4 กฎเหล็กในประเด็นเรื่องเตาฮีดและชิรก์ ตอนที่ 1: ตัวบท

เนื้อหาที่ท่านกำลังอ่านนั้นแปลมาจากหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งที่ทรงคุณค่า เขียนโดย ชัยค์มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ ชื่อว่า อัลเกาะอิดอัลอัรบาอ์  ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการทำความเข้าใจอัตเตาฮีดและชิรก์ และได้รับการอธิบายเพิ่มเติมจาก ชัยค์ศอลิฮ์ บินเฟาซาน อัลเฟาซาน ปราชญ์อาวุโสจากประเทสซาอุดิอารเบีย

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

บทเกริ่นนำ

ฉันขอต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงเกื้อกูล พระผู้เป็นเจ้าแห่งบัลลังก์อันยิ่งใหญ่ ให้พระองค์ทรงให้การดูแล และการคุ้มครองแก่ท่านทั้งในโลกดุนยานี้ และในโลกหน้าอาคิเราะฮ์ และให้ความจำเจริญแก่ท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม และให้ท่านเป็นผู้ที่เมื่อได้รับ (ความโปรดปราน) ก็ขอบคุณ เมื่อถูกทดสอบก็อดทน และเมื่อกระทำความผิดก็ขออภัยโทษ เพราะแท้จริงสิ่งทั้ง 3 นี้ คือ หัวหน้าของความสุขทั้งหลาย

หะนีฟียะฮ์ศาสนาของอิบรอฮีม

พึงทราบไว้เถิด ขออัลลอฮ์ทรงชี้นำท่านสู่การภักดีเชื่อฟังพระองค์ แท้จริงอัลหะนีฟียะฮ์นั้นคือ ศาสนาของอิบรอฮีม คือการอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์โดยเป็นผู้บริสุทธิ์ใจต่อพระองค์ในศาสนา ดังเช่นที่อัลลอฮ์ ตะอาลา กล่าวว่า

وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ

ความว่า: “และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่ออิบาดะฮ์ต่อข้า” [ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต (51): 56]

การชำระล้างเตาฮีดให้บริสุทธิ์

เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างท่านมาเพื่ออิบาดะฮ์ต่อพระองค์ เช่นนั่นก็พึงทราบเถิดว่า การอิบาดะฮ์นั้นจะไม่เรียกว่าการอิบาดะฮ์ นอกจากจะต้องมาพร้อมกับเตาฮีด ดังเช่นที่การละหมาดนั้น จะไม่เรียกว่าการละหมาดนอกจากจะต้องมาพร้อมกับความสะอาด

เมื่อท่านได้ทราบแล้วว่าชิรก์นั้น เมื่อมันเข้าไปเจือปนกับอิบาดะฮ์ มันก็จะทำลายอิบาดะฮ์นั้น ทำให้การงานไร้ค่า และทำให้ผู้ที่ปฏิบัติมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อยู่ในนรกอย่างถาวร ท่านก็จะทราบว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับท่านก็คือ การที่ท่านจะต้องทำความรู้จักกับเรื่องราวเหล่านี้ไว้ หวังว่าอัลลอฮ์จะทำให้ท่านหลุดพ้นจากเครือข่ายนี้ ซึ่งก็คือชิรก์ต่ออัลลอฮ์ ที่พระองค์กล่าวถึงมันว่า

إِنَّ اللَّـهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَاءُ

ความว่า: “แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอภัยให้ กับการที่พระองค์ถูกตั้งภาคีขึ้น แต่จะยกโทษให้กับสิ่งอื่นนอกจากนั้นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4): 116]

กฎข้อที่หนึ่ง

การที่ท่านจะต้องรับรู้ว่าพวกบรรดากาฟิรที่ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ต่อสู้กับพวกเขานั้น ยอมรับว่าอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง คือ ผู้สร้าง ผู้บริหารกิจการ แต่การยอมรับดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าสู่อิสลามแต่อย่างใด ซึ่งหลักฐานก็คือ คำดำรัสของอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งที่ว่า

قُلْ مَن يَرْزُقُكُم مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ أَمَّن يَمْلِكُ السَّمْعَ وَالْأَبْصَارَ وَمَن يُخْرِجُ الْحَيَّ مِنَ الْمَيِّتِ وَيُخْرِجُ الْمَيِّتَ مِنَ الْحَيِّ وَمَن يُدَبِّرُ الْأَمْرَ ۚ فَسَيَقُولُونَ اللَّـهُ ۚ فَقُلْ أَفَلَا تَتَّقُونَ

