บทนำ ตอนที่ 3: หนังสือสารพัดปัญหาแห่งหมู่ชนยุคญาฮิลียะฮ์ (EP.03)

[เนื้อหาที่ท่านกำลังอ่านแปลมาจากหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่า เขียนโดย ชัยค์มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ ชื่อว่า มาซาอิลญาฮิลิยะฮ์ฯ ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของหมู่ชนญาฮิละยะฮ์ และได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจาก ชัยค์ศอลิฮ์ บินเฟาซาน อัลเฟาซาน ปราชญ์อาวุโสจากประเทสซาอุดิอารเบีย]

[โปรดอ่านตอนที่แล้วคำว่าญาฮิลียะฮ์ ดังที่เรากล่าวไปแล้ว ว่ามันพาดพิงไปหาคำว่า ญะฮล์ ซึ่งหมายถึง การไร้ความรู้ และเรื่องใดก็ตามที่ถูกพาดพิงกลับไปหาญาฮิลียะฮ์ เรื่อง ๆ นั้นจะถือเป็นเรื่องที่ต้องถูกตำหนิ ด้วยเหตุนี้เองอัลลอฮ์ตะอาลาจึงตรัสว่า

وَلَا تَبَرَّجْنَ تَبَرُّجَ الْجَاهِلِيَّةِ الْأُولَىٰ

ความว่า: “และพวกนางจงอย่าแต่งตัวอวดโฉมดังสภาพการแต่งตัวอวดโฉมของสตรีญาฮิลียะฮ์ยุคต้น” [ซูเราะฮ์ อัลอะฮ์ซาบ อายะฮ์ที่ 33]

อัลลอฮ์ทรงห้ามบรรดาภรรยาของท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ให้ทำการตะบัรรุจ (แต่งตัวอวดโฉม) ซึ่งหมายถึงการเปิดเผยเครื่องประดับของพวกนางตามท้องตลาด และต่อหน้าสาธารณะชน เพราะพวกญาฮิลียะฮ์นั้น ผู้หญิงของพวกเขาต่างก็ทำการแต่งตัวอวดโฉม ยิ่งไปกว่านั้นพวกนางยังเปิดเผยเอาเราะฮ์ของตัวเองอีกต่างหาก เหมือนกับในตอนที่พวกเขาทำการเฏาะวาฟ พวกเขามองว่าการทำแบบนี้ถือเป็นการได้อวดเบ่งกัน

และอัลลอฮ์ตะอาลากล่าวว่า

إِذْ جَعَلَ الَّذِينَ كَفَرُوا فِي قُلُوبِهِمُ الْحَمِيَّةَ حَمِيَّةَ الْجَاهِلِيَّةِ

ความว่า: “ขณะที่บรรดาพวกปฏิเสธศรัทธาได้ทำให้การดูถูกดูแคลนมีขึ้นในหัวใจของพวกเขา ซึ่งเป็นการดูแคลนแบบชนญาฮิลียะฮ์” [ซูเราะฮ์ อัลฟัตฮ์ อายะฮ์ที่ 26]

สำนวนนี้เป็นการตำหนิพวกเขา ฉะนั้นแล้วการดูแคลนแบบพวกญาฮิลียะฮ์นั้นจึงถือเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ ครั้นเมื่อท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยินชายคนหนึ่งจากกลุ่มชนชาวอันซอรที่ได้เกิดประเด็นพิพาทบางอย่าง เกิดการต่อสู้ และโต้แย้งกันระหว่างเขากับชายอีกคนหนึ่งจากกลุ่มชนชาวมุฮาญิรีน ซึ่งชาวอันซอรคนนั้นได้กล่าวขึ้นว่า:

โอ้หมู่ชนผู้เป็นพวกพ้องแห่งอันซอรเอ๋ย และชาวมุฮาญิรีนคนนั้นก็กล่าวขึ้นบ้างว่า: โอ้หมู่ชนผู้เป็นพวกพ้องแห่งมุฮาญิรีนเอ๋ย ทั้งคู่ต่างก็ร้องเรียกกลุ่มชนของตนเองมา  ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า

