4 กฎเหล็กในประเด็นเรื่องเตาฮีดและชิรก์ ตอนที่ 2: คำอธิบายบทเกริ่นนำ

ตัวบท

[อ่านตอนที่แล้ว] ท่านผู้ประพันธ์หนังสือ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ตะอาลา ได้กล่าวว่า

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปราณี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

“ฉันขอต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงเกื้อกูล พระผู้เป็นเจ้าแห่งบัลลังก์อันยิ่งใหญ่ ให้พระองค์ทรงให้การดูแล และการคุ้มครองแก่ท่านทั้งในโลกดุนยานี้ และในโลกหน้าอาคิเราะฮ์ และให้ความจำเจริญแก่ท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม และให้ท่านเป็นผู้ที่เมื่อได้รับ (ความโปรดปราน) ก็ขอบคุณ เมื่อถูกทดสอบก็อดทน และเมื่อกระทำความผิดก็ขออภัยโทษ เพราะแท้จริงสิ่งทั้ง 3 นี้ คือ หัวหน้าของความสุขทั้งหลาย”

คำอธิบาย

นี่คือ หนังสืออัลเกาะวาอิดอัลอัรบะอ์ (กฎ 4 ประการ) ซึ่งชัยคุลอิสลาม มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้ประพันธ์มันขึ้นมา และมันคือสารที่อยู่โดดๆ แต่ว่าถูกตีพิมพ์มาพร้อมกับหนังสือษะลาษะฮ์อัลอุศูล (รากฐาน 3 ประการ) เนื่องเพราะความจำเป็นที่จะให้สิ่งนี้ได้ไปถึงมือของนักศึกษาหาความรู้

ส่วนคำว่า “อัลเกาะวาอิด (กฎหลายข้อ)” เป็นพหูพจน์ของคำว่า “อัลกออิดะฮ์ (กฎหนึ่งข้อ)” ซึ่ง “อัลกออิดะฮ์” หมายถึง รากฐานซึ่งมีประเด็นมากมายแตกแขนงออกไปจากมัน หรือก็คือมีกิ่งก้านสาขามากมายนั่นเอง

และเนื้อหาของ อัลเกาะวาอิดอัลอัรบะอ์ (กฎ 4 ประการ) ที่ชัยค์ (มุฮัมมัด บินอับดุลวะฮ์ฮาบ) เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวถึงมันนั้นก็คือ ความเข้าใจในเรื่องเตาฮีดและความเข้าใจในเรื่องชิรก์ แล้วอะไรเล่าคือกฎในเรื่องเตาฮีด? อะไรเล่าคือกฎในเรื่องชิรก์? เพราะว่าผู้คนมากมายยังสับสนกับทั้งสองสิ่งนี้ ยังสับสนกับความหมายของเตาฮีดว่ามันคืออะไร? ยังสับสนกับความหมายของชิรก์ และแต่ละคนก็ต่างอธิบายทั้งสองเรื่องนี้ไปตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนเอง

แต่ทว่าสิ่งที่จำเป็นนั้น คือการที่เราจะต้องหวนเรื่องการวางกฎของเรา กลับไปสู่คัมภีร์ (อัลกุรอาน) และซุนนะฮ์ เพื่อที่การวางกฎนั้น จะได้เป็นการวางกฎที่ถูกต้อง ปลอดภัย เป็นการวางกฎที่นำมาจากคัมภีร์ของอัลลอฮ์และซุนนะฮ์ของเราะซูลของพระองค์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสองเรื่องอันสิ่งใหญ่สำคัญนี้ นั่นคือเรื่องเตาฮีดและชิรก์

ซึ่งตัวของชัยค์มุฮัมมัดนั้น ท่านไม่เคยอ้างกฎเหล่านี้ จากสิ่งที่มาจากตัวของท่าน หรือความคิดของท่านเอง เหมือนพวกมีความสับสนทั้งหลายแหล่ได้กระทำมัน ทว่าท่านเพียงแต่เอากฎเหล่านี้ มาจากคัมภีร์ของอัลลอฮ์ มาจากซุนนะฮ์ และมาจากชีวประวัติของเราะซูลของอัลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