ความว่า: “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ‘ใครเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพทั้งที่มาจากฟากฟ้า และแผ่นดินแก่พวกท่าน หรือใครเป็นเจ้าของการได้ยินและการมอง และใครเป็นผู้นำสิ่งมีชีวิตออกมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต และนำสิ่งที่ไม่มีชีวิตออกมาจากสิ่งมีชีวิต และใครเป็นผู้บริหารกิจการ’ แล้วพวกเขาจะกล่าวกันว่า ‘อัลลอฮ์’ ดังนั้นจงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ‘แล้วทำไมพวกท่านจึงไม่ยำเกรงกันอีก?’” [ซูเราะฮ์ยูนุส (10): 31]

กฎข้อที่สอง

แท้จริงแล้ว พวกเขา (บรรดากาฟิรที่ท่านนบีได้สู้ด้วย) นั้นกล่าวว่า เราไม่ได้วอนขอสิ่ง (อื่นจากอัลลอฮ์) เหล่านั้น และเรามุ่งไปหาสิ่งเหล่านั้น (ไม่ใช่) เพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด (ไปยังอัลลอฮ์) และชะฟาอะฮ์ (การให้เป็นตัวแทนเพื่อช่วยเจรจากับอัลลอฮ์) เท่านั้น และหลักฐานในเรื่องการแสวงหาความใกล้ชิดนั้น คือคำกล่าวของพระองค์ที่ว่า

وَالَّذِينَ اتَّخَذُوا مِن دُونِهِ أَوْلِيَاءَ مَا نَعْبُدُهُمْ إِلَّا لِيُقَرِّبُونَا إِلَى اللَّـهِ زُلْفَىٰ إِنَّ اللَّـهَ يَحْكُمُ بَيْنَهُمْ فِي مَا هُمْ فِيهِ يَخْتَلِفُونَ ۗ إِنَّ اللَّـهَ لَا يَهْدِي مَنْ هُوَ كَاذِبٌ كَفَّارٌ

ความว่า: “…ส่วนบรรดาผู้ที่ยึดถือเอาผู้อื่นที่ไม่ใช่พระองค์มาเป็นผู้คุ้มครอง โดยกล่าวว่าเรา มิได้เคารพภักดีพวกเขาเว้นแต่เพื่อให้พวกเขาทำให้เราเข้าใกล้ชิดกับอัลลอฮ์เท่านั้น แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงตัดสินระหว่างพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกันในเรื่องนั้น แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงชี้นำทางแก่พวกจอมโกหก จอมปฏิเสธ” [ซูเราะฮ์อัซซุมัร (39): 3]

และหลักฐานในเรื่องชะฟาอะฮ์นั้น คือคำกล่าวของพระองค์ ตะอาลา ที่ว่า

وَيَعْبُدُونَ مِن دُونِ اللَّـهِ مَا لَا يَضُرُّهُمْ وَلَا يَنفَعُهُمْ وَيَقُولُونَ هَـٰؤُلَاءِ شُفَعَاؤُنَا عِندَ اللَّـهِ

ความว่า: “และพวกเขาได้ทำการเคารพภักดีสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮ์ ซึ่งมันมิได้ให้โทษแก่พวกเขา และมิได้ให้ประโยชน์แก่พวกเขา และพวกเขาจะกล่าวว่า ‘เหล่านี้คือผู้ช่วยเหลือเรา ณ ที่อัลลอฮ์’…” [ซูเราะฮ์ยูนุส (10): 18]

โดยชะอาฟะฮ์นั้น มีสองประเภทด้วยกัน ชะฟาอะฮ์ที่ถูกปฏิเสธ และชะฟาอะฮ์ที่ได้รับการรับรอง

สำหรับชะฟาอะฮ์ที่ถูกปฏิเสธนั้น คือ สิ่งที่ถูกร้องขอจากผู้อื่นนอกจากอัลลอฮ์ในสิ่งที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือสิ่งนั้นนอกจากอัลลอฮ์ และหลักฐาน คือคำกล่าวของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا أَنفِقُوا مِمَّا رَزَقْنَاكُم مِّن قَبْلِ أَن يَأْتِيَ يَوْمٌ لَّا بَيْعٌ فِيهِ وَلَا خُلَّةٌ وَلَا شَفَاعَةٌ ۗ وَالْكَافِرُونَ هُمُ الظَّالِمُونَ

ความว่า: “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริจาคส่วนหนึ่ง จากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าก่อนจากที่วันหนึ่งจะมา ซึ่งในวันนั้นไม่มีการซื้อขาย และไม่มีการเป็นมิตร และไม่มีชะฟาอะฮ์ และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น คือ พวกที่อธรรม (แก่ตัวเอง) ” [ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ (2): 254]