أبدعوى الجاهلية وأنا بين أظهركم دعوها فإنها منتنة

ความว่า: “พวกท่านจะร้องเรียกโดยการอ้างเผ่าพันธุ์แบบยุคญาฮิลียะฮ์ทั้ง ๆ ที่ฉันยืนอยู่ระหว่างพวกท่านอย่างนั้นหรือ? พวกท่านจงละทิ้งมันไปเสีย เพราะแท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่โสโครกน่ารังเกียจ” [1]

หมายถึง การกล่าวอ้างคลั่งไคล้ถึงเผ่าพันธุ์ (เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ) ทั้งนี้เพราะว่าบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหมดเป็นพี่น้องกัน ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้ที่เป็นชาวอันซอรกับผู้ที่เป็นชาวมุฮาญิรีน และก็ไม่ต่างกันระหว่างเผ่านั้นหรือเผ่านี้ พวกเขาทั้งหมดถือเป็นพี่น้องร่วมศรัทธา เป็นดังเรือนร่างเดียวกัน เป็นดังเคหะสถานที่ค้ำจุนซึ่งกันและกัน สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับรรดามุสลิม พวกเขาจะต้องไม่แบ่งแยกระหว่างผู้ที่เป็นอาหรับกับผู้ที่ไม่ใช่อาหรับ ระหว่างคนที่ผิวดำกับคนที่ผิวขาว (พวกเขาไม่ต่างกัน) ยกเว้นด้วยกับความยำเกรง ดังที่อัลลอฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า:

إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ

ความว่า: “ผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกท่าน ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงมากที่สุด” [ซูเราะฮ์ อัลฮุญุร๊อต อายะฮ์ที่ 13]

إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ

ความว่า: “แท้จริงแล้วบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นจงประณีประนอมระหว่างพี่น้องของพวกท่านเถิด” [ซูเราะฮ์ อัลฮุญุร๊อต อายะฮ์ที่ 10]

ฉะนั้นแล้วการกล่าวอ้างถึงเชื้อสายและการกล่าวอ้างถึงเผ่าพันธุ์ มันจึงถือเป็นหนึ่งในการกระทำของพวกยุคญาฮิลียะฮ์ และท่านเราะซูลุลลอฮ์ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:

من مات وليس في عنقه بيعة مات ميتة جاهلية

ความว่า: “ใครที่ตายลงโดยที่ต้นคอของเขาปราศจากการบัยอะฮ์ (การให้สัตยาบันต่อผู้นำ) เท่ากับว่าเขาได้ตายลงในสภาพการตายของญาฮิลียะฮ์”[2]

เพราะชนยุคญาฮิลียะฮ์เป็นพวกไม่มีผู้นำ พวกเขาเหล่านั้นไม่ยอมจำนนต่อผู้ปกครองหรือผู้นำคนใดเลย

นี่คือสภาพของยุคญาฮิลียะฮ์

สิ่งที่ได้รับจากบทเรียนข้างต้นก็คือ การกระทำต่าง ๆ ในยุคญาฮิลียะฮ์ทั้งหมดถือสิ่งที่ต้องถูกตำหนิ และเราขอห้ามทุก ๆ การกระทำที่เลียนแบบชนยุคญาฮิลียะฮ์ ทั้งนี้ยุคญาฮิลียะฮ์ได้สิ้นสุดโดยการที่ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถูกส่งมา ซึ่งหลังจากการมาของท่านนั้นทำให้ญาฮิลียะฮ์แบบกว้าง ๆ สิ้นสุดลง ความรู้และความศรัทธาถูกนำมาสอน อัลกุรอานและซุนนะฮ์ถูกประทานลงมา ความรู้จึงได้แพร่สพัดไปทั่วและความโง่เขลา (ญะฮล์) จึงหายไป อัลกุรอานก็ยังคงอยู่ ซุนนะฮ์ของท่านนบีก็ยังคงอยู่ คำสอนของเหล่าผู้รู้เองก็ยังคงอยู่

เช่นนี้แล้วจึงถือว่ายุคญาฮิลียะฮ์ไม่หลงเหลืออยู่แล้วตั้งแต่ ณ เวลานั้น ฉันหมายถึงญาฮิลียะฮ์แบบกว้าง ๆ นะ แต่กระนั้นก็ยังมีความเป็นญาฮิลียะฮ์บางอย่างยังคงอยู่ให้เห็นในคนบางส่วน หรือเผ่าบางเผ่า หรืออาจเป็นประเทศบางประเทศ ความญาฮิลียะฮ์แบบที่เป็นส่วนย่อย ๆ จึงถือว่ายังมีอยู่

