว่าหลักฐานที่นาย ก. นำมาเชื่อถือไม่ได้อย่างไร ได้แต่ปฎิเสธโดยไม่มีเหตุผลที่แท้จริง
การกระทำของนาย ก. ก็เหมือนกับ นาย ก. ยืนยันกับนาย ข. ว่า โลกกลม แต่ในขณะเดียวกันคนที่นาย ข. เกลียด นั่นก็คือ นาย ค. ก็เชื่อเช่นเดียวกันว่าโลกกลม นาย ข. จึงปฎิเสธหลักฐานที่นาย ก. ได้นำเสนอเพื่อยืนยันว่าโลกกลม เพียงเพราะ ตนเองไม่ชอบนาย ค. จึงไม่ขอเชื่ออย่างเดียวกับที่นาย ค. เชื่อ ความผิดพลาดในการใช้เหตุผลนี้ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Fallacy: Guilt By Association
หรือ เช่นนาย ก. เป็นผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม และมีอคติต่ออิสลามและเกลียดอิสลาม ส่วนนาย ข. เป็นเพื่อนของนาย ก.และตัวเองก็ไม่ใช่มุสลิม แต่มีเพื่อนเป็นมุสลิม นาย ข. บอกนาย ก. ว่า “ดอกเบี้ยเป็นการซ้ำเติมคนยากจนทำให้คนยากจนต้องลำบากมากไปกว่าเก่าและทำให้เกิดผลเสียในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับระบบดอกเบี้ย” แล้วนาย ข. ก็อธิบายให้นาย ก. ฟังว่าดอกเบี้ยมีผลเสียอะไรบ้าง
จากนั้นนาย ก. จึงถามนาย ข. ว่า “นายไปเอาความคิดนี้มาจากไหน” นาย ข. จึงตอบว่า “ผมมีเพื่อนเป็นมุสลิมหลายคนและพวกเขาบอกผมว่าศาสนาอิสลามห้ามเรื่องดอกเบี้ยและได้อธิบายสิ่งเหล่านั้นกับผม” นาย ก. จึงพูดกับนาย ข. ว่า “ ผมไม่เชื่อในสิ่งที่คุณพูด เพราะคุณเอาสิ่งมาจากมุสลิมซึ่งแน่นอนพวกเขาก็ต้องเข้าข้างหลักคำสอนของศาสนาตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องมาอธิบายเสียให้ยืดยาว”
จะเห็นได้ว่า นาย ก. ไม่ได้พิสูจน์เลยว่าสิ่งที่นาย ข. ได้อธิบายเรื่องดอกเบี้ยนั้นไม่จริงอย่างไร หรือผิดพลาดอย่างไร แต่นาย ก. ปฏิเสธไปเลยเพียงเพราะผู้พูดเป็นกลุ่มคนที่ตนเองเกลียด
ข้อที่ 14
Equivocation (word or phrase with two distinct meanings made to appear equivalent): ใช้คำหรือกลุ่มคำที่มีความหมายหรือรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ทำราวกับว่าทั้งสองคำ หรือทั้งสองกลุ่มคำ มีความหมายและรายละเอียดเหมือนกัน
ในหลายกรณีด้วยกันที่คำศัพท์คำหนึ่งถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนจุดยืนของตนเอง แต่กระนั้นก็ตามรายละเอียดของศัพท์คำนั้นที่ถูกกล่าวในบริบทหนึ่งนั้นมีความแตกต่างกันกับอีกบริบทหนึ่งที่มันถูกใช้ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นอะไรที่แยบยล (ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Equivocation)
ซี่งถ้าไม่สังเกตุหรือระวังให้ดีก็อาจจะคล้ายตามไปได้โดยง่าย เช่นพูดว่า “เมื่อยาชนิดหนึ่งๆ ได้มีมติเอกฉันทร์แล้วว่ามีประโยชน์ในการใช้รักษาได้แล้ว ยานั้นก็จะเป็นที่ยอมรับ และเช่นกันได้มีการสำรวจและพบว่ามีมติเป็นเอกฉันทร์ที่จะยอมรับว่ากัญชานั้นสามารถใช้รักษาทางการแพทย์ได้”