เมื่อท่านได้ทราบถึงกฎต่างๆ เหล่านี้ และท่านได้เข้าใจมัน หลังจากนั้น มันก็จะเป็นการง่ายแก่ท่านที่ท่านจะรู้จักกับเตาฮีดซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ส่งบรรดาเราะซูลของพระองค์ด้วยการนั้น และประทานบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ลงมาก็ด้วยการนั้น

และมันยังจะเป็นการง่ายแก่ท่านที่ท่านจะรู้จักกับชิรก์ซึ่งเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ได้เตือนให้ออกห่างและสาธยายถึงความร้ายแรง ความอันตรายของมันในโลกดุนยานี้และในโลกหน้าอาคิเราะฮ์ นี่คือสิ่งที่สำคัญอย่างยวดยิ่ง

มันเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับท่านมากยิ่งกว่าการรู้สิ่งที่เป็นบทบัญญัติเรื่องการละหมาด เรื่องการจ่ายซะกาต และเรื่องอิบาดะฮ์ต่างๆ ตลอดจนเรื่องศาสนาเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดอีกด้วย เพราะว่าสิ่งนี้คือเรื่องแรกสุดและเป็นเรื่องที่เป็นรากฐาน เพราะว่าการละหมาด การซะกาต การทำฮัจญ์ หรืออิบาดะฮ์อื่นๆ นั้น จะถือว่าใช้ไม่ได้ หากมันไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของอะกีดะฮ์ที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือเตาฮีดที่บริสุทธิ์แด่อัลลอฮ์ ผู้เกรียงไกร ผู้ทรงยิ่งใหญ่นั่นเอง

ท่านผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้เขียนบทเกริ่นนำอันทรงคุณค่าประกอบไว้ด้วยการขอดุอาอ์ให้แก่บรรดานักศึกษาหาความรู้ และเป็นการกระตุ้นให้มีสมาธิกับสิ่งที่ท่านกำลังจะกล่าวถึง ครั้นที่ท่านกล่าวว่า

“ฉันขอต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงเกื้อกูล พระผู้เป็นเจ้าแห่งบัลลังก์อันยิ่งใหญ่ ให้พระองค์ทรงให้การดูแล และการคุ้มครองแก่ท่านทั้งในโลกดุนยานี้ และในโลกหน้าอาคิเราะฮ์ และให้ความจำเจริญแก่ท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม และให้ท่านเป็นผู้ที่เมื่อได้รับ (ความโปรดปราน) ก็ขอบคุณ เมื่อถูกทดสอบก็อดทน และเมื่อกระทำความผิดก็ขออภัยโทษ เพราะแท้จริงสิ่งทั้ง 3 นี้ คือ หัวหน้าของความสุขทั้งหลาย”

นี่คือบทเกริ่นนำอันทรงคุณค่า ซึ่งประกอบไว้ด้วยการขอดุอาอ์จากชัยค์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ให้แก่ผู้ศึกษาหาความรู้ทุกคนที่ได้เรียนรู้ในเรื่องอะกีดะฮ์ เพื่อที่จะแสวงหาสัจธรรม และเพื่อที่จะได้ออกห่างจากความหลงผิด ออกห่างจากชิรก์จากการเรียนรู้นั้น ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลดังกล่าวนี้นี่เอง ที่เป็นผู้ที่คู่ควรแก่การที่อัลลอฮ์จะทรงให้การดูแล และคุ้มครองเขา ทั้งในดุนยา และอาคิเราะฮ์ และเมื่อใดที่อัลลอฮ์ได้ทรงช่วยเหลือ และทรงดูแลเขาคนนั้น ทั้งในโลกดุนยานี้และในโลกหน้าอาคิเราะฮ์แล้ว มันก็จะไม่มีหนทางใดๆ ที่สิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง จะมาประสบกับเขาได้ ไม่ว่าจะในเรื่องศาสนาของเขา หรือเรื่องดุนยาเขาก็ตาม อัลลอฮ์ตะอาลา ได้กล่าวว่า

اللَّـهُ وَلِيُّ الَّذِينَ آمَنُوا يُخْرِجُهُم مِّنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ ۖ وَالَّذِينَ كَفَرُوا أَوْلِيَاؤُهُمُ الطَّاغُوتُ