และชะฟาอะฮ์ที่ได้รับการรับรอง คือ สิ่งที่ถูกร้องขอจากอัลลอฮ์ และผู้ที่ทำการชะฟาอะฮ์นั้น คือผู้ที่ได้รับเกียรติให้ทำการชะฟาอะฮ์ ส่วนผู้ได้รับการชะฟาอะฮ์นั้น คือผู้ที่อัลลอฮ์พึงพอใจคำพูด และการกระทำของเขา หลังจากการที่พระองค์อนุญาต ดังเช่น อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้กล่าวว่า

مَن ذَا الَّذِي يَشْفَعُ عِندَهُ إِلَّا بِإِذْنِهِ

ความว่า: “…ใครเล่าคือผู้ที่จะขอความช่วยเหลือให้แก่ผู้อื่น ณ ที่พระองค์ได้ นอกจากด้วยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น…” [ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ (2): 255]

กฎข้อที่สาม

แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น ได้ปรากฏตัวแก่เหล่าผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในการทำอิบาดะฮ์ของพวกเขา ส่วนหนึ่งของพวกเขาอิบาดะฮ์ต่อมะลาอิกะฮ์ ส่วนหนึ่งอิบาดะฮ์ต่อบรรดานบี และบรรดาคนดี ๆ ส่วนหนึ่งอิบาดะฮ์ต่อก้อนหิน และต้นไม้ ส่วนหนึ่งอิบาดะฮ์ต่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และท่านเราะซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น ได้ต่อสู้กับพวกเขา และไม่เคยถือว่าพวกเขามีความแตกต่างกัน โดยหลักฐานคือคำกล่าวของอัลลอฮ์ตะอาลาที่ว่า

وَقَاتِلُوهُمْ حَتَّىٰ لَا تَكُونَ فِتْنَةٌ وَيَكُونَ الدِّينُ كُلُّهُ لِلَّـهِ

ความว่า: “และพวกเจ้าจงสู้รบกับพวกเขา จนกว่าจะไม่มีฟิตนะฮ์ใด ๆ ปรากฏขึ้น และศาสนาทั้งหมดนั้น จะมีขึ้นเพื่ออัลลอฮ์เท่านั้น…” [ซูเราะฮ์ อัลอัมฟาล (8): 39]

และหลักฐานในเรื่องดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์นั้น คือดำรัสของอัลลอฮ์ผู้สูงส่งที่ว่า

وَمِنْ آيَاتِهِ اللَّيْلُ وَالنَّهَارُ وَالشَّمْسُ وَالْقَمَرُ

ความว่า: “และส่วนหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือ ช่วงกลางคืน และช่วงกลางวัน และดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ดังนั้นพวกเจ้าอย่าได้สุญูดให้กับดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์…” [ซูเราะฮ์ ฟุศศิลัต (41): 37]

และหลักฐานในเรื่องมะลาอิกะฮ์ คือคำกล่าวของพระองค์ที่ว่า

وَلَا يَأْمُرَكُمْ أَن تَتَّخِذُوا الْمَلَائِكَةَ وَالنَّبِيِّينَ أَرْبَابًا ۗ أَيَأْمُرُكُم بِالْكُفْرِ بَعْدَ إِذْ أَنتُم مُّسْلِمُونَ

ความว่า: “และเขาจะไม่ใช้พวกเจ้าให้ยึดเอามะลาอิกะฮ์และบรรดานบีเป็นพระเจ้า หรือว่าเขาจะใช้พวกเจ้าให้ปฏิเสธศรัทธากัน หลังจากที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อมกัน แล้วกระนั้นหรือ?”  [ซูเราะฮ์ อาละอิมรอน (3): 80]

และหลักฐานในเรื่องของบรรดานบีนั้น คือ คำกล่าวของพระองค์ที่ว่า

وَإِذْ قَالَ اللَّـهُ يَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ أَأَنتَ قُلْتَ لِلنَّاسِ اتَّخِذُونِي وَأُمِّيَ إِلَـٰهَيْنِ مِن دُونِ اللَّـهِ ۖ قَالَ سُبْحَانَكَ مَا يَكُونُ لِي أَنْ أَقُولَ مَا لَيْسَ لِي بِحَقٍّ ۚ إِن كُنتُ قُلْتُهُ فَقَدْ عَلِمْتَهُ ۚ تَعْلَمُ مَا فِي نَفْسِي وَلَا أَعْلَمُ مَا فِي نَفْسِكَ ۚ إِنَّكَ أَنتَ عَلَّامُ الْغُيُوبِ