สังเกตุคำว่า ‘มติเอกฉันทร์’ ให้ดี เพราะรายละเอียดของการใช้ในแต่ละครั้งนั้นแตกต่างกัน … เมื่อเราวิเคราะห์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเราพบว่า มติเอกฉันทร์ที่ถูกใช้ในครั้งแรกนั้นหมายถึง มติเอกฉันทร์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้การยอมรับยาชนิดหนึ่งๆ ว่ามีประโยชน์ในการใช้รักษาได้
แต่คำว่ามติเอกฉันทร์ที่ถูกใช้ในครั้งที่สองนั้น คือ มติเอกฉันทร์ในหมู่ประชาชนชาวอเมริกาทั่วไปที่ได้มาจากการการสำรวจความเห็น ซึ่งก็ผิดหลักการใช้เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ว่า เอาคนส่วนใหญ่มาเป็นตัวตัดสินซึ่งไม่อาจจะใช้ได้ในกรณีนี้ เพราะข้อเท็จจริงในกรณีเรื่องยานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่คนส่วนใหญ่ หากแต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องยา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าคำศัพท์หรือวลีที่ใช้ อาจจะเหมือนกันก็ตาม แต่กระนั้นเนื้อหารายละเอียดของคำศัพท์หรือวลีนั้นไม่เหมือนกัน
ข้อที่ 15
Ambiguity (word or phrase subject to more than one interpretation): ใช้คำที่อาจจะมีความหมายมากกว่าหนึ่ง หรือใช้ถ้อยคำที่อาจเข้าใจไปได้มากกว่าหนึ่งอย่าง โดยไม่กล่าวให้ชัดเจนว่าตนเองกำลังใช้ความหมายใดอยู่ หรืออาศัยความคลุมเคลือของความหมาย เพื่อการตีความให้สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง โดยไม่นำเอาความหมายที่มีความชัดเจนกว่ามาขยาย หรือไม่นำเอาหลักฐานอื่นในเรื่องเดียวกันที่มีความชัดเจนกว่ามาขยาย
ยกตัวอย่างเช่น ผู้รู้ชีอะฮฺยกหลักฐานของฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺมาเพื่อสนับสนุนความเชื่อของตนเอง แต่มีคำศัพท์บางคำในหลักฐานบทนั้นที่อาจจะแปลได้หลายความหมาย แต่เลือกเอาความหมายที่สอดคล้องกับความเชื่อตนเอง และอ้างว่าความหมายนี้ถูกต้องที่สุด
แต่เหตุผลที่ผู้รู้ชีอะฮฺอ้างมานั้นสามารถถูกหักล้างหรือโต้ตอบได้โดยผู้ที่มีความรู้ในกระบวนการใช้เหตุผลที่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่มีหลักฐานบางบทในเรื่องเดียวกันนั้นที่จะมาชี้ชัดได้ว่าศัพท์ตัวนั้นจะต้องแปลว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง และไม่ไปขัดกับหลักฐานที่มีความชัดเจนกว่าในเรื่องเดียวกันนั้น แต่กระนั้นผู้รู้ชีอะฮฺก็ปกปิดหลักฐานเหล่านั้นเอาไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะถ้านำหลักฐานบทอื่นๆ ที่มีความชัดเจนในเรื่องเดียวกันนั้นมา ก็จะทำให้ความหมายที่ตนเองอ้างว่าถูกต้องถูกหักล้างไปในที่สุด