และด้วยเหตุเช่นนี้เองเมื่อท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยินชายคนหนึ่งกล่าวถ้อยคำตำหนิพี่น้องมุสลิมของเขาว่า “ โอ้เจ้าบุตรคนดำเอ๋ย” ท่านนบีจึงกล่าวกับเขาว่า:

أعيرته بأمه؟ إنك امرؤ فيك جاهلية

ความว่า: “ท่านจะกล่าวตำหนิเขาโดยใช้มารดาของเขามาตำหนิเลยอย่างนั้นหรือ ?! แท้จริงแล้วท่านเป็นบุคคลที่มีความญาฮิลียะฮ์อยู่ในตัว”[3]

และท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า:

أربعٌ في أمتي من أمر الجاهلية لا يتركونهن : الفخر في الأحساب ، والطعن في الأنساب ، والاستسقاء بالنجوم ، والنياحة

ความว่า: “การกระทำจากยุคญาฮิลียะฮ์ 4 ประการที่อุมมะฮ์ของฉันจะไม่ละเลิกจากมัน คือ การโอ้อวดในเกียรติยศ การโจมตีกันเรื่องเชื้อสาย การขอฝนจากดวงดาว และการโอดครวญถึงผู้ตาย”[4]

หะดีษนี้จึงบ่งชี้ว่าสิ่งที่เป็นการกระทำในยุคญาฮิลียะฮ์ยังคงหลงเหลืออยู่ในผู้คนบางส่วน ซึ่งมันถือเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ แต่ทว่าเขาคนนั้นจะไม่ถูกตัดสินว่าเป็นกาฟิรด้วยกับการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นญาฮิลียะฮ์แบบกว้าง ๆ ก็ได้สูญสิ้นลงไปแล้ว มวลการสรรญเสริญเป็นของอัลลอฮ์

ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่เป็นที่อนุญาตในการที่จะกล่าวว่า “มวลมนุษย์นั้นยังคงอยู่ในความเป็นญาฮิลียะฮ์” หรือกล่าวว่า “โลกนี้ยังคงอยู่ในความเป็นญาฮิลียะฮ์” เพราะคำพูดนี้ถือเป็นการปฏิเสธการมีตัวตนอยู่ของสาส์น และถือเป็นการปฏิเสธต่ออัลกุรอานกับซุนนะฮ์ (กล่าวคือ การพูดเช่นนี้เท่ากับจะบอกว่าทางนำจากอัลลอฮ์ยังไม่ถูกส่งมายังโลกใบนี้) การพูดเหมารวมเช่นนี้จึงไม่เป็นที่อนุญาต

ส่วนการจะกล่าวว่า “ในคนบางส่วนยังมีความเป็นญาฮิลียะฮ์อยู่” หรือ “ในคนบางคนยังมีความเป็นญาฮิลียะฮ์อยู่” หรือไม่ก็ “ลักษณะบางประการของญาฮิลียะฮ์ยังคงปรากฎอยู่” สิ่งนี้ถือว่ามันมีอยู่จริง และในสิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นข้อแตกต่างระหว่างสภาพก่อนที่ท่านนบีจะถูกส่งมากับสภาพหลังจากที่ท่านได้ถูกส่งมาแล้ว (หลังจากที่ท่านนบีถูกส่งมาความเป็นญาฮิลียะฮ์ก็หมดสิ้นไปยกเว้นเพียงแค่บางประการเท่านั้นที่ยังคงอยู่ แตกต่างจากก่อนหน้าที่ท่านนบีจะถูกส่งมา)

อาจจะมีคนบางคนกล่าวว่า: คนที่ร้องเรียกให้เรียนรู้ในประเด็นปัญหาแห่งหมู่ชนญาฮิลียะฮ์จะทำแบบนนั้นไปทำไม? ไม่ใช่ว่ายุคญาฮิลียะฮ์มันสิ้นสุดลงไปแล้วหรอกหรือ? พวกเราก็ยังเป็นมุสลิมกันอยู่ มวลการสรรญเสริญเป็นของอัลลอฮ์