ความว่า: “อัลลอฮ์นั้นคือผู้ทรงดูแล และให้การคุ้มครองบรรดาผู้ที่ศรัทธา โดยทรงนำพวกเขาออกจากบรรดาความมืดสู่แสงสว่าง และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น บรรดาผู้ดูแล และให้การคุ้มครองของพวกเขาก็คือ อัฏ-ฏอฆูต” [ซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ (2): 257]

เมื่ออัลลอฮ์ได้ทรงให้การดูแล และให้การคุ้มครองท่าน พระองค์ก็จะให้ท่านหลุดพ้นออกจากบรรดาความมืด บรรดาความมืดแห่งการทำชิรก์ การทำปฏิเสธ การมีความเคลือบแคลงสงสัย และการละทิ้งศาสนา ไปสู่แสงสว่างแห่งอีมาน แห่งความรู้อันมีประโยชน์ และการกระทำการงานที่ดี

ذَٰلِكَ بِأَنَّ اللَّـهَ مَوْلَى الَّذِينَ آمَنُوا وَأَنَّ الْكَافِرِينَ لَا مَوْلَىٰ لَهُمْ

ความว่า: “ทั้งนี้เพราะว่าอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงคุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธาและแน่นอนพวกปฏิเสธศรัทธาไม่มีผู้คุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับพวกเขา” [ซูเราะฮ์มุฮัมมัด (47): 11]

เมื่ออัลลอฮ์ได้ทรงดูแล และให้การคุ้มครองท่าน ด้วยการดูแลของพระองค์ การประทานความสำเร็จ และการประทานทางนำของพระองค์ ทั้งในโลกดุนยานี้และในโลกหน้าอาคิเราะฮ์ ท่านก็จะมีความสุขอย่างแท้จริง ไร้ซึ่งความทุกข์ยากตลอดไป ในโลกดุนยานี้ พระองค์จะทรงช่วยเหลือดูแลท่านด้วยการประทานทางนำ ประทานความสำเร็จ และทรงทำให้ท่านอยู่บนมันฮัจญ์ (แนวทาง) อันปลอดภัย และในโลกอาคิเราะฮ์นั้น พระองค์ก็จะทรงดูแล และให้การคุ้มครองท่าน ด้วยการให้ท่านเขาสรวงสวรรค์อันสถาพร นิรันดร อันเป็นสถานที่ไร้ซึ่งความกลัว ความเจ็บป่วย ความทุกยาก ความลำบาก และสิ่งอันเป็นที่น่ารังเกียจ นี่คือการดูแล และให้การคุ้มครองแก่บ่าวผู้เป็นผู้ศรัทธาของพระองค์ในดุนยา และอาคิเราะฮ์

และท่านผู้ประพันธ์หนังสือได้กล่าวว่า

“และให้ความจำเจริญแก่ท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม”

เมื่อพระองค์ได้ทรงประทานความจำเจริญแก่ท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตามแล้ว สิ่งนี้คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายอันสูงสุด นั่นก็คือการที่อัลลอฮ์ทรงประทานความจำเจริญให้แก่อายุของท่าน ทรงประทานความจำเริญในปัจจัยยังชีพของท่าน ทรงประทานความจำเริญในความรู้ของท่าน ทรงประทานความจำเริญในการงานของท่าน ทรงประทานความจำเริญในลูกหลานของท่าน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ความจำเริญจะอยู่เคียงคู่กับท่านเสมอ ไม่ว่าท่านจะมุ่งหน้าไปที่ใดก็ตาม สิ่งนี้คือความดีอันยิ่งใหญ่ คือความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงบริสุทธิ์ ผู้ทรงสูงส่ง

และท่านผู้ประพันธ์หนังสือได้กล่าวว่า

“และให้ท่านเป็นผู้ที่เมื่อได้รับก็ขอบคุณ”