เช่น ฮะดีษเรื่อง ฆอดิรคุม ที่มีคำว่า ‘เมาลา’ โดยฝ่ายชีอะฮฺแปลว่า ‘ผู้นำ’ หรือ ‘คอลีฟะฮฺ’ แต่ฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺแปลว่า ‘ผู้เป็นที่รัก’ ซึ่งหลังจากที่ได้วิเคราะห์แล้ว ถ้าแปลแบบชีอะฮฺ จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะขัดกับหลักฐานที่มีความชัดเจนมากกว่าในเรื่องเดียวกันนี้ ซึ่งสภาพความขัดแย้งบ่งบอกถึงความเป็นเท็จ
แต่การแปลแบบฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺจะสอดคล้องกันกับหลักฐานบทอื่นๆ ที่มีความชัดเจนในเรื่องเดียวกันนี้ จึงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งกัน ถ้าฝ่ายชีอะฮฺจะอ้างเหตุผล คิดเหตุผลอะไรมาก็ตามเพื่อที่จะยืนยันว่าการแปลที่ถูกต้องของคำว่า ‘เมาลา’ จะต้องแปลว่า ‘ผู้นำ’ หรือ ‘คอลีฟะฮฺ’ แต่สิ่งเดียวที่สามารถทำลายเหตุผลหรือข้ออ้างเหล่านั้นของชีอะฮฺได้เป็นอย่างดี และจะพิสูจน์ไปโดยปริยายว่าเหตุผลเหล่านั้นที่ชีอะฮฺอ้างมาเป็นเท็จ และไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง ก็คือ สภาพความขัดแย้งกัน โดยขัดกับหลักฐานในเรื่องเดียวกันที่มีความชัดเจนมากกว่า
ซึ่งเหตุผลเหล่านั้นที่ยกมาหรือสร้างขึ้นมาไม่สามารถขจัดความขัดแย้งให้หมดไปได้ ถ้าผู้รู้ชีอะฮฺจะแปลคำว่าเมาลาว่า ‘ผู้นำ’ หรือ ‘ คอลีฟะฮฺ’ และอย่างที่บอกไปแล้วว่าสิ่งใดก็ตามที่มีความขัดแย้งกันสิ่งนั้นถือว่าเป็นเท็จ
หรือฮะดีษที่ท่านนบีใช้คำว่า ‘อัซฮาบี’ กลับคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกห้ามมิให้เข้ามาดื่มน้ำที่บ่อน้ำในวันกิยะมาฮฺ เพราะพวกเขาเป็นคนชั่วที่ได้เปลี่ยนแปลงศาสนาภายหลังจากที่นบีได้จากไป โดยฝ่ายชีอะฮฺแปลคำว่า ‘อัซฮาบี’ ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบรรดาสาวกของท่านนบีที่ประสบพบเจอ ร่วมใช้ชีวิตในสมัยเดียวกับท่านนบี แต่ภายหลังพวกเขาได้ตกศาสนากันเกือบทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริงแล้วก็จะเท่ากับว่า ฮะดีษต่างๆ ที่รายงานผ่านสาวกของท่านนบีเหล่านี้ก็จะเชื่อถือไม่ได้ไปโดยปริยาย เพราะท่านเหล่านี้เป็นคนที่ชั่วช้าตามความเชื่อของชีอะฮฺ
แต่ฝ่ายชีอะฮฺยกฮะดีษมาเพียงบทเดียว แต่ทำไมไม่ยอมยกฮะดีษอีกบทหนึ่งมาที่ใช้คำว่า ‘อัซฮาบี’ เหมือนกันเลย โดยฮะดีษบทนี้ยืนยันชัดเจนว่า มุสลิมจะแตกออกเป็น 73 กลุ่ม โดยจะมีกลุ่มเดียวเท่านั้นที่รอดพ้นจากไฟนรก กลุ่มดังกล่าวก็คือ ‘มาอะนะอะลัยฮิ วะ อัซฮาบี’ คือกลุ่มที่ยึดมั่นตามแนวทางของท่านบีและบรรดาซอฮาบะฮฺ (อัซฮาบี) จะเห็นได้ว่า ‘อัซฮาบี’ ในฮะดีษบทนี้กลับตรงกันข้ามกับ ‘อัซฮาบี’ ของฮะดีษอีกบทหนึ่งที่ชีอะฮฺยกมา