ความว่า: “และจงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า อีซา บุตรของมัรยัม เอ๋ย! เจ้าพูดแก่ผู้คนกระนั้นหรือว่า จงยึดถือฉันและมารดาของฉันเป็นที่เคารพสักการะทั้งสองอื่นจากอัลลอฮ์ เขากล่าวว่า มหาบริสุทธิ์พระองค์ท่าน! ข้าพระองค์ (มิบังอาจ) ที่จะกล่าวสิ่งที่มิใช่สิทธิของข้าพระองค์ หากข้าพระองค์เคยกล่าวสิ่งนั้นไป แน่นอนพระองค์ย่อมรู้ดี พระองค์ทรงรู้สิ่งที่อยู่ในใจของข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ไม่รู้สิ่งที่อยู่ในใจของพระองค์ท่าน แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับทั้งหลาย” [ซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ (5): 116]

และหลักฐานในเรื่องเหล่าคนดีนั้นคือ คำกล่าวของพระองค์ผู้สูงส่งที่ว่า

أُولَـٰئِكَ الَّذِينَ يَدْعُونَ يَبْتَغُونَ إِلَىٰ رَبِّهِمُ الْوَسِيلَةَ أَيُّهُمْ أَقْرَبُ وَيَرْجُونَ رَحْمَتَهُ وَيَخَافُونَ عَذَابَهُ

ความว่า: “เหล่าผู้ที่พวกเขา (มุชริก) ได้วิงวอนขอกันนั้น พวกมันเองก็ยังหวังที่จะหาสื่อกลางเข้าสู่พระเจ้าของพวกเขา ว่า ผู้ใดในหมู่พวกเขานั้นจะเข้าไปใกล้ที่สุด และพวกเขาก็ยังหวังในความเมตตาของพระองค์ และกลัวการลงโทษของพระองค์…” [ซูเราะฮ์ อัลอิสรออ์ (17): 57]

และหลักฐานในเรื่องของเหล่าก้อนหิน และต้นไม้นั้น คือ คำกล่าวของพระองค์ที่ว่า

أَفَرَأَيْتُمُ اللَّاتَ وَالْعُزَّىٰ (19) وَمَنَاةَ الثَّالِثَةَ الْأُخْرَىٰ (20)٠

ความว่า: “แล้วพวกเจ้ามิได้เห็นอัลลาต และอัลอุซซา (19) และตัวอื่นคือตัวที่สาม, มะนาต ดอกหรือ? (20)” [ซูเราะฮ์อันนัจม์ (53): 19-20]

และฮะดีษของอบูวากิด อัลลัยษีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านได้กล่าวว่า: เราได้ออกไปสงครามฮุนัยน์กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในช่วงที่เราเพิ่งพ้นผ่านสมัยแห่งกุฟร์มาใหม่ ๆ ซึ่งพวกมุชริกนั้น จะมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง ที่พวกเขาใช้อุทิศตนอยู่ที่นั่น และใช้แขวนอาวุธของพวกเขาไว้ที่นั่น ซึ่งต้นไม้ต้นนั้นถูกเรียกว่า “ซาตุอันวาฏ” ครั้นเมื่อเราได้เดินผ่านต้นไม้ต้นหนึ่ง เราเลยกล่าวว่า “โอ้ !เราะซูลุลลอฮ์ ให้เราได้มี ซาตุอันวาฏ เหมือนที่พวกเขามี ซาตุอันวาฏ บ้างสิ”

กฎข้อที่สี่

แท้จริงแล้วพวกมุชริกในสมัยของเรานั้น หนักและรุนแรงยิ่งกว่าชิรก์ของผู้คนในยุคแรกเสียอีก เพราะผู้คนในยุคแรก นั้น ทำชิรก์เมื่อยามสุขสบาย และบริสุทธิ์ใจเมื่อยามลำบาก ส่วนพวกมุชริกในสมัยของเรานั้น ทำชิรก์ตลอดเวลา ทั้งยามสุขสบาย และยามยากลำบาก ซึ่งหลักฐานคือดำรัสของอัลลอฮ์ ตะอาลา ที่ว่า

فَإِذَا رَكِبُوا فِي الْفُلْكِ دَعَوُا اللَّـهَ مُخْلِصِينَ لَهُ الدِّينَ فَلَمَّا نَجَّاهُمْ إِلَى الْبَرِّ إِذَا هُمْ يُشْرِكُونَ

ความว่า: “ดังนั้นเมื่อพวกเขาขึ้นขี่เรือ พวกเขาวิงวอนต่ออัลลอฮ์ อย่างเป็นผู้บริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้ขึ้นบก แล้วพวกเขาก็ตั้งภาคีต่อพระองค์”  [ซูเราะฮ์อัลอังกะบูต (29): 65]


(อ่านตอนที่ 2 คลิก)