ซึ่งต่างจากผู้ที่เมื่อได้รับก็เนรคุณต่อความโปรดปรานและไม่รู้จักขอบคุณในความโปรดปรานนั้น เพราะมนุษย์จำนวนมากนั้น ครั้นเมื่อเขาได้รับความโปรดปราน เขาก็เนรคุณต่อความโปรดปราน ปฏิเสธความโปรดปรานนั้น และใช้ความโปรดปรานนั้นในสิ่งที่ไม่ได้เป็นการเชื่อฟังอัลลอฮ์ ผู้มีเกียรติ ผู้สูงส่ง ความโปรดปรานนั้นก็จะกลายเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ของพวกเขาแทน ส่วนใครที่ทำการขอบคุณ อัลลอฮ์ตะอาลา ก็จะทรงเพิ่มให้เขา

وَإِذْ تَأَذَّنَ رَبُّكُمْ لَئِن شَكَرْتُمْ لَأَزِيدَنَّكُمْ

ความว่า: “และจงรำลึกขณะที่พระเจ้าของพวกเจ้าได้ประกาศว่า หากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า” [ซูเราะฮ์ อิบรอฮีม (14): 7]

และอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง จะเพิ่มความโปรดปราน และการปฏิบัติด้วยดีของพระองค์ ให้แก่บรรดาผู้ที่ขอบคุณ ดังนั้นเมื่อท่านต้องการที่จะได้ความโปรดปรานเพิ่มขึ้น ก็จงขอบคุณอัลลอฮ์ ผู้ทรงมีเกียรติ ผู้ทรงสูงส่ง แต่หากว่าท่านต้องการให้ความโปรดปรานขาดหายไป ก็จงปฏิเสธความโปรดปรานนั้นเสีย

และท่านผู้ประพันธ์หนังสือได้กล่าวว่า

“เมื่อถูกทดสอบก็อดทน”

อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง จะทรงทดสอบปวงบ่าว ทดสอบพวกเขาด้วยกับภัยพิบัติต่างๆ ทดสอบพวกเขาด้วยกับความทุกข์ยาก ทดสอบพวกเขาด้วยกับบรรดาศัตรูจากพวกบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา และบรรดาพวกหน้าไหว้หลังหลอก ดังนั้นแล้วพวกเขาก็จะต้องอาศัยความอดทน ต้องไม่สิ้นหวัง ความท้อแท้ในความเมตตาของอัลลอฮ์ ต้องยืนหยัดอยู่บนศาสนาของพวกเขา ต้องไม่ขยับไปตามฟิตนะฮ์ต่างๆ หรือยอมจำนนให้แก่ฟิตนะฮ์ต่างๆ ทว่าต้องยืนหยัดอยู่บนศาสนาของพวกเขา ต้องอดทนต่อสิ่งที่พวกเขาประสบพบเจอจากความเหน็ดเหนื่อยต่างๆ ในหนทางของการทดสอบเหล่านั้น ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่เมื่อเขาได้รับการทดสอบ เขาก็โกรธกริ้ว ไม่พึงพอใจและสิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮ์ ผู้เกรียงไกร ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ซึ่งสิ่งนี้รังแต่จะเป็นการเพิ่มการทอสอบเข้าไปในการทดสอบอีกที และเพิ่มภัยพิบัติเข้าไปในภัยพิบัติอีกที

ท่านเราะซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า

إِنَّ اللَّهَ، إِذَا أَحَبَّ قَوْماً ابْتَلاَهُمْ. فَمَنْ رَضِيَ، فَلَهُ الرِّضَا وَمَنْ سَخِطَ، فَلَهُ السُّخْطُ .

ความว่า: “แท้จริงอัลลอฮ์นั้น เมื่อพระองค์ทรงรักกลุ่มชนใดก็ตาม พระองค์ก็จะทดสอบพวกเขา ดังนั้นผู้ใดที่พึงพอใจ ความพึงพอใจ (จากอัลลอฮ์) ก็จะเป็นของเขา ส่วนผู้ใดที่โกรธกริ้ว การโกรธกริ้ว (จากอัลลอฮ์) ก็จะเป็นของเขา” [รายงานโดยอัตติรมิซีย์ 4/601 อิบนุมาญะฮ์ 4031 และอะฮ์มัด 5/428]