คำถามก็คือ แล้ว ‘อัซฮาบี’ ในฮะดีษที่ชีอะฮฺยกมาจะต้องมีความหมายว่าอะไร คำตอบก็คือ ชีอะฮฺ ปกปิด ไม่ยอมยกหลักฐานในเรื่องเดียวกันกับฮะดีษบทที่ตนยกมาให้ครบทุกต้น เพราะมีฮะดีษอีกบทหนึ่งที่ใช้คำว่า ‘อุมมะตี’ (ซึ่งมีความหมายว่า ประชาชาติของฉัน) แทนคำว่า ‘อัซฮาบี’ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เรารู้ว่าคำว่า ‘อัซฮาบี’ ในฮะดีษบทก่อนหน้านี้มีความหมายว่า ‘อุมมะตี’ ซึ่ง ‘อุมมะตี’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบรรดาซอฮาบะฮฺ หรือสาวกที่ใช้ชีวิตร่วมสมัยกับท่านนบีอย่างแน่นอน เพราะมีหลักฐานฮะดีษ 73 กลุ่มมาขยาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีอะฮฺที่ยกหลักฐานบทนี้ขึ้นมาจึงไม่มีความซื่อสัตย์ เพราะยกหลักฐานที่เชื่อถือได้มา แต่ ไม่นำหลักฐานในเรื่องเดียวกันบทอื่นๆมาให้หมดเพื่อที่จะได้รับความเข้าใจและ ข้อสรุปที่ถูกต้องว่าจะต้องให้ความหมายไหนกับคำว่า “อัซฮาบี” หรือคำว่า “เมาลา”
ข้อที่ 16
Improper Accent (word or phrase emphasized to alter meaning; lifting partial quote and using it out of context): ใช้การเน้นคำหนึ่งคำใด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประโยคเป็นพิเศษ เพื่อต้องการจะสื่อให้เกิดความเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง หรือยกคำพูดมาไม่หมด เพื่อต้องการเน้นเฉพาะส่วนที่ยก เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปตามที่ตนเองต้องการ เพราะถ้ายกคำพูดมาทั้งหมดก็จะทำให้ไม่ได้อย่างที่ตนเองต้องการได้
ข้อที่ 17
Illicit Contrast (listener infers from a claim a related contrasting claim): การทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดที่ตรงกันข้ามกับเจตนาของผู้พูด หรือแย้งกับเจตนา หรือคาดเคลื่อนไปจากเจตนา หรือความตั้งใจที่แท้ของผู้พูด เพื่อที่จะได้มารองรับทัศนะหรือความเชื่อของตนเองหรือสิ่งที่ตนเองต้องการ
เช่น นาย ก. พูดว่า “คนที่เรียนตรรกถือว่าเป็นคนรอบครอบในการวิเคราะห์” นาย ข. จึงนำคำพูดของนาย ก. ไปขยายผลอย่างผิดๆว่า “นาย ก. บอกว่าคนที่ไม่เรียนตรรก ถือว่าเป็นคนที่ไม่มีความรอบครอบในการวิเคราะห์” ทั้งๆ ที่นาย ก. ไม่ได้ต้องการกล่าวเช่นนั้นเลย
หรือ พูดว่า “คนที่ละหมาดตะฮัจยุดถือได้ว่าเป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺเป็นพิเศษ” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้ละหมาดตะฮัจยุดจะถือว่าไม่สามารถได้รับความใกล้ชิดเป็นพิเศษกับอัลลอฮฺ”