เราขอกล่าวว่า: คนที่เรียกร้อง เขาทำไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ คือ เพื่อเตือนให้ระวังจากเรื่องเหล่านั้น เพราะถ้าหากว่านักศึกษาศาสนารับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว เขาก็ระวังตัวเองจากมัน แต่ถ้าหากเขาไม่ความรู้และไม่รู้จักมัน เขาอาจจะตกไปกระทำมันเข้าก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วการพูดถึงและการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านั้นก็เพื่อให้ท่านรู้จักมันจนกระทั่งสามารถเอาตัวรอดจากมันได้ และเพื่อเตือนคนให้ออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น

นักกวีกล่าวว่า:

عرفت الشر لا للشر لكن لتوقيه    ومن لا يعرف الشر يقع فيه

“ฉันรู้จักความชั่วหาได้เพื่อจะประพฤติมันไม่ แต่รู้ไว้เพื่อระวังตัวจากมัน
แล้วใครก็ตามที่ไม่รู้จักความชั่ว เขาก็จะตกไปประพฤติมัน”

นี่คือในแง่หนึ่ง ส่วนในแง่ที่สอง คือ เมื่อท่านรู้จักญาฮิลียะฮ์ ท่านก็จะรู้ถึงความประเสริฐของอิสลาม ดังที่นักกวีกล่าวว่า :

والضد يظهر حسنه الضد     وبضدها تتبين الاشياء

“อันว่าปรปักจะเผยคุณค่าในตัวเองได้ก็ด้วยกับปรปักอีกฟากหนึ่ง
และด้วยกับปรปักนั้นเองที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ มันชัดเจนขึ้น”

ท่านอุมัร บินอัลค๊อฏฏ๊อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮ์ กล่าวว่า : “บ่วงของอิสลามใกล้ที่จะถูกถอดออกทีละบ่วง ทีละบ่วงเสียแล้ว เมื่อมีคนที่ไม่รู้จักความเป็นญาฮิลียะฮ์เกิดขึ้นมาในอิสลาม” ฉะนั้นแล้วหากมนุษย์ไม่รู้ถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของญาฮิลียะฮ์ เขาก็มีโอกาสที่จะตกไปกระทำมัน เพราะว่าชัยฏอนมันไม่เคยลืมเลือนและหลับไหลจากเรื่องเหล่านั้นเลย มันจะยังเรียกร้องไปสู่สิ่งเหล่านั้นเสมอ

ชัยฏอนและเหล่าผู้ติดตามของมันจากเหล่าบรรดาผู้ที่เรียกร้องไปสู่ความหลงผิด พวกมันยังคงเรียกร้องไปสู่ความเป็นญาฮิลียะฮ์อยู่เสมอ และยังคงเรียกร้องไปสู่การฟื้นฟูแนวทางปฏิบัติของญาฮิลียะฮ์ เรียกร้องไปสู่ชิรก์ ไปสู่บิดอะฮ์ ไปสู่เรื่องงมงาย และไปสู่ร่องรอยการกระทำ(ของพวกญาฮิลียะฮ์) และที่ทำไปทั้งหมดนี้เจตนาก็เพื่อจะลบล้างอิสลามและเชิญชวนผู้คนไปสู่ความเป็นญาฮิลียะฮ์ ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในเรื่องราวต่าง ๆ ของญาฮิลียะฮ์เพื่อที่เราจะได้ทำตัวของเราให้ออกห่างและห่างไกลจากเรื่องเหล่านั้น

ท่านชัยค์มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ กล่าวในตัวบทของสาส์นว่า :

และสิ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่หลวงและอันตรายยิ่งของประเด็นปัญหาเหล่านี้ ก็คือการที่หัวใจปราศจากการศรัทธาต่อสิ่งที่ท่านเราะซูล ซ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม นำมาเผยแพร่

นั่นก็เพราะว่าชนชาวญาฮิลียะฮ์ พวกเขาปฏิเสธในสิ่งที่ท่านเราะซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำมาเผยแพร่ และพวกเขาก็ไม่ศรัทธา พวกเขาไม่ตอบรับในทางนำของอัลลอฮ์ที่ท่านเราะซูลนำมาบอกกล่าว