وَأَعظَمُ الناسِ بلاءً : الأَنْبِيَاءُ ، ثُمَّ الأَمْثَلُ فَالأَمْثَلُ

ความว่า: “และมนุษย์ที่ถูกทดสอบหนักหน่วงที่สุด คือบรรดานบี หลังจากนั้นก็คือผู้ที่คล้ายพวกท่านเหล่านั้น และหลังจากนั้นก็คือผู้ที่คล้ายพวกท่านเหล่านั้น” [ส่วนหนึ่งของฮะดีษที่รายงานโดย อัตติรมิซีย์ 4/601-2 อิบนุมาญะฮ์ 4023 อะฮ์มัด 1/172,173-4,180,185 อัดดารีมีย์ 2/320 อิบนุฮิบบานในเศาะฮีฮ์ของท่าน 7/131 อัลฮากิม 1/41 และอัลบัยฮะกีย์ 3/371]

บรรดาเราะซูลนั้นต่างถูกทดสอบ บรรดาผู้สัจจริงนั้นต่างถูกทดสอบ บรรดาผู้เป็นชะฮีดนั้นต่างถูกทดสอบ บรรดาปวงบ่าวผู้ศรัทธานั้นต่างถูกทดสอบ แต่ทว่าพวกเขาต่างอดทน ส่วนมุนาฟิกนั้น อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงเขาว่า

وَمِنَ النَّاسِ مَن يَعْبُدُ اللَّـهَ عَلَىٰ حَرْفٍ

ความว่า: “และในหมู่มนุษย์บางคน มีผู้เคารพภักดีต่ออัลลอฮ์บนขอบทาง (ฮัรฟ์)…” [ซูเราะฮ์ อัลฮัจญ์ (22): 11]

ฮัรฟ์ (حَرف) หมายถึง เฏาะรอฟ (طَرَف) แปลว่า ขอบทาง

فَإِنْ أَصَابَهُ خَيْرٌ اطْمَأَنَّ بِهِ ۖ وَإِنْ أَصَابَتْهُ فِتْنَةٌ انقَلَبَ عَلَىٰ وَجْهِهِ خَسِرَ الدُّنْيَا وَالْآخِرَةَ ۚ ذَٰلِكَ هُوَ الْخُسْرَانُ الْمُبِينُ

ความว่า: “…หากความดีประสบแก่เขา เขาก็พออกพอใจต่อสิ่งนั้น หากความทุกข์ยากประสบแก่เขา เขาก็จะพลิกใบหน้าของเขากลับลง เขาขาดทุนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้าเสียแล้ว นั่นคือการขาดทุนอย่างชัดแจ้ง” [ซูเราะฮ์ อัลฮัจญ์ (22): 11]

โลกดุนยานี้ไม่ใช่สถานที่ที่ยั่งยืนในความสุข ในความสะดวกสบาย ในความเพลิดเพลิน ในความรื่นรม ในความสำเร็จ ไม่ได้ยั่งยืนอย่างนี้ไปตลอด อัลลอฮ์จะทรงได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างปวงบ่าวของพระองค์ เศาะฮาบะฮ์นั้นคือผู้ที่ประเสริฐที่สุดของอุมมะฮ์นี้แล้ว แล้วสิ่งใดเล่าจากการทดสอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา? อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้กล่าวว่า

وَتِلْكَ الْأَيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَيْنَ النَّاسِ

ความว่า: “…และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์…” [ซูเราะฮ์ อาละอิมรอน (3): 140]

ดังนั้นบ่าวคนหนึ่งก็จงทำให้ตัวของเขานั้นมั่นคงอยู่ เมื่อเขาถูกทดสอบ แท้จริงสิ่งนั้นมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาคนเดียว แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ มันก็เคยเกิดกับบรรดาคนรักของอัลลอฮ์มาแล้ว จงทำให้ตัวของเขามั่นคงอยู่ อดทนและรอคอยความสุขสบายจากอัลลอฮ์ ตะอาลา บั้นปลายสุดท้ายย่อมเป็นของผู้ยำเกรง

และท่านผู้ประพันธ์หนังสือได้กล่าวว่า

“และเมื่อกระทำความผิดก็ขออภัยโทษ”