หรือ พูดว่า “การเล่นว่ายน้ำทำให้ร่างกายแข็งแรง” ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ว่ายน้ำจะมีร่างกายที่ไม่แข็งแรง อ่อนแอ หรือเหมือนกับที่อัลลอฮฺกล่าวว่า “มุอฺมินคือผู้ที่มีความนอบน้อมในการละหมาด” และถ้าจะมีใครพูดว่า “เพื่อนผมกินเหล้าแต่ก็เป็นมุสลิม แต่เขาก็ยังละหมาดด้วยความนอบน้อมได้เหมือนกัน” ก็จะถือว่าผิดพลาดในการใช้เหตุผลข้อนี้ เพราะการที่อัลลอฮฺ กล่าวว่า “มุอฺมินคือผู้ที่มีความนอบน้อมในการละหมาด” ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ใช่มุอฺมินจะมีความนอบน้อมในละหมาดไม่ได้ โดยละหมาดด้วยความรุกรี้รุกรน ตรรกข้อนี้สอนให้รู้ว่า ในทางกลับกันไม่จำเป็นต้องเป็นจริงเสมอไป
หรือเช่น นาย ก. นัดเพื่อนๆ ตนเองมาที่บ้านและพูดกับเพื่อนๆ ของตนเองว่า “คนทั้ง 3 นี้เป็นลูกของผม” เพื่อนนาย ก. คนหนึ่งไปเล่าให้คนอื่นฟังว่า นาย ก. มีลูกเพียงแค่ 3 คน ซึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไปเล่าเช่นนี้ เพราะนาย ก. มีลูกมากกว่านั้นแต่ที่นาย ก. พูดเช่นนั้นเพราะในตอนที่เพื่อนๆ ของนาย ก. มาที่บ้าน ลูกของนาย ก. อยู่เพียงแค่ 3 คน แต่ในความเป็นจริงแล้วนาย ก. มีลูกทั้งหมด 7 คน และนาย ก. ก็ไม่ได้มีเจตนาปฏิเสธอีก 4 คนว่าไม่ใช่ลูกของตนเองด้วย
ผู้รู้ชีอะฮฺก็ผิดพลาดเช่นเดียวกันนี้โดยทึกทักว่าลูกหลานท่านนบีนั้นมีเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ท่านนบีไม่เคยพูดคำว่า “เท่านั้น” เหมือนกับที่นาย ก. ในตัวอย่างที่ผ่านมาก็ไม่ได้กล่าวเลยว่า “ผมมีลูกเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น” ซึ่งทำให้คลาดเคลื่อนไปจากเจตนาที่แท้จริงของผู้พูด
ข้อที่ 18
Argument by Innuendo (veiled claim, without evidence): พูดสิ่งหนึ่งออกมาแต่ในคำพูดนั้นบ่งบอกถึงจุดยืน หรือทัศนะของตนเอง และสื่อไปในทางลบ เพื่อต้องการลดความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ แบบชัดเจน ทั้งนี้เพราะตนเองไม่สามารถนำเหตุผล หรือหลักฐาน (premise) มาสนับสนุนจุดยืนหรือทัศนะของตนเองได้ และกลัวว่าตนเองจะถูกโต้ตอบหรือหักล้างกลับ จึงเลือกที่จะกล่าวแบบอ้อมๆ
เช่นพูดว่า “อิสลามอนุญาตให้มีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน” โดยเน้นตรงคำพูด “มากกว่าหนึ่งคน” เพื่อต้องการแสดงจุดยืนที่แอบแฝง ว่าอิสลามกดขี่สตรี หรือพูดว่า “อิสลามสั่งใช้ให้สตรีต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในผ้าคลุมศรีษะ”
หรือเช่น นาย ก. บอกกับนาย ข. ว่า “การจัดงานเมาลิดนั้นไม่มีแบบอย่างจากชาวสะลัฟ เพราะฉะนั้นเป็นบิดอะฮฺอย่างแน่นอน” นาย ข. จึงพูดขึ้นมาว่า “นาย คงไม่รู้ดีไปกว่าคนที่เขาจบศาสนามาโดยตรงจากต่างประเทศ” จะเห็นได้ว่านาย ข. ไม่พูดออกมาตรงๆ แต่ถ้าพูดออกมาตรงก็จะได้ว่า “เราไม่เชื่อนาย เพราะนายไม่ได้จบศาสนามาโดยตรง คนที่ไม่ได้จบศาสนามาโดยตรงพูดเรื่องศาสนาแล้วเชื่อถือไม่ได้” ซึ่งการพูดเช่นนี้สามารถถูกหักล้างได้