ชัยค์มุฮัมมัดกล่าวต่อไปว่า:

ซ้ำแล้วหากเกิดความคิดเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่กลุ่มชนญาฮิลียะฮ์ได้ยึดปฏิบัติกันเข้าไปอีก นั่นก็ถือได้ว่าเป็นการขาดทุนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

หมายถึง ความเสียหายได้เกิดขึ้นทั้งที่ปรากฏให้เห็นภายนอกและภายในจิตใจเสียแล้ว ความเสียหายภายในจิตใจนั่นก็คือการไร้ซึ่งความศรัทธาต่อสิ่งที่ท่านเราะซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำมาสอน ส่วนความเสียหายภายนอกที่ปรากฎให้เห็นก็คือการที่ไปเห็นดีเห็นงามกับการกระทำเหล่านั้นของยุคญาฮิลียะฮ์ และเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน จึงถือได้ว่าเป็นการขาดทุนอย่างสมบูรณ์แล้ว วัลอิยาสุบิลลาฮ์

สิ่งเหล่านี้คือผลพวงของความเขลาและไม่รู้ถึงเรื่องราวของญาฮิลียะฮ์ ฉะนั้นแล้วจึงถือว่าไม่เป็นที่อนุญาติที่จะไปเป็นดีเห็นงามกับสิ่งที่พวกญาฮิลียะฮ์เคยปฏิบัติกัน ยิ่งไปกว่านั้นถือเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ)ในการที่จะต้องห้ามปรามและทำให้เรื่องเหล่านั้นดูเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ (ไม่ใช่เรื่องที่น่าเห็นดีเห็นงาม) ส่วนใครที่ไปเห็นดีเห็นงามกับเรื่องเหล่านั้น ก็ถือว่าเขาได้เป็นหนึ่งในชาวญาฮิลียะฮ์แล้ว ชัยค์มุฮัมมัดได้ยกหลักฐานโดยใช้คำตรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลาที่ว่า

وَالَّذِينَ آمَنُوا بِالْبَاطِلِ وَكَفَرُوا بِاللَّهِ أُولَٰئِكَ هُمُ الْخَاسِرُونَ

ความว่า: “และบรรดาผู้ซึ่งศรัทธาต่อความเท็จ และปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่ขาดทุน” [ซูเราะฮ์ อัลอันกะบูร อายะฮ์ที่ 52]

คำว่า “พวกเขาศรัทธาต่อความเท็จ” หมายถึง: เชื่อมั่นต่อความเท็จ ซึ่งคำว่าความเท็จ (อัลบาฏิล) คือ สิ่งที่ตรงข้ามกับสัจธรรม ดังนั้นสิ่งใดมันที่สวนทางกับสัจธรรม สิ่งนั้นก็ถือเป็นความเท็จ และคำว่าความเท็จ (อัลบาฏิล) เองยังหมายถึง สิ่งที่มันจะผ่านพ้นสูญสลายไป โดยไม่มีประโยชน์ใด ๆ ในตัวมันเลย อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า

فَمَاذَا بَعْدَ الْحَقِّ إِلَّا الضَّلَالُ ۖ فَأَنَّىٰ تُصْرَفُونَ

ความว่า: “จะมีอะไรหลงเหลือหลังจากสัจธรรมอีกเล่านอกเสียจากความหลงผิด(อื่นจากสัจธรรมนั้นคือความเท็จและความหลงผิด) แล้วพวกเจ้ายังถูกทำให้หันเหออกไปอีกได้อย่างไร” [ซูเราะฮ์ ยูนุส อายะฮ์ที่ 32]

(โปรดติดตามตอนต่อไป สิ้นเดือนหน้า อินชาอัลลอฮ์)


[1] ตรวจสอบสายรายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หมายเลขหะดีษ 3518,4905,4907) และมุสลิม (หมายเลขหะดีษ 2584)

[2] ตรวจสอบสายรายงานโดยมุสลิม (หมายเลขหะดีษ 1850)

[3] ตรวจสอบสายรายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หมายเลขหะดีษ 30, 2545,6050) และมุสลิม (หะดีษเลข 1661)

[4] ตรวจสอบสายรายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หมายเลขหะดีษ 3850) และมุสลิม (หมายเลขหะดีษ 934)