ส่วนผู้ที่เมื่อกระทำความผิดแล้ว เขาไม่ขออภัยโทษ ซ้ำยังทำความผิดต่าง ๆ เพิ่มอีก คนนี้เขาคือผู้ที่มีความทุกข์ (ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮ์จากสิ่งดังกล่าว) แต่ว่าบ่าวผู้ศรัทธาคนหนึ่งนั้นเมื่อการกระทำความผิดหนึ่งได้เกิดขึ้นแก่เขา เขาก็จะกลับเนื้อกลับตัว

وَالَّذِينَ إِذَا فَعَلُوا فَاحِشَةً أَوْ ظَلَمُوا أَنفُسَهُمْ ذَكَرُوا اللَّـهَ فَاسْتَغْفَرُوا لِذُنُوبِهِمْ وَمَن يَغْفِرُ الذُّنُوبَ إِلَّا اللَّـهُ

ความว่า: “และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใดๆ หรืออธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮ์ แล้วพวกเขาก็ขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น…” [ซูเราะฮ์ อาละอิมรอน (3): 135]

إِنَّمَا التَّوْبَةُ عَلَى اللَّـهِ لِلَّذِينَ يَعْمَلُونَ السُّوءَ بِجَهَالَةٍ ثُمَّ يَتُوبُونَ مِن قَرِيبٍ

ความว่า: “แท้จริงการสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวที่อัลลอฮ์นั้นเป็นของบรรดาผู้ที่กระทำความชั่วด้วยเขลา (ญะฮาละฮ์) เท่านั้น แล้วพวกเขาสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวในเวลาอันใกล้…” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4): 17]

คำว่า ญะฮาละฮ์ (جَهَالَة) นั้น ไม่ได้หมายความว่า ปราศจากความรู้ เพราะว่าผู้ที่ปราศจากความรู้จะไม่ถูกเอาผิด แต่คำว่า ญะฮาละฮ์ (جَهَالَة) ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ตรงข้ามกับการรู้จักควบคุมตัวเอง ดังนั้นทุกคนที่ทำการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์ โดยที่เขานั้นเป็น ญาฮิล (ผู้ที่มีญะฮาละฮ์) ในความหมายของการบกพร่องในการยั้งคิด การบกพร่องในการมีปัญญา การบกพร่องในคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ ถึงแม้เขาอาจจะเป็น ผู้ที่รู้ แต่เขาก็ยังเป็น คนเขลา ในแง่อื่น นั่นคือแง่ที่ว่าตนปราศจากการมีปัญญา ปราศจากความมั่นคงในกิจการต่างๆ

ثُمَّ يَتُوبُونَ مِن قَرِيبٍ

ความว่า: “แล้วพวกเขาก็สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวในเวลาอันใกล้” [ซูเราะฮ์ อันนิซาอ์ (4): 17]

หมายถึง ทุกครั้งที่พวกเขาทำความผิด เขาก็จะขออภัยโทษ ไม่มีใครที่ถูกปกป้องให้พ้นจากการทำความผิด แต่ทว่ามวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ที่อัลลอฮ์นั้นได้ทรงเปิดประตูแห่งการกลับเนื้อกลับตัวเอาไว้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบ่าวที่เมื่อทำความผิด เขาก็จะต้องรีบเร่งในการกลับเนื้อกลับตัว แต่ทว่าหากเขาไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัว ไม่ยอมขออภัยโทษ นี่คือสัญลักษณ์ของความทุกข์ยาก ที่บางทีเขาอาจจะสิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮ์ และชัยฏอนก็จะมาหาเขาแล้วกล่าวกับเขาว่า “ไม่มีการกลับเนื้อกลับตัวสำหรับท่านอีกแล้ว”

สิ่งทั้ง 3 นี้ นั่นก็คือการที่ เมื่อได้รับก็ขอบคุณ เมื่อถูกทดสอบก็อดทน และเมื่อกระทำความผิดก็ขออภัยโทษ คือ หัวหน้าของความสุขทั้งหลาย ผู้ใดที่ได้รับความอำนวยความสำเร็จให้สามารถทำมันได้ เขาก็จะบรรลุถึงความสุข และผู้ใดถูกหักห้ามจากมัน หรือจากส่วนหนึ่งของสิ่งต่างๆ เหล่าสนี้ เขาก็คือผู้ที่มีความทุกข์


(อ่านตอนที่ 3 คลิก)