หรือเช่นเด็กหญิงคนหนึ่งต้องการจะคลุมฮิญาบเข้าโรงเรียนแต่ถูกกีดกั้นจากทางโรงเรียน โดยอาจารย์ต่างศาสนิกคนหนึ่งพูดกับนักเรียนคนนี้ว่า “นักเรียนที่ดีจะต้องปฎิบัติตามกฎของโรงเรียน” จะเห็นได้ว่าถ้าอาจารย์คนนี้พูดออกมาตรงๆ ก็จะได้ว่า “เธอเป็นคนไม่ดี เพราะเธอฝ่าฝืนกฎของโรงเรียนที่ห้ามไม่ให้คลุมฮิญาบในโรงเรียน” สาเหตุที่ไม่พูดตรงให้ชัดเจนก็เพราะสามารถถูกหักล้างได้ เช่น นักเรียนคนนั้นอาจจะย้อนถามอาจารย์กลับไปว่า “แล้วอาจารย์หรือโรงเรียนที่ฝ่าฝืนคำสั่งของกระทรวงศึกษาจะเรียกได้ไหมว่าเป็นอาจารย์ที่ดี หรือจะเรียกได้ไหมว่าเป็นโรงเรียนตัวอย่าง”
หรือเช่น นาย ก. เป็นลูกศิษย์ของนาย ข. โดยร่ำเรียนศาสนามาจากนาย ข. แต่เมื่อเวลาได้ผ่านไป นาย ก. ต่อต้านการทำบุญคนตาย เช่น 3 วัน 7 วัน หรือ 40 วัน เพราะเป็นบิดอะฮฺ แต่นาย ข. ผู้เป็นอาจารย์ของนาย ก. เป็นคนนำในการทำบุญคนตายเสียเอง นาย ค. ก็พูดกับนาย ก. ว่า “ลูกศิษย์ที่ดีนั้นจะต้องยกย่องให้เกียรติอาจารย์ที่สอนเขามา จะต้องสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ที่ให้วิชาความรู้ตนเองมา”
จะเห็นได้ว่าถ้านาย ค. พูดออกมาตรงๆ ให้ชัดเจนก็จะได้ว่า “การที่คุณต่อต้านการทำบุญคนตายถือว่าคุณไม่ให้เกียรติและไม่สำนึกในบุญคุณของอาจารย์ที่สอนคุณมา เพราะฉะนั้นเพื่อแสดงการให้เกียรติและสำนึกในบุญคุณต่ออาจารย์ คุณจะต้องหยุดต่อต้านการทำบุญคนตาย” แต่นาย ก. อาจจะโต้แย้งกลับไปได้บ้างว่า “ตกลงถ้าอาจารย์จะทำความผิดอะไรก็แล้วแต่ จะผิดร้ายแรงอย่างไรก็แล้วแต่ คนที่เป็นลูกศิษย์ไม่มีสิทธิที่จะว่ากล่าวหรือตักเตือนหรือทักท้วงเลยใช่หรือไม่ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติและไม่สำนึกในบุญคุณต่ออาจารย์ และตกลงถ้าพ่อแม่ที่มีบุญคุณต่อเราเหมือนกับอาจารย์ ทำความผิดลูกไม่มีสิทธิตักเตือน ทักท้วงหรือแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างนั้นหรือ? ”
ข้อที่ 19
Misuse of a Vague Expression (assigning a very precise meaning to a word or term like moral education, which is imprecise in meaning): ใช้คำหรือสำนวนที่กำกวมคลุมเคลือไม่ชัดเจน ซึ่งถ้าไม่สร้างความชัดเจน ให้เกิดขึ้นมาเสียก่อน หรือถ้าไม่นิยามให้ชัดเจนเสียก่อน ก็ไม่อาจที่จะถกกันต่อไปได้ หรือไม่อาจที่จะหักล้าง หรือพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จได้
เช่น นาย ก. อ้างนาย ข. เป็นวะฮะบีย์ โดยไม่นิยามตีกรอบให้ชัดเจนเสียก่อนว่าวะฮะบีย์คืออะไร หรือ หรือนาย ก. อ้างว่ามุสลิมต้องสมานฉันทร์กันไว้ก่อน หรือหรือนาย ข. อ้างว่ามุสลิมเป็นพวกหัวรุนแรง หรือสุดโต่ง หรือเสียมารยาท หรือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เคร่งเกินไป แต่ไม่นิยามหรือตีกรอบคำนั้นๆให้ชัดเจนเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อลดความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย หรือ เพื่อต้องการรองรับกับจุดยืนของตนเอง
ข้อที่ 20
Distinction Without a Difference (drawing an empty distinction, one no different than the original): พยายามปกป้องคำพูดหรือการกระทำของตนเองโดยให้เหตุผลว่าการกระทำของตนเองนั้นแตกต่างจากการกระทำผู้อื่นที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ โดยใช้วิธีการสร้างภาพด้วยการเลือกใช้คำพูดที่จะบ่งถึงความแตกต่างทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ต่างอะไรกันเลย คือไม่ใช่ความแตกต่างที่แท้จริง
เช่น นาย ก. ที่เป็นมุสลิมพูดทำนองว่า “เราจะต้องตามอัล-กุรอานและฮะดีษ อุละมาอ์ไม่ใช่หลักฐานทางศาสนา” เพื่อสร้างความแตกต่างในการปฎิบัติศาสนาของตนเองกับผู้อื่นที่ตนเองกำลังเป็นประเด็นด้วยว่า ตนเองนั้นปฎิบัติศาสนาโดยตามอัล-กุรอานและฮะดีษ แต่คนอื่นตามอุละมาอ์ แต่กระนั้นก็ตาม นาย ก. เองเมื่อต้องการทำความเข้าใจอัล-กุรอานและฮะดีษ ก็ต้องไปอ่านตำราตัฟซีรอัล-กุรอานหรือตำราอธิบายฮะดีษที่บรรดาอุละมาอ์ได้เขียนเอาไว้เช่นกัน
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกระทำของนาย ก. ไม่ได้ต่างอะไรกันเลยกับคนที่นาย ก. กำลังพาดพิงถึงอยู่เลย เพราะสุดท้ายตนเองก็ต้องอาศัยอุละมาอ์เหมือนกัน ถ้านาย ก. จะให้การกระทำของตนเองเกิดความแตกต่างกันอย่างแท้จริงกับการกระทำของคนอื่นๆ นาย ก. จะต้องพูดในทำนองว่า “เราจะต้องยึดอุละมาอ์ฝ่ายที่มีหลักฐานที่ตรงประเด็นไม่ใช่ไปยึดอุละมาอ์ฝ่ายที่ใช้หลักฐานอ้อม ไม่มีหลักฐานตรงประเด็นในเรื่องนั้นๆ มาสนับสนุนทัศนะของตนเอง”
ในความผิดพลาดในการใช้เหตุผลประเภทนี้บางครั้งเราอาจจะต้องใช้การยกตัวอย่างที่ไร้เหตุผลอย่างเห็นได้ชัดเพื่อให้ฝ่ายที่ใช้เหตุผลผิดได้รู้ตัว เช่น นาย ก. กำลังลอกข้อสอบ นาย ข. ที่นั่งอยู่โต๊ะหน้าตนเองอยู่ เมื่อผู้คุมสอบจับได้ นาย ก. จึงพูดว่า “ผมไม่ได้ลอกข้อสอบนาย ข. แต่ผมเพียงแค่ มองดูว่าเขากำลังเขียนอะไรอยู่เท่านั้นเอง”
หรือ เช่น นาย ก. กำลังตำหนิ และ พูดดูถูก นาย ข. เมื่อนาย ก. ถูกถามว่าทำไมจึงตำหนิและดูถูกนาย ข. นาย ก. ก็แก้ตัวว่า “ผมไม่ได้ตำหนิและดูถูกเขา แต่ผม พูดให้เขาคิดได้ หรือพูดเพื่อกระตุ้น ” ซึ่งการพูดให้ได้คิดหรือพูดกระตุ้นไม่ได้แตกต่างอะไรกันเลยกับการพูดตำหนิหรือดูถูก